ด้วยดีกรีปริญญาโทจากฮาร์วาร์ด ประสบการณ์การทำงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านการทหารโปรไฟล์ดีอย่างโคเฮน กรุ๊ปถึงสามปี ความสนใจและประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษาในมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และความเป็นบุตรชายคนโตของ ‘ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ (2492-2560) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ระหว่าง พ.ศ.2540-2544 และอดีตผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนระหว่าง พ.ศ. 2551-2556 ‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ นับเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สังคมไทยฝากความหวังและจับตามอง ทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าหากเขาลงสนามการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ เขาจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักและคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่เลือกสังกัดอย่างแน่นอน

แต่ความเป็นลูกชายของ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อีกนั่นเองที่ทำให้เขาไม่ผลีผลาม ฟูอาดี้เลือกเรียนและทำงานในแบบ Social Entrepreneur (ผู้ประกอบการเพื่อสังคม) ร่วมก่อตั้งบริษัท Beanspire Coffee เพื่อพัฒนาและส่งออกกาแฟไทยในฐานะกาแฟพิเศษ และการบายพาสส์เส้นทางการบ่มเพาะตนเองขึ้นไปทำงานกับชาวสวนกาแฟบนดอยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้และเห็นสังคมไทยในหลายแง่มุมซึ่งคงยากที่จะได้เห็นหากรีบคว้าโอกาสอื่นที่มีเข้ามา

ในคราวที่เขาเดินทางกลับมาเพื่อร่วมงานรำลึกครบรอบหนึ่งปีการจากไปของคุณพ่อ ซึ่งจัดขึ้นหลายเวที ทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ The Momentum มีโอกาสร่วมแสดงความเสียใจ และชวนสนทนาให้เขาสะท้อนสิ่งที่เห็นจากประสบการณ์การทำงานทั้งบนดอยและในต่างประเทศ โดยเริ่มจากเรื่องอัตลักษณ์ว่าด้วยชื่อ

คุณมีชื่อจริงและชื่อเล่นว่าอะไร

ชื่อจริงคือ ฟูอาดี้ บิน อับดุล ฮาลีม พิศสุวรรณ ชื่อเล่นชื่อดี้

คุณพ่อชื่อไทย แต่ทำไมคุณใช้ชื่อภาษาอาหรับ

พ่อมีชื่อภาษาอาหรับเหมือนกันครับ แต่ภาวะสังคมยุคนั้นต้องการรวมคนทุกหมู่เหล่าให้เป็นคนไทยเหมือนๆ กัน เหมือนกับที่คนเชื้อสายจีนต้องมีชื่อไทย นามสกุลไทย คนมุสลิมในยุคหนึ่งก็จะมีชื่อไทยทุกคน ชื่อภาษาอาหรับของพ่อคือ อับดุล ฮาลีม บิน อิสมาอิล (ลูกของอิสมาอิล) สำหรับชื่อไทยที่บ้านตั้งชื่อตาม ส.ส.ดังของจังหวัดนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น คือคุณสุรินทร์ มาศดิตถ์ พ่อของคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ (รัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้ง) พอมาถึงยุคผม พ่อคงคิดว่าสภาพสังคมเปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถแสดงอัตลักษณ์ของเราได้เต็มที่ จึงให้ใช้ชื่อมุสลิม ซึ่งเด็กรุ่นผมก็ใช้ชื่อมุสลิมกันเป็นส่วนใหญ่

คนรุ่นหนึ่งเวลาไปโรงเรียนมักโดนเพื่อนล้อว่าเป็นลูกเจ๊ก ลูกแขก พอบอกว่าชื่อฟูอาดี้ โดนเพื่อนล้อบ้างไหม

ไม่โดนครับ ไม่มีปัญหา ไม่รู้สึกเป็นปมด้อยอะไร แต่ไม่รู้ว่าน้องๆ รุ่นหลังเจออะไรไหม จากสภาพปัญหาภาคใต้ที่เป็นอยู่ การขึ้นมาของกลุ่มขวาจัด พุทธสุดโต่ง บางทีผมรู้สึกว่าสังคมไทยเรากลับมาหวาดระแวงกันเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ จนสงสัยเหมือนกันว่าการเป็นคนไทยในยุคนี้คือต้องเป็นพุทธและมีชาติพันธุ์แบบหนึ่งเท่านั้นหรือเปล่า

แล้วในแง่อัตลักษณ์ คุณมองตัวเองว่าเป็นใคร

ผมมีหมวกหลายใบ เป็นคนไทย เป็นมุสลิม โดยชาติพันธุ์ผมเป็นมาเลย์ คือเชื้อสายมลายู แต่ความเป็นไทยได้ถูกสร้างมาให้ครอบคลุมทุกอย่าง คือเราสัญชาติไทยเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงเชื้อชาติเรามีทั้งจีน อินเดีย มลายู และอื่นๆ อีกหลายอย่าง เราควรจะยอมรับกันได้แล้วเรามีความแตกต่างกันตรงนี้และก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ การพยายามสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อครอบทุกอย่างไว้ มันเป็นไปไม่ได้

การมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายก็ทำให้เราไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง อย่างตอนไปเรียนเมืองนอก ผมก็มีเพื่อนหลายกลุ่ม คนไทย คนเซาธ์อีสต์เอเชีย เพื่อนฝรั่ง เพื่อนมุสลิม เพื่อนที่เล่นฟุตบอล

ในแง่อุดมการณ์ล่ะ คุณมองตัวเองว่าเป็นประชาธิปัตย์หรือเปล่า

เรียกว่ามีความผูกพันมากกว่า อยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่เรียกว่าเป็นเลือดประชาธิปัตย์ เพราะหลายเรื่องผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเขา แต่คิดว่าประชาธิปัตย์เป็นสถาบันที่อยู่มานานและน่าจะมีการพัฒนาให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ถ้าพูดถึงอุดมการณ์ความคิดทางการเมือง ผมน่าจะตรงกับพวก ‘อนาคตใหม่’ มากกว่า คือถ้าถามว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างไรแล้วให้กระดาษเปล่ามาเขียน น่าจะออกมาคล้ายๆ กัน สิ่งที่ต่างกันคงเป็นเรื่องวิธีการและความเป็นไปได้ ในกระดาษของผมคงจะมีลายเส้น ตัวละคร สีสัน อยู่เยอะกว่า และไตร่ตรองถี่ถ้วนกว่าว่าจะเอาอะไรออกไปหรือใส่อะไรเข้าไป

ทราบว่าคุณกำลังทำงานวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่องอัตลักษณ์กับความสัมพันธ์ทางการทหาร สองเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

เปเปอร์นี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางการทหาร ต้องการวิเคราะห์ว่าอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศมีผลอย่างไรต่อการเซ็นสนธิสัญญาทางการทหาร โดยอัตลักษณ์ที่ผมสนใจคือภาษา ถ้าเป็นกลุ่มประเทศที่พูดภาษาเดียวกันจะเซ็นสัญญาพันธมิตรทางการทหารออกมาในลักษณะที่ไม่มีความซับซ้อนนัก แต่ถ้าพูดคนละภาษากัน สนธิสัญญานั้นจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ตรรกะก็คือถ้าเรายืมเงินพ่ออาจไม่ต้องเซ็นสัญญาอะไรเลย แต่ถ้ายืมเงินแบงก์ต้องมีเอกสารเยอะมาก เพราะเราไม่มีความเชื่อใจกัน ไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน การมีอัตลักษณ์ร่วมกันทำให้เราเข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไร เขามองโลกอย่างไร ทำให้ไม่จำเป็นต้องเซ็นสัญญาที่มีความซับซ้อนมาก เพราะสัญญาที่มีความซับซ้อนมากก็จะมีราคามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามมา

ทำไมคุณถึงสนใจด้านการทหาร

ผมเรียนมาทางด้านนี้ตั้งแต่ต้น ตอนที่ทำงานและตอนเรียนปริญญาโทผมรู้และสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ราคาเท่าไร งบฯ เท่านี้มีตัวเลือกอะไรบ้าง ตอนนี้ถอยห่างออกมา แต่ในแง่ความมั่นคงระหว่างประเทศ การทหาร เป็นความสนใจของผมมานานแล้ว

ความสัมพันธ์ทางการทหารสำคัญอะไรกับชีวิตเรา

การที่เรามานั่งกินกาแฟชิลล์ๆ กันอยู่ได้นี่ (ชี้ไปที่แก้วกาแฟตรงหน้า) การมีความมั่นคงของประเทศที่ดี มีความสัมพันธ์ทางการทหารที่ดี โดยไม่ต้องกลัวว่ากัมพูชา พม่า หรือจีนจะมาโจมตีเรานั้น ถือเป็น luxury มากนะครับ เราอาจจะมองไม่เห็น แต่การมีกองทัพที่แข็งแกร่งในระดับหนึ่งก็ถือเป็นกลไกป้องปราม (deterrence) ให้ประเทศที่คิดจะมายึดเราหรือข่มขู่เราต้องคิดหนักนิดหนึ่ง อย่างสิงคโปร์เขามีความระแวงตลอดเวลาว่าประเทศอื่นจะมาทำอะไรเขา ก็ถือเป็นปมด้อย การที่เราไม่รู้สึกแบบนั้นค่อนข้างเป็นด้านบวกของประเทศเรา

ขณะเดียวกันเราก็ต้องมองในระยะยาวด้วย การที่จีนและอเมริกากำลังต่อสู้ทางการค้าและทางการทหารกัน เราต้องคิดหนักว่าจะวางตัวอย่างไร ลงทุนในอาวุธยุทโธปกรณ์แบบไหนถึงจะคุ้มค่ามากที่สุด แล้วสิ่งที่คุกคามเราอยู่ในปัจจุบันก็เปลื่ยนไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่อเมริกา จีน หรือประเทศมหาอำนาจเท่านั้น มันอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและภัยพิบัติ เพราะภัยพิบัติก็เป็นภัยทางความมั่นคงที่สำคัญ ประเทศไทยน่าจะคิดและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ทหารในอนาคตน่าจะต้องทำเรื่องนี้มากขึ้น

อย่างที่เราก็เห็นกันมา ทหารไทยมีประโยชน์มากตอนน้ำท่วม ทำให้ผมคิดว่าทหารควรโฟกัสในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เวลาจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็น่าจะคิดถึงเรื่องนี้ บางทีพวกเครื่องบินรบอาจไม่จำเป็นเท่าเฮลิคอปเตอร์ น่าจะซื้อเฮลิคอปเตอร์มากกว่า เพื่อจะไปโฟกัสสิ่งที่ประเทศชาติจำเป็นต้องใช้ เรือดำน้ำอาจมีแค่เอาไว้เป็นตัวป้องปราม แต่ไม่ต้องไปลงทุนกับมันเยอะ

ทหารไทยมีประโยชน์มากตอนน้ำท่วม ทำให้ผมคิดว่าทหารควรโฟกัสในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เวลาจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็น่าจะคิดถึงเรื่องนี้ บางทีพวกเครื่องบินรบอาจไม่จำเป็นเท่าเฮลิคอปเตอร์ น่าจะซื้อเฮลิคอปเตอร์มากกว่า เพื่อจะไปโฟกัสสิ่งที่ประเทศชาติจำเป็นต้องใช้

 

พอแค่เป็นยันต์

ใช่ครับ เหมือนเป็นไม้กันหมา แล้วไปโฟกัสอย่างอื่น ในอนาคตอาจมีเรื่องว่าอาเซียนจะใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างไร มีอะไรที่ใช้ร่วมกันได้ อาเซียนควรมีกองทหารที่เป็นพันธมิตรร่วมกันไหม ในอนาคตเราอาจโดนบังคับให้เลือกข้าง ถ้าไม่อยากโดนบังคับเราอาจต้องมีกองทัพที่แข็งแกร่งพอ วิธีการหนึ่งที่ทำได้ก็คือการแชร์กองทัพกัน

เหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณเรียนและสนใจมาโดยตลอด แล้วทำไมถึงหันมาสนใจกาแฟและเป็นนักพัฒนากาแฟ

