“Happiness is not a goal, it’s a way to go.”

เราได้ยินโควตนี้มาเนิ่นนาน ครั้งแรกก็เมื่ออายุ 15 ที่ครูต่างชาติคนหนึ่งถามเราว่า อะไรคือสิ่งที่อยากได้มากที่สุดในชีวิต แล้วเราดันตอบว่า ‘ความสุข’ จึงโดนสวดไปชุดใหญ่ พอมีไอเดียนี้ในหัว เราตอนอายุ 17 จึงควักเงินซื้อเสื้อยืดที่มีโควตนี้สกรีนด้านหน้ามาใส่อย่างง่ายดาย แต่ก็ไม่เคยเข้าใจหรือเข้าถึงมันจริงๆ เสียที

เรามาพบเจอสิ่งที่ใกล้เคียงกับโควตนี้อีกครั้งก็เมื่อเดือนที่แล้วจากหนังสือปกสวยสบายตาของ ฟูมิโอะ ซาซากิ ชื่อ Goodbye, Things: On Minimalist Living ที่ยืนพื้นอยู่บนไอเดียที่ว่า “ยิ่งเป็นเจ้าของวัตถุจำนวนน้อยเท่าไหร่ ใจเรายิ่งเบาขึ้นเป็นเท่าตัว” (ซึ่งยากยิ่งที่จะไม่เปรียบเทียบกับหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน แค่การจัดบ้านเพียงครั้งเดียว ของ มาริเอะ คนโดะ ที่ดังเป็นพลุแตก แต่เรายังไม่ได้อ่านจึงขอละเอาไว้)

ซาซากิอธิบายให้เราเห็นในหลายแง่ และแต่ละแง่ก็น่าสนใจทั้งสิ้น เช่น เมื่อมีของน้อย เราก็ไม่ต้องเสียเวลาดูแลรักษาของมาก และยังใช้เวลาทำความสะอาดบ้านน้อยลง เพราะไม่ต้องโยกย้ายหรือยกของไปมา, เมื่อเรามีวัตถุในครอบครองน้อย เราก็จะแบ่งใจไปให้สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุได้มากขึ้น รวมทั้งความทรงจำที่พ่วงมากับวัตถุนั้นด้วย, เมื่อเราเลิกเอาวัตถุมาไว้ในครอบครองเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง เราก็จะได้เห็นว่าตัวตนจริงๆ ของตัวเองเป็นอย่างไร มีคุณค่ามากแค่ไหน และทำไมเราต้องยินดีกับสิ่งที่เรามีและเป็นอยู่ ฯลฯ

แต่ถ้าถามว่าอ่านจบแล้ว เราในตอนนี้ตื่นเต้นกับไอเดียนี้เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้วไหม ก็คงจะไม่ ประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ทำให้เรารู้สึกว่าโควตที่เกี่ยวกับความสุขเป็นเรื่องไร้สาระ และความสุขในแบบที่เขาว่ากันคงไม่เหมาะกับเรา เรากลายเป็นคนที่ต่อต้านหนังสือ How-to และ Self-help ทุกประเภท รวมทั้งหนังสือธรรมะและลัทธิความเชื่อทุกหมวดหมู่

ถึงอย่างนั้น เราก็ยังอ่านหนังสือเล่มนี้ (ที่สำนักพิมพ์จัดเอาไว้ในหมวด Psychology Self-help) จนจบได้ในไม่กี่วัน แถมยังมีความคิดที่จะทิ้งข้าวของที่มีอยู่เป็นกอง และได้ทิ้งไปแล้วจริงๆ จำนวนหนึ่ง เพราะเป็นจังหวะที่ต้องย้ายบ้านพอดิบพอดี เราชอบมากเมื่อเริ่มอ่าน พอถึงกลางเล่มกลับไม่ชอบ ก่อนจะจบเล่มก็กลับมาชอบใหม่ แต่พอถึงบทสุดท้ายกลับเริ่มเกลียด เรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เราอารมณ์แปรปรวนพอควร จึงอยากบันทึกความน่าสนใจของมันเอาไว้สักนิด

