แม้จะมีคำกล่าวที่ว่าไม่มีใครสามารถให้ความสนใจกับทุกเรื่องในชีวิตได้ เพราะเราไม่มีเวลามากพอขนาดนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโดยธรรมชาติแล้ว คนเรามักจะอยากรู้อยากเห็น หรือสนใจเรื่องราวต่างๆ ของเพื่อนมนุษย์เป็นธรรมดา

แต่ล่าสุดนักจิตวิทยากำลังตั้งคำถามกับเราว่า หรืออำนาจของเงินจะทำให้คนเริ่มเปลี่ยนไป?

งานวิจัยชิ้นใหม่เผยให้เห็นว่าการมีเงินมากๆ นั้นสามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดของเราที่มีต่อคนอื่นหรือปัญหาต่างๆ ได้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของ เพีย ไดเอตซ์ (Pia Dietze) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science โดยนักวิจัยพบว่า คนรวยจะไม่ค่อยสนใจผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาตามท้องถนนโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว

เธอและทีมวิจัยได้ดำเนินการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 3 แบบ โดยวัดผลที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างของฐานะทางสังคม และเรียกการทดสอบเหล่านี้ว่า ‘แรงจูงใจที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์’ (Motivational Relevance) โดยตั้งข้อสังเกตจากสมมติฐานที่ว่ามนุษย์เราจะให้ความสนใจกับอะไรบางสิ่งบางอย่างก็ต่อเมื่อมันให้ประโยชน์ หรือผลเสียแก่เราเท่านั้น

คนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะสนใจคนรอบข้างมากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวย
ซึ่งการตอบสนองนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

การทดสอบแบบแรกเป็นการทดสอบด้วยการเก็บข้อมูลจากแว่น Google Glass โดยมีผู้เข้าร่วมทดสอบทั้งสิ้นจำนวน 61 คน ผู้เข้าทดสอบจะสวมแว่น Google Glass เดินไปตามถนนที่แมนฮัตตัน หลังจากนั้นผู้วิจัยจะให้แต่ละคนระบุตัวตนว่าอยู่ในฐานะทางสังคมระดับใด จากการวิเคราะห์โดยข้อมูลที่เก็บได้จากแว่น Google Glass นักวิจัยพบว่าผู้ที่ระบุตัวตนว่าตัวเองมีฐานะร่ำรวยจะไม่มองคนที่เดินผ่านไปผ่านมานานเท่ากับคนที่ระบุตัวตนว่าตัวเองนั้นมีฐานะต่ำกว่า

การทดสอบแบบที่สอง นักวิจัยได้ทำการทดสอบผ่านแว่น Google Glass เหมือนเดิมแต่เปลี่ยนจากเดินตามท้องถนนมาเป็นมองผ่าน Google Street View บนหน้าจอคอมพิวเตอร์แทน แล้วให้ระบุฐานะทางสังคมหลังเสร็จการทดสอบเหมือนเดิม ผลปรากฏว่าคนที่ระบุตัวตนว่ามีฐานะร่ำรวยนั้นจะใช้เวลามองคนรอบข้างตามถนนน้อยกว่าคนที่มีฐานะต่ำกว่า

และการทดสอบแบบสุดท้ายคือ การทดสอบความแตกต่างของระยะเวลาในการตัดสินใจและปฏิกิริยาการตอบสนอง โดยมีผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำการทดสอบออนไลน์ครั้งนี้เกือบ 400 คน ซึ่งการทดลองนี้จะให้ทุกคนมองรูปภาพ 2 รูปสลับกัน ในแต่ละรูปจะมีหน้าคน 1 หน้า และของอีก 5 อย่างเสมอ เช่น ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเสื้อผ้า ซึ่งรูปอาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ โดยจะสลับภาพไปมาจนกว่าผู้ทดสอบจะตัดสินใจว่ามันเหมือนหรือต่างกันตรงไหน แล้วกดสเปซบาร์เพื่อข้ามไปยังรูปต่อไป

ผลการทดสอบครั้งนี้พบว่า คนที่ระบุตัวตนว่าไม่ได้มีฐานะร่ำรวยจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงบนหน้าคนในรูปได้เร็วกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าเป็นเพราะใบหน้าช่วยดึงดูดความสนใจสำหรับคนกลุ่มนี้