ผมถูกฝึกมาในสายวิชาการก็จริง แต่ในแง่ประสบการณ์ผมเป็นคนต่างจังหวัด โตที่กรุงเทพฯ ไปเรียนเมืองนอก การได้เห็นได้สัมผัสอะไรที่หลากหลายอย่างนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้าจะให้เป็นนักวิชาการแล้วอยู่ในหอคอยงาช้างอย่างเดียว ผมคงอยู่ไม่ได้ ไดร์ฟแรกที่ขึ้นดอยไปทำเรื่องกาแฟเพราะชอบกาแฟและอยากรู้ว่าทำไมเราไม่เห็นกาแฟไทยในต่างประเทศซะที ตามร้านกาแฟที่ไปกินในช่วงที่เรียนและทำงานในหลายๆ ประเทศ ไม่เห็นมีกาแฟไทยบ้างเลย นั่นเป็นข้อสงสัยแรกที่ทำให้สนใจเรื่องกาแฟ และเข้าไปทำงานกับชาวสวนกาแฟ ทางใต้ผมก็ไปครับ ส่วนใหญ่เขาจะปลูกสายพันธุ์โรบัสตา ทางเหนือเป็นอาราบิกา ไปทำทั้งสองที่ แต่อาราบิกาจะส่งออกง่ายกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่า รสชาติตรงกับจริตฝรั่งมากกว่า

แล้วคุณทำงานกับชาวสวนกาแฟในฐานะอะไร

นักพัฒนากาแฟ ผู้ส่งออกกาแฟ เรามีโรงสี รับซื้อกาแฟจากชาวบ้านเป็นกะลาแล้วมาสี คัดเกรดแล้วส่งออกเป็นกรีนบีน ขั้นตอนการโพรเซสส์ยังเป็นของชาวบ้าน โดยผมจะทำงานด้านทฤษฎีมากกว่า เพราะผมยังเป็นนักเรียนทำให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายกว่า ล็อกอินเข้าไปดูเปเปอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับกาแฟ แล้วเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสื่อสารกับชาวบ้านว่าเขาน่าจะทำแบบนี้ รวมถึงคุยกับเพื่อนๆ ที่ทำโรงคั่ว นักซื้อที่ตัดสินใจอยู่ว่าจะซื้อกาแฟแบบไหน

เป้าหมายการพัฒนากาแฟในตอนนี้คืออะไร ยกระดับกาแฟไทยให้ขึ้นมาเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) มากขึ้น อย่างนั้นหรือเปล่า

ตอนนี้มันเป็นกาแฟพิเศษแล้วครับ หาไม่ยากเลย ในช่วงสามปีมานี้กาแฟไทยเราพัฒนาไปเร็วมาก ปีก่อนผมยังไม่พูดแบบนี้ แต่ปีนี้ผมเห็นว่าปัญหาคือพอเราเริ่มส่งออกกาแฟดีๆ ทำได้ดีแล้ว ตลาดก็เริ่มคาดหมายว่าเราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก ทำให้ขายกาแฟที่คุณภาพต่ำกว่านั้นยากขึ้น คือเมื่อก่อนจากคะแนนเต็ม 100 เราทำได้ 83-85 ก็ขายได้แล้ว แต่พอเราเริ่มทำ 86-87 ได้ แล้วส่งไปเมืองนอก เขารู้ว่าเราทำได้แล้วก็ไม่ค่อยอยากซื้อ 83-85 อีก จะรอซื้อแต่ 87 อย่างเดียว ก่อนหน้านี้เขาไม่มีตัวเลือกอื่นและอยากใช้กาแฟไทยเขาก็ยอมรับ แต่พอรู้ว่าเราทำได้ เขาก็รอ ไม่ยอมซื้อตัวอื่น นั่นเป็นปัญหาของปีนี้ที่ผมเจอ ซึ่งตลาดเองควรเข้าใจเราบ้างว่า ถ้าคุณไม่ช่วยซื้อกาแฟเกรดต่ำกว่านี้ เราก็ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะเราต้องขายทุกอย่าง โดยเฉพาะคนต้นน้ำเขาต้องขายทุกอย่าง

ตลาดควรเข้าใจบ้างว่า ถ้าคุณไม่ช่วยซื้อกาแฟเกรดต่ำกว่านี้ เราก็ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะเราต้องขายทุกอย่าง โดยเฉพาะคนต้นน้ำเขาต้องขายทุกอย่าง

กาแฟของคุณส่งออกไปขายต่างประเทศในชื่ออะไร

ใช้ชื่อดอย ชื่อหมู่บ้านเลยครับ ถ้าสามารถรู้แหล่งที่มาก็จะใช้ชื่อชาวสวนไปเลย ตลาดต่างประเทศจะชอบมากถ้าเราใช้ชื่อชาวสวน แต่ตลาดเมืองไทยค่อนข้างซับซ้อน ถ้าเราเปิดเผยแหล่งที่มามากเกินไป อาจมีการปาดหน้าเค้ก ก็ต้องเลือกว่าจะแสดงชื่อใครแค่ไหน แสดงตอนไหน การตั้งชื่อจะเป็นชาวสวน เป็นหมู่บ้าน อำเภอ หรืออะไร จะใช้ชื่อโรงสีเราที่อำเภอนั้นๆ ใช้ชื่อสถานที่ตาก หรือใช้ชื่อแหล่งที่มาของเชอร์รี่ว่ามาจากชาวสวนคนนี้ ต้องคิดดีๆ แต่ประเทศอื่นจะไม่มีปัญหานี้เพราะตลาดบ้านเขายังไม่แข็งแกร่งเหมือนบ้านเรา บ้านเรามีร้านกาแฟและโรงคั่วเต็มไปหมด ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดได้เพราะเราเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (upper middle income country) คนสามารถจ่ายค่ากาแฟแก้วละ 80-100 บาท หรือแพงกว่านั้นได้แล้ว

นอกเหนือจากเรื่องกาแฟ การขึ้นดอยไปทำงานกับชาวสวนทำให้คุณเห็นอะไรอีกบ้าง

เยอะมากครับ เราอยู่เมืองหลวง ไปเรียนไปทำงานเมืองนอก บางทีเราก็มโนภาพไปว่าคนต่างจังหวัด ชาวไร่ชาวสวน เขาคิดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วเขาก็เหมือนเราทุกอย่าง บางทีบริษัทใหญ่ๆ ในบ้านเราไปพูดเรื่องความยั่งยืน บอกให้ชาวบ้านทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่เข้าใจว่าชาวไร่ชาวสวนก็เป็นผู้ต้องการกำไรสูงสุด (profit maximizing agent) เหมือนคนกรุงนั่นแหละ

