The Guardian เคยมีบทความหนึ่งชื่อล่อแหลมอย่างยิ่งว่า ‘Sharing Joysticks: How Video Games are Opening Up to LGBT Themes’ ซึ่งหากแปลเป็นไทยๆ อาจแปลได้ว่า ‘แบ่งปันแท่งหรรษา: วิดีโอเกมเปิดกว้างต่อธีมแบบ LGBT ได้อย่างไร’
บทความนี้พูดถึงเกมอย่าง Mass Effect 3 พร้อมภาพประกอบที่ถ้าดูเผินๆ เราอาจจะเห็นว่าเป็นทหารแข็งแกร่งสองนายต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กัน แต่แท้จริงแล้ว เกมนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชายมีโอกาสรักกับผู้ชายได้ด้วย เพราะฉะนั้น สองหนุ่มที่แลดูแข็งแกร่งฉกรรจ์ ถือปืนต่อสู้ร่วมกัน จึงไม่ใช่แค่สหาย แต่เป็นคู่รักกัน โดยฉากที่ทั้งคู่เปิดเผยต่อกันและยอมรับว่าต่างมีความรู้สึกพิเศษต่อกันนั้นไม่ได้ใส่เอฟเฟกต์อลังการหรือทำให้ดูแปลกแยกแตกต่างแต่อย่างใด เป็นฉากที่ดูธรรมดาและอ่อนโยนเหมือนฉากรักทั่วไป เป็นเรื่องของคนสองคนที่ตระหนักว่าต่างรักกันและกัน
จริงอยู่ ตัวละครที่เป็น ‘เพศอื่นๆ’ นอกเหนือไปจากเพศชายและหญิง เคยปรากฏอยู่ในเกมมาแล้วนานหลายสิบปี แต่ส่วนใหญ่ ตัวละครเหล่านั้นก็แค่ ‘ปรากฏตัว’ ขึ้นมาเท่านั้น โดยมากมักเป็นแค่ตัวประกอบ ไม่ใช่ตัวเอก และไม่ได้มี ‘ความสัมพันธ์’ อะไรกับตัวละครอื่น (อาจเรียกได้ว่าเป็น LGBT Characters เฉยๆ)
ปกติแล้ว ในเกมประเภท RPG หรือเกม Role Playing Game คือเกมที่ผู้เล่นต้องรับบทเป็นตัวละครโน้นนั้นนี้ ต่อให้เป็นเกมที่บอกว่าเป็น Open World คือเป็น ‘โลกเปิด’ คือตัวละครสามารถสำรวจพื้นที่ในเกมได้กว้างไกลแทบจะเรียกได้ว่าไม่จำกัด แต่สิ่งหนึ่งที่ตัวละครมักไม่สามารถ ‘สำรวจ’ ได้อย่างแท้จริง ก็คือความรู้สึกและความต้องการภายในของตัวเอง
โดยมาก ตัวละครที่เป็นชายก็ต้องคู่กับตัวละครที่เป็นหญิง (หรือกลับกัน) แต่เราไม่สามารถบังคับให้ตัวเอกในเกมไปมีความสัมพันธ์กับตัวละครเพศเดียวกัน (หรือมีเพศที่หลากหลาย) ได้อย่างที่เราต้องการ
แต่มาในระยะหลัง มีค่ายเกมอยู่ค่ายหนึ่งนิยมสร้างเกมที่เปิดกว้างให้ตัวละครสามารถสำรวจหรือเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับตัวละครอื่นได้หลากหลายขึ้น ค่ายนั้นก็คือ BioWare ซึ่งเป็นค่ายเกมจากแคนาดา ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยนะครับ ที่เสียงวิจารณ์ที่มีต่อหลายเกมของค่าย BioWare (ซึ่งรวมทั้งซีรีส์ Mass Effect และ Dragon Age ด้วย) จะปรากฏออกมาสองลักษณะ
ลักษณะแรกไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ เพราะมันคือเสียงต่อต้าน ไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้มีฉากอะไรแบบนี้อยู่ในเกม ด้วยเหตุผลใหญ่ๆ คือเหตุผลที่สุดแสนจะ ‘คลาสสิก’ ว่าจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชน พูดง่ายๆ ก็คือ เสียงวิจารณ์แบบนี้บอกว่าเกมของ BioWare นั้น Too Gay
อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงวิจารณ์ในแง่ลบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน หรืออาจจะน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ เพราะในขณะที่เสียงวิจารณ์แรกบอกในทำนองว่า Too Gay แต่เสียงวิจารณ์แบบที่สองกลับบอกว่า Not Gay Enough หรือ ‘ยังเกย์ไม่พอ’
อย่างใน Mass Effect: Andromeda เคยมีเสียงวิจารณ์ว่าเกมนี้ออกแบบมาเหมือนกับ ‘รู้สึกอับอายที่มีฉากแบบนี้’
‘ฉากแบบนี้’ ก็คือฉากที่เรียกว่า Sexy Gay Romance ซึ่งมีการโฆษณา (เพราะเป็นจุดขายของ BioWare) ทำให้แฟนๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ ในเกมเป็นความสัมพันธ์ของชายหนุ่มสองคน ซึ่งมีฉากจูบและมีเซ็กซ์กัน แต่ผู้เล่นที่ได้เล่นก็บอกว่า ฉากที่ว่านี้ดู ‘อ่อน’ มาก เมื่อเทียบกับฉากเลิฟซีนของคู่รักต่างเพศ
ด้วยประเด็นต่างๆ เหล่านี้ นักเขียนเกมจาก BioWare อย่างเดวิด ไกเดอร์ (David Gaider) จึงต้องออกมาบอกว่า BioWare ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เขาเองก็อยากเปลี่ยนอะไรหลายอย่างเหมือนกัน มีหลายฉากที่หากย้อนกลับไปทำใหม่ได้ก็จะเปลี่ยน หรือหลายฉากก็อาจเพิ่มดีกรีความเข้มข้นเข้าไปอีก แต่กระนั้น เขาก็ชื่นชมบริษัทที่เขาสังกัดอยู่ ว่าเป็นบริษัทหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เขาใช้คำว่ามีความตั้งใจ (หรือมี Willingess) ที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกนับรวม (Inclusive) อยู่เสมอ
หลายคนอาจสงสัยว่า มีด้วยหรือ – นักเล่นเกมที่อยากให้เกมมีฉากอะไรแบบนี้อยู่ด้วย
คำตอบก็คือมีครับ และมีไม่น้อยด้วย
คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า Gaymers ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ Gamers ที่เป็นเกย์นั่นเอง
คำว่า Gaymers หมายถึงคนที่ประกาศตัวเองว่าเป็นเกย์ และมีความสนใจในการเล่นวิดีโอเกมหรือเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเคยมีการสำรวจหลายครั้ง อย่างเช่นในปี 2006 การศึกษาของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สำรวจผู้เล่นเกมที่เป็น Gaymers พบว่า Gaymers ต้องเผชิญกับปัญหาจากสองด้านเลยนะครับ ด้านหนึ่งก็คือชุมชนเกย์โดยทั่วไป (หรือเกย์แบบเมนสตรีม) มักจะไม่ค่อยสนใจเรื่องเกมเท่าไหร่ เพราะเห็นว่าเรื่องเกมเป็นเรื่องของเด็กผู้ชายหรือไม่ก็เด็กเนิร์ด ในขณะที่เกย์เมนสตรีม (อย่างน้อยก็ในยุคนั้น) ควรจะสนใจเรื่องเก๋ๆ มากกว่า ทำให้การเล่นเกมไม่ถูกจัดอยู่ใน ‘วัฒนธรรมเกย์’ (Gay Culture) แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวเนื้อเกมเองก็ไม่สนใจความเป็นเกย์อยู่แล้ว ดังนั้น Gaymers จึงเหมือน ‘ติด’ อยู่ตรงกลางระหว่างสองชุมชนที่ไม่สนใจกันและกัน พวกเขาจึงเป็นชายขอบของชายขอบอีกที
ในปี 2009 มีอีกการสำรวจหนึ่งของ Full Sail University ในฟลอริดา แต่คราวนี้เป็นการสำรวจดูว่า Gaymers ชอบเล่นเกมแบบไหน พล็อตเรื่องเป็นอย่างไร และชอบประสบการณ์เกมแบบไหนบ้าง พบว่า Gaymers ชอบเกมแนว RPG หรือรับบทเป็นตัวละครต่างๆ โดยเนื้อหาจะต้องมีพล็อตที่ดี และมีสิ่งที่เรียกว่า Homosexual Content ที่มีคุณภาพดีด้วย
