ในช่วงที่ผ่านมา New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ น่าจะกลายเป็นคำที่ผ่านหูผ่านตาทุกคนมามากอีกคำหนึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ แต่ความเข้าใจกับความหมายของชีวิตวิถีใหม่ที่ว่านี้คืออะไร นอกจากการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Social Distancing) หรือการใส่หน้ากากอนามัยในทุกที่ที่ไปแล้ว ‘ชีวิตวิถีใหม่’ มีความหมายอย่างไร และมีแนวทางในการปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่ายๆ หรือไม่

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาทิศทางไทย: ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญครอบคลุมทุกมิติ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสุขภาพ มาร่วมเสวนาเปิดมุมมองแนวทางการพัฒนาประเทศไทยภายหลังโควิด-19 ที่ช่วยให้ทุกคนเข้าใจภาพรวมของการผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างมีสติ และเข้าใจชีวิตวิถีใหม่ในแบบของแต่ละคนไปพร้อมๆ กัน

การกลับมาให้ความสำคัญเรื่องอาหาร เกษตรกรรม และการพึ่งพาตนเอง

หลังการเสวนา เราได้เชิญ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาพูดคุยเกี่ยวกับมิติทางสังคมและชุมชน ซึ่ง อ.ยักษ์ กล่าวว่า ไทยติดอันดับ 1 ใน 6 ประเทศที่มีแหล่งอาหารสำรองของโลก เพราะมีต้นทุนด้านเกษตรกรรมที่ดีอยู่แล้ว ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แรงงานต้องกลับบ้านเกิดมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งสามารถก่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำคือการแก้ปัญหาภัยแล้ง การจัดสรรแหล่งน้ำเพื่อให้ทำมาหากินได้ การปรับตัวหลังจากเกิดโควิด-19 รัฐควรเดินหน้านโยบายเกษตรยั่งยืนอย่างจริงจัง ควรให้ความสำคัญเรื่องการฟื้นฟูที่ดินทำกิน และสร้างความรู้ ความเข้าใจ การพึ่งพาตนเองในมิติใหม่ๆ ที่อาจเพิ่มเข้ามาหลังสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้

โดย อ.ยักษ์ ได้แบ่ง 3 ขั้นตอนการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ไว้ดังนี้ 1. ปรับเปลี่ยนความเข้าใจแล้วค่อยๆ ปรับตัว 2. เริ่มพึ่งพาตนเองในมิติที่ทำได้ ไม่ต้องรีบร้อน และลดการพึ่งพาของรัฐ 3. ค่อยๆ แบ่งปันแก่ผู้อื่น ในขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงเรื่องการกลับมาให้ความสำคัญเรื่องอาหารและเกษตรกรรมนั้น บางคนอาจจะมองว่าเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนนอกเมืองหลวง หรือชนบท ที่มีพื้นที่ทำมาหากินถึงจะปรับตัวได้ แล้วกลุ่มคนที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอ ไม่มีที่ดินทำการเกษตร เช่นกลุ่มคนที่ทำงานในเมืองใหญ่จะมีวิธีเริ่มต้นการพึ่งพาตนเองได้อย่างไร?

ก่อนจะตอบคำถามข้างต้น อาจารย์ยักษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ หรือขนบที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ มีความคล้ายคลึงกับวิถีดั้งเดิมอยู่เช่นกัน หลายคนคงเคยได้ยิน “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ฮีต คือจารีต ประเพณี ความประพฤติ บรรพบุรุษเราในอดีตใช้พิธีกรรมทางการเกษตรเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น การลงแขก การออกปาก เอามื้อสามัคคี หรือซอแรง เราจะได้เห็นการแบ่งปัน และความสามัคคี จากกิจกรรมเหล่านั้น และนั่นคือชีวิตวิถีใหม่ที่เราพูดถึงกันในวันนี้ นอกเหนือจากการปรับตัวให้อยู่รอด เปิดรับ เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมแล้ว แก่นของมันก็คือการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองก่อนที่จะแบ่งกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมให้ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

ศักยภาพของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน แต่การร่วมมือและแบ่งปันศักยภาพของตน จะช่วยได้มากเช่นกัน จริงอยู่คนต่างจังหวัดอาจจะได้เปรียบคนในเมืองเรื่องพื้นที่ ที่อาจจะมีพื้นที่ทำกินมากกว่า แต่กลุ่มคนเมืองก็เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่ในข้อจำกัดที่ต่างกัน การรวมตัวกันหรือสร้างเครือข่ายจะช่วยให้เกิดประโยชน์มากกว่าการแยกทำของใครของมัน นี่ทำให้การแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปัน จึงเป็นเหมือนขั้นตอนที่เชื่อมโยงมากับการพึ่งพาตนเองเสมอ ยกตัวอย่างเช่นข่าวที่ปรากฏในสังคมเรื่อง ‘ข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล’ นี่คือตัวอย่างของการแบ่งปันสิ่งที่ตนเองมีอยู่ แต่นี่ก็เป็นเพียงสิ่งที่ภาคประชาชนหรือภาคเอกชนทำกันเอง หากสิ่งเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเข้ามาสนับสนุน สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเหมือนขนบใหม่ๆ ในเรื่องการแบ่งปันที่ถูกยกระดับจนกลายเป็นตัวอย่างที่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน

หากคนเมืองจะปรับตัวให้อยู่อย่างพอเพียง อ.ยักษ์ เชิญชวนให้ลองปลูกต้นไม้ที่กินได้แทนไม้ดอก ปลูกในพื้นที่ที่เรามีอยู่ หรือในวันหยุดควรออกไปเยี่ยมชม ศึกษา ทำความรู้จักกับแหล่งการเรียนรู้วิธีการทำเกษตร ไปรู้จักเกษตรกรคนต้นแบบที่ปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศ แล้วเราจะได้เปิดโลกใหม่ๆ โลกของความพอดีพอเพียง แต่ที่สำคัญคือความมีวินัยในการจับจ่ายใช้สอยอย่างรู้คุณค่าเงิน และการออมเงินคือเรื่องจำเป็นที่ต้องทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ส่วนคนที่ตัดสินใจหันหลังให้เมืองหลวง หิ้วกระเป๋ากลับบ้านเกิด อย่าเพิ่งท้อแท้ ที่ดินเพียงแค่สองงานสามารถปลูกอะไรได้ตั้งมากมาย ยิ่งคนสมัยนี้เก่งเทคโนโลยี ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้มือถือหาข้อมูลเก่ง หาตลาดเก่ง ลองลุยลองทำ ลองเปิดใจไปเรียนรู้จากคนที่ทำอยู่

สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือและแบ่งปัน

อีกเรื่องที่ อ.ยักษ์ อยากถ่ายทอดให้ฟังคือตัวอย่างเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจาก ‘โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อการป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟู ชุมชนในภาวะวิกฤต’ ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ (คกช.) ที่ได้ทำงานร่วมกับ สสส. มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนให้สามารถพึ่งตนเอง อนุรักษ์พันธุกรรมและความหลากหลายของพืชพรรณ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การสร้างคลังอาหาร และสร้างเครือข่ายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกับการสร้างผู้นำอาสาสมัครภาคประชาชนเพื่อป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต

โครงการฯ มุ่งเน้นการสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่มีศักยภาพพร้อมฝึกอบรมตามหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟู ชุมชนในภาวะวิกฤต (Crisis Management and Survival Camp:  CMS) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนา ‘คน’ กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการสร้าง ‘พื้นที่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม’ พร้อมทั้งมีวิทยากรที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และเป็นพื้นที่สะสมเสบียงอาหาร เป็นตัวอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมดุล เป็นสถานที่สำหรับการฝึกอบรมอาสาสมัครและยกระดับเป็นค่ายพักพิงยามเกิดภัยพิบัติ มุ่งเน้นการสร้าง ‘เครือข่าย’ ผู้นำอาสาสมัครให้เป็นกองกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนที่สามารถประสานภาคีความร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเข้าร่วมกันกำหนดแผนป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชน นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนในระดับประเทศ

การดำเนินงานของโครงการฯ ร่วมกับ สสส. ทำมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว โดยอยู่ภายใต้แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ด้านการจัดการภัยพิบัติ ของสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม หรือ สำนัก 10 ที่สนับสนุนการสร้างเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ นักวิชาการ ภาคประชาชน และเครือข่ายอาสาสมัคร/จิตอาสา ให้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างกระบวนการจัดการภัยพิบัติของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

พร้อมทั้งมีความรู้การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ การช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเฝ้าระวังภัยพิบัติ การช่วยเหลือตนเองและบุคคลใกล้ชิดเบื้องต้นอย่างมีสติในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีจุดเน้นเรื่องพัฒนากลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามประเภทภัยหลัก เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และส่งเสริมการให้ความรู้ที่เหมาะสมด้านภัยพิบัติกับสาธารณะ ความรู้การเตรียมพร้อมและการป้องกันภัยภาคปฏิบัติกับประชาชน

อ. ยักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องขอชื่นชมและให้กำลังใจ สสส. ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะน้ำท่วมหนักปี 2554 หรือในการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นว่าหากผู้นำชุมชนเข็มแข็ง มีความรู้ความสามารถในการประเมินสถานการณ์ สามารถนำพาคนในชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ก่อนการช่วยเหลือจากรัฐ ชุมชนนั้นก็จะไม่เดือดร้อนมากนัก อย่างเรื่องหน้ากากขาดแคลน ทางเครือข่ายก็ทำขึ้นมาเองเลย กระทั่งเป็นตัวอย่างให้หลายพื้นที่ลุกขึ้นมาทำบ้าง โดยผมเชื่อว่าหากทุกชุมชนในประเทศสามารถทำได้แบบนี้ ไม่ว่าจะอีกกี่วิกฤต เราก็จะผ่านมันไปได้

Tags: , , , , ,