สิ่งที่หลายคนกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ก็คือ หากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ยกระดับรุนแรงขึ้น จะเกิดอะไรตามมา การแพทย์และสาธารณสุขจะเพียงพอและรองรับได้ไหม แล้วประชาชนควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง

ในขณะที่โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อมูลอันล้นหลาม ทั้งจริงและไม่จริง ความคิดเห็นของทั้งผู้รู้และผู้ที่คาดเดา The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้ช่วยคณบดีสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ที่ทำงานโดยตรงและพร้อมตอบทุกคำถาม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการแพทย์และประชาชน

เพราะในขณะที่เราต้องวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาด สถานที่ไหนไม่ควรไป หน้ากากจะพอไหม เจลแอลกอฮอล์ขาดตลาดหรือเปล่า ฯลฯ เพื่อดูแลและปกป้องตนเองจากการติดเชื้อ สิ่งหนึ่งที่ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แนะนำสำหรับประชาชนทุกคนที่อาจจะหลงลืมและเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดนอกจากการรักษาสุขอนามัย ก็คือ การรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง

ก่อนหน้านี้มีข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ แต่ละการคาดการณ์มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

จริงๆ แล้วมันขึ้นกับหลายๆ ส่วนนะคะ ตัวเลขที่เขาคาดการณ์กันก็คือเอาจำนวนคน ถ้าคนหนึ่งคนติด แล้วอีกกี่คนจะติด แต่การที่จะติดมันก็ขึ้นกับส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น วิธีการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็ตื่นตัวกันอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปที่ชุมนุมชนและ การล้างมือ ฯลฯ จัดได้ว่าเราทุกคนเข้าใจมาตรการการป้องกันรักษาดูแลตัวเองกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการแพร่กระจายน่าจะไม่เยอะมากอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ในการป้องกันในระดับอื่นๆ เช่น สถานพยาบาล หรือสถานประกอบการ เราก็ตื่นตัวมากขึ้น มีการวัดอุณหภูมิ จัดประชุมน้อยลง หยุดงาน และทำงานที่บ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การติดเชื้อหรือจำนวนผู้ป่วยน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องดูต่อไปว่า มาตรการต่างๆ นี้จะช่วยชะลอตัวเลขของผู้ติดเชื้อได้ไหม

อีกอย่างก็คือโรคนี้จริงๆ แล้วถามว่าคนป่วยที่อาการไม่เยอะ หรือแทบจะไม่มีอาการนี้คือ 80% นะคะ เพราะฉะนั้นกลุ่มที่มีอาการหรือว่าอาการแย่จริงๆ แค่ 5% อีก 15% ก็คือกลางๆ เพราะฉะนั้น 80% ที่ป่วย สามารถรักษาตามอาการได้

คุณหมอมองว่า เราพร้อมที่จะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน หากสถานการณ์ยกระดับมากขึ้น

เราเตรียมการล่วงหน้าอยู่แล้วค่ะ หากพบการติดเชื้อมากขึ้นในวงกว้าง และรวดเร็ว และไม่อาจรู้เลยว่าติดจากไหน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมากขึ้น สิ่งที่เราเตรียมการไว้ในส่วนสถานที่ก็คือ เตรียมโรงพยาบาลอื่นๆ ที่นอกไปจากโรงเรียนแพทย์ รวมไปถึงโรงพยาบาลสนาม สำหรับรองรับผู้ป่วย แต่ก็ต้องอธิบายเช่นเดิมว่า ผู้ป่วยอาการทั่วไปมีประมาณ 80% อาการหนักจริงๆ 5% ดังนั้นในกรณีที่สถานพยาบาลไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจจะต้องพักรักษาตัวเองที่บ้าน

เราก็ต้องคิดแล้วว่าถ้ากรณีที่อาการไม่หนักอยู่ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ที่เขาพยายามช่วยรับในจุดนี้ได้ไหม ส่วนโรงเรียนแพทย์ก็จะรับเฉพาะรายที่อาการหนัก ที่ต้องการบุคลากรทางการแพทย์เป็นพิเศษ เช่น คุณหมอที่ดูแลเฉพาะคนไข้วิกฤตโดยเฉพาะ มีเครื่องพิเศษ เช่น เอคโม (ECMO) เป็นเครื่องที่ช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ และปอด อย่างที่เราเคยได้ยินกัน หรือเครื่องช่วยหายใจพิเศษ

ตอนนี้เราอยู่ในระยะที่เราจะพยายามเก็บผู้ป่วยทุกคน หรือรับผู้ป่วยทุกคนเข้าอยู่ในโรงพยาบาล ด้วยหลักการที่ว่าเราจะหยุดยั้งไม่ให้มีการแพร่เชื้อในชุมชนตอนนี้เราพยายามหาสถานที่ให้เพียงพอสำหรับให้ผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ให้อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยืนยันได้ว่าเชื้อหายแล้วจึงจะให้กลับบ้านออกไปสู่ชุมชน

