1

สังคมไทยมักจะนึกภาพเกย์หรือกะเทยแบบในละครหลังข่าว คือเป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกตลกขบขัน เฮฮาสนุกสนาน หรือไม่อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่มีบุคลิก ‘แรงๆ’ เปิดเผย หรือมีลักษณะแบบ ‘เอ็กซ์โทรเวิร์ต’ เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่าใครเป็นเกย์หรือกะเทยที่เป็น ‘อินโทรเวิร์ต’ หลายคนจึงอาจนึกภาพไม่ออกว่าคนที่เป็นแบบนี้เป็นอย่างไร

ที่จริงก็ไม่ใช่แค่สังคมไทยหรอกนะครับ แม้แต่สังคมตะวันตกที่ว่ากันว่าเปิดกว้างเรื่องเพศนักหนา หลายคนก็ยังคิดแบบนี้อยู่

เคยมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเขียนไปถามคนอื่นๆ ในเว็บบอร์ดอย่าง reddit.com บอกว่าเขาเป็นเกย์วัย 21 ปี และค่อนข้างเปิดเผยเรื่องเพศของตัวเองกับทั้งครอบครัวและเพื่อนๆ เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าไหร่ เพราะทุกคนยอมรับได้เรื่องการเป็นเกย์ แต่ที่มันเป็นปัญหาสำหรับเขาก็คือทั้งครอบครัวและเพื่อนหลายคนมีอาการ ‘ไม่เชื่อ’ ว่าเขาจะเป็นเกย์

เขาบอกว่าปัญหาของเขาเกิดขึ้นเพราะเขาเป็นอินโทรเวิร์ต คือเป็นคนเงียบๆ ไม่ได้ลุกขึ้นมาเอะอะมะเทิ่งอะไร เป็นคนเรียบๆ ใช้ชีวิตธรรมดาๆ ไม่ดื่ม ไม่ปาร์ตี้ รูปร่างก็ไม่ดี ไม่ได้เล่นกล้าม งานอดิเรกที่ชอบทำก็คือศึกษาแผนที่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ไม่ชอบไปปาร์ตี้หรือช็อปปิ้ง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาไม่ใช่ Stereotypical Gay Guy นั่นเอง!

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าเขาไม่ได้แคร์อะไรนักหนาหรอกเรื่องที่เขาดู ‘ไม่เกย์’ เพราะเขาไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น แต่ปัญหาของเขาก็คือพอเพื่อนๆ หลายคนรู้ว่าเขาเป็นเกย์ เขาพบว่ามีหลายต่อหลายครั้งที่เพื่อนบอกว่าเขาเป็น Bad Gay คือเป็นเกย์ที่ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย เพราะเขาไม่ยอมไปปาร์ตี้ ไม่อยากไปยิมฟิตกล้ามเหมือนเกย์คนอื่น

ที่ตลกมากก็คือตอนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วเพื่อนรู้ว่าเขาเลือกเรียนโบราณคดีตามที่เขาสนใจ เพื่อนคนหนึ่งถึงกับบอกเขาว่า – เขาไม่ได้เป็นเกย์หรอก เขาแค่สับสน เพื่อนใช้คำว่า You can’t be gay เพราะเกย์ไม่ได้อยากเรียนอะไรพวกนี้หรอก

ความเป็นอินโทรเวิร์ตทำให้เขาต้องตัดขาดออกจากชุมชนเกย์ (Gay Community) เขารู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะมีชีวิต ความสนใจ และไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากเกย์คนอื่นๆ

เคยมีการประมาณเอาไว้ว่าคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตน่าจะมีอยู่ไม่น้อย แต่เรามักจะมองไม่เห็น เพราะคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตส่วนใหญ่มักจะเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยแสดงออก ไม่เหมือนเอ็กซ์โทรเวิร์ตที่มักจะกล้าแสดงออก ดังนั้น ถ้าดูเฉพาะในกลุ่มเกย์ จึงคล้ายกับว่าเกย์ที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตคือ ‘ภาพตัวแทน’ ของเกย์ทั้งหมด ที่สำคัญกว่านั้นก็คือกระทั่งคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตเองก็ต้องพยายามแสดงตัวว่าเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับนอร์มของสังคม (โดยเฉพาะสังคมเกย์) เช่น ทำตัวร่าเริงสนุกสนาน ฯลฯ เพราะสังคมให้คุณค่ากับลักษณะแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ตมากกว่า

เคน โฮเวิร์ด (Ken Howard) นักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาคนที่เป็นเกย์โดยเฉพาะ ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ถ้าใครเป็นเกย์อินโทรเวิร์ต สิ่งที่ควรทำมีอยู่ 5 อย่างได้แก่