การสำรวจนั้นเริ่มทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นมา (บ้าง) ในวงการเกม จนในที่สุดก็ถึงขั้นเกิด ‘การประชุมเกม’ (Game Convention) สำหรับเกมที่มีลักษณะแบบนี้โดยเฉพาะ เรียกการประชุมนี้ว่า GaymerX โดยคนที่ริเริ่มจัดคือ แมตต์ คอนน์ (Matt Conn) ที่บอกว่าตัวเองเป็นทั้งเกย์และเป็นนักเล่นเกมมายาวนาน
ที่น่าสนใจก็คือ GaymerX นั้นเกิดขึ้นได้จากการระดมทุนใน Kickstarter เมื่อปี 2012 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ (แสดงว่ามีคนต้องการให้เกิดงานนี้ขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว เพราะ Kickstarter เป็นแพลตฟอร์มแบบ Crowdfunding) ทำให้เกิดงาน GaymerX ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2013 ที่ซานฟรานซิสโก แล้วจากนั้นก็มีการจัดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ โดยใช้ชื่อต่างๆ เช่น GXDev, GX3 ซึ่งต่อมาก็ขยายตัวออกไปนอกประเทศ กลายเป็น GX Australia (ซึ่งจัดที่ซิดนีย์) หรือที่อื่นๆ (เช่นนิวยอร์ก) ด้วย
บล็อกเกอร์คนหนึ่งชื่อ ชอว์น อาห์เม็ด (Shawn Ahmed) บอกว่า Gaymers และ GaymerX นั้นสำคัญหลายอย่าง เช่น ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหมือนช่องระบายให้กับคนที่เป็นเกย์ เพราะคนที่เป็นเกย์จำนวนมากยังต้องปกปิดตัวเองอยู่ การเล่นวิดีโอเกมจึงเป็นเหมือน ‘ทางหนี’ (เป็น Escapism อย่างหนึ่ง) ทำให้ผู้เล่นสามารถหันเหความสนใจไปยังเรื่องอื่นๆ แทนความทุกข์ที่ต้องเผชิญในชีวิต ชอว์นบอกว่า สำหรับตัวเขาเองที่เป็นเกย์ การเล่นเกมสำคัญต่อตัวเขามากกว่าเพื่อนๆ ที่เป็นรักต่างเพศมาก เพราะมันไม่ใช่แค่การเล่นสนุก แต่คือการเล่นเพื่อ ‘หนี’ ไปจากโลกแห่งความเป็นจริง
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ชอว์นบอกว่า สำหรับคนที่เป็น Gaymer ซึ่งเป็นชายขอบของชายขอบนั้น พวกเขาไม่มี ‘ต้นแบบ’ สักเท่าไหร่ เพราะไม่ได้สนใจเรื่องอื่น สนใจแต่เรื่องในเกม ดังนั้น ตัวละครในเกมที่เป็นเกย์จึงสามารถเป็นต้นแบบให้กับพวกเขาได้แบบเดียวกับที่ซินเดอเรลล่าในนิทานหรือคนเหล็กในหนังเป็นต้นแบบให้กับเด็กหญิงและเด็กชายนั่นแหละ
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน Gaymer ยังเล่นเกมออนไลน์กันมากขึ้นด้วย การเล่นเกมออนไลน์ทำให้พวกเขามีชุมชน เนื่องจากเกมออนไลน์ไม่ใช่แค่การเล่นเฉยๆ แต่มันคือการมีปฏิสัมพันธ์กับ ‘มนุษย์’ คนอื่น ผ่านการเล่นเกม แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็บอกว่าการเล่นเกมออนไลน์อาจเป็นเรื่องอันตรายสำหรับ Gaymer ก็ได้ด้วย เพราะนักเล่นเกมนั้นมีทุกแบบ รวมถึงคนที่เกลียดเกย์หรือเป็นโฮโมโฟเบีย อาจก่อให้เกิด Cyberbullying ได้ด้วย ดังนั้น งานอย่าง GaymerX ที่ทุกคนได้มาพบหน้าค่าตากันจึงเป็นเรื่องสำคัญ มันจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับ Gaymer เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเกมระหว่างกันได้
