Photo: content.nike.com

ภาพของยอดนักกีฬาระดับ ‘บิ๊กเนม’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เลอบรอน เจมส์, เควิน ดูแรนต์, เซรีนา วิลเลียมส์ และอื่นๆ ที่ปรากฏในโฆษณาชุดใหม่ของไนกี้นั้นทรงพลังมากพอที่จะทำให้คนจำนวนมากต้องฉุกคิดอะไรบางอย่าง
‘ถ้าเราเสมอภาคกันได้ในเกมกีฬา เราก็เสมอภาคกันได้ทุกที่’

นี่คือใจความสำคัญของโฆษณาชุด ‘Equality’ หรือความเสมอภาค ที่ต้องการบอกกับทุกคนบนโลกว่าเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติใด นับถือศาสนาอะไร เพศไหน จะยากดีมีจน ตราบใดที่มีหัวใจเพียงหนึ่งก็นับว่าเราทุกคนต่างเท่าเทียมกัน
คนเราควรจะตัดสินกันที่การกระทำ ไม่ใช่ด้วยสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก

ความเท่าเทียมนั้นต้องไร้กรอบและขอบเขต หากจะมีเส้นใดมาแบ่งกั้นเส้นนั้นก็ควรจะเป็นแค่เส้นที่ตีขึ้นในสนามตามกฎและกติกาของเกมกีฬาเท่านั้น

โฆษณาความยาว 90 วินาทีชุดนี้ เกิดขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมกันในช่วง Black History Month ซึ่งเป็นช่วงของการระลึกถึงความสำเร็จและความสำคัญของเหล่าคนผิวดำที่มีต่อสหรัฐอเมริกา (และมีอีกหลายชาติที่จัด Black History Month รวมถึงแคนาดา และสหราชอาณาจักร)

เพียงแต่เมื่อกลับมาคิดอีกที ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวเท่าบ้านเกิดขึ้นในหัวครับว่าบนโลกนี้ความเสมอภาคนั้นมีอยู่จริงหรือ

เพราะแม้กระทั่งในเกมกีฬาที่ว่าเป็น ‘พื้นที่ปกครองพิเศษ’ ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมให้พบเห็นเกิดขึ้นมากมาย

โลกใบนี้ยังมีความหวังที่จะเท่าเทียมกันอยู่หรือ?

กีฬาต้องไม่มีสี

บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนก่อนในคอลัมน์ชิ้นเรื่องราวของเกม ‘แดงเดือด’ ตอนหนึ่งผมได้เขียนถึงเรื่องความเป็น ‘อริ’ (rival) ระหว่างแฟนบอล ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่าความไม่ถูกกันของ ‘ลิเวอร์พัดเลียน’ และ ‘แมนคูเนียน’ ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะแฟนฟุตบอลต้องการคู่ปรับเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ

ยิ่งเกลียดก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งสุดท้ายไปวัดกันที่ผลงานในสนาม

แต่เรื่องของการเป็นอรินั้นมันเป็นคนละเรื่องกับการเหยียดสีผิว (racism) อย่างสิ้นเชิงครับ

การเหยียดสีผิวในเกมกีฬานั้นเป็นเรื่องของการแบ่งแยก เป็นการดูถูกคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างรู้ว่านี่คือเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

มันไม่ต่างอะไรจากเนื้อร้ายที่เราไม่สามารถอยู่ร่วมกับมันได้

แต่โลกกีฬาก็ไม่เคยปราศจากเนื้อร้ายก้อนนี้

ปัญหาการเหยียดสีผิวนั้นยังเกิดขึ้นเสมอครับ แม้กระทั่งในปี 2017 ที่เราเข้าใกล้โลกแห่งอนาคตมากขึ้นทุกเวลานาที เราได้เห็นข่าวนักกีฬาฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือแม้แต่กีฬาที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาผู้ดีอย่างกอล์ฟ ก็มีนักกีฬาถูกหยามเหยียดความเป็นมนุษย์ในสนามเสมอ

โดยเฉพาะในสนามฟุตบอลที่ฝรั่งเศส อิตาลี เรื่อยไปจนถึง เซอร์เบีย รัสเซีย ทางแถบยุโรปตะวันออก

