รูปร่างปราดเปรียว เคลื่อนไหวเร็วดังจรวด กล้ามเนื้อบึกบึนแข็งแกร่งราวกับหินผา หรือว่าสูงยาวเข่าดี พร้อมลุยทั้งบนพื้นและกลางอากาศ คุณคิดว่าร่างกายแบบไหน เหมาะสำหรับการเล่นฟุตบอล

The Momentum คอลัมน์ Sport สัปดาห์นี้ขอพาเหล่าคอบอลไปขุดคุ้ยถึงร่างกายของนักกีฬาฟุตบอลหลากหลายรูปแบบตั้งแต่สูงยาว เข่าดี แบบปีเตอร์ เคราช์ (Peter Crouch) ไปจนถึงกล้ามมัดใหญ่ พร้อมลุยกับทุกคนบนผืนหญ้าแบบ อดามา ตราโอเร (Adama Traore) เพื่อหาคำตอบว่า ร่างกายแบบไหนกันแน่ที่เหมาะสำหรับการเล่นกีฬาฟุตบอลมากที่สุด

 แต่ก่อนที่จะไปค้นหาว่าร่างกายแบบไหนเหมาะสำหรับการเป็นนักฟุตบอล ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าร่างกายของมนุษย์มีกี่รูบแบบ ซึ่งหากจำแนกตามพันธุกรรมของมนุษย์ (Somatotypes) ร่างกายของมนุษย์จะมีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกันดังนี้

Ectomorph ลักษณะร่างกายที่สูงใหญ่ มีแขนยาว ขายาว ไหล่แคบ สะโพกเล็ก มีกระดูกและข้อต่อต่างๆ ที่เล็ก รวมไปถึงมัดกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเรียวยาว มีเปอร์เซ็นต์ไขมันสะสมในร่างกายน้อย  

Mesomorph ลักษณะร่างกายที่สมส่วน มีกระดูกและกล้ามเนื้อที่ใหญ่ สามารถเพิ่มหรือลดน้ำหนักได้ง่าย รวมไปถึงสร้างกล้ามเนื้อได้ง่ายเช่นกัน 

Endomorph ลักษณะของคนกลุ่มนี้ จะดูตัวกลม หน้ากลม คอ แขน ขาดูสั้นมีขนาดใหญ่ ตัวจะนิ่มๆ เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์ไขมันสะสมในร่างกายจำนวนมาก

แน่นอนว่าร่างกายประเภท Mesomorph มีข้อได้เปรียบในการเล่นฟุตบอลมากที่สุด ด้วยปริมาณกล้ามเนื้อที่มาก สวนทางกับปริมาณไขมันที่น้อย อีกทั้งความแข็งแรงของกระดูกยังเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญ ทำให้นักกีฬาอาชีพในทุกประเภทส่วนใหญ่แล้วจะมีร่างกาย Mesomorph แทบทั้งสิ้น

ในวงการฟุตบอลอาชีพมีการสำรวจและพบว่า นักฟุตบอลส่วนใหญ่จะมีหุ่นประเภท Mesomorph เป็นส่วนมาก เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ ScienceDirect ที่พบว่าผู้เล่นรุ่นเยาว์ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างแบบ Mesomorph ทั้งในกลุ่มที่เก่งจนเป็นผู้เล่นตัวจริงและกลุ่มที่เป็นผู้เล่นสำรอง รวมไปถึงงานวิจัยที่ตีพิม์ใน PubMed ระบุว่า นักฟุตบอลส่วนใหญ่ยกเว้นผู้รักษาประตูจะมีลักษณะร่างแบบ Mesomorph และ Endomorph 

สำหรับนักบอลที่มีหุ่นแบบ Mesomorph ที่เป็นที่รู้จักทั่วไปคงหนีไม่พ้น คริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) นักบอลผู้มีมัดกล้ามเนื้อสมส่วน แข็งแรง และสวยงาม เจ้าของสถิติโลกมากมาย ผู้มีความโดดเด่นทั้งในด้านทักษะและพละกำลัง ซึ่งในอย่างหลังเขาได้โชว์ความโดดเด่นทั้งในแง่ของความเร็ว หรือแม้กระทั่งพลังในการกระโดด

