“ฉันทำลายเพดานแก้ว (Glass Ceiling) ด้วยท่ากังฟู” มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) กล่าวในงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95
หนึ่งในสิ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดคงหนีไม่พ้นความสำเร็จของ มิเชล โหย่ว นักแสดงชาวมาเลเซีย เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2022 จากผลงานภาพยนตร์ Everything Everywhere All at Once ที่เธอรับบทเป็นอาซือเจ๊ที่สามารถข้ามไปยังพหุจักรวาล (Multiverse) และรับรู้ถึงตัวตนอื่นๆ ของตัวเองที่แตกต่างกันในแต่ละจักรวาลได้
เจ้าของร้านซักรีด นักกังฟู แม่ครัว มนุษย์ที่มีนิ้วมือเป็นไส้กรอก หรือแม้แต่ก้อนหิน คือบทที่มิเชลได้รับในภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว ซึ่งตัวตนแตกต่างกันอย่างสุดขั้วภายใต้ชื่อ ‘เอเวอลีน หวัง (Evelyn Wang)’ แง่มุมหนึ่งของหนังพยายามจะเล่าว่า ทุกผลของการกระทำหรือการตัดสินใจ แม้เล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นเหมือนหมุดหมายที่ส่งผลต่อความเป็นไปได้และทิศทางของชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมากมาย
เช่นเดียวกัน รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่มิเชลคว้ามาได้ ไม่ได้เป็นเพียงตัวบ่งชี้ถึงความสามารถอันโดดเด่นหรือบทภาพยนตร์แสนยอดเยี่ยม หากแต่เป็นหมุดหมายสำคัญอันน่าจับตามอง เป็นแนวโน้มว่าในที่สุดสังคมก็โอบรับความหลากหลายเพิ่มขึ้นบ้างเสียที และมันอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกที่นักแสดงหญิงชาวเอเชียได้รับรางวัลดังกล่าวจากเวทีออสการ์ แม้เวทีนี้จะมีมาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
Glass Ceiling หรือเพดานแก้ว ที่มิเชลกล่าว เป็นคำที่ใช้เรียกอุปสรรคบางอย่างที่เปรียบเสมือนเพดานซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ แต่กลับคอยขัดขวางไม่ให้กลุ่มคนอำนาจน้อย (Minority) หรือคนชายขอบในสังคมได้มีโอกาสก้าวหน้าและเจริญเติบโตในหน้าที่การงานอย่างเท่าเทียมกับผู้มีอำนาจนำ
แต่เดิมแนวคิด Glass Ceiling ถูกใช้อธิบายในบริบทของการที่ผู้หญิงถูกกีดกันจากการทำงาน คำนี้ถูกรู้จักเป็นวงกว้างครั้งแรกในปี 1978 โดย มาริลีน โลเดน (Marilyn Loden) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการขององค์กรในขณะนั้น ที่เล็งเห็นถึงการมีอยู่ของปัญหาดังกล่าวที่ผู้หญิงต้องเผชิญเรื่อยมาตั้งแต่อดีต
เป็นเวลามากกว่า 40 ปี ที่ผู้คนรู้จักกับคำนี้ แต่ข้อมูลล่าสุดในปี 2022 รายได้เฉลี่ยของผู้หญิงทั่วโลกยังเป็นเพียง 83% จากรายได้เฉลี่ยที่ผู้ชายได้รับ และมีผู้หญิงเพียง 9% เท่านั้นที่ได้ดำรงตำแหน่งระดับ CEO จากบรรดาบริษัทชั้นนำของโลกทั้งหมด 500 แห่ง
ทั้งนี้ ปัญหา Glass Ceiling ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนชายขอบต่างๆ อย่างกลุ่มเพศหลากหลาย เชื้อชาติที่ไม่ใช่ชนผิวขาว หรือผู้พิการ ที่ต้องเจอกับการเลือกปฏิบัติในการทำงาน ปัญหารายได้ที่ไม่เป็นธรรม และการถูกตีตราในที่ทำงานด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์
