“ว่ากันว่าผู้หญิงจะมีอำนาจ มีอิทธิฤทธิ์ ก็ต่อเมื่อ ‘ตาย’ กลายเป็นผีห่าซาตานไปแล้ว”

ลองนึกเร็วๆ ดูว่าผีไทยที่เป็นเพศชายมีผีอะไรบ้าง?

นึกอย่างไรก็นึกออกแค่ผีกระหัง… ผีกระหัง… แล้วก็ผีกระหัง แต่หากเปลี่ยนจากผีผู้ชายเป็นผีผู้หญิง กลับกลายเป็นสารพัดภูติผีที่จะนึก ผีกระสือ ผีนางรำ ผีตานี ผีต้นตะเคียน ผีตายทั้งกลม ผีแม่นาก และผีเสื้อสมุทร (คนละผี)

ทำไมผีไทยส่วนใหญ่จึงมีแต่ผีผู้หญิง?

หลายคนอาจตอบว่า เพราะผีผู้หญิงมีความน่ากลัวมากกว่า อาฆาตมาดร้ายมากกว่า แต่ทำไมผู้หญิงถึงต้องมีอารมณ์มากกว่า อาฆาตมาดร้ายมากกว่า และดูจะไม่มีเหตุผลมากกว่าเพศอื่น?

คำตอบดังกล่าวสามารถสะท้อนภาพผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี สังคมที่มักมีมายาคติมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีตรรกะ ขี้วีน ใช้แต่อารมณ์เป็นที่ตั้ง ดังนั้น เราจึงเห็นวรรณกรรม ละคร หนัง เต็มไปด้วยผีผู้หญิงที่มีความอาฆาตมาดร้าย หึงหวง หรือเกรี้ยวกราด

คำอธิบายมากมายที่กล่าวว่า ผีสางในวรรณกรรม ละคร และหนังผีมักเป็นเพศหญิงเพราะภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ที่มักตกเป็นเหยื่อ ถูกกดขี่ ถูกกระทำ หรือมีคุณสมบัติที่ต้องอยู่บ้านเฝ้าเรือน เป็นแม่และเป็นเมียที่ดีก็คือผู้หญิง

ในสมัยก่อน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ‘อุษาคเนย์’ ผู้หญิงมีบทบาทและความสำคัญมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ปกครองหญิงจะใช้เรื่องผีเป็นเครื่องมือในการปกครองชาวบ้าน เรื่องผีส่วนมากจึงแฝงไปด้วยความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมและศีลธรรม ช่วยจรรโลงมนุษยธรรมและรักษาไว้ซึ่งระเบียบสังคม เช่น ป่าเป็นสถานที่อันตรายมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน ชาวล้านนาจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีปกกะโหล้ง เพื่อเตือนไม่ให้คนโดยเฉพาะเด็กเข้าไปในป่าช่วงกลางคืน โดยกล่าวว่าผีปกกะโหล้งจะมาหลอกหลอน หรือผีนางไม้ที่สอนให้คนไม่ตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงความเชื่อในสมัยนั้นที่กล่าวว่า “ผีดีจะปกป้องคนดี ผีร้ายจะทำหน้าที่ลงโทษคนชั่ว”

แล้ว ‘เรื่องผี’ จากสังคมหญิงเป็นใหญ่ พัฒนาสู่วรรณกรรมที่สะท้อนภาพสังคมปิตาธิปไตยได้อย่างไร?

หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา สังคมเริ่มพัฒนาตามแนวโน้มสังคมชายเป็นใหญ่ เริ่มมีรัฐที่ปกครองโดยกษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการเข้ามาของศาสนาพุทธ สวนทางกับความเชื่อเรื่องผีที่มีความสำคัญน้อยลง การปฏิรูประบบศักดินาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถช่วยให้สังคมพัฒนาไปในรูปแบบปิตาธิปไตยมากขึ้น เพราะสมัยก่อนคนที่จะได้รับการศึกษามีแต่ชนชั้นสูง และผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถบวชเรียนได้

ดังนั้นจึงมีแต่เพศชายที่ได้รับการศึกษา ได้รับการอบรม ได้เรียนรู้การแต่งวรรณคดีที่มีรสวรรณคดีอินเดีย จึงไม่แปลกใจเลยว่าวรรณกรรมสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นผลงานประพันธ์ของนักเขียนเพศชายที่มาจากชนชั้นสูง

“ระบบศักดินาไม่เพียงแต่เป็นระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ หากยังเป็นระบบวัฒนธรรมด้วย เพราะระบบศักดินาช่วยกระตุ้นให้วรรณคดีไทยพัฒนาตามแนวโน้มความคิดแบบปิตาธิปไตยซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการปกครองของสัมคมปิตาธิปไตยรวมทั้งสถาบันฯ” – จิตร ภูมิศักดิ์

ศาสนาผีมีอำนาจความสำคัญลดลง ขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดกระตุ้นจินตนาการนักเขียนในการสร้างวรรณกรรมผีแบบใหม่ที่มีสุนทรียภาพมากกว่าเรื่องผีพื้นบ้าน แน่นอนว่าวรรณกรรมผีในรูปแบบนี้ได้มอบความบันเทิงให้กับผู้ชม และส่งต่อชุดความคิด สร้างจิตสำนึกให้ผีมีภาพลักษณ์เหมือนตัวละครหญิงในวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ตามที่สังคมชายเป็นใหญ่ต้องการ โดยประกอบขึ้นจากความรู้สึก เช่น ความรัก ความโศกเศร้า ความอ่อนโยน และความสงบ จึงส่งผลให้เรื่องผีกลายเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีบทบาทช่วยสร้างอุดมการณ์ปิตาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

หนึ่งเรื่องที่ยกตัวอย่างได้ชัดคือ ‘แม่นากพระโขนง’ แม่นากกับนายมากเป็นสามีภรรยาที่รักใคร่กัน วันหนึ่งนายมากต้องไปเข้าเดือนที่พระนคร ขณะที่นางนากตั้งครรภ์ แม้ตัวจะห่างแต่นางนากไม่คิดนอกใจ ซื่อสัตย์กับสามี แต่เมื่อครบกำหนดคลอดแม่นากตายทั้งกลม แม้จะตายกลายเป็นผีแต่ยังแปลงกายมาทำงานบ้าน ปรนนิบัติสามี และเลี้ยงลูกโดยไม่ขาด อันเป็นเป็นภาพลักษณ์ของหญิงสาวที่สังคมชายเป็นใหญ่ต้องการ

“แต่เมื่อนายมากรู้ความจริง ก็หนีนางนากไปหาพระ พระก็ให้การคุ้มครองและปราบผีแม่นาก เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายอ้อนวอนผู้ชายให้มาอยู่ด้วย และพุทธศาสนาอยู่เหนือความเชื่อเรื่องผี” – บทความ ‘ความคิดแบบปิตาธิปไตยกับการพัฒนาภาพลักษณ์ของผีในวรรณกรรมไทย: กรณีศึกษาจากเรื่องแม่นาก’

วรรณกรรมเรื่องแม่นาก นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของหญิงสาวที่สังคมปิตาธิปไตยต้องการ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าผู้หญิงจะตายเป็นผีเฮี้ยน มีอิทธิฤทธ์แรงกล้า หรือเกรี้ยวกราดมากแค่ไหน สุดท้ายก็ยังถูกปราบด้วยเพศชาย ตัวเอก พระเอก หรือศาสนาพุทธอยู่ดี

ที่มา

http://ojslib3.buu.in.th/index.php/art/article/view/6292

https://www.silpa-mag.com/news/article_46426

อุรุพงศ์ แพทย์คชา (2017). ลักษณะการเล่าเรื่องผีผู้หญิงในภาพยนตร์ไทย. วารสารนักบริหาร, 37(1), 75–82

Tags: , , , , ,