เพีย ไดเอตซ์ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและผู้เขียนผลการวิจัยนี้กล่าวว่า จากผลการทดลองทั้ง 3 แบบ คนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะสนใจคนรอบข้างมากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งการตอบสนองนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ที่คนรวยไม่ค่อยให้ความสนใจกับคนอื่นอาจจะเป็นเพราะพวกเขาสามารถใช้จ่าย
เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

จากการศึกษาที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทดสอบการตอบสนองของคนที่มีฐานะร่ำรวยในกลุ่มสังคมของพวกเขาหลากหลายวิธี แต่ผลการทดลองยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างจากการศึกษาที่เคยตีพิมพ์ในปี 2012 โดยนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ทดสอบโดยให้นักศึกษาดูวิดีโอ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับผู้ชายที่อธิบายวิธีการสร้างชานบ้าน  ส่วนอีกเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเด็กที่เป็นมะเร็ง ผลการทดสอบครั้งนี้พบว่าผู้ที่มีฐานะร่ำรวยน้อยคนจะเห็นใจเด็กที่เป็นมะเร็งและครอบครัว ซึ่งผู้วิจัยได้ควบคุมปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น เรื่องเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจในขณะที่ผู้ถูกทดสอบกำลังดูวิดีโอ เนื่องจากมีงานวิจัยที่เคยแสดงว่าอัตราการเต้นของหัวใจเราจะลดลงเมื่อเรากำลังรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น ซึ่งปฏิกิริยาการตอบสนองนี้จะพบได้ในคนที่มีฐานะต่ำ แต่จะไม่พบในคนที่มีฐานะร่ำรวย

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Psychological Sciences โดยนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก พบว่าคนที่มีฐานะทางการเงินดีมักจะอ่านใจคนอื่นไม่ค่อยได้ เมื่อเทียบกับคนที่มีฐานะทางการเงินน้อยกว่า ด้านงานวิจัยเมื่อปี 2009 ยังบอกอีกว่านักศึกษาที่มีฐานะทางการเงินดีมีแนวโน้มจะให้ความสนใจกับคนที่เพิ่งคุยด้วยน้อย ถึงแม้ว่าคู่สนทนาจะมีฐานะทางการเงินที่เท่าเทียมกันก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่า ผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงฐานะ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนในครอบครัว

เดเคอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ให้เหตุผลว่าที่คนรวยไม่ค่อยให้ความสนใจกับคนอื่นอาจจะเป็นเพราะพวกเขาสามารถใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นไปไม่ได้
ถ้ายังมีช่องว่างระหว่างความเอาใจใส่ของคนต่างฐานะกันอยู่

ขณะที่ แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เคยอธิบายถึงงานของเคลต์เนอร์ และนักจิตวิทยาคนอื่นๆ ใน New York Times ไว้ว่า “ความแตกต่างทางด้านสถานะทางการเงินทำให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยคนที่มีรายได้น้อยจะมีมนุษยสัมพันธ์ดีกว่าคนรวยเนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องมี

การที่อำนาจของเงินส่งอิทธิพลต่อการเอาใจใส่ผู้อื่นกลายเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่เกิดจากการขยายตัวของความไม่เท่าเทียมกัน โดย แดเนียล โกลแมน และนักจิตวิทยาคนอื่นๆ กำลังถกเถียงกันอยู่ว่า ถ้าผู้ที่มีรายได้มากซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีอำนาจเกิดไม่มองคนที่มีรายได้น้อยเลย การลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการเงินก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้โกลแมนชี้ให้เห็นว่า “การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นไปไม่ได้ ถ้ายังมีช่องว่างระหว่างความเอาใจใส่ของคนต่างฐานะกันอยู่”

สังคมที่ยังคงมีช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยสูงอาจจะยิ่งบั่นทอนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชีวิตมนุษย์ หากเราขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นรอบตัวก็อาจจะส่งผลเสียต่อจิตใจ หรือลุกลามถึงขั้นเป็นภัยต่อสุขภาพร่างกายได้เช่นกัน

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

Tags: , ,