สำหรับคุณหมอ นอกจากการเตรียมการของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว สิ่งสำคัญในการชะลอตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทำได้มีอะไรอีกบ้าง

การปฏิบัติตัวของประชาชนตามมาตรการอย่างเคร่งครัดค่ะ หมอคิดว่าช่วยได้ โดยเฉพาะตอนนี้ที่เราพูดถึงเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing เป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้  อย่างที่บอกคือถ้าเราเข้าสังคมน้อยลง มีระยะห่างทางสังคมมากขึ้น มันจะเป็นการตัดวงจรของการที่เราจะมีโอกาสรับเชื้อหรือติดเชื้อ ช่วยได้ค่อนข้างมากทีเดียว

สิ่งที่หลายคนห่วงกันและอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยากก็คือการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน สำหรับผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หากเป็นไปได้ควรนั่งรถเมล์ไม่มีแอร์จะดีกว่าค่ะ เพราะถ้าอากาศโล่ง ถ่ายเท โอกาสติดเชื้อก็จะน้อย แต่ถ้าเลือกไม่ได้ต้องใช้ขนส่งมวลชนที่อากาศปิดนะคะ สิ่งที่ทำได้ก็คือการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือทั้งก่อนและหลัง ที่สำคัญห้ามไม่ให้เอามือไปจับหน้า ตา จมูก ปาก ของตัวเอง

กลับถึงบ้านปุ๊บอาบน้ำเลยค่ะ อย่าเพิ่งไปทักทายใคร คุยกับใคร กอดใคร อาบน้ำ สระผม ล้างหน้า ทำความสะอาดตัวให้เรียบร้อย เพราะว่าอย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า แค่น้ำกับสบู่เชื้อไวรัสก็ไปแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะทำอย่างอื่น จงทำความสะอาดร่างกายก่อนค่ะ แล้วก็เฝ้าระวังตัวเอง สังเกตอาการตัวเองด้วย

สำหรับคนที่ทำงานที่บ้าน หรือกักตัวอยู่ที่พักอาศัย แน่นอนว่าทุกคนก็คงจะเครียด คำแนะนำทั่วไปของหมออันดับแรกก็คือ การเสพข่าวสารทั้งหลาย เข้าใจว่าทุกคนอยากจะติดตาม แต่ถ้ามันมากเกินไป ก็อาจทำให้เรามีความเครียดได้ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เราไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงอีกด้วยนะคะ บางทีข่าวที่ไม่จริงนั่นแหละที่ทำให้เราเครียดไปอีก ถ้ายังอยากติดตามอยู่ ก็อาจจะต้องเลือกสื่อว่าเชื่อถือได้ แล้วก็อาจจะลดความถี่ลงนิดหนึ่ง

สองคืออาจจะต้องหากิจกรรมอย่างอื่นทำ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ออกไปนอกบ้านไม่ได้แล้ว เช่น ทำงานอดิเรกได้ไหมนอกจากการดูทีวีหรือการรับข่าวสาร ไปวิ่งออกกำลังกายในที่พัก หรือออกกำลังกายที่เราทำได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปฟิตเนส เพราะตอนนี้ฟิตเนสก็ไปไม่ได้แล้วนะคะ หรืองานอดิเรกอย่าง เช่น อ่านหนังสือ ทำสวน ทำอาหาร เป็นต้น

และสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ การสร้างสุขภาวะของตนเองให้แข็งแรง โดยหลักการทั่วไปการที่เราจะติดเชื้อโรคใดเชื้อโรคหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราแข็งแรงหรือเปล่า ถ้าเราแข็งแรง เราต้นทุนดีกว่าคนอื่น เมื่อเทียบกับคนที่สูงอายุ หรือมีโรคร่วม ถือว่าเรามีต้นทุนที่สูงกว่านะคะ สองก็คือเราได้รับเชื้อมามากหรือน้อย ถ้าเราแข็งแรงแต่เราได้รับเชื้อเยอะอาจจะไม่รอดเหมือนกันนะคะ แต่ถ้าเราแข็งแรงรับเชื้อมานิดหน่อยเราก็อาจจะกำจัดมันได้เอง โดยที่แทบจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากก็ได้