ถ้าจะพูดเรื่องความยั่งยืน ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณพร้อมหรือเปล่าที่จะให้ราคาชาวสวนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้กำไรของคุณลดน้อยลง พอไปอยู่ตรงนั้นแล้ว ทำให้ผมเห็นความอยากได้ของตลาด ความอยากได้ของคนกรุงที่มักจะไปลดคุณค่าลดสิทธิของคนที่เขาอยู่ต้นน้ำจริงๆ อย่างเช่นเรื่องกาแฟออร์แกนิก ผมไม่เห็นด้วยเลยเพราะถ้าการใส่ปุ๋ยของเขาโอเคอยู่แล้ว ไม่ได้มากจนทำลายป่า มีการผสมผสานกับปุ๋ยอินทรีย์บ้าง ถ้าต้องเปลี่ยนไปเป็นอินทรีย์อย่างเดียว คิดว่าผลผลิตลดลงแน่นอน และถ้าลดลง 50% แล้วคนที่รอซื้อไม่ให้ราคาดับเบิ้ล ชาวบ้านเสียประโยชน์แน่นอน หนำซ้ำกว่าจะได้ใบรับรองว่าเป็นกาแฟออร์แกนิกเขาต้องรอสามปี คนที่ไปบอกให้ทำจะรอหรือเปล่า จะกลับมาซื้อในราคาดับเบิ้ลหรือเปล่า อันนี้เป็นปัญหามาก

ท้ายที่สุดแล้วเราต้องถามด้วยว่าชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าทำกาแฟออร์แกนิกแล้วรายได้ลดลง มันไม่ใช่แค่นั้น แต่คำถามคือเขามีเงินพอที่จะส่งลูกเรียนหนังสือจนจบปริญญาได้หรือเปล่า ผมว่านั่นคือเรื่องพื้นฐานสุดเลย ตลาดต้องช่วยให้ลูกของคนที่อยู่ต้นน้ำมีโอกาสพอจนเขาเลือกได้เองว่าจะกลับมาทำสวนต่อหรือไม่ อย่างน้อยมันต้องไปถึงตรงนั้น ซึ่งตอนนี้เรายังดิ้นรนไปให้ถึงตรงนั้นอยู่ เวลาจะพูดเรื่องความยั่งยืน เรื่องกาแฟออร์แกนิก บริษัทใหญ่ๆ ต้องคิดให้เยอะนะครับ เพราะถ้ารายได้เขาลดลง ผลลัพธ์ไม่ได้อยู่กับคนที่ซื้อกาแฟหรือคนกินกาแฟ แต่มันอยู่กับคนต้นน้ำ

บางทีบริษัทใหญ่ๆ ในบ้านเราไปพูดเรื่องความยั่งยืน บอกให้ชาวบ้านทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่เข้าใจว่าชาวไร่ชาวสวนก็เป็นผู้ต้องการกำไรสูงสุดเหมือนคนกรุงนั่นแหละ

ถ้าเทียบชาวสวนกาแฟไทยกับในประเทศอื่นๆ ล่ะ คุณภาพชีวิตและรายได้เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

ชาวสวนไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเราเป็นประเทศกึ่งพัฒนา ขณะที่ประเทศผู้ปลูกกาแฟส่วนใหญ่เป็นประเทศจนๆ ทั้งนั้น ราคากาแฟบ้านเราโดยรวมค่อนข้างดี แต่ก็สามารถขยับให้ดีกว่านี้ได้อีก

อีกเรื่องที่ต่างคืออายุชาวสวนเราค่อนข้างต่ำกว่าที่อื่น อย่างในโคลัมเบีย เอธิโอเปีย กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เคนยา ชาวสวนส่วนใหญ่จะแก่กว่าบ้านเรา บ้านเราเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างแปลก เพราะชาวสวนปลูกกาแฟมีรายได้ค่อนข้างดี ดึงดูดคนหนุ่มสาวให้กลับไปทำสวนกันเยอะ เฉพาะกาแฟนะครับ ถือว่าเป็นเรื่องแปลกในตลาดโลก ใช้เป็นจุดขายได้ แต่ที่เป็นแบบนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะบ้านเรามีกำแพงภาษีค่อนข้างสูง การนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศจึงทำได้ยาก ทำให้ทุกคนต้องแย่งกันซื้อกาแฟไทย ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือทำให้กาแฟราคาค่อนข้างสูง ชาวบ้านอยู่ได้ คนหนุ่มคนสาวกลับไปทำสวน แต่ผลเสียคือโรงคั่วและร้านกาแฟมีตัวเลือกน้อยลง บนดอยเองมีการแข่งขันน้อยทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนา เพราะยังไงเสียก็มีที่ไป

ประเทศที่ปลูกกาแฟชื่อดังของโลกไม่ว่าเอธิโอเปีย โคลัมเบีย เคนยา ส่วนมากก็ยังยากจน มันมีการเมืองเรื่องกาแฟไหม ทั้งที่กาแฟจากประเทศเหล่านี้ราคาแพงและแพงมานานแล้ว แต่คนปลูกก็ยังจนอยู่ดี

ผมว่ามันเป็นปัญหาของทุนนิยม อย่างกรณีเอธิโอเปีย ประเทศเขาเองก็มีปัญหาด้วย ทั้งเรื่องคอร์รัปชันและประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล แต่อย่างไรเสีย ตัวการหลักก็คือปัญหาของทุนนิยม ที่ผมบอกว่าชาวสวนกาแฟไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าประเทศอื่น อันนี้จริง แต่ถามว่ามันดีกว่านี้ได้ไหม ได้แน่นอน และถ้าเทียบกับคนกินที่อยู่ในกรุงเทพฯ สภาพชีวิตความเป็นอยู่เราดีกว่าคนปลูกแน่นอน ผมถึงบอกว่ายิ่งผมทำกาแฟ ทำงานใช้ชีวิตบนดอยมากๆ อุดมการณ์ความคิดผมก็ยิ่งเขยิบไปทางซ้ายมากขึ้น

