ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดี ซึ่งคงแตกต่างไปตามรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน แต่พื้นฐานที่ทุกคนต้องการไม่ต่างกันก็คือ ร่างกายดี จิตใจดี มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ที่ดี และอยู่ในสังคมที่ดีสังคมดีเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสุขที่ทุกคนใฝ่หา แต่หากถามว่าตั้งแต่ชีวิตเริ่มต้นขึ้นในแต่ละวันไปจนถึงเข้านอน เราทำอะไรที่จะส่งผลให้เรามีชีวิตที่ดีแล้วหรือยัง

ตั้งใจตื่นแต่เช้าเพื่อออกกำลังกาย แต่ก็นอนต่อจนตื่นอีกทีก็ทำอะไรไม่ทัน

ตั้งใจจะคุยกับคนรอบข้างดีๆ ด้วยเหตุผล แต่พอถึงเวลาก็ห้ามอารมณ์ไม่ได้จนทะเลาะกันใหญ่โต

ตั้งใจกินอาหารเพื่อสุขภาพ แต่พอผ่านร้านเบเกอรี่หรือบุฟเฟ่ต์หมูกระทะทีก็ยั้งใจตัวเองไม่ทัน

ตั้งใจเข้านอนแต่หัวค่ำ แต่พอเพื่อนชวนปาร์ตี้ก็กินดื่มเต็มที่ ไม่เมาไม่เลิก 

ตั้งใจ ตั้งใจ ตั้งใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับสวนทางจากความตั้งใจไปไกล บางครั้งที่คิดว่าแค่นิดเดียวก็ติดลมจนเลยเถิดไปอีก หรือบ่อยครั้งที่พลังใจมาล้นเหลือในช่วงแรก แต่กลับค่อยๆ แผ่วลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม มันก็จริงอยู่ที่ทำตามใจตัวเองก็ทำให้เรามีความสุขได้เหมือนกัน การไม่ฝืนความต้องการและอารมณ์ของตัวเองอาจทำให้เราพอใจ แต่หากในระยะยาวที่ร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ และสังคมพังลง เราจะยังมีความสุขได้จริงไหม 

เราจะไม่โทษความพ่ายแพ้ต่อใจตัวเองในอดีตที่ผ่านมา เพราะการได้ลงมือทำนั่นคือสิ่งสำคัญและประสบความสำเร็จไปก้าวหนึ่งแล้ว แต่เราจะมาเริ่มกันใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เราจะพยายามรักษาความสม่ำเสมอให้สำเร็จไปอีกขั้น ในช่วงแรกๆ อาจยากสักหน่อย แต่ถ้าลองทำตามข้อแนะนำข้างล่างนี้ เราจะผ่านช่วงที่ยากที่สุดของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่สุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนได้แน่นอน

เทคนิคการออกแบบชีวิตตัวเองให้ทำตามความตั้งใจได้ทุกวัน 

ตั้งเป้าหมายให้เอื้อมถึง ไม่สูงเกินไปจนท้อ ไม่ต่ำเกินไปจนไม่ท้าทาย 

ชีวิตที่ดีจะมีได้ เราต้องสะสมสิ่งดีๆ ที่เราทำเพื่อตัวเองไปทุกวัน กำหนดเป้าหมายที่อยากทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองในแต่ละวัน แต่ควรเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ตั้งใจออกกำลังกายทุกวัน แต่ที่ผ่านมามีอุปสรรคมากมาย ไม่มีเวลา ยิมอยู่ไกลบ้านหรือที่ทำงาน แถมราคาก็แพง ก็เปลี่ยนเป็นตั้งเป้าว่าจะเดินให้ได้หนึ่งหมื่นก้าวต่อวัน หรืออาหารการกินที่เราตั้งใจจะกินคลีน แต่ไม่สะดวกทำอาหารเอง หรือไม่มีแหล่งขายอยู่ใกล้ๆ ก็ปรับเป็นสิ่งที่เราทำได้ไม่ยากเกินไปสำหรับเรา เช่น กินผักให้ได้ครึ่งหนึ่งต่อมื้อ ลดอาหารรสจัดทั้งหลาย เป็นต้น

จัดตารางชีวิตให้เวลาในระดับที่ทำได้ไม่ฝืนใจตัวเอง และเพิ่มระดับมากขึ้นเมื่อพร้อม

การตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปทำให้เราต้องใช้แรงใจอย่างมากในการทำมันให้สำเร็จ และส่วนใหญ่ก็ไม่สำเร็จเสียด้วยเพราะหมดแรงก่อน ดังนั้นการให้เวลากับมันโดยไม่รู้สึกฝืนใจเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การงดของหวาน เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ การหักดิบเลิกเลยทำให้เราเกิดความรู้สึกฝืนและเกิดความเครียด ในที่สุดก็จะตบะแตก รับเข้าร่างกายมากกว่าเดิมเสียอีก หากเราค่อยเป็นค่อยไป จากที่กินทุกวันก็เหลือวันเว้นวัน แล้วลดลงเหลือสัปดาห์ละสองครั้ง ลดความถี่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่กินก็ได้ในที่สุด 

หรือแม้แต่การออกกำลังกาย ถ้าเริ่มอย่างเหนื่อยเกินไปเราก็จะทำไม่ได้นาน หมดแรงเอาตั้งแต่จุดสตาร์ท เราอาจเปลี่ยนเป็นเดินหรือวิ่งที่สวนสาธารณะแถวบ้าน เดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์ หรือเดินไปปากซอยแทนการนั่งมอเตอร์ไซค์ เมื่อเราทำไปได้ระเวลาหนึ่งจนรู้สึกสบายที่ทำได้ทุกวันแล้ว เราอาจท้าทายตัวเองมากขึ้นด้วยการเพิ่มระดับความเข้มข้นหรือความถี่ขึ้นไปอีก 

