ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าของเหตุการณ์ ไม่ว่าจะมองจากมุมของผู้ชนะ ผู้แพ้ หรือผู้สังเกตการณ์ สิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้ คือการทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ผ่านวัตถุประสงค์ของมุมมองจากเรื่องเล่า และบางครั้ง เครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจความหมายของภาพรายละเอียดจากเหตุการณ์ได้ดีที่สุด ก็คือนวนิยาย

The Glass Palace หรือในชื่อภาคไทย ร้าวรานในวารวัน (สารภาพไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่าผมไม่ชอบชื่อไทยของฉบับแปลเอาเสียเลย ซึ่งอีกไม่นานผู้อ่านจะได้รู้ว่าทำไม) เป็นนวนิยายที่อมิตาฟ โกช (Amitav Ghosh) นักเขียนชาวอินเดียเขียนขึ้นในปี 2000 ใช่ครับ ปี 2000 นวนิยายเรื่องนี้ใช้เวลา 18 ปีในการเดินทางมาสบตากับผู้อ่านภาษาไทย ช่างยาวนานเหลือเกิน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงแต่ไม่ถึงเสียทีของไทยคงไม่ต้องรอนานขนาดนี้

เอาล่ะครับ หลังจากการแสดงความอึดอัดใจทางการเมืองแค่พอให้เห็นความตั้งใจว่ายืนรออะไรอยู่ เรากลับมาที่ตัวนวนิยายกันดีกว่า The Glass Palace เป็นเรื่องเล่าที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคปลายที่ราชวงศ์คองบองจะลาลับจากสายตาของของแผ่นดินพม่า ไปจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องเล่าทั้งหมดนั้นดำเนินไปบนเส้นทางอันโชติช่วงและร่วงโรยของตระกูลหลักสี่ตระกูล

ราชกุมารเป็นเด็กหนุ่มยากไร้จากอินเดียที่โชคชะตาได้พัดพาให้เข้ามาเป็นประจักษ์พยานในการเข้าครอบครองอาณาจักรพม่าของจักรวรรดิอังกฤษที่เริ่มต้นจากข้อพิพาทเรื่องผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย เขาอยู่ในเหตุการณ์ความวุ่นวายจากการช่วงชิงทรัพย์สมบัติและสิ่งของมีค่าในหอแก้ว ตลอดจนการโดนเนรเทศออกจากกรุงมัณฑะเลย์ของพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัต

ระหว่างเหตุการณ์ความวุ่นวาย ราชกุมารได้พบกับดอลลี่ หนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ใกล้ชิดของพระนางศุภยาลัต ความงามของเธอทำให้เขาหลงใหลและยกให้เธอเป็นเทพธิดาประจำใจ ในช่วงที่ดอลลี่ไปอยู่กับพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตที่รัตนคีรีนั้น ราชกุมารก็มีฐานะร่ำรวยขึ้นจากความพยายามของตนเอง และความช่วยเหลือของสะหย่าจอห์นที่มีชะตาชีวิตผูกพันกันตั้งแต่มาถึงมัณฑะเลย์ใหม่ๆ

ภาพชีวิตในรัตนคีรีของพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตเต็มไปด้วยน่าความเบื่อหน่าย ทั้งปัญหาจากการปรับตัวและค่าใช้จ่ายที่ถูกจำกัด รวมไปถึงการอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ ขณะที่อยู่ที่รัตนคีรีนั้น อุมา ภรรยาของผู้ว่าการประจำมณฑลคนหนึ่งได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของดอลลี่ จนทำให้เธอได้แต่งงานกับราชกุมาร แต่ตัวอุมาเองก็ประสบเหตุไม่คาดฝันจากการจากไปของสามี ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ครอบครัวของอดีตกษัตริย์เองก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่ทำให้เสื่อมพระเกียรติเช่นกัน

