อาจกล่าวได้ว่าในยุคสมัยใหม่ ไนต์คลับ บาร์ และร้านเหล้าถือเป็นศูนย์กลางชุมชนขนาดย่อมๆ เป็นเขตแดนที่ผู้คนตั้งใจเดินทางเข้าไปเพื่อสังสรรค์ ดื่มกิน และพบเจอ เป็นเบ้าหลอมความชื่นชอบในแสงสีและรสนิยมทางดนตรี เป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยเหตุการณ์และบทสนทนาอันไม่คาดคิด
ที่น่าเสียดายคือสำหรับผู้หญิง นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อีกสิ่งหนึ่งที่สถานเริงรมย์เหล่านี้เป็น คือสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรมทางเพศยอดนิยม
ในปี 2021 แอปพลิเคชัน YouGov ขององค์กรวิจัยการตลาดสัญชาติอังกฤษ สำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่จำนวน 5,050 คนทั่วสหราชอาณาจักรมีอายุตั้งแต่ 18-45 ปี พบว่า 83% ของผู้ตอบแบบสอบถามหญิงรู้สึกไม่ปลอดภัยและต้องการให้พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ในผับบาร์ปลอดภัยมากขึ้น
และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ระบุอัตลักษณ์ตัวเองว่าเป็น สเตรท (Straight) จึงเริ่มหันมาสนใจอยากไปสังสรรค์และใช้ชีวิตกลางคืนในพื้นที่ที่มีไว้เพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างบาร์เลสเบียน ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นพื้นที่ที่ ‘ปลอดภัย’ กว่าสถานเริงรมย์ทั่วไปที่ผู้ชายสามารถเข้าถึงได้
แต่แน่นอนว่าไม่ใช่คนในคอมมูฯ ‘เจ้าของพื้นที่’ ทุกคนจะแฮปปี้กับแนวคิดดังกล่าว
เล็กซี สเตาต์ (Lexi Stout) TikToker สาววัย 21 ปี นับเป็นสาวสเตรทรายหนึ่งที่ไปเยือนบาร์เลสเบียนในนครนิวยอร์กที่มีชื่อว่า Cubbyhole แต่ไม่พึงพอใจกับการต้อนรับขับสู้ของบาร์สักเท่าไร นำไปสู่บทสนทนาที่ยาวยืดและร้อนระอุบน Tiktok ถึงความเหมาะสมที่ชาวสเตรทจะ ‘รุกล้ำ’ เข้ามาและ ‘เรียกร้อง’ พื้นที่ของตัวเองในบาร์เลสเบียน
หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ก็เกิดบทสนทนาที่คล้ายคลึงกันขึ้นในฝั่งผู้ใช้แอปพลิเคชัน X ชาวไทย จุดประกายด้วยรีวิวบาร์เลสเบียนในย่านฮงแด มหานครโซล ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากสาวสเตรทรายหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดคอมมูฯ หญิงรักหญิง จึงต้องแขวะและแสดงออกว่าไม่ต้อนรับชาวสเตรท
นำไปสู่หลากข้อถกเถียงพ่วงด้วยมิติที่ซับซ้อน ว่าด้วยพื้นที่เควียร์ ความหลากหลายของชุมชนหญิงรักหญิง และการโอบรับความแตกต่างเหล่านั้นโดยไม่แบ่งแยก (Inclusivity)
The Momentum รวบรวมข้อโต้แย้งและข้อสนับสนุนจากดีเบตบนโลกออนไลน์ ภายใต้ญัตติที่ว่า ‘บาร์เลสเบียนควรต้อนรับหญิงสเตรทหรือไม่?’
ข้อโตแย้ง: มีแต่ผู้หญิง อย่างไรก็ปลอดภัย? ชื่นชมหรือติดหล่มมายาคติ
ข้อกังขาอย่างหนึ่งที่คนฝั่งคอมมูฯ มีต่อฝั่งสเตรท คือภาพจำที่บาร์เลสเบียนเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ทั้งที่ในความเป็นจริงบาร์เลสเบียนอาจไม่ได้ต่างจากบาร์เกย์หรือบาร์ทั่วๆ ไปในแง่ของความปลอดภัย เพราะนี่เป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างมึนเมาไปกับแสงสี แอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือแม้แต่ความต้องการทางเพศ
ชาวแซฟฟิกหลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะออกมาชี้ให้เห็นว่า มุมมองเช่นนี้เกิดจากการที่สังคมประกอบสร้างเควียร์หญิง ผ่านมายาคติทางเพศที่เหมารวมเอาว่าเพศหญิงจะต้องอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่มีพฤติกรรมคุกคาม และไม่มีพละกำลังที่จะทำอันตรายหรือขืนใจผู้หญิงด้วยกันได้
เมื่อปราศจากภาพแทนชีวิตกลางคืนและชีวิตเซ็กซ์ของชุมชนหญิงรักหญิงในสื่อ ผนวกกับการที่ตัวตนของพวกเขามักไม่ถูกมองเห็นเพราะต้องใช้ชีวิตซ่อนเร้น คนนอกที่เริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขาจึงมองเข้ามาโดยมีภาพจำบางอย่างของ ‘ความเป็นหญิง’ ติดมาด้วยเป็นของแถม
ข้อสนับสนุน: พื้นที่ที่โอบรับความหลากหลายต้องไม่กีดกันใครออกไป
