ธันวาคมเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง มีทั้งวันสำคัญและบรรยากาศเป็นใจให้ดื่มด่ำเหล้า ไวน์ เบียร์ แล้วไหนจะเป็นอาหารหนักๆ มันๆ ของช่วงเทศกาล จนถึงวันสิ้นปี งานดื่มกินก็มาจ่อเรียงกันแทบไม่เหลือวันในปฏิทินให้เว้นว่างพักตับ งานเลี้ยงออฟฟิศ งานเลี้ยงกับเพื่อน งานเลี้ยงกับครอบครัว งานเลี้ยงกับแฟน งานเลี้ยงบ้านแฟน…แน่นบรรลัยไปเลย

พอถึงเดือนมกราคม หลายคนใช้โอกาสนี้พักตับสักหนึ่งเดือน เพื่อบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งละ-เลิกดื่มแอลกอฮอล์ จนเป็นที่มาของคำถามว่า ช่วงอดจะช่วยอะไรได้? มันไม่ดีกว่าหรือถ้าจะคอยระวังเรื่องปริมาณการดื่ม

Dry January – เดือนพักตับ ดีตรงไหน?

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ช่วงอดก็นับเป็นการควบคุมตัวเองอย่างหนึ่ง ถ้ามีคนสิบคนดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันในช่วงเวลาหนึ่งเดือน จะพบว่าจะต้องมีใครคนหนึ่งในสิบคนนั้นเริ่มมีอาการติดสุรา และหากว่าสิบคนนั้นหยุดดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ทุกคนจะได้คำตอบเองว่า ถ้าจะต้องหยุดดื่ม ตัวเองจะทำได้ไหม หรือจะมีอาการเสพติดหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ถ้าหยุดดื่ม ในช่วงเวลานั้น ระบบการทำงานของร่างกายจะฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ

อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายบ้าง หากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ตลอดทั้งเดือน?

ตับ จะค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเองให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในผู้ป่วยโรคตับ หากหยุดดื่มเป็นการถาวร สถานภาพของตับอาจกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้

ระบบการเผาผลาญ จะดีขึ้น การบริโภคแอลกอฮอล์ไม่เพียงทำร้ายอวัยวะอย่างตับและการเผาผลาญของเซลล์เท่านั้น หากยังให้ผลร้ายต่อระบบการย่อยและการเผาผลาญไขมัน ภายในเวลาหนึ่งเดือนที่ปราศจากแอลกอฮอล์ จะทำให้ระบบทุกอย่างในร่างกายปรับคืนสู่สมดุล

น้ำหนักตัวลดลง แอลกอฮอล์ 1 กรัม ให้พลังงาน 7.1 กิโลแคลอรี หากใครดื่มในปริมาณมากในแต่ละสัปดาห์ ก็เท่ากับว่าสะสมพลังงานจำนวนมาก โดยที่ร่างกายไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์

นอนหลับดีขึ้น หากร่างกายต้องเหน็ดเหนื่อยกับการขับแอลกอฮอล์ ย่อมส่งผลเสียต่อคุณภาพของการนอน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้นที่ร่างกายต้องเก็บกวาดแอลกอฮอล์ แต่มันยังส่งผลต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

สมองและเซลล์ประสาท จะไม่ถูกทำลาย ในวัยผู้ใหญ่จะไม่มีการผลิตเซลล์ประสาทขึ้นใหม่ ดังนั้น หากการดื่มแอลกอฮอล์มีผลให้เซลล์ประสาทได้รับความเสียหาย การฟื้นฟูจะทำได้ยาก และจะส่งผลเสียต่อไปในกาลข้างหน้า

ร่างกายของเราจะตอบรับอย่างไร หากถูกบังคับให้หยุดดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลาหนึ่งเดือน?

ถ้าเราไม่มีอาการติดสุรา ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการพักดื่มสักหนึ่งเดือน บางคนที่ดื่มไวน์หรือเบียร์วันละแก้วจะไม่รู้ทุกข์ร้อนหรือมีปัญหาอะไรเมื่อต้องหยุดดื่ม แต่หากใครติดสุรา ผลลัพธ์จะตรงกันข้าม คนที่เสพติดจะต้องการดื่มทุกวัน จะกลัวถ้าต้องเลิกหรือเข้ารับการบำบัด การงดดื่มไม่ได้แสดงผลทางร่างกายอย่างเดียว แต่มีผลต่อจิตใจด้วย

ในแต่ละวันเราสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้มากแค่ไหน?

