“ผมขอร้องให้แฟนลาออกจากงานมาเป็นผู้ช่วย ส.ส. เงินเดือน 15,000 ตั้งแต่ปี 2562 เพราะในขณะที่ผมอยู่สภา ผมก็อยากได้คนทำงานหลังบ้านที่ไว้ใจได้ รับเรื่องร้องทุกข์ ประสานทีมงาน หน่วยงานราชการในพื้นที่ ดูแลทีมงาน ลงพื้นที่ รับงานดูคิวงานบุญงานพิธีให้ผม
“ไม่นับงานหลักที่ต้องหาข้าวให้ผมกิน หาเสื้อผ้าให้ผมใส่ เก็บฉี่แมว เติมน้ำแมว บลาๆ”
ข้อความจาก จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ออกมาโพสต์ในแอปพลิเคชัน X เพื่ออธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงให้ ‘คนรัก’ มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ส.ส.และช่วยเหลือตนในเรื่องต่างๆ เพื่อโต้กลับถึงกรณีที่ ส.ส.อีกท่านถูกวิจารณ์เรื่องที่แต่งตั้งสามีเป็นผู้ช่วยว่า เขาเองก็ทำเช่นเดียวกัน เนื่องจากเหตุผลเรื่องของความไว้วางใจในการทำงาน
แต่แทนที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจเหตุผลของเขามากขึ้น เนื้อหาดังกล่าวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เนื่องจากสะท้อนถึงการขาดความตระหนักรู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงเรื่องสิทธิแรงงาน ซึ่งทั้งสองเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลมุ่งผลักดัน เพราะจากเนื้อหาจะเห็นว่า นอกจากการลาออกจากงานมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ส.ส. ซึ่งภาระงานสวนทางกับเงินเดือนแล้ว คนรักของ ส.ส.ท่านนี้ยังต้องมีภาระงานในบ้าน คือการหาข้าวให้กิน หาเสื้อผ้าให้ใส่ ดูแลสัตว์เลี้ยง และยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกด้วย
‘Unpaid Care Work’ หรืองานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หมายถึงงานที่คนในบ้านมีหน้าที่ทำโดยไม่ได้รับเงิน เช่น การทำความสะอาด การทำอาหาร และการดูแลเด็ก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาระหน้าที่เหล่านี้ยังคงตกเป็นของผู้หญิง ทั้งในฐานะผู้เป็นเมียและผู้เป็นแม่ และสังคมก็ยังไม่ได้มองว่างานเหล่านี้คืองาน แต่กลับมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ
การที่ ส.ส.ท่านนี้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวว่าคนรักมีงานหลักเป็นการหาข้าวให้ตนกิน หรือหาเสื้อผ้าให้ตนใส่ แม้สิ่งนี้จะไม่ใช่เรื่องผิดหากผ่านความยินยอมพร้อมใจของทั้งสอง แต่มันก็ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างที่ถูกมองข้ามไปเช่นกัน อีกทั้งการขอร้องให้คนรักลาออกจากงานประจำมาทำงานที่ช่วยสนับสนุนงานของตนในอัตราเงินเดือน 15,000 บาท ก็ดูจะสวนทางกับประเด็นที่พรรคพยายามจะชูเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิแรงงานเป็นอย่างมาก
ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 2018 เผยว่า ผู้หญิงทั่วโลกทำงานเฉลี่ยวันละ 7.5 ชั่วโมง ซึ่งในชั่วโมงการทำงานทั้งหมด มีกว่า 3.5 ชั่วโมง ที่เป็นงาน Unpaid Care Work และไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ปานกลาง หรือรายได้สูง ผู้หญิงทั่วโลกกลับต้องทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในจำนวนชั่วโมงที่พอๆ กันอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาของงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างจึงไม่ใช่เรื่องของรายได้มวลรวมในประเทศ แต่เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ยังคงฝังรากลึกในสังคม ที่ทำให้งานบ้านกลายเป็นเรื่องที่มาคู่กันกับความเป็นหญิง
มีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องทำทั้งงานในระบบ และรับหน้าที่ในการทำงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ชั่วโมงในการทำงานของพวกเธอจึงมากตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงที่จำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อรับผิดชอบงานในบ้านอย่างเต็มตัว ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียโอกาสทางหน้าที่การงาน สังคม และความคล่องตัวทางการเงินไป
กลับกัน ผู้ชายมักไม่ใช่ฝ่ายที่ต้องลาออกจากงานมาเพื่อการดูแลงานบ้าน เนื่องด้วยเหตุผลที่เกี่ยวโยงกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่องว่างทางรายได้ (Gender Pay Gap) ที่ผู้ชายมักได้รับรายได้มากกว่าผู้หญิงแม้ว่าจะทำงานตำแหน่งเดียวกัน เมื่อมีการตัดสินใจว่าใครต้องออกจากงาน คนคนนั้นจึงมักจะเป็นฝ่ายหญิงเสมอ
อีกเหตุผลสำคัญคือการกำหนดบทบาททางเพศ จากความคิดที่ว่า ผู้หญิงมาคู่กับความอ่อนหวาน ละเอียดอ่อน จึงต้องมีบทบาทในบ้านคือเป็นแม่บ้านแม่เรือน เป็นเมียและแม่ที่ดี ขณะที่ผู้ชายต้องแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ และมีหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานหาเงินเข้าบ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบทบาททางเพศตามขนบที่สังคมกำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น
หากผู้หญิงเลือกจะเป็นแม่บ้าน การตัดสินใจดังกล่าวก็ควรถูกเคารพและต้องเป็นไปด้วยความยินยอม ไม่ใช่จากค่านิยมใดๆ ของสังคม และ Unpaid Care Work ก็ควรถูกนับว่าเป็นงานหนึ่งที่ต้องใช้ความสามารถ เวลา และแรงกายแรงใจ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดโดยเพศกำเนิด หรือมองว่ามันเป็น ‘งานหลัก’ ที่ผู้หญิงทุกคนต้องทำอยู่แล้ว
Tags: Unpaid Care Work, Gender, Gender Pay Gap, ก้าวไกล