พื้นที่ของเลสเบียนมักถูกมองว่าไม่ ‘เปิดกว้าง’ หรือ ‘โอบรับ’ คนทั่วไปเท่าพื้นที่ของเกย์มาโดยตลอด อย่างสเตาต์ TikToker ที่กล่าวถึงไปแล้วตอนต้นบทความ ก็วิจารณ์บาร์ Cubbyhole ด้วยบริบทคล้ายกัน คือตัวเธอเคยมีประสบการณ์ไปเที่ยวบาร์เกย์มาแล้วก่อนหน้านี้ และไม่เคยต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้มาก่อน เพราะบาร์เกย์มักเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีมิตรภาพกับผู้หญิง
ชุมชนแซฟฟิกส่วนหนึ่งที่เห็นต่าง พูดถึงข้อจำกัดประการหนึ่งของการกีดกัน ‘สเตรท’ ออกไปจากพื้นที่บาร์เลสเบียน คือการทำเช่นนี้จะไปปิดโอกาสไม่ให้ผู้ที่นิยามตนเองเป็นสเตรทเพราะยังไม่ค้นพบตัวเอง หรือผู้ที่กำลังตั้งคำถามกับเพศสภาพ/เพศวิถี เข้ามาสำรวจและค้นหาตัวตนของตัวเองในพื้นที่บาร์
หากใช้ตรรกะเดียวกันเป็นเกณฑ์การคัดเลือกคนเข้าบาร์ นั่นหมายความว่า นอกเหนือจากสาวสเตรทแล้ว หญิงเควียร์ที่อยู่บนสเปกตรัมเอเซ็กชวล (Asexual) หรือเอโรแมนติก (Aromantic) ที่ไม่ดึงดูดกับเพศใด (หรือดึงดูดน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ) ซึ่งมีโอกาสปฏิเสธคนในบาร์ด้วยเหตุผลด้าน ‘เพศวิถี’ ก็ไม่ควรจะได้รับการต้อนรับเข้ามาในบาร์ด้วยเช่นกันหรือ?
ไหนจะกลุ่มชายข้ามเพศที่นิยามเพศวิถีของตัวเองว่าเป็นสเตรท (เพศสภาพ: ชาย, เพศวิถี: ชอบผู้หญิง) หรือชาวนอนไบนารีที่ยังรู้สึกผูกพันกับคอมมูฯ เพราะเติบโตมากับความสงสัยว่าตนอาจเป็นเลสเบียน ที่อาจรู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันออกไปทางอ้อมเพราะไม่ตรงกับนิยาม ‘เลสเบียน’ หรือ ‘แซฟฟิก’ ในสายตาของคนบางกลุ่มอีกต่อไป
ดังนั้น หลายคนจึงคิดเห็นว่า การนำ ‘ป้ายแปะ’ ประจำตัวที่บ่งบอกว่าใครเป็นเพศไหน รักชอบใคร มาบ่งชี้ว่าใครจะมีสิทธิเข้าถึงพื้นที่ อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียทีเดียว
ข้อโตแย้ง: ควรสงวน ‘เซฟโซน’ ในการหาคู่ของแซฟฟิกที่มีอยู่น้อยนิดเอาไว้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเทียบกับเกย์ เลสเบียนถือเป็น LGBTQIAN+ กลุ่มที่ถูกลืมและลบเลือนตัวตนในพื้นที่อื่นๆ มากกว่า จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะหวงแหนพื้นที่เฉพาะของคอมมูฯ เอาไว้ให้เป็น ‘เซฟโซน’ ในการพบปะสานสัมพันธ์ โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอคติ หรือความผิดหวังจากการหลงรักสาวสเตรท
เช่นเดียวกับหญิงสเตรทที่อ้างตนว่า “มาหาเพื่อน” ควรเลิกใช้แอปพลิเคชันหาคู่สำหรับเลสเบียนอย่าง Her เพื่อเว้นพื้นที่ให้พวกเขาได้หากันเองเจอ พื้นที่ในบาร์เลสเบียนก็สมควรถูกสงวนเอาไว้ให้ชาวหญิงรักหญิงเช่นเดียวกัน
ข้อสนับสนุน: ฟังก์ชันของพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บาร์’ (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แอปฯ หาคู่)
อย่างไรก็ดี อีกฝั่งหนึ่งแย้งว่าพื้นที่ ‘บาร์’ มีฟังก์ชันใช้งานหลากหลายมากกว่าแค่การหาคู่ เป็นศูนย์กลางชุมชนที่เชื่อมโยงผู้คนถึงกัน เป็นเขตแดนที่ผู้คนตั้งใจเดินทางเข้าไปเพื่อสังสรรค์ ดื่มกิน และพบเจอ เป็นเบ้าหลอมความชื่นชอบในแสงสีและรสนิยมทางดนตรี เป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยเหตุการณ์และบทสนทนาอันไม่คาดคิด
เพราะฉะนั้น การนำบาร์เลสเบียนไปเทียบกับแอปฯ Her จึงถูกมองว่าผิดฝาผิดตัวไปหน่อย เพราะต่อให้ไม่มีผู้หญิงสเตรทเข้ามาในบาร์แม้แต่คนเดียว และคอมมูฯ สามารถสงวนพื้นที่นี้เอาไว้ให้ชาวหญิงรักหญิงได้ 100% จริงๆ นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าทุกคนจะได้พบรักแท้ ได้สัมผัสใครใกล้ชิด หรือได้มีคู่นอนกลับไปอยู่ดี
อ้างอิง
https://www.them.us/story/tik-tok-lesbian-bar-drama-controversy-explained
Tags: ปาร์ตี้, LGBTQIA+, แซฟฟิก, Queer Space, สเตรท, Gender, บาร์เกย์, เกย์, บาร์เลสเบียน, เลสเบียน, ร้านเหล้า, บาร์, ผับ, เควียร์, เที่ยวกลางคืน