เสียงร้องล้อเลียนเสียงลิง การตะโกนด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบเกินกว่าใจจะรับไหว เรื่อยไปจนถึงการโยน ‘กล้วย’ ลงมาในสนาม มีให้เห็นตลอด โดยที่นักฟุตบอลผิวสีไม่มีทางเลือกมากกว่าคำว่า อดทน

บางรายทนไม่ไหวตัดสินใจ ‘วอล์กเอาต์’ ออกจากสนามเลยก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง

ที่ผ่านมามีคนพยายามที่จะกำจัดมะเร็งร้ายที่ชื่อว่าการเหยียดสีผิวนี้มาโดยตลอดครับ ผ่านการจัดตั้งแคมเปญใหญ่ อาทิ Kick It Out, Show Racism the Red Card ซึ่งได้รับการตอบรับและเป็นที่รู้จักพอสมควร โดยเฉพาะ Kick It Out ที่เริ่มรณรงค์มาตั้งแต่ปี 1993 หรือกว่า 24 ปีมาแล้ว

แต่มันก็มักจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจห่อเหี่ยวอยู่เรื่อยๆ เช่น ในปี 2015 เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวขึ้นเมื่อ ซูเลย์มาน ซิลลา (Sulleyman Sylla) เซลล์แมนผิวสีชาวปารีเซียง ถูกแฟนฟุตบอลเชลซี ที่เดินทางไปชมเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นัดที่พบกับ ปารีส แซงต์-แชร์แมง ผลักและกีดกันไม่ให้เข้าขบวนรถไฟใต้ดินในกรุงปารีส พร้อมตะโกนด้วยความสะใจว่า “We’re racist, we’re racist, and that’s the way we like it.”

เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบันทึกเป็นคลิปวิดีโอโดย พอล โนแลน ชาวอังกฤษด้วยกันที่รับไม่ได้และนำมามอบให้ The Guardian เผยแพร่ต่อ สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่ได้เห็นคลิปดังกล่าว

อย่างไรก็ดีสังคมไม่ได้นิ่งดูดาย มีการสืบสวนและลงโทษแฟนฟุตบอลผู้ก่อเรื่อง โดยเบื้องต้นเชลซีลงโทษแบนห้ามเข้าสนามตลอดชีวิต และล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสมีคำสั่งตัดสินให้แฟนบอล 4 คนที่ก่อเหตุชดใช้ความผิดด้วยการจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน และจ่ายเงินชดเชยให้แก่ซูไลมานเป็นจำนวนเงิน 10,000 ยูโร

โจชัว พาร์สสัน วัย 22 ปี หนึ่งในผู้ก่อเหตุยังสูญเสียงานด้านการเงินของเขาทันทีหลังเกิดเหตุ (แม้จะพยายามยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นคนเหยียดผิว) อันเป็นผลจากการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ของเขาเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือศาลฝรั่งเศสต้องการให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างของการเหยียดผิวว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และต้องถูกลงโทษสถานหนัก และหวังว่าจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไป

ถึงแม้มันจะเป็นเพียงกรณีเดียวที่ลงโทษผู้กระทำผิดได้ชัดเจน เพราะมีการบันทึกวิดีโอไว้ เมื่อเทียบกับอีก 134,000 กรณีที่ Kick It Out พบว่ามีการเหยียดผิวในโลกออนไลน์ระหว่างปี 2014-2015 และอีกนับไม่ถ้วนที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันในสนามกีฬา

แต่อย่างน้อยที่สุด มันเป็นการแสดงจุดยืนว่าในโลกกีฬา สีเครื่องแต่งกายเท่านั้นที่ยอมรับให้มีความแตกต่างได้

ไม่ใช่สีผิว

Photo: nesn.com

ผู้หญิงไม่ใช่ของเล่น

ในโฆษณา ‘Equality’ เซรีนา วิลเลียมส์ ปรากฏตัวด้วยภาพลักษณ์ที่ขึงขัง แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกับเธอเป็นอย่างดีในฐานะนักเทนนิสหญิงที่เก่งและแกร่งที่สุดคนหนึ่งในโลก