ก่อนอื่น ข้อดีของ Goodbye, Things คือผู้เขียนเป็นตัวจริงในเรื่องที่เขียน ซาซากิเล่าว่าเขาเขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากเปลี่ยนตัวเองจาก maximalist สุดขั้ว มาเป็น minimalist สำเร็จ นั่นคือเมื่อก่อนเขาซื้อของมาไว้ที่อพาร์ตเมนต์เยอะมาก ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โฮมสตูดิโอ หนังสือที่ไม่ได้อ่าน กล้องถ่ายรูปที่ไม่ได้ใช้ แถมยังมีห้องมืดไว้ล้างรูปเองด้วย แต่ถึงจะมีทุกอย่างที่ดูเหมือนจะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายและมีความสุข แต่เขากลับเป็นทุกข์ วิตกกังวล และเครียด ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อเขาตัดสินใจและตั้งใจเปลี่ยนตัวเองเป็น minimalist เขาก็รู้สึกเป็นสุขกับชีวิตมากขึ้น จิตใจไม่หนักอึ้งเหมือนก่อน

สิ่งที่เขาทำคือทิ้ง บริจาค ขายต่อ และประมูลข้าวของที่ไม่ใช้มานานแล้วและปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้ โดยยึดหลักง่ายๆ ว่า “ถ้าเราอยู่โดยไม่มีมันมาได้ตั้งนาน แล้วทำไมจะอยู่โดยไม่มีมันไม่ได้ในอนาคต” ไปจนถึงทิ้งของที่ระลึกหรือของแทนความทรงจำทั้งหมด เพราะเชื่อว่าเมื่อเห็นความทรงจำในรูปวัตถุ เราจะมีแนวโน้มที่จะจดจำวัตถุมากกว่าความทรงจำจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังประนีประนอมด้วยการถ่ายรูปบางชิ้นเก็บไว้ ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีที่ดีและไม่สุดโต่งเกินไป

“ถ้าเราอยู่โดยไม่มีมันมาได้ตั้งนาน แล้วทำไมจะอยู่โดยไม่มีมันไม่ได้ในอนาคต”

หลังจากนั้น เขาก็ย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์ที่เล็กกว่าเดิม ค่าเช่าถูกกว่าเดิม เลิกซื้อของเพิ่ม ใช้ชีวิตเรียบง่ายกว่าเดิม เช่น ใส่เสื้อผ้าคล้ายกันทุกวันเป็นยูนิฟอร์มเหมือน สตีฟ จอบส์ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการเลือกซื้อเลือกใส่เสื้อผ้าตามเทรนด์ (แต่เรายังไม่ซื้อข้อนี้นัก เพราะสำหรับหลายคน การแต่งตัวและแฟชั่นไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่คือศิลปะและความคิดสร้างสรรค์)

ฟังดูทำตามได้ยาก แต่เขาก็อธิบายวิธีการเอาไว้อย่างละเอียดโดยอุทิศหนึ่งบทเต็มๆ เพื่ออธิบายว่าเราเก็บสะสมข้าวของไว้ทำไมมากมายตั้งแต่แรก เช่น ซื้อของเยอะเพราะชอบความตื่นเต้นที่ได้ของใหม่ แม้จะเป็นความรู้สึกดีเพียงชั่วขณะ ก่อนจะตามมาด้วยความรู้สึกเบื่อ, เก็บหนังสือหรือแผ่นหนังไว้เต็มตู้เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีความรู้และความสนใจกว้างขวาง, เก็บถ้วยและเหรียญรางวัลเพื่อให้แขกที่มาเยี่ยมบ้านเห็นความสำเร็จของเรา, พยายามแต่งตัวมีสไตล์หรือตามแฟชั่นเพราะกลัวคนอื่นมองเราไม่ดี ทั้งที่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาคิดแบบนั้นหรือเปล่า ฯลฯ