เพราะฉะนั้นเราก็คงทำตัวเราเองให้แข็งแรงที่สุด มีทั้งสุขภาวะและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการป้องกันอย่างอื่นที่เราทำได้ ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน แต่เรามีวัคซีนป้องกันสำหรับโรคอื่นที่อาจจะมาพร้อมๆ กัน สิ่งที่หมอแนะนำก็คือ หนึ่ง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าทำได้ ฉีดไปก่อนค่ะ ช่วงนี้วัคซีนมาแล้ว เพราะว่าเมื่อเราป่วย ก็จะได้ตัดไข้หวัดใหญ่ออกไป ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยลดความรุนแรง ลดโอกาสเกิดโรคที่มันอาจจะตามมา โรคที่มันมาคล้ายๆ กันได้นะคะ

หรือวัคซีนปอดบวม ที่เราอาจจะเคยได้ยิน ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปอดบวม ไข้ ไอ หอบ ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ฉะนั้นถ้าเราฉีดวัคซีนตัวอื่นไป เพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ที่อาจจะมาร่วมกัน หรือเป็นความเสี่ยงด้วยแล้ว ก็อาจจะทำให้บรรเทาอาการไปได้ แต่ที่สำคัญอย่างที่หมอบอกก็คือ ดูแลตัวเองให้แข็งแรงค่ะ

ในฐานะแพทย์ที่ดูแลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตรง มีอะไรอยากจะบอกกับประชาชนที่อยู่ในสภาวะตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้าง

อยากจะบอกว่า โควิด-19 เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งอาการป่วยก็คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่หรือโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ แต่ว่าด้วยความรุนแรงของมัน เช่น สัดส่วนของผู้ป่วยที่มีความรุนแรงอาจจะมากกว่าไข้หวัดใหญ่ สัดส่วนการเสียชีวิตอาจจะมากกว่าไข้หวัดใหญ่ และประกอบกับโรคนี้เป็นโรคใหม่ ซึ่งทำให้คนอาจจะตื่นกลัว รวมถึงยังเป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนและไม่มียาจำเพาะ

ทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเข้าใจหรือยอมรับกับมันได้ยาก เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมียา มีวัคซีนแล้ว แล้วมันอยู่กับเรามานานมากแล้ว อาจจะต้องใช้เวลานิดหนึ่งในการทำความเข้าใจ หรือถ้าเก็บข้อมูลได้มากขึ้น เราอาจจะเห็นว่า ตัวเลขการเสียชีวิตมันก็ไม่ได้มาก หรือว่าคนที่เสียชีวิตจริงๆ หรือว่าคนที่มีอาการรุนแรงจริงๆ สัดส่วนก็อาจจะน้อยลงไปเรื่อยๆ  ถ้าเราเห็นภาพตรงนี้ หรือเราเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ก็อาจจะมีข้อมูลที่เราสามารถสื่อสารกับประชาชนได้เข้าใจตรงประเด็นว่า มันอาจจะไม่ได้รุนแรงอย่างที่เราคิดนะ แต่ด้วยเมื่อเรามีโรคอุบัติใหม่ ทุกคนก็ต้องกลัวเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

ในฐานะแพทย์เราทำเต็มที่อยู่แล้วค่ะ ทั้งในส่วนของการวินิจฉัยและรักษา แต่ว่าในส่วนของประชาชนก็อยากให้มีความรู้ความเข้าใจในโรค ไม่ตื่นกลัวหรือตื่นตระหนกจนเกินไป ทำตามคำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงสาธารณสุขเอง สสส.เอง หรือว่าของหน่วยงานที่เชื่อถือได้ของรัฐ อย่างตอนนี้เราพยายามจะสื่อสารเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็อยากให้ประชาชนทำตามอย่างเคร่งครัด

อยากให้ทุกคนลองเข้ามือถือ และค้นหาเฟซบุ๊ก “ไทยรู้สู้โควิด” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันผลิตข้อมูลการดูแลตัวเองที่ถูกต้องเอาไว้ ถ้าใครสะดวกเล่น Twitter, Tik Tok ก็สามารถเข้าไปใช้งานได้แล้วเช่นกัน อีกหนึ่งช่องทางตรงก็คือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 สามารถโทรเข้ามาขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคโควิด 19 จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้นะคะ

ถ้าเราทำได้ เราก็จะลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดการติดเชื้อลงได้ ลดความเสี่ยงของตัวคุณเอง ถ้าเรามีจำนวนผู้ป่วยน้อยลง บุคลากรทางการแพทย์ก็จะทำงานได้เต็มที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นในการต่อสู้กับโควิด-19 เรามีหน้าที่ที่ต้องทำทั้ง 2 ส่วนทั้ง ทั้งแพทย์เองและประชาชนก็ต้องร่วมมือกันด้วย เพื่อที่เราจะได้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกันค่ะ

 

 

Tags: , , ,