แต่ปัจจุบันแฟนบอลต่างเห็นจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นักฟุตบอลชั้นนำของโลกต่างก็มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปทั้งสูงยาวเก้งก้าง อวบอั๋นล่ำบึ้ก ไปจนถึงตัวเล็กผอมบาง จึงทำให้ข้อมูลที่งานวิจัยระบุมานั้น ถูกตั้งคำถามต่อไปอีกว่า แล้วนักฟุตบอลที่มีรูปร่างต่างไปเหล่านี้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากร่างกายในการพัฒนาให้ตัวเองกลายเป็นนักฟุตบอลชั้นนำของโลกเลยหรือไม่

 

ถ้านักบอลส่วนใหญ่ร่างกายเป็นแบบนั้นจริง แล้วทำไม ปีเตอร์ เคราช์ ที่รูปร่างผอมบางถึงเป็นนักกีฬาฟุตบอลดีกรีทีมชาติอังกฤษ

หนึ่งในผู้เล่นที่ยิงประตูในพรีเมียร์ลีกได้มากเกินกว่า 100 ประตู โดยครองสถิติเป็นผู้เล่นที่ทำประตูจากการโหม่งได้มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เพียงเท่านี้ก็คงการันตีถึงความสามารถของ ปีเตอร์ เคราช์ (Peter Crouch) นักฟุตบอลร่างโย่งทีมชาติอังกฤษได้อย่างไม่มีข้อสงสัย 

หากจะมีก็เพียงแค่คำถามเดียว คือ ด้วยความสูง 201 เซนติเมตร แถมยังมีรูปร่างที่ผอมบางดูเก้งก้างในการเคลื่อนไหว เหตุใดเขาถึงเป็นนักฟุตบอลที่ดีและเก่งได้ไม่แพ้นักฟุตบอลรูปร่างสมส่วนแบบ Mesomorph แม้แต่น้อย 

“เรื่องของการออกกำลังเสริมสร้างร่างกายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก หากผมต้องการเอาชนะกองหลัง” ปีเตอร์ เคราช์ เล่าถึงการออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อและทักษะที่ต้องทำเป็นประจำในการซ้อม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีการออกกำลังกายของเขานั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างกล้ามเนื้อเท่าไหร่นัก 

เคราช์เล่าว่า สิ่งที่เขาฝึกฝนเป็นพิเศษคือการวิ่งและความคล่องตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเกมฟุตบอล ระยะเพียง 5 หลา (4.57 เมตร) สามารถชี้ขาดได้ว่าจะเอาชนะกองหลังได้หรือไม่ เขาจึงเน้นการฝึกฝนในเรื่องของความเร็วและการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะ

ส่วนการเพิ่มน้ำหนักก็เป็นสิ่งที่เขาพยายามทำมาตั้งแต่อายุ 16 แต่แฟนบอลก็จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาการเล่นฟุตบอลอาชีพ รูปร่างของเคราช์ไม่ได้ดูหนาขึ้นแม้แต่น้อย “ผมไม่ได้สนใจเรื่องสร้างกล้ามเนื้อเท่าที่ควร จำได้ว่าสมัยสังกัดสโมสรลิเวอร์พูล ผมบาดเจ็บเอ็นร้อยหวาเพราะ ราฟาเอล เบนิเตซ (Rafael Benítez) สั่งให้ผมสควอชพร้อมกับลูกเหล็กน้ำหนัก 100 กิโลกรัม” เคราช์กล่าว

หากวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์การฝึกซ้อมที่เคราช์คาดหวัง เรื่องของ ความคล่องตัว (Agility) ความเร็ว (Sprinting) และทักษะที่เหมาะกับกองหน้าอย่างเช่นการยิงและกระโดดโหม่ง (Shooting and jumping) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่ ปีเตอร์ เคราช์ ใช้ในการแข่งขันจริง จึงไม่ใช่เรื่องของรูปร่างที่สมส่วน หรือความแข็งแกร่งของมัดกล้ามเนื้อแม้แต่น้อย 