หลังจากเป็นหม้าย ชีวิตของอุมาอุทิศให้กับการท่องไปในตะวันตกและให้ความช่วยเหลือขบวนการต่อสู้ทางการเมือง ส่วนราชกุมารและสะหย่าจอห์นได้ขยายอาณาจักรของกิจการไปที่การลงทุนทำสวนยางในมลายู ตัวสะหย่าจอห์นนั้นมีลูกชายหนึ่งคนอยู่ที่นิวยอร์ก เขาหวังที่จะสร้างธุรกิจใหม่นี้ไว้เป็นมรดกสำหรับลูกชาย

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัต อุมาเดินทางกลับจากนิวยอร์กและนัดให้ครอบครัวของราชกุมารกับดอลลี่ซึ่งมีลูกชายสองคนชื่อนีลและดินูมาพบกันที่มอร์นิ่งไซด์เฮาส์ บ้านของที่ทำการสวนยางของครอบครัวสะหย่าจอห์นและแมทธิวลูกชาย การพบกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการมีชะตาชีวิตร่วมกันอย่างใกล้ชิดของสามตระกูล

เมื่ออุมาเดินทางกลับอินเดีย เธอพักอาศัยอยู่กับน้องชายที่มีลูกฝาแฝดหญิง-ชายชื่อมันจูกับอรชุน มันจูได้พบกับนีลในวันที่เธอไปทดสอบหน้ากล้องเพื่อเป็นนักแสดง ทั้งสองตกหลุมรักกันและเข้าสู่พิธีแต่งงาน ส่วนอรชุนได้เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารแห่งอินเดียใต้สังกัดของกองทัพบริติช และจบมาเป็นนายทหารสัญญาบัตรในกองพลทหารราบเบาชาฏที่ 1

ในขณะที่ครอบครัวทางอินเดียและพม่ามีความสุขจากการเชื่อมสัมพันธ์ผ่านการสมรส ครอบครัวที่มลายูก็ประสบกับการสูญเสียจากอุบัติเหตุที่พรากชีวิตของแมทธิวและภรรยา เหลือไว้แต่ลูกสาวชื่ออลิสันที่อยู่กับสะหย่าจอห์นผู้เป็นปู่ เหตุการณ์นี้ทำให้ดินูผู้หลงใหลในการถ่ายภาพไปเยือนมอร์นิ่งไซด์และตกหลุมรักอลิสัน  ต่อมาไม่นาน จากการแผ่ขยายของแนวรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 อรชุนก็ถูกส่งมาประจำการณ์ในมลายู การพบกันของทั้งสามคนได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์รักสามเส้า ความซับซ้อนของความสัมพันธ์นี้นำไปสู่รอยแผลที่ร้าวลึกในใจของทั้งสามฝ่าย

การพบกันของทั้งสามคนได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์รักสามเส้า ความซับซ้อนของความสัมพันธ์นี้นำไปสู่รอยแผลที่ร้าวลึกในใจของทั้งสามฝ่าย

เมื่อเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายพื้นที่ความรุนแรงมากขึ้น ทั้งสามครอบครัวที่อยู่ในเขตของผลกระทบจากการสู้รบก็ได้ประสบกับความพลัดพราก การลาจาก และสูญเสีย จนความสุขของชีวิตที่ผ่านมาเหมือนเป็นเพียงภาพมายาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

The Glass Palace เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1885 และจบลงในปี 1996 ระยะเวลากว่าร้อยปีที่เป็นฉากหลังของนวนิยายนั้น มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลถึงความเป็นปัจจุบันของโลกเกิดขึ้นมากมาย และเรากำลังจะพูดถึงสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างความทรงจำและการเปลี่ยนแปลง