โลกทุนนิยมเป็นโลกที่โหดร้ายสำหรับคนที่อยู่ต้นน้ำ ตอนนี้ผมมองความมั่งคั่ง (wealth) เป็น zero-sum ถ้าบริษัทที่เป็นคนซื้อทำกำไรมาก เงินก็จะถูกดึงไปจากคนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจโลกเองผมก็เห็นแบบนี้ เพราะประเทศผู้บริโภคอย่างอังกฤษ อเมริกา ยุโรป ก็ทำกำไรจากเคนยา เอธิโอเปีย จากชาวสวนจนๆ ในนิการากัว ผมเห็นระบบทุนนิยมเป็นแบบนั้นจึงยิ่งเชื่อในระบบรัฐสวัสดิการ ในที่สุดแล้วมันควรเป็นอย่างนั้น เราต้องเก็บภาษีคนที่รวย เราต้องเดินหน้าไปสู่การพัฒนาแบบเติบโตไปด้วยกัน (inclusive growth)

ปัญหาของเราตอนนี้คือ รายได้ของคนจนเพิ่มขึ้นจริง แต่คนที่รวยอยู่แล้วรวยเพิ่มขึ้นเร็วมาก อัตราเร่งมันต่างกันมาก และถ้าเราไม่สามารถลดช่องว่างตรงนี้ได้ จะมีปัญหาแน่นอน และอาจนำไปสู่การปฏิวัติจลาจล การปฏิวัติในรัสเซียรวมถึงลาตินอเมริกาเกิดขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้

ประเทศผู้บริโภคอย่างอังกฤษ อเมริกา ยุโรป ก็ทำกำไรจากเคนยา เอธิโอเปีย จากชาวสวนจนๆ ในนิการากัว ผมเห็นระบบทุนนิยมเป็นแบบนั้นจึงยิ่งเชื่อในระบบรัฐสวัสดิการ ในที่สุดแล้วมันควรเป็นอย่างนั้น เราต้องเก็บภาษีคนที่รวย เราต้องเดินหน้าไปสู่การพัฒนาแบบเติบโตไปด้วยกัน

นโยบายประชานิยมกับรัฐสวัสดิการที่คุณว่า ดูเผินๆ คล้ายกันไหม

ผมว่าที่มาของกองทุน (fund) มันต่างกัน ประชานิยมที่เคยเกิดขึ้นมาในบ้านเรานั้นที่มาและการใช้เงินมันเฉพาะกิจมากๆ เหมือนทำขึ้นมาเพื่อให้ใช้เร็วเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าไปหน่อย แต่รัฐสวัสดิการต้องมองเชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องระยะยาว และเรื่องภาษีสำคัญมาก ประชานิยมที่ผ่านมาเหมือนการอัดฉีด จะทำบ้างก็ได้ แต่ที่มาของเงินต้องชัดเจน ไม่ใช่ทำให้ประเทศชาติล้มละลายกลายเป็นมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่คิดสั้นๆ เฉพาะหน้าไว้หาเสียงเลือกตั้ง อย่างรัฐบาลนี้เหมือนต่อต้านประชานิยมกันมาก แต่ก็กลับมาทำเสียเอง อย่างตอนนี้อัดฉีดกันใหญ่โดยเฉพาะระดับรากหญ้า

คุณคิดว่าประเทศใดคือโมเดลที่ดีของรัฐสวัสดิการ

ประเทศแถบสแกนดิเนเวียซึ่งเก็บภาษีสูงมาก แต่คนที่มาเป็นผู้ออกกฎหมายเหล่านี้ก็มักมีผลประโยชน์กับบริษัทใหญ่ๆ คนรวยๆ อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องยากสำหรับบ้านเรา ต้องใช้เวลาและพลังในการเรียกร้อง อาจต้องค่อยเป็นค่อยไป หรือไม่แน่ว่าอาจต้องเกิดความโกลาหลใหญ่ๆ สักครั้ง เพราะรัฐแบบนั้นเกิดจากสัญญาประชาคม (social contract) จากการเจรจาระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบน ถ้าไม่ถึงขั้นแตกหักกัน เขาอาจจะไม่ยอม

แต่เราก็ไม่เคยเห็นหรือได้ยินการเรียกร้องถึงขั้นแตกหักในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

มันเกิดขึ้นมานานแล้วครับ เขาผ่านจุดนั้นมาแล้วจนกระทั่งมีฉันทามติแบบนี้ เขาถึงสามารถเก็บภาษีกัน 40 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นได้ แต่เขาก็มีปัญหานะครับ ประเทศเหล่านี้กำลังมีปัญหาเรื่องอินโนเวชัน เพราะคนเก่งๆ ที่ทำเรื่องอินโนเวชันก็ย้ายไปอยู่ประเทศที่เก็บภาษีน้อยๆ แต่เมืองไทยผมว่าไม่มีทางออกอื่นนอกจากทางนั้น คนยิ่งรวยสมควรต้องจ่ายภาษีเยอะเพื่อมาอุดหนุนสวัสดิการต่างๆ จะทำได้มากแค่ไหนคือคำถาม

ที่ผ่านมา มีทฤษฎีการเมืองหนึ่งบอกว่าการเมืองไทยมีสภาพเป็นสองนคราทำให้เกิดความขัดแย้งอยู่เป็นระยะ เหตุเพราะคนชั้นกลางในเมืองกับชาวไร่ชาวนาในชนบทหรือที่เรามักเรียกว่าชนชั้นล่างเข้าใจประชาธิปไตยแตกต่างกัน คุณคิดว่าทุกวันนี้ขั้วความขัดแย้งยังเป็นสองนคราหรือไม่

ผมว่าทุกวันนี้ชนชั้นล่างไม่ได้เป็นชนชั้นล่างแบบเดิมอีกต่อไป ทุกคนเป็นชนชั้นกลางกันหมดแล้ว เพื่อนๆ ที่เป็นชาวสวนปลูกกาแฟบนดอย หลายคนก็จบปริญญาตรี เคยเป็นวิศวกร เคยทำงานอยู่ในเมือง แต่เลือกที่จะกลับบ้านไปทำกาแฟ เหมือนอย่างที่อาจารย์ดันแคน แม็คคาร์โก (Duncan McCargo) นิยามว่าเป็น ‘urbanized villagers’ เป็นชนชั้นกลางที่ซับซ้อนกว่าเดิม และเขารู้ว่าสิทธิเสียงของเขาทำอะไรได้บ้าง เขาเข้าใจ แต่จะใช้ไปทางไหน ใช้เลือกใคร อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง จะไปบอกว่าเขาไม่เข้าใจ อันนี้ผมว่าเป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ

ปัญหาความขัดแย้งทุกวันนี้ ผมคิดว่าเพราะเราไปทึกทักว่าเขาคิดอะไร คิดไม่เหมือนเรา ทั้งที่เขาเองก็หวังกำไรสูงสุดเหมือนกับเรา เขาก็อยากรวยเหมือนกัน แล้วเราไปบอกให้เขาใจเย็นๆ ทำออร์แกนิกนะ เพื่อฉัน ผมคิดว่าเราคิดผิด เราไปคิดว่าถ้าเข้าใจประชาธิปไตยแล้วต้องเลือกแบบนี้

แบบนี้คือแบบไหน

อย่างฝ่ายเสื้อเหลืองก็บอกว่าถ้าเข้าใจประชาธิปไตยแล้วจะไม่มีทางเลือกทักษิณ ซึ่งมันไม่ใช่ เราทึกทักเอาเองมากไป และชอบคิดว่าความเข้าใจประชาธิปไตยของชาวบ้านไม่ดีเท่าเรา เสื้อแดงเองก็บอกว่าเสื้อเหลืองไม่เข้าใจประชาธิปไตย ทั้งที่เราไม่น่าจะต้องมาเถียงกันเรื่องนี้แล้ว ทุกคนน่าจะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียง และคนอื่นก็มีเหมือนกัน และต่างคนก็อยากใช้สิทธินั้น

ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้น่าจะเป็นโอกาสให้เราเลิกเถียงกันและเดินออกไปใช้สิทธิใช้เสียงที่แต่ละคนมีอยู่

การเลือกตั้งครั้งนี้วัดอะไรไม่ได้ มันเป็นเพียงการเลือกตั้งว่าจะให้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) อยู่ต่อหรือไม่ ยอมรับการสืบทอดอำนาจต่อไปของ คสช.ไหม เท่านั้นเอง การเลือกตั้งครั้งนี้วัดยากมากว่าคนไทยต้องการประชาธิปไตยแบบไหน มันแทบจะเป็นการวัดว่าคนไทยยังเอาประชาธิปไตยอยู่หรือเปล่าด้วยซ้ำ

ทำไมคุณถึงมองแบบนั้น

เพราะมันโดนล็อกมาหมดแล้ว และพรรคการเมืองก็แตกจนมีไม่รู้กี่พรรค วัดอุดมการณ์อะไรไม่ได้เลย เราเหมือนต้องดูภาพรวมๆ แล้วโหวตเหมือนลงประชามติมากกว่า ว่าเรายอมรับรัฐบาล คสช.แค่ไหน ผมจึงไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร น่าจะต้องรออีกครั้งหนึ่ง และใครที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งนี้น่าจะคิดหนักว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือเปล่า และแก้ยังไง ซึ่งความจริงก็มองไม่เห็นทางว่าจะสามารถแก้ได้นอกจากฉีกทิ้งอย่างเดียว ถ้าพลเอกประยุทธ (จันทร์โอชา) กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เขาเองก็น่าจะเจอปัญหาเดียวกัน เพราะเขาเขียนเองและล็อกตัวเองไว้

คิดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้หรือ เพราะอะไร

(ส่ายหน้า) เพราะมันถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ไม่งั้นผิดกฎหมาย โห…มันโหดมากนะ มันล็อกทิศทางประเทศไว้หมดแล้ว ถ้า คสช.กลับเข้ามา เขาเองก็น่าจะเจอปัญหาเอง เพราะมันน่าจะมีปัญหาอะไรใหม่ๆ ที่เขาไม่ได้คาดคิดไว้ และถ้าเขาปรับแก้ยุทธศาสตร์ที่ตัวเองวางไว้ เขาก็ทำผิดกฎหมาย และถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ คสช.ขึ้นมา ก็คงไม่รู้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกันยังไง เพราะก็ผิดกฎหมายอีก เว้นจากเกิดอะไรสักอย่างขึ้นอย่างการยึดอำนาจซ้อน

คุณฟูอาดี้เองวางแผนว่าจะเข้ามาทำงานการเมืองไหม

ไม่ได้ปิดตัวเองนะครับ แต่คงไม่ใช่รอบนี้ เพราะตอนนี้อยากเรียนให้จบ ทำกาแฟไปเรื่อยๆ และอยากสร้างมูลนิธิให้คุณพ่อ เพื่อทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้านการศึกษา ความมั่นคงของมนุษย์ ด้านการทูตการต่างประเทศ สร้างไดอะล็อกเพื่อเชื่อมคนกลุ่มต่างๆ ไม่ให้ทะเลาะกัน เพื่อสานต่อสิ่งที่พ่อได้ทำมาให้คงอยู่ต่อไป อยากให้มีโมเดลเป็นกองทุนพัฒนา (Endowment Fund) แบบมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิไฮเนคกี้ หรือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งจะนำเงินตั้งต้นไปลงทุนเหมือนกับเฮดจ์ฟันด์ทั่วไป หวังผลกำไรเต็มที่ แล้วเอากำไรส่วนหนึ่งที่ได้มาใช้ทำประโยชน์สาธารณะโดยที่ไม่ไปแตะเงินต้น ซึ่งในระยะยาวเงินก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ

มีหลายพรรคมาชวนอยากให้ผมเล่นการเมือง และก็มีคนเตือนว่าถ้าไม่เข้าไปตอนนี้ จะไม่มีโอกาสแล้ว เพราะช่วงนี้จังหวะกำลังเปิดสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเรามีความสามารถจริงๆ ในอนาคตก็น่าจะมีโอกาส และผมอยากเป็นนักการเมืองอีกแบบหนึ่งมากกว่า ตอนนี้จึงอยากจะเข้าใจปัญหา อยากไปเจอคนเยอะๆ อยากไปอยู่ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ จนรู้สึกว่าเราพร้อมด้วยความรู้ความเข้าใจจึงค่อยเข้ามาเล่นการเมือง อีกด้านหนึ่งก็อยากสอนหนังสือด้วย

การไม่ผลีผลามตัดสินใจทั้งที่มีโอกาส มาจากประสบการณ์ของคุณหรือสิ่งที่คุณพ่อปลูกฝังมา