1. แม้จะไม่เหมือนเกย์โดยทั่วไป แต่ก็จงชื่นชมความไม่เหมือนใครของตัวเอง เพราะการเป็นอินโทรเวิร์ตไม่ได้มีอะไรผิด แค่คุณเป็นคนที่ได้รับพลังงานเวลาอยู่คนเดียวหรืออยู่ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ดังนั้น ให้สนใจกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ มีการศึกษาพบว่าคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตนั้น สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) จะมีเกรย์แมตเทอร์ (Gray Matter) มากกว่าคนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ต ซึ่งแปลว่าจะทำให้มีวิธีคิด วิธีตัดสินใจ และการมองโลกแตกต่างออกไป

2. อย่าไปมองว่าเอ็กซ์โทรเวิร์ตเป็นศัตรู เพราะเอ็กซ์โทรเวิร์ตก็แค่ต่างจากอินโทรเวิร์ตเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าต้องเกลียดชังกัน การถูกเอ็กซ์โทรเวิร์ตดึงเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี (คืออย่างน้อยเพื่อนก็ยังคบอยู่) แต่ก็ต้องหาสมดุล และสร้างความเข้าใจกับเพื่อนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตด้วย

3. ลองฝึกตัวเองให้ออกจาก Comfort Zone ดูบ้าง เรื่องนี้อาจจะยากหน่อย เพราะอินโทรเวิร์ตส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยยอมออกไปทำอะไรอื่นที่ตัวเองไม่สนใจ ดังนั้นก็ต้องใช้ความพยายามมากหน่อย วางแผนล่วงหน้าว่าจะก้าวเท้าออกจากบ้านไปทำอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้วเมื่อรู้สึกว่าพลังงานจะหมดก็รีบกลับไปชาร์จพลังงานใหม่

4. ถ้าไม่สบายใจที่จะออกไปพบปะผู้คนก็ลองใช้โซเชียลมีเดียได้ สื่อแบบนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออินโทรเวิร์ตโดยเฉพาะ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ไม่อย่างนั้นก็อาจเกิดปัญหาได้

5. ลองเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตดูบ้าง แต่ก็อย่าให้มากเกินไปจนขัดแย้งกับธรรมชาติในตัว บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าคนที่พูดเก่ง ออกสังคมเก่ง พูดคุยแบบสมอลทอล์คเก่ง อาจมีข้อได้เปรียบในการทำงานและการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากกว่าคนที่เก็บตัวเงียบๆ ดังนั้น การหา ‘สมดุล’ ระหว่างการเป็นอินโทรเวิร์ตกับเอ็กซ์โทรเวิร์ตจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

อ่านแล้วดูเหมือนเกย์อินโทรเวิร์ตนี่ช่างมีชีวิตที่ ‘ยาก’ เหลือเกิน!

2

มีคนวิเคราะห์ว่าวัฒนธรรมเกย์ (Gay Culture) นั้นมีอคติต่อบุคลิกแบบอินโทรเวิร์ตอยู่ไม่น้อย เพราะคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตมักจะถูกจับเข้าไปอยู่ใน ‘แบบและเบ้า’ ของคนบางบุคลิกเท่านั้น เช่น เป็นนักเขียน เป็นศิลปิน เป็นนักคิดผู้ลึกซึ้ง ชอบไตร่ตรองใคร่ครวญโน่นนั่นนี่อยู่คนเดียว

และบุคลิกทำนองนี้มักจะดู ‘ไม่เกย์’ (ทั้งในความหมายของการเป็นคนรักเพศเดียวกันและในความหมายของความร่าเริงด้วย)

ผมอดคิดไม่ได้ว่าการมองแบบนี้ก็คล้ายๆ กับการที่คนมองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องที่ ‘แข็งตัว’ (Rigid) สถิตนิ่งอยู่กับที่ ใครเกิดมามีจู๋หรือจิ๋มก็ต้องมีความรักความปรารถนาทางเพศที่ตรงกับอวัยวะเพศของตัวเองเสมอ แต่ก็อย่างที่เรารู้กันแล้วในปัจจุบันนั่นแหละนะครับว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่เลื่อนไหลไปได้ไม่รู้จบ ทุกวันนี้เราจึงไม่ประหลาดใจอีกแล้วกับการที่กะเทยจะเป็นแฟนกับทอม จนถึงขั้นที่มีลูกด้วยกัน เพราะอะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ – ก็ต้องตั้งคำถามกลับต่อการมองอินโทรเวิร์ตของ Gay Culture นั่นแหละนะครับว่าแล้วทำไมถึงมองความเป็นอินโทรเวิร์ตว่ามันสถิตนิ่งแข็งตัวอยู่กับ ‘แบบและเบ้า’ บางอย่างเท่านั้นเล่า

