เมื่อพูดถึงประเทศอิหร่าน เราจะนึกถึงอะไรเป็นอันดับแรก… น้ำมัน อาวุธนิวเคลียร์ สงคราม ศาสนาที่เข้มงวด สิทธิเสรีภาพที่น้อยนิด หรือสิ่งไหน ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วอิหร่านเป็นประเทศที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมน่าสนใจไม่แพ้ที่อื่น แต่เราก็ไม่เคยคิดถึงในจุดนี้ เรามองเห็นแต่ความเคร่งครัดที่แทรกซึมไปทุกอณูของชีวิต ไม่เว้นแม้แต่กับเรื่องใด

อิหร่านเป็นประเทศที่มีการเซ็นเซอร์เข้มงวดกวดขัน การสร้างสรรค์งานสักอย่างจึงเต็มไปด้วยข้อห้าม โดยเฉพาะภาพยนตร์ ผู้กำกับหลายคนโดนสั่งห้ามไม่ให้สร้างภาพยนตร์นานหลายปี บางคนก็ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศ มีบ้างที่นักแสดงถูกยึดพาสปอร์ต และภาพยนตร์บางเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศตัวเอง แต่บนเวทีโลก ภาพยนตร์อิหร่านกลับผงาดขึ้นมา มันมีภาษาสุนทรียศาสตร์เฉพาะตัว เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ลุ่มลึกและงดงาม ปิดบังและเปิดเผย ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพยนตร์ 5 เรื่องนี้

Children of Heaven (1997)

ภาพยนตร์จากประเทศอิหร่าน ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในปี 1997 และเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ Fajr Film Festival ในปีดังกล่าว

เรื่องราวนี้เล่าด้วยสายสัมพันธ์ของพี่น้องคู่หนึ่ง อาลี ผู้เป็นพี่ชายบังเอิญทำรองเท้าที่มีอยู่คู่เดียวของซาห์ราหายไป เพราะมันดันไปวางอยู่ใกล้กับร้านขายผัก ชายเก็บขยะจึงหยิบไปโดยที่ไม่คิดว่ามันจะมีเจ้าของ อาลีพยายามหารองเท้าเท่าไรก็ไม่พบ เขารู้ดีว่าพ่อแม่แบกรับปัญหาอื่นมามากพอแล้ว เขาจึงตกลงกับน้องสาวว่าจะไม่บอกเรื่องนี้กับท่าน และแก้ไขปัญหาโดยการผลัดกันใส่รองเท้าของอาลี ช่วงเช้าซาห์ราจะใส่ไปโรงเรียนก่อน เมื่อเลิกเรียนก็จะรีบวิ่งเอารองเท้าไปให้อาลีได้ใส่ไปโรงเรียนบ้าง

ในตอนที่สองพี่น้องรู้ว่ารองเท้าตกไปอยู่ในมือใคร พวกเขาตามจนไปเจอว่าครอบครัวของเด็กหญิงคนนั้นก็ลำบากไม่น้อยไปกว่ากัน มันทำให้อาลีและซาห์ราล้มเลิกความตั้งใจที่จะทวงคืน แต่เหมือนฟ้าจะพอเป็นใจ เมื่ออาลีเจอประกาศรับสมัครวิ่งมาราธอน และรางวัลที่สามก็คือรองเท้าผ้าใบคู่ใหม่ เขาจึงลงสมัครพร้อมกับหมายมั่นว่าจะเอารองเท้าคู่ใหม่มาชดเชยให้กับซาห์รา การแข่งขันครั้งนี้อาลีไม่หวังอะไรไปมากกว่านั้น เขาเพียงต้องการให้น้องได้รับในสิ่งที่ควร และรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพอจะรับผิดชอบได้เท่านั้น

