***Warning: Transphobia, Suicide***

“ทำไมถึงได้สิทธิพิเศษ อยากแปลงเพศแล้วทำไมไม่ใช้เงินตัวเอง ไม่ควรเอาภาษีมาใช้กับเรื่องนี้”

“กี 30 บาทจะมีคุณภาพได้ไงคะกะเทย อยากสวยมากก็ออกเงินเองสิ”

“อย่างนี้ถ้าเราอยากดั้งโด่ง ตาสองชั้น รัฐบาลก็ต้องออกเงินให้ไปศัลยกรรมน่ะสิ”

หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกมาประกาศว่า หน่วยงานกำลังเร่งผลักดันให้การผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQIA+ รวมอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทอง ซึ่งคาดว่าจะมีผลแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาอีกครั้งในประเด็นเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศว่า เป็นสิทธิที่ควรจะได้รับหรือไม่?

แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นดังกล่าวตกเป็นข้อถกเถียง และทุกครั้งที่เรื่องสิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศถูกนำเสนอ แม้คนส่วนหนึ่งจะเห็นด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนมากที่มองว่า การผ่าตัดแปลงเพศไม่ใช่สิทธิที่ควรจะได้รับ บ้างว่ารัฐบาลควรเอาเงินไปใช้กับเรื่องอื่น บ้างว่าไม่ควรเพราะการผ่าตัดแปลงเพศนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ ไปจนถึงการทวงถามสิทธิของคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพศหลากหลายในการที่จะได้รับการศัลยกรรมเพื่อความสวยงามบ้าง

‘การผ่าตัดแปลงเพศ’ (Gender Affirmation Surgery) หมายถึง การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศสรีระของร่างกายโดยกำเนิด เพื่อให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศหรือลักษณะทางกายภาพที่บุคคลนั้นๆ ต้องการปรับเปลี่ยน ซึ่งโดยทั่วไปเรามักคุ้นเคยกับการผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) ทั้งจากชายเป็นหญิงและหญิงเป็นชาย 

ประเด็นสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศเป็นคนละอย่างกับการศัลยกรรมเพื่อความงาม เพราะเป็นบริการทางสุขภาพ ซึ่งหมายความว่า สามารถส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแน่นอน 

การทำให้คนๆ หนึ่งได้มีอัตลักษณ์ของความเป็นชายหญิงซึ่งช่วยนำเสนอตัวตนที่แท้จริงที่ตนเลือกจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ LGBTQIA+ ยังคงต้องเผชิญกับอคติทางเพศจากคนทุกกลุ่มอยู่เช่นนี้ คงไม่สามารถนำไปเทียบกับการอยากมีจมูกโด่ง ตาสองชั้น หรืออยากฉีดโบท็อกซ์ให้มีหน้าเรียวสวยได้ เพราะที่ผ่านมามีผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากต้องทุกข์ทน ทั้งจากบรรทัดฐานทางสังคม อคติทางเพศ และการตีตราด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น การเกิดภาวะ Gender Dysphoria หรืออาการความทุกข์ทรมานใจจากการที่ร่างกายไม่ตรงกับเพศของตน และยังมีหลายกรณีที่ส่งผลไปถึงชีวิต

ผลสำรวจสุขภาพจิตในโปรเจกต์ Trevor ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2023 เผยว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของเยาวชนข้ามเพศ รวมถึงกลุ่มนอนไบนารีในสหรัฐฯ เคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายในช่วงปีที่ผ่านมา และจาก 3 ใน 5 ของคนกลุ่มนี้ ยังคงมีความต้องการที่จะเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาวะสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศจากรัฐบาลอยู่ 

ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสำหรับคนข้ามเพศมีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ เนื่องจากกฎหมายหลายฉบับจำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการผ่าตัดเพื่อแปลงเพศ หรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ

มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า การเข้าถึงฮอร์โมนเพศเพื่อให้ร่างกายเป็นไปตามอัตลักษณ์ที่ต้องการสามารถบรรเทาความซึมเศร้า และลดความคิดที่จะฆ่าตัวตายสำหรับคนข้ามเพศได้ ดังนั้น ความคิดที่ว่า สิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพียงเรื่องของความสวยงาม และควรผลักดันประเด็นอื่นๆ ก่อน ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลนัก ในเมื่อสิ่งนี้มีความจำเป็นถึงขั้นที่ว่า ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ แล้วทำไมจึงไม่สามารถผลักดันไปพร้อมกับประเด็นอื่นได้

กว่าจะถึงจุดที่ LGBTQIA+ เลือกที่จะผ่าตัดแปลงเพศ เราไม่มีทางรับรู้ทั้งหมดว่า พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง แน่นอนว่าสำหรับทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศมีราคาสูงมาก ทั้งยังเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อประเมินสภาวะจิตใจและร่างกาย รวมถึงต้องคอยติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ หากว่าไม่จำเป็นจริงๆ 

ถ้ายังมองว่ารัฐบาลไม่ควรเอาเงินภาษีที่ทุกคนจ่ายมาสนับสนุนสิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศ เพราะครอบคลุมแค่คนบางกลุ่ม ได้รับประโยชน์แค่คนบางกลุ่ม ไม่คุ้มค่า คุณอาจลืมไปว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นประชาชนที่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกัน หากว่าสวัสดิการผ่าตัดแปลงเพศสามารถช่วยป้องกันการสูญเสียและลดความทุกข์ของพวกเขาได้ ทำไมเราถึงเลือกที่จะต่อต้านมากกว่าสนับสนุน?

สิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศเป็นประเด็นที่ทำให้ได้เห็นอคติทางเพศที่สังคมยังคงมีต่อกลุ่ม LGBTQIA+ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นจากอคติและการตีตรามากมาย ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเผชิญ 

ที่มา:

https://www.cnn.com/2023/06/28/health/transgender-suicide-risk/index.html 

https://www.theguardian.com/society/2023/apr/23/they-just-go-to-thailand-the-long-and-costly-wait-for-gender-affirming-surgery-in-australia 

 

Tags: , ,