น่าจะหลายๆ เรื่องรวมกัน หนึ่งคือคุณพ่อเลี้ยงมาแบบนี้ ไม่เคยบังคับ แต่ให้คิดและตั้งคำถามตลอด สอง-น่าจะเป็นการถูกฝึกมาในสายวิชาการ ซึ่งเราต้องอ่านเยอะ ตั้งคำถามเยอะ ก็ทำให้เห็นจุดบกพร่องของฝ่ายต่างๆ เยอะ รวมทั้งจุดที่เราเห็นด้วยกับหลายๆ ฝ่าย ในแง่หนึ่งก็ทำให้จับต้นชนปลายได้ยากว่าเราเชื่อไปทางไหน เพราะมันเปลี่ยนตามข้อมูลใหม่ๆ พอสมควร ซึ่งนักวิชาการควรต้องเป็นแบบนั้น ต้องอัพเดทความเชื่อของตัวเองตลอด

อยากให้ขยายความคำว่า ‘นักการเมืองอีกแบบ’ ที่คุณพูดถึงหน่อยว่าคืออะไร

การทำงานการเมืองนั้นเข้าไปได้หลายแบบ เข้าไปเป็นเทคโนแครตคือมีความชำนาญพิเศษที่จะเข้าไปทำอะไรสักอย่าง อย่างผมถ้าเป็นทางด้านเทคนิคัลน่าจะเป็นด้านการต่างประเทศ การเกษตร หรือด้านการศึกษา สามเรื่องนี้น่าจะทำได้ดีเพราะมีประสบการณ์โดยตรง อันนั้นคือความสามารถเชิงเทคนิคัล แต่ความหมายของการเป็นนักการเมืองจริงๆ ผมว่ามันต้องเล็กกว่านั้นเยอะเลย มันต้องพอใจแค่ว่าคุณสามารถเป็นตัวแทนของคนที่เลือกคุณเข้าไปได้หรือเปล่า ถ้าหวังจะเป็นรัฐมนตรีเลยไม่น่าจะมีความสุขเท่าไร สมมติถ้าผมเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช ข้อแรกเลย ผมต้องเป็นตัวแทนความคิดของคนนครฯ ในรัฐสภาให้ได้ว่าเขาต้องการอะไร บางทีต้องคิดแทนเขาด้วยว่าอะไรจะให้ผลประโยชน์กับพวกเขาในระยะยาว

แต่ทุกวันนี้คนเล่นการเมืองหลายคนเข้าไปด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้องเท่าไร และรัฐมนตรีหลายคนก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่ตนไม่ได้มีความสามารถหรือเทรนมาทางด้านนั้น ยกตัวอย่างเช่นคนไม่ค่อยอยากเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหรอก เพราะกระทรวงไม่ค่อยมีเงิน งบประมาณก็น้อยมาก

คุณเคยคิดรับราชการไหม

คิดว่าผมมีอะไรให้ประเทศมากกว่านั้น ไม่ได้ดูถูกการเป็นข้าราชการนะครับ แต่ผมโดนเทรนมาอีกแบบหนึ่ง ผมไม่สามารถอยู่ในโครงสร้างแบบนั้นและไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ น่าจะทำงานในเรื่องที่คล้ายกันแต่ผลักดันมาจากข้างนอก และถ้าต้องเข้าไปอยู่ในโครงสร้างนั้น ผมทำอะไรอื่นไม่ได้เลยนะครับ ทำกาแฟไม่ได้ สอนหนังสือไม่ได้ ทำหลายๆ อย่างที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถและอยากจะทำไม่ได้หรอก เพราะมันมีเรื่องเวลา มีกรอบ ผมเองไม่ใช่คนที่จะทำอะไรอยู่ในกรอบได้ แล้วถ้าเป็นข้าราชการก็คงจะมาให้ความเห็นอะไรแบบนี้ไม่ได้ คงต้องเงียบพอสมควร ต้องขออนุญาตก่อนพูด (หัวเราะ) น่าจะอึดอัด

การเป็นลูกชายของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ บางทีรู้สึกเกร็งไหมกับความคาดหวังของคนรอบตัว ทำนองว่าอยากให้คุณเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

รู้สึกเกร็งพอสมควรครับ ความคาดหวังนี้มีตั้งแต่เด็กครับ เกิดมาก็มีแล้ว เพราะผมเป็นลูกชายคนโต พ่อก็เป็นลูกชายคนโต ผมโตมาท่ามกลางคำพูดคนรอบข้างที่ว่า “โตมาให้เก่งเหมือนคุณพ่อนะ” ผมเจออย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก น้องๆ ก็เจอแต่น้อยกว่าผม การที่เป็นลูกชายคนโตทำให้ผมแบกความคาดหวังไว้มากกว่า เรียกได้ว่ามีตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับประเทศ จนถึงระดับโลกก็มี แต่ก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้ผมตั้งใจทำในสิ่งต่างๆ ทั้งการเรียนและกิจกรรมอื่นๆ ไม่ละเลยโอกาสที่ตัวเองมี ก็ไม่รู้ว่าถ้าไม่มีความคาดหวังเหล่านี้ผมจะเป็นคนที่ตั้งใจเรียนอะไรขนาดนี้ไหม หรือจะเตะฟุตบอล หรือไปปลีกวิเวกอยู่ในไร่กาแฟบนดอยอย่างเดียว

แล้วเมื่อก่อนนี้ การวางแผนในชีวิตผมไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะไม่มีพ่อ หลายเรื่องที่ผ่านมาก็ได้อานิสงส์จากความเป็นลูกพ่อเยอะ อย่างตอนที่หาทุนร่วมกับคุณพ่อเพื่อสร้างโปรแกรมไทยคดีศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผมเป็นคนผลักดัน เดินเรื่อง ได้เจอนักธุรกิจจากประเทศไทยหลายท่านที่เขายินดีช่วย แต่ถ้าไม่มีคุณพ่อก็คงเกิดได้ยาก และการจะทำอะไรทำนองนี้ในอนาคตน่าจะยากกว่าเดิมหลายเท่า