 

แล้วในกรณีของ อาดามา ตราโอเร ที่มีรูปร่างสวมส่วน กล้ามเป็นมัดๆ ถือว่าเขาได้เปรียบกว่านักฟุตบอลคนอื่นหรือไม่

อีกหนึ่งกรณีที่น่าคิดต่อคือนอกจากรูปร่างผอมบางของปีเตอร์ เคราช์แล้ว รูปร่างที่อัดแน่นไปด้วยมัดกล้ามเนื้อและพร้อมใช้งานสำหรับการเล่นกีฬานั้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเล่นฟุตบอลหรือไม่

อดามา ตราโอเร (Adama Traoré) กองหน้าร่างยักษ์จากสโมสรวูล์ฟแฮมป์ตัน คือนักฟุตบอลที่น่าศึกษาในกรณีดังกล่าว เพราะด้วยน้ำหนัก ส่วนสูงที่กำลังดี รวมไปถึงมัดกล้ามเนื้อที่พร้อมปะทะกับทุกคน จนเคยถูกทีมใน NFL ทาบทามไปเล่นอเมริกันฟุตบอลมาแล้ว จึงน่าลองสนใจว่า หุ่นก้ามปู ตัวโต แบบเขาเหมาะสำหรับเล่นฟุตบอลหรือไม่

“เชื่อไหม ผมไม่เคยออกกำลังกายเพื่อหวังจะมีกล้ามเนื้อมากขนาดนี้เลย เวลาส่วนใหญ่ในโรงยิมของผมหมดไปกับการฝึกเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการถ่วงน้ำหนัก” ตราโอเร เล่าในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ เมื่อมีข้อสงสัยจำนวนมากเกี่ยวกับมัดกล้ามเนื้อของเขา         

คนที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้คือ ดาร์เรน แคมเบลล์ (Darren Campbell) โค้ชฝึกสอนของตราโอเร ที่อธิบายว่าแม้ร่างกายของเขาจะมีความใหญ่โตและน่ากลัวคล้ายรถถัง แต่นี่คือผลลัพธ์ที่ไม่ได้มาจากการฝึกความเร็วแบบเข้มข้นเท่านั้น โดยในการฝึกโปรแกรมดังกล่าวทำให้ตราโอเร สามารถวิ่งได้ความเร็วเฉลี่ย 22 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งหากเทียบกับความเร็วของยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) นักวิ่งชื่อดังซึ่งอยู่ที่ 27.8 ไมล์ต่อชั่วโมง นักกีฬากล้ามโตคนนี้ก็ทำได้ดีไม่ใช่น้อย 

สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมตราโอเร ถึงเลือกจะฝึกความคล่องตัวและความเร็ว แทนที่จะพัฒนาจุดเด่นของตัวเองอย่างกล้ามเนื้อให้ถึงขีดสุด ซึ่งในข้อสงสัยนี้ตราโอเรเคยอธิบายเอาไว้ได้อย่างกระจ่างว่า “ในการเล่นฟุตบอลผมจะไม่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเคลื่อนตัวไปกับลูกบอล ในบางจังหวะที่ต้องเลี้ยงหลบผู้เล่นไปพร้อมกับลูกบอล ผมจะสามารถใช้ความเร็วเพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ผมต้องพัฒนาความเร็วของตัวเองให้สูงเข้าไว้อยู่เสมอ” 

ตราโอเรยังกล่าวติดตลกอีกว่า กล้ามเนื้อที่ได้มาคงเป็นเพราะกรรมพันธ์ุมากกว่า แต่ตราบใดที่มันไม่ทำให้สมรรถภาพในการวิ่ง การเลี้ยงลูกบอล และการยืนระยะในสนามลดลง เขาก็ยินดีที่จะรักษากล้ามเนื้อต่อไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กล้ามเนื้อไม่ใช่สิ่งสำคัญในการฝึกซ้อมของ อดามา ตราโอเร สักเท่าไหร่ กลับกันเขาสนใจเรื่องของการความเร็ว ความคล่องตัว ไม่ต่างกับ ปีเตอร์ เคราช์ แม้แต่น้อย

