‘Bekenntnis’ (คำสารภาพ) ของออกุสตินุส (Augustinus) คือหนังสือเล่มสุดท้ายที่เฮอร์มานน์ เฮสเส (Hermann Hesse) อ่าน เป็นหนังสือเล่มที่วางอยู่ข้างเตียงของเขาในตอนเช้าของวันที่ 9 สิงหาคม 1962 ก่อนที่นิโนน (Ninon) ภรรยาของเขาจะเข้าไปพบสามีนอนสิ้นลมอยู่ภายในห้องนอนที่บ้านในมอนตาญโนลา

เฮอร์มานน์ เฮสเส ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในวัย 85 ปี เคยทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมาก่อน วันก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต เขาเพิ่งเขียนบทกวีเสร็จไปสองบท ‘Im Nebel’ (ในม่านหมอก) และ ‘Stufen’ (ก้าว) ที่ตีพิมพ์แทรกลงในเล่ม Das Glasperlenspiel

“รูปลักษณ์ของเขาดูเหมือนภาพเหนือจริง นอนเหยียดยาวอย่างสงบ คล้ายคนหลับลึก ดูเหมือนคนที่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่คาดหวัง” ซีกฟรีด อุนเซลด์ (Siegfried Unseld) เพื่อนชาวเยอรมันเจ้าของสำนักพิมพ์ Suhrkamp บันทึกความรู้สึกของเขาเมื่อตอนไปยืนที่ข้างเตียงผู้ตาย

กวีผู้สับสนในชีวิต

เฮอร์มานน์ เฮสเส เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1877 ในเมืองคาลฟ์ รัฐเวือร์ตเทมแบร์กของเยอรมนี แต่ถือสัญชาติรัสเซีย โยฮานเนส เฮสเส (Johannes Hesse) พ่อของเขา มีพื้นเพจากเอสโตเนียในราชอาณาจักรของพระเจ้าซาร์ และเป็นนักบุญสอนศาสนา มารี (Marie) แม่ของเขาเป็นลูกของผู้รอบรู้เรื่องเกี่ยวกับตะวันออกและนักบุญสอนศาสนาเช่นกัน ชีวิตวัยเด็กของเฮอร์มานน์จึงหมกมุ่นคร่ำเคร่งอยู่กับเรื่องความเชื่อและคำสอนทางศาสนา

เมื่อเติบใหญ่ เฮอร์มานน์แสวงหาความรักและการยอมรับ แต่เขาได้รับเพียงการตักเตือนให้ฝักใฝ่ในศาสนา หลังจากประสบวิกฤตชีวิต หลบหนีออกจากโรงเรียนโบสถ์มาวล์บรอนน์ คิดฆ่าตัวตาย เขาก็ถูกส่งตัวไปเข้ารับการบำบัดทางประสาท พ่อของเขาพร่ำสอนและย้ำเตือนอีกครั้งว่า “จุดหมายสูงสุดของชีวิตเราคือ ความรักในพระเจ้า และการรับใช้พระองค์”

หลังผ่านพ้นวิกฤติการคิดสั้น เฮอร์มานน์ในวัย 15 ก็เริ่มค้นพบตัวตน นั่นคือ เขาจะต้องเป็นนักคิดนักเขียน แรกเริ่มเขาลองฝึกงานกับช่างสร้างหอนาฬิกา จากนั้นไปเรียนรู้งานในร้านหนังสือที่ทือบิงเกน และบาเซล กระทั่งปี 1904 เขาเริ่มมั่นใจว่าเขาสามารถหาเลี้ยงชีพได้ในฐานะนักเขียนอิสระ Peter Camenzind นิยายเรื่องแรกของเขาในปีนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากเฮอร์มานน์ เฮสเสแล้ว ยังมีคาร์ล เคราส์ (Karl Kraus) ไฮน์ริช มันน์ (Heinrich Mann) และสเตฟาน ซไวก์ (Stefan Zwieg) ซึ่งเป็นนักคิดนักเขียนชาวเยอรมันกลุ่มน้อยที่ต่อต้านสงคราม เฮสเสอพยพโยกย้ายไปตั้งรกรากที่เมืองมอนตาญโนลา แคว้นเทสซินตั้งแต่ปี 1919 และได้รับสัญชาติกลายเป็นพลเมืองชาวสวิสในปี 1927

 

ในร่มเงาความเชื่อ

อาจเป็นเพราะว่าเฮอร์มานน์ เฮสเสถือกำเนิดในครอบครัวที่มีความเชื่อในหลายศาสนา และคนที่มีอิทธิพลต่อครอบครัวเฮสเสก็คือ ดร.เฮอร์มานน์ กุนแดร์ต (Dr. Hermann Gundert) ตาของแฮร์มัน ผู้ซึ่งเดินทางไปยังอินเดียตั้งแต่ตอนอายุ 21 ปี ไปก่อตั้งสำนักเผยแผ่ศาสนกิจที่นั่น และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอินเดีย ตลอดช่วงชีวิตในอินเดีย เขาพยายามหลอมรวมความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ของอินเดีย เรียนรู้และเผยแผ่สืบต่อมาจนถึงครอบครัวเฮสเส