สำหรับผู้หญิง ไวน์ประมาณ 1 ใน 8 ลิตร ส่วนผู้ชายได้มากเป็นสองเท่า แต่ให้ดีแล้วไม่ควรดื่มทุกวัน ควรงดสักสองหรือสามวันในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้อวัยวะภายในร่างกายได้พักผ่อนบ้าง

แบบไหนดีกว่ากัน…ไวน์สักแก้วในบางวันของสัปดาห์ หรือไวน์ปริมาณโควต้าของทั้งสัปดาห์ แต่ดื่มคราวเดียวในวันหยุด?

ข้อนี้ไม่เรียกว่าดีทั้งสองอย่าง เหมือนกับการดื่มช้าๆ หรือดื่มเร็วๆ แต่การดื่ม 4-5 แก้วในคืนเดียวนั้นไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ อย่างที่รู้กันว่าจะมีผลเสียต่อเซลล์ประสาท และหากใครดื่มแบบนั้น บ่อยเข้า ผลเสียจะพลอยลุกลามไปถึงตับ หรือที่แย่กว่านั้นคือการดื่มในแต่ละวันเกินปริมาณที่พอเหมาะ แล้วยังจะดื่มเพิ่มเติมในวันหยุดอีก

การดื่มเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ควรจะแบ่งสัดส่วนไวน์สี่แก้วเพื่อดื่มระหว่างสัปดาห์ และควรดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างรับประทานอาหารจะดีกว่าดื่มตอนท้องว่าง

เราควรจะลด ละ และเลิกดื่มเลยดีไหม?

แอลกอฮอล์เปรียบเสมือนสารหล่อลื่นทางสังคมมานานนับศตวรรษ แต่ก็มีสังคมหลายแห่งเช่นกันที่พยายามหลีกเลี่ยงหรือออกกฎห้ามดื่ม ถึงกระนั้นก็ฟังดูไร้สาระสำหรับสังคมปกติ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากอยู่ที่ผู้ดื่ม ซึ่งควรจะดื่มอย่างมีสติและระมัดระวัง

อาการเริ่มติดสุราสังเกตได้จาก…

+ นึกคิดถึงแต่เรื่องแอลกอฮอล์อยู่ตลอดเวลา และมีความต้องการจะดื่มจากข้างใน

+ มีความคิดวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องว่าจะดื่มอะไรเมื่อไหร่ดี

+ หมดความสนใจเรื่องใดอื่น และพร้อมจะโวยวาย มีปากเสียงกับคนรอบข้าง

+ ประสิทธิภาพในการทำงานถดถอยลง

+ เบื่อง่าย หมดความสุขกับชีวิต

+ การบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามนิสัย

+ ความตั้งใจที่จะหยุดดื่มหรือดื่มน้อยมีน้อยลง และจะไม่มีวันบรรลุผล

+ ยังมีความต้องการที่จะดื่ม แม้จะรู้ว่ามันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

+ สูญเสียหรือไร้ความสามารถในการควบคุมเกี่ยวกับการเริ่มต้น การสิ้นสุด และปริมาณการดื่ม

+ มองเห็นความแตกต่างไม่ชัดเจนระหว่างความเสี่ยงต่ำ การดื่มที่อันตราย และเป็นปัญหา รวมถึงอาการติด

 

 

อ้างอิง:

www.bzga.de

www.bento.de

www.hfocus.org

Fact Box

พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย

ผลสำรวจในปี 2557 ระบุว่าในช่วงหนึ่งปี มีคนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวนร้อยละ 38.9 ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพศชายร้อยละ 55.9 เพศหญิงร้อยละ 23

ความชุกชองการดื่ม พบว่าพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคนดื่มแอลกอฮอลล์ร้อยละ 43-45 รองลงมาคือภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคใต้ แต่ถ้าดูจากปริมาณแอลกอฮอล์ จะพบว่าคนในกรุงเทพฯ ดื่มหนักกว่าภาคอื่นๆ

ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มเฉลี่ยในชาย 20.5 กรัมต่อวัน ในหญิง 9.0 กรัมต่อวัน โดยกลุ่มอายุ 30-44 ปี ดื่มปริมาณต่อวันสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น และปริมาณการดื่มลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

ปัญหาความเสี่ยงต่อการติดสุรา พบว่าร้อยละ 72.1 เป็นกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยงต่ำ โดยผู้ชายกลุ่มอายุ 30-44 ปี มีสัดส่วนของกลุ่มที่ดื่มแบบเสี่ยง แบบอันตรายและแบบติดสุราสูงสุด ส่วนในผู้หญิง กลุ่มที่มีสัดส่วนของผู้ดื่มแบบเสี่ยงและแบบอันตรายสูงสุด คือกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป

Tags: , , ,