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ทักษะดังกล่าวซึ่งต้องอาศัยความฟิตของกล้ามเนื้อหัวใจและปอดค่อนข้างสูง ถูกพูดถึงโดยสองนักกีฬาที่มีรูปร่างแตกต่างกันขนาดนี้ จึงทำให้เกิดอีกหนึ่งสมมติฐานของร่างกายนักฟุตบอลในฝันขึ้นมาว่า 

 

หรือว่าความฟิตของร่างกายการและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ คือคำตอบของร่างกายที่เหมาะสำหรับนักฟุตบอลมากที่สุด

มีงานวิจัยที่ชื่อว่า Aerobic endurance training improves soccer performance ซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ National Center for Biotechnology Information ที่ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า การบริหารร่างกายด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาไปที่ความฟิตของร่างกาย หรือแอโรบิก (aerobic) สามารถช่วยเพิ่มทักษะของนักกีฬาฟุตบอลได้จริง 

การทดลองได้แบ่งนักกีฬาอายุเฉลี่ย 20 ปี เป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มแรกใช้การฝึกสอนในรูปแบบปกติ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะฝึกโดยเน้นไปที่การฝึกแบบแอโรบิกแบบเฉพาะ และใช้โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ทำให้การเต้นของหัวใจแตะขึ้นสูงในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ ของร่างกายที่นักกีฬาจะรับไหว

ผลปรากฎว่าในกลุ่มที่ 2 มีระยะทางในการวิ่งรอบสนามเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนร่วมกับลูกฟุตบอลและเกมมากขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ และระยะทางรวมที่วิ่งไปในระหว่างเกมเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงมีอัตราการดูดออกซิเจนสูงสุด (VO2Max) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 1 ซึ่งฝึกซ้อมแบบปกติ

ผลลัพธ์ดังกล่าวหากเทียบกับอีกงานวิจัยหนึ่งของ BJM ที่ใช้ชื่อว่า Effects of dominant somatotype on aerobic capacity trainability ที่แสดงให้เห็นว่า รูปร่างแบบ Mesomorphs มีความสามารถในการพัฒนาทักษะด้านแอโรบิกโดยเฉพาะ เราจึงสามารถสรุปได้ว่าร่างกายที่เหมาะสมสำหรับนักกีฬาฟุตบอลคือรูปร่างแบบ Mesomorphs (แบบสมส่วน) เพราะสามารถเพิ่มความฟิตของร่างกายเพื่อเสริมสร้างความเร็วและความคล่องตัว ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในโลกฟุตบอลได้

          

สุดท้ายเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาร่างกายนักฟุตบอลอาจไม่ใช่เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของร่างกายอย่างอดามา ตราโอเร ที่ใช้กล้ามเนื้อสำหรับปะทะ หรือปีเตอร์ เคราช์ใช้ร่างสูงใหญ่พัฒนาลูกโหม่ง แต่เป็นการพัฒนาร่างกายเพื่อให้ร่างกาย ‘ฟิต’ จนสามารถมีส่วนร่วมกับฟุตบอลและเพื่อนร่วมทีมได้ดียิ่งขึ้น

เพราะสุดท้ายฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม ทักษะเฉพาะตัวและมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เป็นเพียงผลกำไรจากการฝึกพิเศษ แต่พื้นฐานสำคัญคือการเล่นฟุตบอลให้เข้ากับจังหวะความเร็วของทีมและแผนการเล่นของโค้ช ที่นักกีฬาทุกคนต้องเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา  

ที่มา:

https://www.soccersync.com/which-body-type-is-the-best-for-soccer-players/

https://www.goal.com/en-kw/news/adama-traore-diet-workout-fitness-secrets/nmzg26qmy7nj15rpv870tau3w 

https://www.coachmag.co.uk/exercises/sport-workouts/330/peter-crouchs-football-fitness-workout 

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-5135831/Peter-Crouch-secrets-longevity-Not-yoga-diet.html

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23940981/

https://bjsm.bmj.com/content/39/12/954 

 

Tags: , ,