เป็นประจำเมื่อขึ้นปีใหม่ที่เวทีต่างๆ เริ่มทยอยแจกจ่ายรางวัลให้กับผลงานภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีที่ผ่านมาในหลากหลายสาขาด้วยกัน หนังปี 2018 เรื่องหนึ่งที่กำลังมาแรงในฤดูล่ารางวัลนี้คือหนังดราม่า-คอเมดี้ที่ว่าด้วยมิตรภาพข้ามสีผิวอย่าง Green Book ที่สะสมชัยชนะมาตั้งแต่ไปฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังโตรอนโต และคว้ารางวัลขวัญใจมวลชนมาได้ จนล่าสุดเพิ่งได้รางวัลจากเวทีใหญ่อย่าง Golden Globes Award ในสาขาภาพยนตร์มิวสิคัลหรือคอเมดี้ยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

Green Book สร้างมาจากเรื่องจริงในปี 1962 เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง โทนี่ วัลเลลองกา (วิกโก มอร์เทนเซน) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลี่ยนผิวขาวที่มาทำงานเป็นคนขับรถให้ ดอน เชอร์ลีย์ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) นักเปียโนชาวแอฟริกันอเมริกันผู้มีชื่อเสียง โทนี่ขับรถพาดอนออกทัวร์คอนเสิร์ตไปตามรัฐทางตอนใต้ที่ยังมีการเหยียดผิวอย่างรุนแรง (และได้รับการรับรองทางกฎหมาย) อยู่ในช่วงเวลานั้น ทำให้เขาต้องทำหน้าที่กึ่งอารักขาความปลอดภัยให้ดอนไปด้วยในตัว โดยอาศัยหนังสือคู่มือเดินทางฉบับคนดำที่เรียกว่า Green Book หรือ The Negro Motorist Green Book เป็นไกด์ไลน์สำหรับหาที่พำนักและร้านอาหารที่ปลอดภัยให้กับดอน

ภายใต้บรรยากาศอบอุ่นชวนหัวของหนัง แน่นอนว่าเนื้อในของมันพูดถึงการเปิดใจยอมรับความแตกต่าง และปัญหาเหยียดชังเชื้อชาติที่เกาะกินสังคมอเมริกันมาอย่างเนิ่นนานและยังคงปะทุอยู่กระทั่งทุกวันนี้ หนังไม่เพียงสร้างพลวัตตัวละครผ่านความแตกต่างทางสีผิวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความซับซ้อนให้พวกเขาด้วยกับสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันด้วย นั่นคือแม้โทนี่จะเป็นคนขาวแต่เขาก็มาจากชนชั้นแรงงาน เป็นคนติดดินที่เขียนหนังสือไม่เก่ง พูดจากระโชกโฮกฮาก ในขณะที่ดอนเป็นคนผิวสี ที่มีการศึกษาสูง ช่ำชองในศิลปะ และมีมารยาทแบบชนชั้นสูง

เมื่อสีผิวไม่ใช่เพียงอัตลักษณ์เดียวของตัวละครที่ถูกชูขึ้นมา แต่ยังประกอบด้วยชนชั้นทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงเพศสภาพ หนังแสดงให้เห็นว่าความแตกต่างอันเฉพาะของคนทั้งสองนี่เองที่เชื่อมพวกเขาเข้าหากัน ตลอดทั้งเรื่องมุมมองชีวิตของแต่ละฝ่ายได้เข้ามาขยับขยายโลกของอีกฝ่าย ในขณะที่ดอนพยายามสอนให้โทนี่มีจริตแบบผู้ดี พูดจาให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ทั้งยังช่วยเขาเขียนจดหมายรักถึงภรรยา โทนี่ก็หยิบยื่นมิตรภาพและความจริงใจที่นอกเหนือไปจากหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับดอน

หนังใช้อัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกันเพื่อฉายภาพให้เห็นมิติของตัวละคร ดอน เชอร์ลีย์ และนำไปสู่ฉากหนึ่งในหนังที่น่าจะสะเทือนใจคนดูหลายๆ คน เพราะสำหรับนักดนตรีผู้ประสบความสำเร็จอย่างดอน แม้จะได้รับการนับหน้าถือตาจากสังคมคนขาว เขากลับห่างเหินจากครอบครัวตัวเอง ไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรม ดนตรี และสังคมคนดำด้วยกันเอง แต่เป็นตัวโทนี่เสียเองที่กล่าวขึ้นมาว่าคนขาวใช้แรงงานอย่างเขารู้จักวัฒนธรรมคนดำมากกว่าดอนเสียอีก

ฉากที่ว่าจึงถือเป็นฉากสำคัญของหนัง ไม่เพียงเพราะมันพากราฟอารมณ์ของหนังไปสู่จุดที่น่าจดจำ แต่ยังเพราะมันช่างเป็นตัวแทนของหนังเรื่องนี้ได้ดีเหลือเกิน

ในขณะที่แวดวงภาพยนตร์พากันแห่แหนให้ Green Book เป็นหนังฟีลกู๊ดแห่งปีที่จะทำให้เราเข้าใจประเด็นอันละเอียดอ่อนอย่างเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ สิ่งที่ไม่ควรลืมคือหนังเล่าเรื่องจากมุมมองตัวละครผิวขาวเป็นหลัก แถมยังเป็นตัวละครผิวขาวที่ในต้นเรื่องเราเห็นว่าเขารังเกียจคนดำถึงขั้นเอาแก้วน้ำในบ้านตนเองที่ผ่านปากคนดำมาแล้วไปทิ้งในถังขยะ จนกระทั่งเมื่อเขาได้มาทำงานให้ดอนนั่นเองที่เขาได้เห็นความเปราะบางและมิติความเป็นมนุษย์ในตัวคนดำจนตัวเองสามารถหยิบยื่นมิตรภาพให้ด้วยได้

ในแง่หนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าหนังวางปมอย่างจงใจตลอดทั้งเรื่องเพื่อให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดการเดินทางของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติซึ่งแฝงอยู่ในตัวโทนี่ตอนต้น การทับซ้อนเชิงอัตลักษณ์ซึ่งสร้างพลวัตความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างโทนี่กับดอน ไปจนถึงการคลี่คลายอย่างแสนสุขในตอนท้าย แม้จะสร้างมาจากเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ทุกอย่างใน Green Book กลับถูกเล่าโดยหวังผลในเชิง narrative อย่างโจ้งแจ้งเสียจนน่ากังขาว่าเท่าไหร่ในหนังที่จริง

ในอีกแง่ การปักหมุดเล่าเรื่องจากมุมมองของโทนี่ก็ผลักตัวดอนออกไปให้เป็นคนอื่นอย่างน่าเสียดาย ดอนกลายมาเป็นตัวละครอื่นที่หนังจับจ้องไปพร้อมๆ กับสายตาของโทนี่ เราฉงนฉงายในความสามารถทางดนตรีของเขา ทึ่งที่เขาแตกฉานในวัฒนธรรมคนขาวมากกว่าคนขาวด้วยกันเอง คับข้องใจเมื่อเขาถูกบังคับให้ต้องใช้ห้องน้ำสำหรับคนดำ และสะเทือนใจไปกับความแปลกแยกที่เขามีต่อทั้งสังคมคนขาวและสังคมคนดำเมื่อเขาบอกว่าตัวเองรู้สึก “ดำไม่พอ ขาวไม่พอ และเป็นผู้ชายก็ไม่พอ” นั่นทำให้ไม่ว่าหนังพยายามจะเขียนให้ตัวละครผิวสีมีมิติหรือความสามารถในฐานะผู้กระทำการเพียงไร เขาก็ยังเป็นเพียง subject ของการถูกจดจ้องและเล่าถึงโดยคนขาว มิหนำซ้ำยังเป็นเครื่องมือให้คนขาวอย่างโทนี่ได้เกิดการเรียนรู้และก้าวข้ามความรังเกียจคนดำที่เขาเคยมีในใจอีกต่างหาก

