ด้วยสภาวะที่มีการเดิมพันสูงในการแข่งขันกีฬาอาชีพ ความกดดันในความฝันของตัวเอง ครอบครัว หรือความคาดหวังของคนทั้งประเทศ ล้วนสามารถผลักให้นักกีฬาคนหนึ่งสามารถข้ามเส้นของกฏเกณฑ์ด้วยการใช้สารเคมีต่างๆ ในการ ‘โด๊ป’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายตัวเองให้เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม การโด๊ปยังเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวงการกีฬา เพราะการโด๊ปเปรียบเสมือนการโกงขีดจำกัดความสามารถของตัวเอง 

แต่ก็มีการโด๊ปประเภทหนึ่งที่เริ่มได้รับการพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการโด๊ปทางเทคโนโลยี หรือ Techologcal Doping 

โด๊ปด้วยเทคโนโลยี?

Technological Doping ถูกจำกัดความว่าเป็นการใช้อุปกรณ์ทางด้านกีฬาเพื่อที่จะสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันกีฬา โดยที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกหรือ WADA (The World Anti-Doping Agency) ได้ทำการพิจารณาห้ามการใช้เทคโนโลยีบางอย่าง หากเทคโนโลยีดังกล่าว เข้าข่าย ‘เพิ่มประสิทธิภาพ (performance-enhancing)’ หรือ ‘ขัดต่อจิตใจของกีฬา (being against the spirit of sport)’

ต่อมาในปี 2006 WADA ได้ทำการหารือและหาที่ปรึกษาอย่างจริงจังในเรื่องการโด๊ปทางเทคโนโลยีว่าเป็นภัยคุกตามต่อสถาบันกีฬา ส่วนเรื่องการแบนหรือไม่แบนเทคโนโลยีอุปกรณ์ชิ้นไหนนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการของกีฬาแต่ละชนิดเป็นผู้ตัดสินใจ

คำถามคือ อุปกรณ์กีฬาต่างๆ สามารถสร้างความแตกต่างการทางแข่งขันได้มากจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นการโด๊ปเลยหรือไม่?

ในความเป็นความจริง กีฬาทั่วไปที่ต้องอาศัยอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ เฉพาะทางในการแข่งขันต่างก็มีข้อกำหนดของตัวเองเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสำหรับบางกีฬาที่มีความเรียบง่าย เช่น กีฬาวิ่ง ที่อาจจะไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์ครอบคลุมในส่วนนี้มากนัก

ตัวอย่างสำคัญที่เรื่อง Technological Doping ถูกนำมาพูดถึง เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อนักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา เอลิอุด คิปโชเก ได้สร้างประวัติศาสตร์ของวงการวิ่งมาราธอนด้วยการจบเส้นทาง 42 กิโลเมตร ด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที เป็นการพังทลายกำแพง 2 ชั่วโมงที่มนุษย์ไม่เคยทำลายลงได้มาก่อน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่น่ายินดีสำหรับคิปโชเก แต่ก็มีคนตั้งคำถามถึงตัวช่วยสำคัญของเขาอย่างรองเท้า Nike Vaporfly 4% ที่เขาใส่วิ่งทำลายสถิติ

รองเท้า Nike Vaporfly 4% เป็นรองเท้าวิ่งที่ทางไนกี้เคลมว่าสาสมารถประหยัดพลังงานของผู้สวมใส่ได้ 4 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเทคโนโลยีของแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ที่พื้นรองเท้า ที่มีรูปทรงคล้ายกับช้อน ทำหน้าที่เหมือนการยิงสลิงช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถดีดตัวไปได้ไกลขึ้นในแต่ละก้าว แต่ใช้แรงน้อยลง 

 

ดร.รอสส์ ทักเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เคยบอกกับหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า เทคโนโลยีที่ไนกี้ใส่ลงไปใส่รองเท้าของพวกเขาทำให้ผู้ที่สวมใส่รู้สึกเหมือนกำลังวิ่งลงทางลาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมากในการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับสูง

