“คราวหน้ามีโอกาสสูงที่พรรคเพื่อไทยจะมาอันดับหนึ่ง คราวที่แล้ว ถ้าหัวหน้าพรรคไม่ลาคลอด แล้วหาเสียงต่อไปจนจบ ไม่แพ้หรอกครับ ลาคลอดไปสิบกว่าวัน ตอนนั้นช่วงสุดท้ายแล้ว พอหยุดปุ๊บ คะแนนตก”

คำกล่าวข้างต้นของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์เรื่อง ‘สิทธิลาคลอดของแรงงานหญิง’ โดยเขามองว่า การลาคลอดในช่วงหาเสียงของหัวหน้าพรรคอย่าง แพทองธาร ชินวัตร ผู้เป็นลูกสาว คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถคว้าคะแนนเสียงอันดับ 1 เอาชนะการเลือกตั้งปี 2566 ไปได้ ทั้งที่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน เช่น นโยบาย ผลงานที่ผ่านมา ความไว้วางใจต่อพรรค การตอบคำถามสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งการปราศรัยของ ส.ส.ท่านอื่นในสังกัด มิใช่เพราะการลาคลอดของผู้หญิงคนหนึ่ง

เรื่องนี้ดูเหมือนว่า อดีตนายกรัฐมนตรีจะเพ่งเล็งไปที่การลาคลอดของเพศหญิงเป็นพิเศษ ด้วยการกล่าวโทษว่า การลาคลอดคืออุปสรรคที่ทำให้การทำงานในองค์กรหยุดชะงัก หรือไม่ประสบผลสำเร็จดังที่ควรจะเป็น โดยไม่สนคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง 

ซึ่งในมุมหนึ่งทัศนคติเช่นนี้ยังสะท้อนถึงอคติทางเพศ อันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานหญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม และสวัสดิการที่เหมาะสมในการทำงาน รวมถึงสร้างเงื่อนไขกดดันให้ผู้หญิงต้องเลือกระหว่าง ‘ความก้าวหน้าในอาชีพ’ หรือ ‘การเป็นแม่’ 

โดยขัดแย้งกับภาพลักษณ์ผู้นำหญิงของนายกแพทองธาร ที่พยายามสร้างพลังให้แก่หญิงไทย ผ่านการลงพื้นที่หาเสียงขณะอุ้มท้อง เพื่อประกาศว่า ผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่างที่ต้องการ และคนเป็นแม่ไม่ควรสูญเสียโอกาสในการทำงาน

“ที่ผ่านมาการทำงานของพรรคเพื่อไทย เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนวิธีคิดที่สังคมมีต่อผู้หญิง (Empowerment) ให้โอกาสผู้หญิง และผลักดันนโยบายเพื่อลดอุปสรรคทางเพศ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ผลักดันเพียงเพศใดเพศหนึ่ง แต่คำนึงถึงความสามารถ ความเป็นไปได้ และความพร้อมของบุคลากรเป็นหลัก โดยไม่ได้มีข้อจำกัดทางเพศ” – คำกล่าวของแพทองธาร ชินวัตร, บนเวที UNESCAP เนื่องในวันสตรีสากล 2024

ย้อนรอย ‘สิทธิลาคลอด’ ของพรรคเพื่อไทย VS พรรคก้าวไกล

จากการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยมิได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายแรงงานหญิงไทย โดยนโยบายสิทธิสตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรคคือ ‘การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน’ แม้บางครั้งจะกล่าวถึงสิทธิลาคลอดในงานเสวนาต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้จัดทำนโยบายที่เป็นรูปธรรมออกมา เพื่อสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิง

ในทางกลับกัน พรรคก้าวไกลนำเสนอนโยบาย ‘สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้’ ภายใต้เสาหลัก สวัสดิการครบวงจร โดยระบุข้อมูลอย่างชัดเจนว่า “ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด และพ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก” ผ่านเว็บไซต์ของพรรค