การเขียนนิยายเชิงประวัติศาสตร์คือการขุดค้นลงไปในเหตุการณ์ของความทรงจำร่วม โดยใช้จินตนาการและข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าเป็นเครื่องมือ ความสัมพันธ์ของสถานที่ เหตุการณ์ ความคิด เวลา ต้องถูกนำมาร้อยเรียงกันเพื่อให้ได้เรื่องราวที่ผู้เขียนพึงพอใจกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าช่วงเวลาของ The Glass Palace นั้นยาวนานกว่าศตวรรษ หากเราลองกลับสถานะให้ระยะของเวลาเปลี่ยนเป็นขนาดภาพวาด ภาพของโกชก็เปรียบเสมือนภาพวาดขนาดใหญ่ที่บรรจุไว้ด้วยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจริงทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ของเรื่องแต่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ ข้อดีของการใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวคือการได้พินิจพิเคราะห์ลงไปในผลกระทบของเหตุการณ์  และการได้นำประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลระยะยาวต่อชีวิตของผู้คนและสังคมเหล่านั้นมาเป็นทรัพยากรในการเขียน แต่ข้อเสียก็คือการต้องจัดการระยะเวลาให้พอเหมาะกับเนื้อที่ของเรื่องเล่า ข้อจำกัดนี้ทำให้ในการดำเนินเรื่องของตัวละครบางตัว หรือเหตุการณ์บางเหตุการณ์ถูกละเลยหรือตัดตอนอย่างรวดเร็วและรวบรัดจนทำให้เสียอรรถรสไป

แต่อย่างไรก็ดี โกชได้ใช้ประสบการณ์ของการเป็นนักมานุษยวิทยา นักข่าว และนักเขียนจัดการกับระยะเวลาจริงในเหตุการณ์และระยะเวลาประดิษฐ์ในเรื่องเล่าได้อย่างแยบคาย เขาใช้วิธีสอดแทรกข้อสังเกต ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง และเหตุผลของการโต้แย้งลงไปในเหตุการณ์จนข้อด้อยถูกลดลงเป็นเพียงระคายจางๆ เมื่อสัมผัสจากภาพรวม

โกชได้ใช้ประสบการณ์ของการเป็นนักมานุษยวิทยา นักข่าว และนักเขียนจัดการกับระยะเวลาจริงในเหตุการณ์และระยะเวลาประดิษฐ์ในเรื่องเล่าได้อย่างแยบคาย

จากเรื่องที่เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์การเสียเอกราช ผ่านสงครามโลกสองครั้งและจบลงด้วยปัญหาร่วมสมัยในพม่า (ต้องไม่ลืมว่าเราอ่านเรื่องนี้ช้าไป 18 ปีนะครับ) ประเด็นต่างๆ ที่โกชวางลงไปเพื่อตั้งคำถามกับเหตุการณ์และกับผู้อ่านจึงค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เราต้องต้ังคำถามแม้แต่กับคำตอบของเราเอง เมื่อเรื่องราวในเรื่องดำเนินไปถึงจุดที่ความหมายเก่าถูกท้าทายด้วยมุมมองใหม่ของตัวละคร

ประเด็นของโกชที่น่าตื่นเต้นไปไม่น้อยกว่าเรื่องเล่าหลากสีสันที่เข้าขั้นวางไม่ลงนั้นประกอบไปด้วย การตั้งคำถามกับระบอบจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคมผ่านตัวละครชาวอินเดียอย่างอรชุนที่อยู่ใต้บังคับและการศึกษาแบบบริติช การตั้งคำถามกับอุดมการณ์ทางการเมืองโดยใช้ตัวละครอย่างราชกุมาร อรชุน อุมา และดอลลี่ การชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของสงครามผ่านความโลภและความแร้นแค้นของผู้คน การยกตัวอย่างให้เห็นถึงการจัดการกับความทรงจำของตัวละครสำคัญอย่างอดีตกษัตริย์และครอบครัว หรือแม้กระทั่งความเป็นหญิง อุดมการณ์และอำนาจที่ถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นจากมุมมองของตัวละครหญิงที่มีความคิดและวิธีการเผชิญหน้ากับปัญหาแตกต่างไป