ทั้งอาลีและซาห์ราต่างเป็นเด็กที่ต้องละทิ้งความสนุกแบบเด็กๆ ไป เพราะฐานะของครอบครัวที่ไม่สู้ดี คนภายในบ้านจึงต้องช่วยกันแบ่งเบาภาระเท่าที่จะทำได้ อาลีรู้ซึ้งดีในข้อนี้ เขาจึงไม่ยอมบอกใครเรื่องรองเท้า แต่การใช้ชีวิตของสองพี่น้องก็ไม่ราบรื่นนัก มันเต็มไปด้วยปัญหาจุกจิกรายทางที่กระทบต่อการเรียน แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากก้มหน้ารับและข่มมันไว้ในใจ ในขณะที่เด็กบางคนที่เติบโตมาในกรุงเตหะรานกำลังมีชีวิตที่สุขสบาย และไม่ต้องกังวลกับรองเท้าสักคู่ที่หายไป แต่ครอบครัวของอาลีกลับต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรักษามันไว้เกือบเท่าชีวิต

The Wind Will Carry Us (1999)

อับบาส เคียรอสตามี ผู้กำกับระดับตำนานของวงการภาพยนตร์อิหร่าน เขายืนหยัดต่อสู้ในการสร้างภาพยนตร์ท่ามกลางกฎระเบียบอันเคร่งครัดของศาสนาอิสลาม จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก และฝากผลงานอันเป็นที่จดจำไว้มากมาย The Wind Will Carry Us เป็นชื่อภาพยนตร์ที่อ้างอิงมาจากกวีบทหนึ่งของกวีหญิงชื่อดังชาวอิหร่าน โรสนี นูรฟารีดา โดยเนื้อหาของเรื่องจะเป็นการสำรวจชีวิตหลังความตาย

กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่านายช่าง แต่แท้จริงแล้วคือนักข่าว พวกเขาเดินทางมายังหมู่บ้านเล็กๆ เพียงเพื่อจะบันทึกพิธีไว้อาลัยคนตายในท้องถิ่น ที่นี่เป็นหมู่บ้านของชาวเคิร์ด ชนกลุ่มน้อยที่เป็นมนุษยชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก บาร์ซาดกับเพื่อนจึงเดินทางไกลมาเพื่อเฝ้ารอความตายให้เกิดขึ้นต่อหน้า

แต่ไม่ว่ารอนานเท่าไร หญิงชราก็ไม่หมดลมหายใจลงเสียที ผู้คนภายในหมู่บ้านยังคอยดูแลเธออย่างต่อเนื่อง บาร์ซาดกับเพื่อนจึงทำอะไรไม่ได้มากนอกจากใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ต่อไป และคอยรายงานความคืบหน้าว่าความตายไม่ได้เดินทางมาถึงพร้อมพวกเขา แต่ละวันจึงผ่านไปด้วยการพูดคุยและทำนั่นทำนี่จิปาถะ ระหว่างนั้นก็มีการถือกำเนิดของทารกขึ้นบ้าง ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่บาร์ซาดต้องการ การรอคอยทอดเวลานานออกไป สิ่งที่พวกเขาได้เห็นกลับเป็นสิ่งละอันพันละน้อยของชีวิตที่ยังคงอยู่ ความงามและความเรียบง่ายของช่วงชีวิตที่ไม่ว่าจะดำเนินไปอย่างไรก็ต้องดับสูญในสักวัน แม้กระทั่งพวกเขาความตายก็ไม่อาจว่างเว้น…

นอกจากการมองดูชีวิตและความตายแล้ว นี่ยังเป็นจุดบันทึกความเปลี่ยนแปลงของรอยต่อที่เชื่อมระหว่างเมืองกับชนบท ความวุ่นวายที่แทรกซึมเข้าไปยังความเงียบสงบ ความเป็นอยู่ของสิ่งหนึ่งที่อีกสิ่งหนึ่งจะต้องค่อยๆ ตายจากไป และถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

Turtles Can Fly (2004)