ซาซากิเชื่อว่า คนเราตบแต่งตัวตนของเราขึ้นใหม่ด้วยวัตถุ เพราะไม่พอใจและไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และเมื่อเราตบแต่งตัวตนมากขึ้น ซื้อข้าวของมาประดับมากขึ้น แต่ยังไม่รู้สึกมีความสุข เราจึงทำมันซ้ำๆ จนกลายเป็นวงจรที่ไม่มีวันสิ้นสุด

จุดเด่นของ Goodbye, Things อยู่ที่บทถัดมาที่ว่าด้วย 55 วิธีบอกลาข้าวของ ซึ่งเราคิดว่ามีวิธีที่ใช้การได้จริงอยู่หลายข้อ เช่น อย่าคิดว่าจะทิ้งของไม่ได้ตั้งแต่แรก, ไม่จำเป็นต้องเร่งตัวเองให้ทิ้งของทันทีทันใด เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และลองทำไปเรื่อยๆ, เริ่มที่การทิ้งสิ่งที่เป็นขยะแน่ๆ และสิ่งที่มีซ้ำกันหลายชิ้น, แยกความอยากและความจำเป็นให้ชัด, จัดระเบียบของกับโละของเป็นคนละเรื่องกัน, ลดจำนวนชั้นวางของหรือกล่องใส่ของ แล้วเราจะทิ้งของได้โดยอัตโนมัติ, ตัดใจทิ้งสิ่งที่ไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจุบันหรือชีวิตประจำวันของเรา และไม่ต้องคิดว่าจะเก็บไว้ใช้ในอนาคต, ไม่ต้องสต็อกของ เพราะเดี๋ยวนี้มีร้านค้าทุกหัวมุมถนน, ถ้ามันไม่ทำให้เรารู้สึกมีแพชชันก็จงทิ้ง, ถ้ามันเป็นมลพิษทางสายตาก็จงทิ้ง, อย่าซื้อตั้งแต่แรกเพราะมันถูก ฯลฯ

จัดระเบียบของกับโละของเป็นคนละเรื่องกัน, ลดจำนวนชั้นวางของหรือกล่องใส่ของ แล้วเราจะทิ้งของได้โดยอัตโนมัติ

นอกจากทริคมากมายที่เราคิดว่าใช้ได้จริง อีกช่วงหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนที่ซาซากิขยับจากการพูดถึงความสัมพันธ์ของ ‘คนกับสิ่งของ’ มาสู่ความสัมพันธ์ของ ‘คนกับคน’ ที่มีสิ่งของเป็นตัวแปร ซึ่งในตอนนี้มีทั้งส่วนที่เราซื้อและไม่ซื้อ ส่วนที่เราซื้อคือตอนที่เขาบอกว่า มันง่ายมากที่เราจะเผลอมองคนใกล้ตัวว่าเป็นวัตถุสิ่งของ เมื่อบทสนทนาเราจำกัดและซ้ำเดิม เรายิ่งรู้สึกว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจเหมือนกับเรา แต่เป็นหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่ที่ถูกกำหนดเอาไว้ และเมื่อเขาคนนั้นไม่ทำตามหน้าที่ที่เราคาดหวัง เราก็จะไม่พอใจ ซาซากิจึงลองตั้งโจทย์ว่า ถ้าหน้าที่นั้นมันทำง่ายขึ้นหรือไม่มีหน้าที่นั้นอยู่เลย จะเกิดความขัดแย้งขึ้นไหม พูดง่ายๆ ก็คือเขามองว่ายิ่งชีวิตเรียบง่าย ความขัดแย้งก็ยิ่งลดน้อยลง และเราจะมองเห็นตัวตนจริงๆ ของกันและกันมากขึ้น