ในปัจจุบัน วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ​​เพื่อแก้ไขกฎหมาย โดยมีวาระสำคัญคืออนุญาตให้แรงงานสามารถใช้สิทธิลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน สิทธิประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน และแบ่งสิทธิให้คู่สมรสลาได้ 90 วัน ดังที่พรรคได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้

การเรียกร้องขยายวันลาคลอดของ ‘แรงงานหญิง’

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิลาคลอดของแรงงานหญิงเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมาตั้งแต่ในอดีต เมื่อปี 2534 ซึ่งแรงงานหญิงกว่า 1,000 คนได้รวมตัว เพื่อเดินขบวนและยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ‘ลาคลอด 90 วัน ได้ค่าจ้าง’ ที่บ้านพักของ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น ต่อมาในปี 2536 ผู้ชุมนุมได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยการอดข้าวและกรีดข้อมือประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิงครั้งใหญ่ของไทย

รวมถึงในปี 2566 แรงงานหญิงได้เดินขบวน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน รวมถึงให้ผู้ชายสามารถลาคลอดดูแลภรรยาได้ 30 วัน เนื่องในวันสตรีสากล และล่าสุด หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติปัดตกร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล เครือข่ายขับเคลื่อนสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน และลูกจ้างภาครัฐ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ผ่าน 5 ข้อเสนอ 

อาจกล่าวได้ว่า แรงงานสตรีไทยผลักดันประเด็นสิทธิลาคลอดเรื่อยมา ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งการกดขี่แรงงานสตรีจะน้อยลง และความเท่าเทียมทางเพศจะงอกงามในสังคมไทย

สภาพสังคมไทยไม่พร้อมขยายวันลาคลอดจริงไหม ?

ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้เพียง 98 วัน และได้รับค่าจ้าง 45 วัน รวมถึงผู้ชายไม่สามารถใช้สิทธิลางานเพื่อช่วยเหลือภรรยาได้ เนื่องด้วยข้อกังวลด้านต้นทุนวันหยุดของแรงงาน โดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ มองว่า หากลูกจ้างสามารถลาคลอดได้ 180 วัน ส่งผลให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจรายย่อย 

ทว่าลูกจ้างเองก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่ต่างกัน ทั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการและค่าแรงที่เหมาะสมมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี การปรับเปลี่ยนสิทธิวันลาคลอดจึงเป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลต้องหาทางออกสำหรับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การขยายวันลาคลอดในธุรกิจรายใหญ่มีความเป็นไปได้สูงกว่า เพราะบริษัทมีลูกจ้างและต้นทุนจำนวนมาก จึงสามารถบริหารจัดการให้การทำงานดำเนินต่อไปได้ เช่น แจกจ่ายภาระงานให้พนักงานคนอื่น ๆ หรือรับสมัครพนักงานจ้างชั่วคราว ดังนั้น นายทุนนักธุรกิจขนาดใหญ่จึงไม่ควรอ้างว่า การลาคลอดของพนักงานเพียงหนึ่งคนเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพื่อเอาเปรียบและกดขี่ลูกจ้างอย่างไร้ความเป็นธรรม

อีกทั้งยังมีทัศนคติเชิงลบจากประชาชนบางส่วนที่คิดว่า ถ้าขยายวันลาคลอดนานขึ้นแล้ว ผู้หญิงจะจงใจตั้งครรภ์หลายครั้ง เพื่อให้ได้หยุดงานมากขึ้น ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากตั้งครรภ์เพื่อแลกกับวันลาหยุด เพราะความเหนื่อยจากการทำงานไม่อาจเทียบได้กับความลำบากจากการอุ้มท้อง 9 เดือน ความเจ็บปวดจากการคลอดลูก อาการซึมเศร้าและร่างกายที่ยากจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ภาระอันหนักอึ้งจากการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ทารกจนโต และการทำหน้าที่แม่ตลอด 24 ชั่วโมง

ทำไมจึงควรแก้ไขกฎหมายลาคลอด ?

กฎหมายลาคลอดในปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่แรงงาน เพิกเฉยต่อความสำคัญของบทบาทผู้หญิงในสถาบันครอบครัว ซ้ำยังบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องจำยอมละทิ้งความก้าวหน้าในสายอาชีพ เพื่อทำหน้าที่แม่ โดยการผลักภาระให้ผู้หญิงต้องรีบกลับไปทำงานหลังคลอดลูก ทั้งที่สุขภาพกายใจอาจยังไม่พร้อม รวมถึงต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงฝ่ายเดียว เพราะพ่อแม่ไม่สามารถแบ่งวันลากันได้ 

แม้นายจ้างจะอยากให้พนักงานกลับไปทำงานโดยเร็วที่สุด ถึงกระนั้น สถานที่ทำงานส่วนใหญ่กลับไม่มีพื้นที่สำหรับปั๊มนม ทำให้แม่ไม่สามารถปั๊มนมตามเวลาการผลิตของร่างกาย และลูกอาจไม่ได้ดื่มนมแม่จนครบ 6 เดือน นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังชี้ว่า พ่อแม่ควรได้รับสิทธิลางาน เพื่อเลี้ยงดูลูกเป็นระยะเวลา 180 วัน เพราะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก

นอกจากนี้ กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งไร้ข้อบังคับที่รัดกุม อาจก่อให้เกิดการกีดกันทางเพศ การฉกฉวยโอกาส และการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน เช่น การปฏิเสธรับพนักงานหญิงเข้าทำงานตั้งแต่ต้น การนำเงื่อนไขลาคลอดมาประเมินผลการทำงาน หรือขัดขวางการเลื่อนขั้นเงินเดือน รวมถึงกดดันให้ลูกจ้างลาออกในท้ายที่สุด สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลข้างต้นล้วนส่งผลให้หญิงไทยและคนรุ่นใหม่อยากมีลูกน้อยลง เพราะไม่ต้องการสูญเสียรายได้และโอกาสในการทำงาน รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้สังคมที่ยังคงมองไม่เห็นความสำคัญของสวัสดิการแรงงาน

การขยายสิทธิลาคลอดเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างสังคมที่พร้อมต่อการมีบุตร เปรียบเสมือนหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน อีกทั้งยังไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะเพศหญิง แต่ช่วยเสริมสร้างสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง เพราะพ่อแม่สามารถช่วยกันทำงานสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูลูก โดยไม่มีใครต้องเสียสละเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ปัญหาภายในครอบครัวลดลง ส่งผลต่อการเติบโตที่มีคุณภาพของเด็กไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

เพื่อไทย เพื่อผู้หญิงทุกคน

“หลักของพรรคประชาชนและก้าวไกล เขาต้องการความเท่าเทียมของคน มันเป็นไปไม่ได้ต่อสังคมไทย เพราะฉะนั้นเขาก็จะอยู่ในบริบทการเมือง ส่วนเพื่อไทยอยู่ในบริบทการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพื่อจะให้สร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชน เราเน้นโอกาส เขาเน้นสถานะ เขามองว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์อะไรก็เท่าเทียมกันหมด แต่สังคมไทยเราเคารพกันด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ มันก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทั้งหมด”

ดังนั้นการประกาศจุดยืนของทักษิณในงาน Vision for Thailand 2024 ก็น่าตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยว่า ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในประเด็นคุณภาพชีวิตที่ดี สวัสดิการที่เหมาะสม และสถานะที่เท่าเทียมกันในสังคมไทย เป็นอย่างไรในสายตาของประชาชนทุกวันนี้

“เพิ่มการปกป้องสิทธิ์ต่างๆ เพื่อผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างภาคภูมิ” – คำกล่าวจากนโยบายสิทธิสตรี พรรคเพื่อไทย

ที่มา

https://www.youtube.com/live/GCKRM7vrwQs

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/218934 

https://election66.moveforwardparty.org/policy/collection/PolicyCategory/5

https://ptp.or.th/womens-rights

https://www.thaipbs.or.th/news/content/337779 

https://bhumjaithai.com/news/98329

https://www.thecoverage.info/news/content/5053

Tags: , , , , , ,