อานิสงส์ที่ว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญคงเป็นเพราะคนไม่ได้จดจำ ดร. สุรินทร์แค่ในฐานะอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่เพราะได้ทำงานสาธารณะในระดับอาเซียนและนานาชาติไว้มาก

ใช่ครับ และการที่พ่อออกไปทำงานในต่างประเทศก็เพราะไม่อยากยุ่งกับการเมืองไทย เพราะมันไม่มีพื้นที่ให้คนแบบพ่อได้มีที่ยืน เขาจึงออกไปทำงานในระดับอาเซียน เขามีความสุขมากกว่า แต่เขาก็อยากกลับมาทำงานกับ กทม. และบอกว่าจะเป็นงานสุดท้ายของเขาแล้ว

แต่ตอนที่ ดร. สุรินทร์ประกาศตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เหมือนว่าหลายคนก็ไม่เห็นด้วย

ผมเองก็ไม่อยากให้เขาลงสมัคร แต่พ่อมองว่ามันก็เหมือนได้รันประเทศ ถ้าพ่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนสำคัญทุกคนที่มากรุงเทพฯ ต้องมาพบพ่อ ถ้าคนอื่นเป็นผู้ว่าฯ ใครมาก็อาจไม่จำเป็นต้องเจอ เขามองทะลุไปแบบนั้นแล้ว มองว่าขอทำตรงนี้ให้ดีและใช้พี้นที่ตรงนี้เป็นกระบอกเสียงให้ประเทศไทย แต่ตอนนั้นก็มีข่าวว่าจะต้องแข่งกับคุณชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) ผมถามว่าถ้าแพ้ล่ะจะทำยังไง พ่อบอกไม่แคร์ ขอให้ได้เป็นตัวเลือกให้กับประชาชน เขาอยากแข่งกับคุณชัชชาติด้วยซ้ำ เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่ดี ใครชนะก็ได้ เพื่อให้คนหันกลับมาเชื่อในระบอบประชาธิปไตย แต่เสียดายที่เราไม่ได้เห็นสิ่งนั้น และพ่อไม่มีโอกาสได้ทำอย่างที่ตั้งใจ

ประชาธิปไตยของไทยที่คุณอยากเห็น หน้าตาเป็นอย่างไร

ยากมากที่จะบอก แต่อย่างน้อยมันต้องมีการเลือกตั้ง อันนี้เป็นหลักการเบื้องต้นเลย แต่มันก็ต้องมีหลายๆ มิติ ต้องมีการคานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งบ้านเราไม่ได้มีมานานแล้ว หมายความว่าระบบ check and balance ของเราไม่ดีพอ พอมีการเลือกตั้ง ใครมีเสียงข้างมากก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จไป สุดโต่งไปอีกด้านหนึ่ง แต่ตอนนี้มันไม่มีอะไรเลย ขอให้มีการเลือกตั้งแล้วค่อยๆ ดูและปรับแก้กัน อย่าโผงผางมาก อันนั้นคือสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่ หลายเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบ การไปกระทุ้งและไม่แคร์คนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบนี้มากนัก มันอาจจะเป็นผลร้ายได้ เราต้องไม่ลืมความคิดความรู้สึกของคนเกือบครึ่งหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งของประเทศ เพราะการที่ คสช.อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็แสดงว่ามีคนที่ยอมอยู่กับระบอบแบบนี้มากพอสมควร แล้วการไปปฏิเสธคนตรงนี้ผมว่าเป็นเรื่องอันตราย

คำถามนี้เราคงต้องมาหาคำตอบร่วมกัน แต่ต้องมีหลักการพื้นฐาน อย่างน้อยต้องมีกลไกที่แม้ว่ารัฐบาลนั้นได้รับเลือกตั้งมา แต่เราก็สามารถเตะรัฐบาลนั้นออกได้โดยระบบที่มันมีอยู่ ปัญหาที่ผ่านมาคือ ระบบไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ มันก็เลยเละ แล้วตอนนี้มันยิ่งหนักข้อกว่าเก่า คือไม่มีช่องทางให้ตรวจสอบท้วงติงเลยด้วยซ้ำ เหมือนยิ่งแก้เรายิ่งเละ ผมถึงบอกว่า ผมไม่ตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่มันต้องมี เราต้องเดินหน้าต่อไปและไปแก้กันอีกทีว่าทำยังไง

จากการประท้วงที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสตอนนี้และเริ่มลุกลามไปยังประเทศอื่น มีอะไรที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเราได้บ้าง

ผมว่ากลุ่มผู้ประท้วงคาดหวังให้ (เอ็มมานูเอล) มาครงลาออก ยุบสภาฯ เลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่คนที่ประท้วงเองต้องรู้ว่าเมื่อไรจะถอย ปัญหาของบ้านเราที่ผ่านมาคือ เขายุบสภาฯ แล้ว แต่คนประท้วงไม่ถอยและไปต่อจนล้มกระดานล้มระบอบที่ประเทศใช้เป็นเสาหลักอยู่ นั่นคือข้อผิดพลาดของ กปปส. และชนชั้นกลาง

เราน่าจะเรียนรู้กันได้แล้วนะครับ รัฐประหารปี 2549 ประเทศไม่ได้มีอะไรดีขึ้น แล้วมารัฐประหารอีกครั้ง มีอะไรดีขึ้นไหม มันเห็นกันทนโท่อยู่ว่าปัญหายังอยู่และความขัดแย้งก็ยังอยู่ คำถามมันน่าจะเป็นว่าแล้วเราจะอยู่กันยังไง

Fact Box

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเต็มว่า ฟูอาดี้ บิน อับดุล ฮาลีม พิศสุวรรณ เป็นบุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์และนางอลิสา พิศสุวรรณ

เติบโตมาในรั้วสาธิตเกษตรฯ จนถึงชั้นมัธยมฯ 1 ก่อนย้ายไปเรียนที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีจนจบไฮสกูล จบปริญญาตรีสาขาการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดี.ซี. ทำงานที่ Cohen Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการทหารซึ่งก่อตั้งโดยนายวิลเลียม เอส. โคเฮน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลบิล คลินตัน เป็นเวลา 3 ปี แล้วกลับไปศึกษาระดับปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

นอกจากนี้ ฟูอาดี้ยังเป็นทีมรุ่นบุกเบิกของ Teach For Thailand องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายยุทธศาสตร์

Tags: , , , ,