แต่ในตอนเดียวกันนี้ ส่วนที่เราไม่ซื้อคือตอนที่เขาพูดเรื่องการคบเพื่อนด้วยไอเดียที่ได้ยินกันบ่อยครั้งว่า มีเพื่อนน้อยแต่มีคุณภาพและรู้จักกันลึกซึ้ง ดีกว่ามีเพื่อนจำนวนมากแต่รู้จักกันแค่ผิวเผิน เราพบว่าระหว่างการอธิบาย ซาซากิใช้น้ำเสียงตัดสินคนที่คบเพื่อนเยอะอยู่พอสมควร เพราะหลายคนที่เรารู้จักก็มีความสุขกับการมีเพื่อนจำนวนมาก และได้รับการเติมเต็มเมื่อได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกับเพื่อนที่หลากหลาย ถึงแม้เพื่อนเหล่านั้นจะหายไปจากเขาตามกาลเวลา แต่ช่วงเวลาที่พวกเขาได้แลกเปลี่ยนหรือช่วยเหลือกันก็มีค่าไม่น้อยไปกว่าคนอื่น

เขามองว่ายิ่งชีวิตเรียบง่าย ความขัดแย้งก็ยิ่งลดน้อยลง และเราจะมองเห็นตัวตนจริงๆ ของกันและกันมากขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ซาซากิใช้น้ำเสียงตัดสินคนที่คิดไม่เหมือนเขา และเผลอสั่งสอนคนอ่าน จนเราที่กำลังเพลินกับหนังสืออยู่ดีๆ ต้องสะอึกในหลายที เพราะรู้สึกเหมือนพระเจ้ามาเคาะกบาลให้ตื่นจากความเข้าใจผิดในชีวิต ทั้งที่เราไม่ได้เข้าใจอะไรผิด แต่เราแค่คิดไม่เหมือนเขา นี่เองทำให้เราเริ่มขยับออกจากหนังสือทีละน้อย และเมื่อถึงตอนจบเราก็ไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับหนังสืออีกแล้ว ถึงเราจะยังคงเก็บทริคที่กล่าวถึงไว้ใช้ในชีวิตจริงก็ตาม

ถึงสุดท้ายเนื้อหาใน Goodbye, Things จะทำให้เราประทับใจได้ไม่เท่าตอนเห็นหน้าปกหนังสือ แต่อีกความน่าสนใจที่สอดแทรกไว้คือมันทำให้เราเห็นที่มาของ Minimalist movement ในญี่ปุ่นอย่างคร่าวๆ ว่ามีที่มาจากความไม่แน่นอนของชีวิตในยุคหลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2011 และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2014 ทำให้เกิดคำถามว่า สุดท้ายแล้วจำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องสะสมข้าวของมากมายไว้ในบ้าน เพื่อที่จะถูกคลื่นซัดหายไปจนหมด หรือจำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องมีบ้านหลังโต เพื่อที่จะถูกแผ่นดินไหวถล่มไป

โดยซาซากิเล่าว่า ในญี่ปุ่นนั้น กระแสการโละของแล้วย้ายไปอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก บ้านทางเลือก และรถบ้านนั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ กลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ส่งมาถึงที่นี่ เมื่อข้าวของมือสองของชาวญี่ปุ่นถูกส่งเข้ามาเป็นคอนเทนเนอร์ เพื่อขายต่อไปยังหลายจังหวัดทั่วไทย ในฐานะของน่ารัก น่าใช้ และน่าสะสม

นอกจากนี้ เรายังรู้สึกว่าศาสนาพุทธนิกายเซนนั้นก็มีอิทธิพลกับแนวคิดแบบ Minimalism ที่ซาซากิพูดถึงอยู่มาก เพราะนอกจากจะเน้นย้ำถึงการอยู่กับปัจจุบันผ่านการละทิ้งข้าวของแล้ว เขายังเล่าด้วยว่า กิจกรรมหนึ่งที่เขาหันมาทำจนเป็นนิสัยก็คือการนั่งสมาธิแบบเซน ซึ่งหลายคนรวมทั้งเขามองว่าเป็นสิ่งที่สนับสนุนกันและกัน เพราะเมื่อละทิ้งวัตถุ เราจะสามารถเข้าถึงภายในได้ง่ายขึ้นโดยอัตโนมัติ

เราคิดว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่อยากไปให้ถึงจุดนั้น และหากใครไม่อยากไป พวกเขาก็ไม่ผิดอะไรเช่นกัน

Tags: , , , ,