ก่อนหน้าการทำลายสถิติของคิปโชเก ข้อปฏิบัติของสหพันธ์สมาคมกรีฑาโลก (World Athletics) ได้ระบุว่า รองเท้าที่นักกีฬาใช้สวมใส่แข่งขันจะต้องไม่ ‘สร้างข้อได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม’ และ ‘ต้องสามารถหาได้โดยทั่วไป’ โดยเฉพาะข้อหลัง เพราะว่ารองเท้า Nike Vaporfly 4% มีราคาที่สูงมาก และความหายากของรองเท้า จึงไม่ใช่นักกีฬาทุกคนที่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้รองเท้าคู่นี้ถูกวิจารณ์ว่าเข้าข่ายการโด๊ปทางเทคโนโลยี 

แต่สุดท้าย ข้อพิพาทดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขจากทาง World Atheletics โดยที่อนุญาติให้นักกีฬาสามารถใช้รองเท้าที่เพิ่มประสิทธิภาพ (Perfomance-enhancing) ได้ โดยห้ามใช้รองเท้ารุ่นต้นแบบ (Prototype) ในการแข่งขัน แต่สามารถใช้รองเท้าที่วางขายมาแล้วอย่างน้อย 4 เดือนได้ และพื้นรองเท้าต้องไม่มีความหนามากกว่า 40 มิลลิเมตร โดยที่ข้อปฏิบัติใหม่นี้ หมายถึงการอนุญาติให้รองเท้า Nike Vaporfly 4% สามารถใช้ได้อย่างไม่มีข้อกังขา ซึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกที่จะถึงนี้ แฟนกีฬาจะได้เห็นเหล่านักวิ่งสวมใส่รองเท้าคู่นี้อย่างแน่นอน และน่าลุ้นว่าจะมีสถิติไหนของวงการกรีฑาที่จะถูกทำลายด้วยรองเท้าคู่นี้อีกบ้าง

 

อีกตัวอย่างสำคัญของการโด๊ปทางเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนเริ่มถกเถียงกันในประเด็นนี้มากขึ้นคือการแข่งกันกีฬาว่ายน้ำโอลิมปิคปี 2008 ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

Speedo บริษัทผลิตอุปกรณ์ว่ายน้ำชื่อดังได้ทำการพัฒนาชุดว่ายน้ำชื่อ LZR Racer ซึ่งเป็นชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวที่ครอบคลุมร่างของผู้ใส่ตั้งแต่หัวไหล่ไปจนถึงน่อง ส่งเสริมการบีบอัดของร่างกาย และช่วยให้เกิดอุทกพลศาสตร์ (Hydrodynamics) ทำให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนไหวผ่านผิวน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการไหลเวียนของออกซิเจนในกล้ามเนื้อ และกักออกซิเจนไว้ภายในชุดเพื่อช่วยเรื่องการลอยตัวของนักว่ายน้ำ โดยทาง Speedo ระบุว่าชุดวายน้ำ LZR Racer สามารถลดแรงลากของน้ำได้มากถึง 38 เปอร์เซ็นต์ จนส่งผลให้ผู้สวมใส่สามารถว่ายน้ำได้เร็วขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับชุดว่ายน้ำของยี่ห้ออื่น 

 

ในโอลิมปิกปี 2008 จำนวน 94 เปอร์เซ็นต์ ของนักว่ายน้ำที่ชนะการแข่งขันทั้งหมด ไม่ว่าจะรุ่นใด ประเภทใด ต่างใส่ชุด LZR Racer ในการแข่งขัน รวมถึงในโอลิมปิกครั้งดังกล่าวก็มีการทำลายสถิติโลกไปถึง 25 ครั้ง โดยที่มีเพียง 2 สถิติเท่านั้น ที่นักกีฬาว่ายน้ำไม่ได้ใส่ชุด LZR Racer