มิเชลเป็นผู้หญิงและมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอมีอย่างน้อยสองอัตลักษณ์ในตัวเองที่นับได้ว่าเป็นคนชายขอบตามความหมายนี้ ที่ผ่านมา แม้แต่การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลของนักแสดงหญิงชาวเอเชีย ยังถือว่าเกิดขึ้นน้อยครั้งมากในประวัติศาสตร์ออสการ์ และทราบกันดีว่ามักจะให้พื้นที่กับคนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นการที่เธอได้รับรางวัลครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในวงการภาพยนตร์ ยังรวมไปถึงคนที่เป็นแบบเธอ เป็นผู้หญิงแบบเธอ เป็นเอเชียนแบบเธอ และมีอำนาจน้อยแบบเธอ ให้ขึ้นมาอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ภายใต้ความหวังว่าการแข่งขันจะเริ่มต้นด้วยพื้นฐานเดียวกันจริงๆ ในสักวัน
แน่นอนว่าความพยายามทำลาย Glass Ceiling ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกบนพื้นที่เวทีออสการ์ และคงไม่ได้มีแค่มิเชลแน่ๆ ที่กำลังทำลายมันลงด้วยวิชากังฟู แต่การต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นนี้ยังคงดำเนินอยู่ทุกวันในแวดวงการทำงาน
ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ซึ่งแพ้การเลือกตั้งครั้งนั้น กล่าวว่า เธอยังไม่สามารถทำลายเพดานแก้วที่ยากที่สุดในทางการเมืองอย่างการขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกได้ (ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายทั้งหมด) แต่อย่างน้อยก็ยังมีความหวังสำหรับครั้งต่อๆ ไป เพราะมีสัญญาณว่า เพดานแก้วนั้นเริ่มร้าวแล้วจากคะแนนเสียงทั้งสิ้น 18 ล้านคะแนนที่เธอได้รับ
หากฮิลลารีเป็นเสมือนตัวแทนของผู้หญิงที่พยายามทำลาย Glass Ceiling ในวงการการเมือง มิเชล โหย่วที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงจากเวทีออสการ์ จึงเป็นตัวแทนในมิติทางอัตลักษณ์ที่หลากหลายขึ้นมาอีก เพราะมิเชลเป็นผู้หญิงและไม่ใช่คนขาวแบบฮิลลารีที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจในสังคม ชัยชนะของเธอครั้งนี้จึงไม่ได้จบอยู่แค่มิติเพศ แต่ยังรวมถึงมิติทางเชื้อชาติด้วย
“And ladies, don’t let anyone tell you that your prime is past. Never give up.”
ถึงอย่างนั้น เส้นทางไปให้ถึงความเท่าเทียมก็ดูเหมือนจะอีกยาวไกล ในสุนทรพจน์ขึ้นรับรางวัลครั้งนี้ มีเนื้อความหนึ่งที่มิเชลพยายามจะส่งไปถึง ‘ผู้หญิง’ ทุกวัย ถึงซือเจ๊ทุกคน ว่าให้ทำตามความฝันของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจคำพูดของคนที่บอกว่ายุครุ่งเรืองของเราผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งเธอได้เน้นชัดว่า นี่คือข้อความที่อยากจะบอกผู้หญิง
แม้เจตนาของมิเชลจะแน่วแน่เพียงใด แต่สถานีโทรทัศน์ SBS (Seoul Broadcasting System) ของเกาหลีใต้ ได้นำข้อความสุนทรพจน์ของเธอไปออกอากาศ โดยตัดคำว่า “And ladies” ด้านหน้าออก และอ้างว่าทำเพราะอยากให้ข้อความดีๆ นี้ถูกสื่อไปยังทุกคน อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตั้งใจบิดเบือนเนื้อหาที่สนับสนุนพลังของผู้หญิงตามความตั้งใจของผู้พูด
ปลายทางอาจจะยังยาวไกล แต่ชัยชนะของมิเชล โหย่ว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ที่เราหวังว่าไม่เพียงแต่ทำลาย Glass Ceiling ด้วยท่าไม้ตายกังฟู แต่สังคมโลกจะเป็นพื้นที่ที่โอบรับอัตลักษณ์ที่แตกต่างของผู้คนและให้พื้นที่กับคนที่ยังไม่ถูกมองเห็นหรือไม่ถูกรับฟังได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องอิงความสำเร็จใดๆ แต่อิงความเป็นมนุษย์ของกันและกันเป็นพื้นฐาน
ที่มา
https://builtin.com/diversity-inclusion/glass-ceiling
Tags: Gender, Glass Ceiling, มิเชล โหย่ว, Michelle Yeoh