นี่เป็นภาพยนตร์ที่ฉายให้เห็นถึงภาระหลังสงครามอิรัก ซึ่งถ่ายทอดผ่านเด็กๆ ผู้ไม่อาจไร้เดียงสาอีกต่อไป โดยนักแสดงเด็กทุกคนในเรื่องล้วนเป็นผู้ลี้ภัยทั้งหมด และภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องแรกที่ถ่ายทำในอิรักหลังการล่มสลายของซัดดัม ฮุสเซน

ในโลกอันหม่นหมองจากภาวะสงคราม เด็กๆ ต้องหาทางเอาตัวรอดไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ในค่ายอพยพชาวเคิร์ด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนอิรัก-อิหร่าน เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะใช้แรงงานเหมือนผู้ใหญ่คนอื่นๆ เพื่อหาเงินมาประทังชีวิต แซทเทลไลท์ เด็กชายวัย 13 ที่ฉลาดและมีไหวพริบจึงเป็นเหมือนผู้นำของกลุ่มเด็กๆ ในค่าย ความขัดสนที่มีนั้นก็แย่พออยู่แล้ว แต่เด็กบางคนยังพิกลพิการจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกด้วย

แซทเทลไลท์ตกหลุมรักเด็กหญิงกำพร้าคนหนึ่ง เขายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเธอทุกครั้งที่ทำได้ แต่ดูเหมือนว่าอะกรินนั้นรู้สึกขมขื่นตลอดมา ราวกับสงครามได้พรากทุกอย่างไปแล้วจากเธอ และมันก็จริงดังนั้น เมื่อเรื่องราวได้เปิดเผยว่าเพราะเหตุใด เธอเจ็บช้ำเกินกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ พยายามจะมีชีวิต และสายตายังเปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่สายตาเธอกลับว่างเปล่า แม้แต่แซทเทลไลท์ก็ไม่สามารถเยียวยาหัวใจเธอได้อย่างที่เขาต้องการ

ไฟของสงครามเผาผลาญทุกอย่าง สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน หลายเมืองในอิรักกลายเป็นซากปรักหักพัง เศรษฐกิจชะงักงันยาวนาน และสิ่งที่ต้องเผชิญหลังสงครามสิ้นสุดก็คือการกู้ทุกอย่างกลับคืนมา ซึ่งบางสิ่งก็อาจหวนคืน มีแต่ผ่านแล้วผ่านเลย และกลายเป็นตราบาปในชีวิตเรื่อยไป

A Separation (2011)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำโดยใช้กล้องวิดีโอแบบพกพา ซึ่งกำกับโดยอัสการ์ ฟาร์ฮาดี เขาคือผู้ที่พาภาพยนตร์อิหร่านไปคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ได้เป็นเรื่องแรก และยังคว้ารางวัลจากเวทีอื่นๆ มาอีกมากมาย ความสำเร็จนี้ทำให้ฟาร์ฮาดีเป็น 1 ใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลกประจำปี 2011 จากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์

ภาพยนตร์ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก แต่เริ่มต้นที่การหย่าร้างของสองสามีภรรยา นาเดอร์และซิมินมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ฝ่ายซิมินต้องการอพยพไปอยู่ต่างประเทศ เพราะไม่ต้องการให้ลูกสาววัย 11 ขวบเติบโตมาท่ามกลางสังคมที่ทุกอย่างถูกวางไว้ในกรอบของศาสนา ฝ่ายนาเดอร์นั้นไม่อาจทำตามสิ่งที่ภรรยาต้องการได้ เขามีพ่อซึ่งป่วยเป็นอัลไซเมอร์ต้องดูแลจึงไม่อาจจากสถานที่แห่งนี้ไป