โยฮานเนส-พ่อของแฮร์มัน เฮสเสก็ซึมซับศาสตร์และคำสอนเหล่านั้นเพื่อนำมาเผยแผ่ในนิกายอีวานเจลิคัล (นิกายย่อยของโปรเตสแตนต์) และยังคาดหวังจะให้ลูกชายเดินตามรอยเป็นนักบุญสอนศาสนาเหมือนบรรพบุรุษ เฮอร์มานน์ เฮสเสเคยกล่าวว่า เขาพยายามปลดปล่อยความเชื่อที่แท้จริงของเขาทั้งหมดไว้ใน Siddhartha (สิทธารถะ) แต่ความจริงแล้ว เฮสเสไม่ได้จดจ่ออยู่ที่ศาสนาเดียว หากเปิดกว้างสำหรับค่านิยม ความเชื่อที่แตกต่าง และทุกรูปแบบของความศรัทธา ด้วยเหตุนี้ Siddhartha ของเขาจึงเป็น ‘ความรักที่สุดยอด’ มากกว่า ‘ความรู้’

“ข้าพเจ้ามีประสบการณ์ทางศาสนาในสองรูปแบบ เป็นลูก เป็นหลานชายของโปรเตสแตนต์ที่เคร่งศาสนา และเป็นผู้อ่านที่ยอมรับและเข้าใจในความเป็นอินเดีย รวมถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า และนั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ข้าพเจ้าเติบโตขึ้นท่ามกลางความเป็นคริสเตียนเต็มตัว ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากศาสนาของอินเดียครั้งแรก”

เฮสเสเชื่อในเอกภาพของมนุษย์กับธรรมชาติ เชื่อใน “การหวนคืนสู่อ้อมกอดแม่ (ที่เป็น) ธรรมชาติในจักรวาล” ดังนั้น ธรรมชาติจึงไม่ควรถูกนำมาเป็นศัตรูของมนุษย์ แต่มนุษย์เราควรจะ ‘ปรีดาในสันติสุข’ เพราะในท้ายที่สุด มนุษย์ทุกคนจะกลับคืนสู่จักรวาลเหมือนเช่นสัตว์และพืชทั้งหลาย

โลกทัศน์ทางศาสนาของเฮสเสมีความหลากหลาย แต่ก็เปิดกว้างสำหรับทุกรูปแบบ เขาเชื่อว่ามนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ และความใกล้ชิดกับธรรมชาตินี้เองได้ถูกแสดงออกมาในผลงานเกือบทั้งหมดของเฮสเส

สำหรับเฮอร์มานน์ เฮสเสแล้ว ความตายคือ ‘อีกด้านหนึ่งของชีวิต’ ที่ควรหลอมรวมเข้ากับชีวิตจริง ความตายไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือเป็นความหายนะ หากว่าเราตอบรับมัน และยอมรับมันว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของชีวิตและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

“เราไม่ควรเกลียดกลัวความตาย” เฮสเสเคยกล่าว ความตายที่เขารู้จักในชีวิตยังคงเป็นของเขา และเป็นของชีวิตเขาเท่าๆ กับตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่

“ความสัมพันธ์กับความตายจึงไม่ใช่ความบ้าคลั่งหรือจินตนาการสวยหรู หากแต่มันคือความจริง และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักความทุกข์โศกที่เกิดขึ้นจากความไม่เที่ยง ข้าพเจ้ารู้สึกถึงมันได้เหมือนกลีบดอกไม้ที่ร่วงโรย แต่มันเป็นความทุกข์โศกที่ปราศจากความสงสัยเคลือบแคลง”

อีกด้านหนึ่งของชีวิต

ประเด็น ‘ความตาย’ มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตและผลงานของเฮอร์มานน์ เฮสเส นับตั้งแต่ผลงาน Romantische Lieder (บทเพลงโรแมนติก, 1899) บทกวีและความเรียงเล่มแรกของเขาก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย รวมถึงในเรื่องสั้นยุคแรกๆ ‘Hermann Lauscher’ ในชุด Hinterlassene Schriften und Gedichte von Hermann Lauscher (ข้อเขียนและบทกวีที่หลงเหลือของเฮอร์มานน์ เลาเชอร์, 1899) นิยาย Peter Camenzind (1904) Roßhalde (1914) และ Das Glasperlenspiel (The Glass Bead Game, 1943) ก็ล้วนมีเรื่องราวของความตายในรูปแบบต่างๆ

Peter Camenzind นิยายเรื่องแรกของเฮอร์มานน์ เฮสเส ที่มีตัวละคร ‘ข้าพเจ้า’ เป็นคนเล่าเรื่องนั้น แท้ที่จริงสามารถตีความว่าเป็นตัวเฮสเสเองที่เล่าเรื่อง เนื่องจากเนื้อหาหลายส่วนตรงกับชีวิตจริงของเขา ไม่ว่าความรู้สึกชื่นชมหลงใหลในธรรมชาติ ถูกผู้เป็นพ่ออบรมปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็กจนต้องทิ้งห่างความสัมพันธ์ ผู้เป็นแม่เสียชีวิต (1902) ตอนเขาเพิ่งอายุ 25 มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่วัยเยาว์

และตัวละครเพเทอร์ คาเมนซินด์เคยคิดอยากตายหลายต่อหลายครั้ง และชั่งใจถึงขนาดจะคิดฆ่าตัวตาย ส่วนเฮอร์มานน์ เฮสเสก็เคยพยายามจะปลิดชีพตัวเองด้วยปืนพกเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1892 แต่ลูกโม่ไม่ทำงาน

 

 

อ้างอิง:

Tags: ,