นอกเหนือไปจากสิ่งที่ได้เสนอไปแล้วตอนต้น ยังมีเหตุการณ์หนึ่งในเรื่องที่ผมชั่งใจอยู่มากว่าจะเอ่ยถึงดีหรือไม่ แต่เมื่อตั้งคำถามกับตัวเองและให้คำตอบอย่างรอบคอบแล้วก็คิดว่าไม่น่าจะเสียหายอะไร และไม่น่าจะส่งผลมากนักเพราะไม่ได้เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญจนเสียรสชาติ เหตุการณ์ที่ผมเอ่ยถึงคือการปรากฏตัวของออง ซาน ซูจีในเรื่อง ในขณะที่โกชเขียนเรื่องนี้อยู่นั้น ตัวของออง ซาน ซูจียังถูกคุมขังอยู่ในบ้านของตัวเองภายใต้คำสั่งของเผด็จการทหาร ภาพของออง ซาน ซูจีในตอนนั้นทั้งในสายตาของโกชเองและชาวโลกจึงเป็นภาพของผู้ถูกกระทำอันเป็นเหยื่อของความรุนแรงของการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

แต่เมื่อเรามองไปในเหตุการณ์ตอนนี้ในเรื่องด้วยสายตาปัจจุบันอันเป็นผลล่าช้ามาจากการเดินทางผ่านภาษาของตัวบท ภาพของออง ซาน ซูจี กลับกลายเป็นภาพอื่น จากที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำ เมื่อเธอได้รับการปลดปล่อยออกมาและเข้าสู่เกมการเมือง ทัศนคติบางประการและการวางตัวเพิกเฉยของเธอต่อปัญหาของชนกลุ่มน้อยและเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่าทำให้ภาพและบทบาทที่ยิ่งใหญ่และเป็นความหวังของเธอที่โกชบรรจงร้อยเรียงลงไปในเรื่องถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ (สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของออง ซาน ซูจี ผมอยากให้ลองอ่านบทความชื่อ ‘What Happened to Myanmar’s Human-Rights Icon?’ ที่ให้ภาพของเธออย่างครบถ้วนดูนะครับ รับประกันความสนุกจริงๆ ครับกับบทความนี้)

แต่เมื่อเรามองไปในเหตุการณ์ตอนนี้ในเรื่องด้วยสายตาปัจจุบันอันเป็นผลล่าช้ามาจากการเดินทางผ่านภาษาของตัวบท ภาพของออง ซาน ซูจี กลับกลายเป็นภาพอื่น

มาถึงตรงนี้ ผมขอกลับไปอธิบายเกี่ยวกับความไม่ชอบชื่อเรื่องในฉบับภาษาไทยที่กล่าวถึงไว้ข้างต้นสักนิดนะครับ เหตุผลของผมก็คือ ตัวโกชเองนั้นตั้งชื่อหนังสือเพื่อให้สอดคล้องและล้อเล่นไปกับ The Glass Palace Chronicle Of The Kings Of Burma ซึ่งเป็นหนึ่งในพงศาวดารฉบับสำคัญของพม่าที่รู้จักกันในชื่อไทยว่าพงศาวดารฉบับหอแก้วหรือมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า และยังเริ่มเรื่องด้วยการอัสดงของราชวงศ์ในหอแก้วซึ่งเป็นตอนจบของพงศาวดาร รวมไปถึงการใช้ชื่อหอแก้วในความหมายอื่นอีกในเรื่อง ชื่อไทยจึงน่าจะถูกแปลโดยไม่ลดทอนความสำคัญของคำว่า หอแก้ว หรือ The Glass Palace ลง

หากให้กล่าวโดยสรุปแบบกระชับถึง The Glass Palace ผมขอเสนอว่า นี่คือนิยายที่เล่นอยู่กับประเด็นของความทรงจำและการเปลี่ยนที่ย้ายถิ่น โดยถิ่นที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถานที่ แต่กลับมีความหมายกินไปถึงที่อยู่อาศัยของความเชื่อในด้านการใช้ชีวิต ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่กว้างอย่างสังคมและความเป็นชาติ ในการเปลี่ยนที่ย้ายถิ่นนั้น ผู้เขียนได้นำธรรมชาติและสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์มาทดสอบแสดงให้เห็นว่าราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ในสิ่งที่ต้องการนั้นมีมูลค่าแค่ไหนเมื่อเทียบกับคุณค่าของมันจากความหมายของหลายมุมมอง