ฉากที่โทนี่พูดกับดอนว่าคนขาวอย่างเขาใกล้ชิดและรู้จักวัฒนธรรมคนดำดีกว่าคนดำอย่างดอนจึงสะท้อนสิ่งที่ตัวหนังเป็นได้ดี ในฐานะที่หนังเล่าประสบการณ์คนดำและพูดถึงคู่มือการเดินทางเพื่อความปลอดภัยของคนดำผ่านเสียงเล่าและสายตาของคนขาว เพราะทั้งผู้กำกับ ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี (There’s Something About Mary) และทีมเขียนบทอีก 2 คนล้วนเป็นคนขาว

แน่นอน เราไม่ได้กำลังบอกว่าเรื่องราวของคนสีผิวหรือเชื้อชาติใดต้องได้รับการบอกเล่าโดยคนเชื้อชาตินั้นเสมอๆ และแน่นอน การที่ Green Book จะเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองคนขาวก็สมเหตุสมผลในตัวมันเอง ในเมื่อทีมผู้สร้างหลักๆ เป็นคนขาว แถมหนึ่งในคนเขียนบท นิค วัลเลลองกา ก็เป็นลูกชายของโทนี่ตัวจริง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกชายจะอยากเล่าเรื่องพ่อตัวเอง แต่กระแสโต้กลับจากครอบครัวของ ดอน เชอร์ลีย์​ ตัวจริงที่ชี้ว่าหนังถ่ายทอดตัวเขาแบบผิดๆ และในความจริงดอนก็ไม่ได้แปลกแยกอะไรจากครอบครัวของตน ผนวกไปด้วยอีกหนึ่งข่าวฉาวว่าวัลเลลองกาผู้เขียนบทเคยทวีตเหยียดมุสลิมซะเอง ก็ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งความจริงและการปรุงแต่งในหนังที่เฉลิมฉลองความแตกต่างทางสีผิวเรื่องนี้

ในยุคที่มีหนังที่เล่าเรื่องราวของคนผิวสี ด้วยน้ำเสียงและสายตาของคนผิวสีออกมามากมาย ไล่เรียงไปตั้งแต่ Moonlight (2016), Get Out (2017), If Beale Street Could Talk (2018), BlacKkKlansman (2018), Sorry to Bother You (2018) หรือกระทั่งหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Black Panther (2018) เองก็ตาม การที่หลายๆ เวทียังสรรเสริญหนังอย่าง Green Book อยู่ จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าฮอลลีวูดก้าวไปไกลหรือยังจากยุคสมัยที่หนัง ‘คนขาวเล่าคนดำ’ ได้รับการชื่นชมยินดี (และขอย้ำอีกข้อหนึ่งตรงนี้ว่าเราก็ไม่ได้กำลังบอกเช่นกันว่าหนังที่สร้างโดยคนผิวสีจะต้องได้รับการยกย่องชื่นชมไปโดยอัตโนมัติเพียงเพราะเป็นหนังคนผิวสี)

อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Green Book สื่อสารกับปัญหาความขัดแย้งทางสีผิวที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร แน่นอนว่าคนดำในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้คู่มือปกเขียวในการเดินทางอีกต่อไป คนดำมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะได้รับบริการตามสถานที่ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับคนขาว ไม่มีเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์มาขีดบอกว่าพื้นที่ของรัฐไหนที่คนดำออกไปเดินสูดอากาศยามเย็นไม่ได้ นั่นแปลว่าความไม่เท่าเทียมทางสีผิวได้ถูกลบหายไปแล้ว หรือว่ามันยังคงแทรกซึมและแปรสภาพไปเป็นการกีดกันในรูปแบบอื่นๆ เราอาจยังคงต้องถามคำถามเหล่านี้กันต่อไป แม้หนังเรื่องนี้จะปลอบประโลมคนดูด้วยความอบอุ่นชวนหัวก็ตาม

Tags: , , , ,