ใช่แล้ว ชุดว่ายน้ำดังกล่าวได้ทำลายสถิติโลกถึง 23 ครั้งในทัวร์นาเมนต์ครั้งเดียว

แต่เมื่อเกิดการทำลายสถิติที่ผิดปกติด้วยเทคโนโลยีเช่นนี้ FINA หรือสหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศจึงไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เพราะนอกจากคุณบัติของชุด LZR Racer ทางด้าน Speedo ผู้ผลิตยังจดสิทธิบัตรเพื่อป้องกันคู่แข่งลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของพวกเขา และ Speedo ก็ไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตชุดว่ายน้ำให้กับทุกประเทศที่เข้าแข่งขัน ทำให้นักกีฬาว่ายน้ำของประเทศที่เซ็นสัญญากับผู้ผลิตค่ายอื่นได้แต่มองชุดว่ายน้ำนี้ตาปริบๆ 

เพราะเหตุนี้จึงทำให้ทาง FINA ทำการ ‘แบน’ ชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัว โดยชุดว่ายน้ำของผู้ชายจะสามารถปกปิดได้ตั้งแต่ช่วงเอวถึงหัวเข่า ขณะที่ผู้หญิงอนุญาติปกปิดได้ตั้งแต่ช่วงไหล่ถึงเข่า แต่ว่าชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้อีกต่อไป 

ก้าวล่วงหรือก้าวหน้า?

แท้จริงแล้ว คำว่า ‘โด๊ป’ กับ ‘ก้าวหน้า’ อาจจะมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ ในขณะที่ความก้าวหน้าคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากความพยายามบากบั่น แต่การโด๊ปคือการใช้ประโยชน์จากความพยายามของใครบางคนเพื่อสร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน หากไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ในการแข่งขันเพื่อควบคุม ก็จะมีคนที่ใช้เทคโนโลยีในการพยายามสร้างข้อได้เปรียบบางอย่างเพื่อชัยชนะ อีกทั้งยังสร้างข้อจำกัดล่องหนด้วย ‘ราคา’ ทำให้เหล่านักกีฬาที่ไม่มีพื้นฐานทางการเงินที่ดีไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ 

คำถามสำคัญคือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในวงการกีฬากำลังลดคุณค่าความพยายามของนักกีฬาลงหรือไม่ หรือว่ามันกำลังสร้างมาตรฐานแบบผิดๆ ที่จำกัดความสามารถของมนุษย์ไว้กับพัฒนาการของเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้จาก 2 วิธีการคือ แบนเทคโนโลยีทุกอย่าง แข่งขันกีฬากันด้วยความสามารถของมนุษย์เพียงอย่างเดียว กำจัดตัวช่วยทุกอย่างออกไปให้หมด เพื่อที่ว่าทุกคนจะได้กลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์เหมือนกันหมด หรือ อนุญาตให้นักกีฬาทุกคนสามารถเข้าถึงทุกเทคโนโลยีที่จะช่วยให้สามารถก้าวผ่านขีดจำกัดของตัวเองได้ 

สุดท้ายแล้ว เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบทบาทของเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬา มีอิทธิพลอย่างมากในการช่วยให้ประสบการณ์ในการรับชมกีฬาของคนดูเต็มไปด้วยความสนุกสนานมากขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาส่งเสริมประสิทธิภาพของกีฬาแต่ละชนิดอีกด้วย 

ในโลกอุดมคตินั้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีควรเป็นแค่ตัวช่วยในการพัฒนาวงการกีฬา และรับรองความปลอดภัยของนักกีฬาเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินความสำเร็จในสนาม นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าเทคโนโลยีได้สร้างความไม่เท่าเทียมในวงการกีฬาขึ้นมาแล้ว

 

อ้างอิง

https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=268703d2-ed70-4cc4-95b3-0c6980af9ce9

https://basem.co.uk/technological-fairness-or-technological-doping/

https://lastwordonsports.com/2017/05/15/technological-advancements-golf-equipment/

https://innovationorigins.com/ski-technologies-for-effortless-rides-down-the-slopes/

https://www.mainstand.co.th/catalog/4-Lifestyle/1017-LZR+Racer

https://weartesters.com/nytimes-nikes-new-shoes-give-runners-unfair-advantage/

https://thesportsdaily.com/2019/05/18/the-importance-of-technology-in-sports/

Tags: , , , ,