แต่ไม่ใช่นักกีฬาหญิงทุกคนจะได้รับการยอมรับแบบนั้น

ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายจำนวนมากยังคงเชื่อว่า ‘กีฬาไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเพศที่อ่อนแออย่างผู้หญิง’

ปัญหาเรื่องการ​ ‘เหยียดเพศ’ ในเกมกีฬาเกิดขึ้นมาช้านานและในปัจจุบันเองก็ยังไม่หมดไป โดยเฉพาะในกีฬาประเภทที่ผู้ชายคิดเอาเองว่ามันเป็นกีฬาของพวกเขา เช่น ฟุตบอล หรือมวย ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้พละกำลังและร่างกายสูงมาก

บางคนคิดเหมาไปเองว่า ‘ผู้หญิงไม่รู้เรื่องหรอก’ ซึ่งเคยมีกรณีอื้อฉาวมากมาย อาทิ แอนดี้ เกรย์ (Andy Grey) และ ริชาร์ด คีย์ส (Richard Keys) สองพิธีกรกีฬาชื่อดังชาวอังกฤษที่ถูกเผยแพร่คลิปหลุดว่าไปวิจารณ์ ไซแอน แมสซีย์ (Sian Massey) ผู้ช่วยผู้ตัดสิน

กรณีนี้ทั้งสองคนถูกสถานีโทรทัศน์ Sky Sports ไล่ออกทันที ทั้งที่เป็นระดับ ‘ตำนาน’ ทั้งคู่

Photo: wikipedia commons

อีกหนึ่งกรณีที่มีข่าวใหญ่โตคือ กรณีพิพาทระหว่าง โชเซ มูรินโญ (José Mourinho) และ อีวา คาร์ไนโร (Eva Carneiro) อดีตแพทย์สาวในทีมเชลซี ที่มีปัญหากันในเรื่องของการทำงาน จากเหตุการณ์ที่ เอเดน อาซาร์ (Eden Hazard) นักเตะตัวเก่งของทีมมีอาการบาดเจ็บในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ซึ่งเธอต้องการจะลงไปดูอาการทันทีตามหน้าที่ แต่มูรินโญไม่เห็นด้วย เพราะหากคาร์ไนโรลงไป จะทำให้เชลซีเหลือผู้เล่นในสนามแค่ 9 คนเท่านั้น และตำหนิว่าคาร์ไนโร รวมถึง จอน เฟิร์น (Jon Fearn) หัวหน้านักกายภาพบำบัด กระทำการโดย ‘หุนหันและซื่อเกินไป’

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ คาร์ไนโรถูกมูรินโญห้ามไม่ให้ข้องเกี่ยวกับทีมชุดใหญ่อีก ก่อนที่แพทย์หญิงจะตัดสินใจลาออกพร้อมดำเนินคดีฟ้องร้องมูรินโญ เพื่อแสดงจุดยืนของจรรยาบรรณวิชาชีพ และเพื่อศักดิ์ศรีของเธอ

คาร์ไนโรได้รับ ‘ดอกไม้’ เป็นกำลังใจและการสนับสนุนจากสังคมมากมาย ตรงข้ามกับมูรินโญที่ได้รับ ‘ก้อนหิน’ และสุดท้ายต้องกระเด็นตกงานในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้นทั้งที่เพิ่งพาทีมคว้าแชมป์ได้ไม่ถึงปี

เมื่อปีกลายฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนจากการเล่นฟุตบอลของเธอโดยขอให้ได้รับเท่าๆ กับที่ทีมชายได้ เพราะในปัจจุบันทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ได้รับเงินน้อยกว่าทีมชายถึง 60%