เมื่อการหย่าร้างเกิดขึ้น ภาระในบ้านทั้งหมดจึงตกมาอยู่ที่นาเดอร์ เขาจ้างราเซียห์มาช่วยงานในบ้านตามคำแนะนำของภรรยา ราเซียห์เป็นหญิงสาวเคร่งศาสนาที่กำลังตั้งท้อง ฐานะทางบ้านไม่อำนวยให้เธอมีทางเลือกมานักนอกจากรับงานนี้ แม้มันจะหมายถึงการผิดหลักศาสนาบางข้อก็ตาม การทำงานนี้ไม่ได้ราบรื่นเท่าไรนัก แถมทั้งนาเดอร์กับราเซียห์ต้องมาเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เข้าใจผิดต่อกัน มันนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งลุกลามไปจนถึงการฟ้องร้องในชั้นศาล การขับเคี่ยวกันของทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้น และมันก็มีทีท่าว่าคงไม่มีทางจบลงด้วยดีอย่างแน่นอน

ตัวละครต่างเฉือดเชือนกันด้วยบทสนทนา ทุกคำพูดและการกระทำร้อยเรียงจนพาผู้ชมไปสู่จุดต่างๆ ได้อย่างลื่นไหล ความแยบยลของสถานการณ์ที่กำลังเผชิญสะท้อนให้เห็นคุณค่าและกรอบในสังคมของอิหร่าน กรอบที่ทำให้ผู้คนไร้อิสรภาพในการตัดสินใจ กรอบที่ถูกเลือกมาแล้วว่าให้ต้องปฏิบัติตาม 

The Salesman (2016)

อีกหนึ่งผลงานจากผู้กำกับ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี ที่เป็นภาพยนตร์อิหร่านลำดับที่สามที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยเนื้อหานั้นละม้ายกับบทละครเวทีเรื่อง Death of a Salesman ของอาร์เธอร์ มิลเลอร์ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ในบทละครที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 20

เรื่องทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้นหากอีหมัดและรานาไม่ต้องย้ายที่อยู่ บ้านเดิมของพวกเขาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนไม่สามารถอยู่ต่อได้ ดังนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจหาบ้านใหม่ และโชคดีที่หาเจอภายในระยะเวลาอันสั้นจากคำแนะนำของเพื่อนในคณะละครเวที แต่ความโชคดีนั้นดันกลายเป็นโชคร้าย

วันหนึ่งขณะที่รานาอยู่บ้านคนเดียว เธอถูกชายแปลกหน้าเข้ามาทำร้ายร่างกายถึงห้องน้ำ เพราะคนๆ นั้นคิดว่าเธอคือหญิงสาวที่เคยอยู่ที่นี่ เมื่ออีหมัดรู้เข้าเขาจึงอดรนทนไม่ได้ แต่รานาก็ไม่ต้องการแจ้งตำรวจ เพราะมันน่าอับอายเกินกว่าจะรับไหว เธอไม่ต้องการตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน และไม่อยากเอ่ยถึงเรื่องนี้อีก ซึ่งมันทำให้อีหมัดรู้สึกคับแค้นใจยิ่งขึ้น เขาเหมือนโดนเหยียบย่ำศักดิ์ศรี และรับไม่ได้ที่โดนฉีกหน้าด้วยการกระทำเหล่านี้ อีหมัดจึงตามหาคนร้ายด้วยตัวเอง ทั้งยังตั้งใจจะประจานชายคนนั้นให้จมดินยิ่งกว่าสิ่งที่เขาได้รับ แล้วชีวิตเขาก็ค่อยๆ ถลำลึกลงไปยังใจกลางของความเกลียดชัง ซึ่งบทสรุปนั้นไม่ต่างอะไรกับโศกนาฏกรรมบทหนึ่ง

ภาพยนตร์เต็มไปด้วยบาดแผล ความอึดอัด และความสับสนของตัวละคร ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งที่ตัดสินใจทำก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายยังแย่ลงจนไม่สามารถกู้คืนอะไรมาได้ ความเจ็บปวดไม่ลบเลือน ความชอกช้ำไม่จางหาย ความรู้สึกสิ้นหวังยังติดอยู่ในหัวใจ และยังจะติดอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปโดยที่กาลเวลาไม่อาจพราก

Tags: , , ,