“มาต่อยกันไหม?”

“อยากต่อยทอมว่ะ”

“ไหนบอกเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่หรือไง งั้นผู้ชายก็ต่อยผู้หญิงได้ถูกไหม?”

หลายครั้งหลายหนที่สังคมตั้งคำถามกับการใช้ความรุนแรงผ่านโซเชียลมีเดีย คอมเมนต์ประณามการกระทำร้ายๆ ใต้คลิปข่าวการทำร้ายร่างกาย หรือการตั้งกระทู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการพบเจอประสบการณ์รุนแรงในชีวิตจริง แต่ไม่ว่ากระทู้พูดคุยหรือการรายงานข่าวความรุนแรงนั้นจะชวนหดหู่แค่ไหน เราก็จะเห็นคอมเมนต์เย้าแหย่ที่นำเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาใช้อ้างถึงการกระทำบางอย่างที่ละเมิดสิทธิของคนอื่น

“ผู้ชายต้องโกรธแค่ไหนถึงจะทำร้ายร่างกายผู้หญิงได้ครับ”

“ถ้าโดนผู้หญิงตบหน้า ผู้ชายมีสิทธิที่จะทำร้ายร่างกายกลับไหม” 

คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่พบเห็นจริงๆ ในเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของไทย ชวนให้คิดตามว่า แท้จริงแล้วเราและสังคมไทยเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากน้อยแค่ไหน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงถึงปัญหาคาใจที่ว่า ความเท่าเทียมเกี่ยวอะไรกับความรุนแรง เพราะเมื่อลองคิดง่ายๆ ความรุนแรงก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหา และไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายร่างกายไม่ใช่หรือ

เราอาจต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจร่วมกันว่า ความเท่าเทียมทางเพศไม่เท่ากับ ‘ความเหมือนกัน’ เราเหมือนเธอ เธอเหมือนฉัน ไม่ว่าจะเป็นความเหมือนเรื่องสรีระทางร่างกายหรืออย่างอื่นใดก็ตาม แต่ความเท่าเทียมทางเพศคือความเป็นธรรมเท่ากันของคนทุกเพศ การเคารพอัตลักษณ์ทางเพศของผู้อื่น ไม่คุกคาม ไม่เหยียดหยาม และไม่ละเมิดสิทธิของใคร 

ดังนั้นคำถามที่ว่า “ในเมื่อเราเท่ากัน เราก็สามารถใช้ความรุนแรงได้เท่ากันสิ” จึงถือได้ว่าหยิบคำว่า ‘เท่าเทียมทางเพศ’ มาใช้อย่างผิดบริบท เพราะความเท่าเทียมทางเพศที่ถูกนำไปผูกกับความรุนแรง ถือเป็นขั้วตรงข้ามของความเท่าเทียมและความเป็นธรรม หากกล่าวง่ายๆ โดยตัดเรื่องเพศสภาพแต่กำเนิดหรืออัตลักษณ์ทางเพศออกไป ก็ไม่ควรมีเหตุผลหรือคำอธิบายใดที่สามารถนำไปใช้ก่อความรุนแรงซึ่งกันและกันได้ เพราะสิ่งที่บุคคลนั้นๆ กำลังคิดทำถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นตรรกะผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น เป็นการใช้คำศัพท์ผิดความหมายโดยสิ้นเชิง ก่อนยกตัวอย่างประกอบให้เข้าใจแบบง่ายๆ ว่า สมมติเรายกเท้าเหยียบส้มเขียวหวานและทุเรียน ผลคือส้มเขียวหวานถูกเหยียบจนเละแต่ทุเรียนกลับไม่เป็นอะไร ทำไมส้มเขียวหวานถึงอ่อนแอ แล้วทำไมทุเรียนถึงไม่บุบสลายทั้งที่ก็เป็นผลไม้เหมือนกัน ทำไมไม่เห็นเท่าเทียมกันเลย? ก็อาจทำให้หลายคนนึกภาพตามได้ง่ายขึ้น 

เธอชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวก็เหมือนกับตรรกะที่บอกว่า “ทุกคนเท่ากัน แสดงว่าต่อยกันได้แบบเท่าเทียม” ซึ่งถูกใช้แบบผิดเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น ถือเป็นพฤติกรรมที่ยัดความเท่าเทียมในทางที่ผิด และหากใครก็ตามนำแนวคิดนี้มาใช้ในสังคมที่มีความเท่าเทียม ไม่พอใจใครก็สามารถเตะต่อยหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นแล้วอ้างว่าเราเท่ากัน พฤติกรรมนี้ถือว่าไม่ใกล้เคียงกับความเท่าเทียมเลยสักนิด 

แล้วถ้าตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “หากผู้หญิงทำร้ายร่างกายก่อน ผู้ชายสามารถใช้ความรุนแรงตอบกลับได้หรือไม่?” ดร.วราภรณ์ตอบคำถามนี้ว่า เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้เริ่มก่อน คนคนนั้นถือว่ามีความผิดอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่ระบุว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเลยต้องใช้ความรุนแรงโต้กลับ ก็ยังไม่สามารถทำได้อยู่ดี เพราะไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบที่สังคมวางไว้ ด้วยเหตุนี้เองโลกถึงต้องมีกฎหมาย มีข้อบังคับ เพื่อสะสางความขัดแย้งและทำให้ทุกคนอยู่ในกรอบที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น 

อาจสรุปได้ว่า ความเท่าเทียมทางเพศหรือเหตุผลร้อยแปดใดๆ บนโลก ก็ไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่ออ้างสิทธิในการใช้ความรุนแรง เพราะไม่มีใครมีสิทธิลงมือทำร้ายร่างกายผู้อื่น และการใช้ความรุนแรงก็ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาอย่างที่แท้จริง

Tags: , , , ,