ทั้งๆ ที่ผลงานของพวกเธอดีกว่าทีมชายมหาศาล เป็นทีมระดับแชมป์โลก อยู่ที่ 1 ในเวิลด์แรงกิ้งของฟุตบอลหญิง และที่สำคัญพวกเธอทำรายได้จากการที่มีแฟนบอลซื้อตั๋วเข้ามาชมเกมของทีมหญิงมากกว่าทีมชายถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ เท่านั้น ในอังกฤษทีมชาติหญิงของพวกเธอได้รับค่าตอบแทนเพียง 26,000 ปอนด์ต่อปี ขณะที่นักฟุตบอลในระดับพรีเมียร์ลีกได้รับเงินค่าเหนื่อยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 73,000 ปอนด์ หรือคิดเป็น 3.8 ล้านปอนด์ต่อปี

ความแตกต่างของเงินรายได้ตรงนี้ถูกมองว่าเป็นการดูถูกนักกีฬาหญิง (ไม่ใช่เฉพาะในวงการฟุตบอล แต่เป็นเกือบทุกวงการ) ทั้งๆ ที่พวกเธอก็มีความสามารถไม่แพ้กัน

ยังไม่นับเรื่องที่พวกเธอต้องกลายเป็น ‘ความสุขทางสายตา’​ ของบรรดาผู้ชมที่เป็นผู้ชาย โดยที่บางครั้งก็จำใจเพราะสปอนเซอร์ชุดแข่งขันเองก็คิดว่ามันเป็นหนทางในการดึงดูดผู้ชม จนเกิดกรณีอื้อฉาว เช่น ในรายการเทนนิสวิมเบิลดัน 2016 มีนักเทนนิสหญิงจำนวนมากที่ไม่พอใจชุดแข่งขันของไนกี้ ที่เปิดเผยเนื้อหนังมังสามากเกินความจำเป็น

พวกเธอมาแข่งขัน ไม่ใช่มาโชว์เรือนร่าง

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีการลุกขึ้นสู้ของนักกีฬาหญิงมากขึ้น โดยที่ภาคสังคมเองก็ให้การตอบรับ ในพื้นที่สื่อมีการนำเสนอข่าวนักกีฬาหญิงมากขึ้น แม้แต่ฟุตบอลก็มีการรายงานข่าวของนักเตะหญิงระดับท็อปมากขึ้น เช่น การย้ายทีมของ อเล็กซ์​ มอร์แกน (Alex Morgan) ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติสหรัฐฯ ที่ย้ายมาร่วมทีมหญิงของสโมสร โอลิมปิก ลียง หรือ คาร์ลี ลอยด์ (Carli Lloyd) กัปตันทีมชาติสหรัฐฯ เจ้าของรางวัลนักฟุตบอลหญิงยอดเยี่ยมของโลก 2 สมัย ที่เพิ่งย้ายมาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สดๆ ร้อนๆ

มอร์แกนให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า เธอรู้สึกดีที่ได้เห็นผู้หญิงพยายามลุกขึ้นสู้เพื่อ ‘คุณค่า’ ในตัวของพวกเธอเอง แต่ยอมรับว่า ‘เส้นทาง’ นั้นยาวไกล จะเหน็ดเหนื่อย และยากลำบากแน่

เพียงแต่หากมีการสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ โดยเฉพาะ ‘ฟีฟ่า’ (FIFA) ที่ถ้า ‘เคารพ’ นักฟุตบอลหญิงมากกว่าที่เป็นอยู่ เธอเชื่อว่าทุกองค์กรกีฬาไม่ว่าจะฟุตบอลหรือกีฬาอื่นก็จะต้องขานรับด้วยอย่างแน่นอน

Photo: setlistmx.com

เกมการแข่งขันที่ยาวนาน

ในวัน ‘วาเลนไทน์’ ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลสำคัญของโลกกีฬาครับคือรางวัล ลอริอุส อวอร์ดส์ 2017 (Laureus Awards 2017)

ปีนี้นักกีฬาชายที่ได้รับรางวัลคือ ‘มนุษย์สายฟ้า’ ยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) สุดยอดนักวิ่งชาวจาไมกา เจ้าของสถิติ 8 เหรียญทองโอลิมปิก (โดนริบไป 1 เพราะเพื่อนร่วมทีมวิ่งผลัดใช้สารกระตุ้นในโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง)

ส่วนนักกีฬาหญิงคือ ซิโมเน ไบล์ส (Simone Biles) นักยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐฯ เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก

ภาพที่สวยงามของการขึ้นรับรางวัลอันทรงคุณค่า ซึ่งถือเป็น ‘ที่สุด’ ของโลกกีฬานี้ อดทำให้คิดย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เราพูดถึงกันข้างต้นเกี่ยวกับการเหยียดผิวและเหยียดเพศขึ้นมาไม่ได้ครับ

มันจะดีแค่ไหนหากนักกีฬาทุกคน ไม่ว่าจะสีผิวอะไร เพศไหน ศาสนาใด จะได้รับการยอมรับและยกย่องอย่าง ‘สมเกียรติ’ ในทุกที่ของโลกเหมือนที่โบลต์และไบล์สได้รับการยกย่องบนเวที ลอริอุส อวอร์ดส์

เพราะท้ายที่สุดแล้วจะเป็นใครจากไหน จะเก่งหรือไม่ สุดท้ายก็คือนักกีฬาเหมือนกัน

ต่างกันเพียงเป้าหมายว่าจะเล่นเพื่อชัยชนะ เล่นเพื่อเกียรติยศ เล่นเพื่อเลี้ยงชีพ หรือเล่นเพื่อสุขภาพ

ไม่ได้มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านี้

การต่อสู้เพื่อ ‘ความเสมอภาค’ ในเกมกีฬานั้นเป็นการแข่งขันที่ยาวไกลครับ ต้องอุทิศพลังกายและใจมหาศาล และที่สำคัญคือทุกคนบนโลกต้องร่วมแข่งขันพร้อมกัน

อาจจะไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อยเราก็พอได้เห็นประกายความหวังบ้าง

‘ถ้าเราเสมอภาคกันได้ในเกมกีฬา เราก็เสมอภาคกันได้ทุกที่’

DID YOU KNOW?

  • จากแคมเปญ ‘Equality’ ไนกี้จะมอบเงินจากการจำหน่ายสินค้าที่จะวางจำหน่ายในช่วง Black History Month จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่องค์กร MENTOR และ PeacePlayers เพื่อรณรงค์ให้เกิดความเสมอภาคทั่วสหรัฐอเมริกา
  • เพื่อให้การต่อสู้กับการเหยียดสีผิวทรงพลังมากขึ้น Kick It Out สร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อรายงานการกระทำผิดเรื่องการเหยียดสีผิว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ช่วยให้ได้รับการร้องเรียนขึ้นมาก และได้รับรางวัล Best/Most Innovative Use of Technology (Non-Club Specific) จาก Football Business Award
  • นักฟุตบอลหญิงในสหรัฐฯ แม้แต่นักเตะทีมชาติเองใช้เวลา 5 เดือนในแต่ละปีเพื่อทำงานเสริม เพราะลีกฟุตบอลหญิง (NWSL) มีระยะเวลาแข่งขันแค่ 7 เดือน โดยนักฟุตบอลหญิงจะได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ​ ซึ่งแม้จะมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางบ้าน แต่ก็ยังแทบไม่พอที่จะดำเนินชีวิตปกติอยู่ดี และส่งผลให้นักฟุตบอลหญิงส่วนใหญ่เลิกเล่นเมื่ออายุ 25 ปี
  • ในการประกาศรางวัล ลอริอุส อวอร์ดส์ นอกจากโบลต์และไบล์สที่ได้รางวัลแล้วยังมีรางวัลอื่นๆ อีก เช่น ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ได้รางวัล Spirit of Sport จากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก, เบียทริซ วิโอ นักฟันดาบวีลแชร์ชาวอิตาเลียน ได้รางวัลนักกีฬาคนพิการแห่งปี
  • นอกจากนี้ยังมีรางวัล Sport for Good สำหรับทีมผู้อพยพโอลิมปิก (The Refugee Olympic Team) จากการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ริโอ และ Best Sports Moment คือทีมนักฟุตบอลบาร์เซโลนา ชุดอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ปลอบประโลมคู่แข่งจากญี่ปุ่นในการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชน ที่หลายคนน่าจะได้เห็นคลิปน่าประทับใจนี้มาแล้ว 🙂
Tags: , ,