เอาเข้าจริง การบอกว่าใครเป็นอินโทรเวิร์ตหรือไม่เป็น (และเป็นแล้วต้องเป็นแบบไหน) ก็เหมือนการจัดแบ่ง (Categorize) อื่นๆ นั่นแหละครับ คือมันไม่ได้มีลักษณะเดียวหรือรูปแบบเดียว คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตมีความหลากหลายมาก แถมในแต่ละสถานการณ์ แต่ละช่วงเวลา แต่ละช่วงอารมณ์ คนเราก็มีความเป็นอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กซ์โทรเวิร์ตแปรผันแตกต่างกันไปอีก ดังนั้น การจับคนไปยัดใส่ไว้ในกรอบของความเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่แข็งตัวสถิตนิ่งอยู่อย่างนั้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีสภาวะที่ ‘เหวี่ยง’ ไปอีกข้างหนึ่งอยู่ด้วยนะครับ นั่นคือในปัจจุบันเริ่มมีเทรนด์ใหม่ที่คนจำนวนหนึ่งหันมามองว่าความเป็นอินโทรเวิร์ตเป็นเรื่องที่ ‘เก๋’ กันแล้ว เพราะคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตจะดูลึกลับซับซ้อน ดูมีมิติหลากหลายอยู่ในตัว แวบๆ มาปาร์ตี้ แป๊บๆ เดี๋ยวก็ต้องกลับบ้าน แล้วก็หายตัวไปจากแวดวงสังคมเพื่อนฝูง (จริงๆ คือกลับไปชาร์จพลังด้วยการนอนอ่านหนังสือเล่นกับแมวที่บ้าน) ทำให้คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตดูน่าสนใจ น่าค้นหา ดู ‘คูล’ มากกว่าคนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตซึ่งเปิดเผยหมดจดเป็นไหนๆ

ยิ่งเวลาออกเดตหรือนัดเจอกันโดยใช้ app ก็ยิ่งดูตื่นเต้น เนื่องจากความลึกลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตน่าสนใจ เหมือนมีอะไรซุกซ่อนอยู่ให้ต้องค้นหา หลายคนจึงเริ่มคิดว่าความเป็นอินโทรเวิร์ตที่เคยถูกกีดกันออกไปจากสังคม ตอนนี้กลายมาเป็นเรื่อง ‘อิน’ ไปเสียแล้ว ถึงขั้นมีหลายคนออกมาบอกว่าการ ‘แสดงตัว’ ว่าเป็นอินโทรเวิร์ตนั้นคือ Statement อย่างหนึ่งที่เป็นทั้ง Political Statement และเป็น Fashion Statement ไปด้วยในตัวเลยทีเดียว คือทั้งเก๋และทั้งดูมีความคิด

ปรากฏการณ์อินโทรเวิร์ตที่เคยไม่ป็อปปูลาร์ จึงกลายมาเป็นเรื่องเก๋ไปได้อย่างไม่คาดคิด จากที่เคยเป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ คือเป็นเหมือนเกาะเล็กๆ โดดเดี่ยวที่แยกกันอยู่ในทะเลแห่งเอ็กซ์โทรเวิร์ต เมื่อเกิดโซเชียลมีเดีย อินโทรเวิร์ตสามารถรวมตัวกัน (ในโลกไซเบอร์) สร้างเป็นกลุ่มคนที่โดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมาให้คนอื่นๆ อยากเลียนแบบได้ด้วย เรียกว่าอินโทรเวิร์ตสามารถใช้เทคโนโลยีต่อสู้ต่อรองกับกระแสหลักของเอ็กซ์โทรเวิร์ต จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนที่มีความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้

อินโทรเวิร์ตจึงเริ่มมี ‘ความหมาย’ แบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องบอกว่าน่าสนใจดี เพราะมันทำให้เราเห็นถึง ‘อนิจจลักษณะ’ ของความเป็นโน่นความเป็นนี่ในตัวมนุษย์ ซึ่งมนุษย์อาจไม่ได้เป็นโน่นหรือนี่มากเท่ากับที่พยายามจะเป็น และพยายามจะให้ความหมายต่อ ‘ความเป็น’ สิ่งนั้นสิ่งนี้ในตัวเอง

อนิจจลักษณะของ ‘ความเป็นเกย์อินโทรเวิร์ต’ จึงบอกอะไรกับเรามากมายเหลือเกิน

Tags: , , , , , , , , , , ,