ชื่นชมความสำเร็จที่ตัวเองทำได้ในทุกวัน แม้จะเล็กน้อยก็ตาม

สุขภาพจิตที่ดี คือ การที่เรารู้สึกดี และภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) เพราะเมื่อมีสิ่งเหล่านี้ เราจะมีพลังในการทำสิ่งต่างๆ วิธีที่จะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองได้คือการชื่นชมความสำเร็จของตัวเอง ความสำเร็จที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก หรือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเห็น แค่มันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตัวเราเองแม้เพียงเล็กน้อยนั่นก็เป็นความสำเร็จที่เราควรชื่นชมแล้ว 

เรามักเปรียบเทียบความสำเร็จของตัวเองกับของคนอื่น ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้เราห่อเหี่ยวใจแทนที่จะฮึดสู้ หากเราเปลี่ยนมาเปรียบเทียบความสำเร็จของตัวเอง เช่น เดือนที่แล้วออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่เดือนนี้ทำได้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือสัดส่วนรอบเอวลดลง 2 นิ้ว จากเดือนที่แล้ว เดือนนี้ออกกำลังกายได้นานกว่าเดือนที่แล้ว น่าจะเป็นพลังเสริมแรงใจของเราได้ดีกว่า เพราะชัยชนะเล็กๆ อย่างนี้จะทำให้เราอยากทำต่อไป และอยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีเป็นปกติ

เล่าให้คนรอบข้างฟัง ขอความช่วยเหลือ หรือความร่วมมือ

นอกจากต้องเอาชนะใจตัวเองแล้ว บางทีสายตาและคำพูดของคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจเราอาจบั่นทอนกำลังใจเรา ดังนั้นการสื่อสารกับคนรอบข้างอาจทำให้เราทำตามเป้าหมายของเราได้ดีขึ้น เช่น เพื่อนชวนดื่มเหล้าบ่อยๆ หากเราปฏิเสธบ่อยๆ เพื่อนอาจไม่เข้าใจ ถ้าได้ลองพูดคุยกันถึงความตั้งใจของเรา จากที่ชวนดื่มก็อาจจะกลายเป็นมากระตุ้นให้เราทำตามเป้าหมาย หรือเราอาจได้เพื่อนออกกำลังกายเพิ่มอีกคน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีโดยไม่จำเป็นต้องมีสุรา แถมได้สุขภาพดีด้วย

บางทีเรื่องราวความพยายามเอาชนะใจตัวเองที่เราเล่าต่อคนรอบข้างอาจสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวของเราลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองเหมือนเราด้วย 

หลักใหญ่ใจความของการมีชีวิตที่ดีนอกจากเริ่มลงมือทำดีๆ แล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสม่ำเสมอ และหากเมื่อไหร่ที่เราเกิดแพ้ใจตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเราจะแพ้ตลอดไป เพียงแต่ไม่หยุด พยายามเริ่มใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง เราก็จะสามารถเอาชนะใจตัวเองได้ในที่สุด

สุดท้ายสิ่งที่เราสะสมไปทุกวันจะส่งผลให้เรามีชีวิตที่ดี ดังนั้นชีวิตจะดีหรือไม่อยู่ที่ตัวเราเองจะออกแบบให้เป็นอย่างไร ทุกพฤติกรรม ทุกความคิดและทัศนคติ ทุกการกระทำต่อคนรอบข้าง ล้วนมีผลต่อตัวเราและสังคมเสมอ 

สำหรับคนที่อยากมีชีวิตที่ดี แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ หรือ สสส. ซึ่งทำงานรณรงค์สร้างเสริมสุขภาวะในสังคมไทยมาตลอด 18 ปี ได้ออกแคมเปญ “ชีวิตดีเริ่มที่เรา” เพื่อชวนทุกคนมาวางเป้าหมายออกแบบชีวิตที่ดีในแบบของตัวเองและเริ่มลงมือทำ ไม่ว่าจะด้านสุขภาพกายและใจ ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือสร้างสังคมที่ดี และเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะเอาชนะใจตัวเอง เพราะเพื่อสุขภาพที่ดี “เราเริ่มใหม่ได้ทุกครั้งที่แพ้”

เช่นเดียวกับประสบการณ์ของใครหลายคน ที่ย่อมต้องมีบ้างที่เคยล้ม แพ้ใจตัวเอง แต่ไม่ว่าจะแพ้หรือล้มไปสักกี่ครั้ง หากความพยายามและความตั้งใจยังคงอยู่ การชนะในความแพ้ จะสามารถผลักดันให้ทุกคนเอาชนะใจตัวเองจนเริ่มต้นที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองได้แน่นอน ซึ่งเนื้อหาและประสบการณ์เหล่านี้บางส่วนถูกนำมาเล่าในรูปแบบวิดีโอซีรี่ส์ภายใต้แคมเปญชีวิตดี เริ่มที่เราของ สสส. ด้วยเช่นกัน (สามารถติดตามรายละเอียดแคมเปญชีวิตดี เริ่มที่เรา ได้ที่: https://www.thaihealth.or.th/livehealthier)

 

อ้างอิง

https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/physical-activity-setting-yourself-goals

Tags: , , ,