อย่างไรก็ตาม ค่าย BioWare ไม่ใช่ค่ายเดียวที่ผลิตเกมสำหรับ Gaymer นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายบริษัท เช่น Fullbright Company ที่ผลิตเกมสำหรับ Gaymer อย่าง Gone Home (และเกมอื่นๆ) ออกมา แต่กระนั้น บริษัทเหล่านี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี ว่าผลิตเกมที่ยังไม่ได้เปิดกว้างอย่างแท้จริง เช่น บางเกมอาจต้องกำหนดไปเลยตอนตั้งค่าว่าตัวละครจะชอบเพศไหน ทำให้เป็นการ ‘กำหนดตายตัว’ (Fixed) ทางเพศ หลายคนเสนอว่าเกมควรเปิดโอกาสให้ตัวละครได้มี ‘ความเลื่อนไหลทางเพศ’ มากกว่าที่จะต้อง ‘ผูกติด’ อยู่กับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม
Gaymer ในโลกกำลังเพิ่มจำนวน (หรือเปิดเผยตัว) มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ ‘ตลาด’ ของเกมที่มี Homosexual Content ขยายตัว Gaymer ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นเกย์หรือรักชอบเพศเดียวกันเสมอไป แต่เป็นใครก็ได้ที่อยากเห็นเกมเปิดกว้างทางเพศ สร้างความหลากหลายทางเพศให้กับตัวละคร ดังนั้น Gaymer จึงมีส่วนในการกำหนด ‘นิเวศวิทยา’ ของเกม รวมถึงโมเดลธุรกิจเกมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้หลายเกมยังไม่ถึงขั้นให้ตัวละครมีความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันอย่างเปิดเผย แต่ในปัจจุบัน หลายเกมก็ใส่ความสัมพันธ์เหล่านี้ลงไปแบบซ่อนเร้นแนบเนียน หรือไม่ก็ ‘หาพื้นที่’ ในเกม เพื่อปล่อยให้ผู้เล่นได้เกิดอาการ ‘จิ้น’ ขึ้นมาได้เอง ตัวอย่างเช่นในเกม Final Fantasy ภาค 15 ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัวละครสองตัวในเกม (ที่เป็นชายทั้งคู่) มีความรักความผูกพันกันมากเกินกว่าแค่ Bromance แต่เกมก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ มากไปกว่านี้
ที่จริง ในหมู่ Gaymer เองก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน หรือรักชอบอะไรๆ แบบเดียวกันทั้งหมด มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในกลุ่มด้วย ดังนั้นจึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าในอนาคต สิ่งที่ ‘ถูกใส่’ เข้าไปไว้ในเกม จะมีนัยทางเพศอะไรใหม่ๆ ปรากฏขึ้นบ้างหรือเปล่า
เพราะเกมไม่ใช่อะไรอื่น แต่สะท้อนมาจากชีวิตของเรา ดังนั้น เนื้อหาในเกมจะเป็นอย่างไร ก็ย่อมสะท้อนถึงเนื้อหาแห่งชีวิตของมนุษย์ด้วย
Tags: วัฒนธรรมเกย์, GaymerX, Gaymer, แมตต์ คอนน์, BioWare, Matt Conn, Mass Effect 3, Cyberbullying, Role Playing Game, Gone Home, RPG, Sexy Gay Romance, Mass Effect: Andromeda, เดวิด ไกเดอร์, LGBT, David Gaider, Gay Culture, Homosexual Content