แม้หลังๆ นี้ผมจะอ่านนวนิยายของนักเขียนต่างชาติมากกว่านักเขียนไทย (ด้วยเหตุผลหลายประการที่ยังไม่สุกงอมพอให้เอ่ยถึง) ผมก็ยังมีความเชื่อมั่นในสติปัญญาและความหาญกล้าต่อการตั้งคำถามของนักเขียนไทย เมื่อมีนวนิยายประวัติศาสตร์ที่ดำเนินเรื่องในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตัวอย่างที่เฉียบขาดในการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์และอุดมการณ์ได้ถูกแปลออกมาให้อ่าน ไม่นานจากนี้เราคงมีนักเขียนไทยที่ตั้งคำถามอย่างแยบยลกับอุดมการณ์และเหตุการณ์ขนาดใหญ่ของประเทศเราเองให้ได้อ่านกัน  

และหวังว่านั่นคงจะไม่นานเกินรอ

Fact Box

  • อมิตาฟ โกช ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่การค้นคว้าหาข้อมูลไปจนเขียน The Glass Palace ออกมาจนจบ และผลงานชิ้นเอกนี้ได้สร้างความประทับใจและส่งต่อแรงบันดาลใจให้สุดาห์ ชาห์ (Sudha Shah) ใช้เวลาอีกราว 7 ปี ในการค้นคว้าและสร้างสรรค์ผลงานที่สำคัญเกี่ยวกับครอบครัวและชีวิตหลังการเนรเทศของอดีตกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบองขึ้นมาในชื่อ  The King in Exile: The Fall of the Royal Family of Burma ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง โดยสุภัตรา ภูมิประภาส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
  • The Glass Palace เคยได้รับคัดเลือกให้เป็น Eurasian Regional Winner ประเภท Best Book ในรางวัล Commonwealth Writer’s Prize ซึ่งหมายถึงว่า The Glass Palace ได้ผ่านเข้าสู้รอบสุดท้ายของการคัดเลือก แต่ตัวโกชเองได้ขอถอนตัวออกจากรางวัลโดยให้เหตุผลว่า เขาไม่ทราบว่าทางสำนักพิมพ์ได้ส่งหนังสือเข้าประกวด และได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการถอนตัวซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า จิตวิญญาณของหนังสือนั้นไม่สอดคล้องกับรางวัลที่มีการระลึกถึงจักรวรรดินิยมภายใต้คำว่าในเครือจักรภพ สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านจดหมายฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่นี่
  • นอกเหนือไปจากหนังสือ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผู้ที่สนใจในเรื่องราวของพม่าที่เกี่ยวเนื่องกับยุคเปลี่ยนผ่านใน The Glass Palace สามารถค้นคว้าหาข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้จากหนังสือเหล่านี้
  1. พม่าเสียเมือง โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ปราโมช จัดพิมพ์แล้วหลายครั้ง โดยหลายสำนักพิมพ์
  2. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ที่แปลจากภาษาพม่าโดยนายต่อ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
  3. ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน ที่แปลจาก Thibaw’s Queen ของ Harold Fielding-Hall โดยสุภัตรา ภูมิประภาส และ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
  4. สายธารแห่งรอยอดีต ประวัติศาสตร์พม่าในมุมมองของข้าพเจ้า ที่แปลจาก The River of Lost Footsteps: A Personal History of Burma ของ Thant Myint-U โดยสุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์
  5. 'A Forgotten Long March: The Indian Exodus from Burma, 1942' ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies Vol.6, No. 1 (Mar., 1975), pp.1-1
Tags: , , , , , , ,