ช่วงเวลาสำคัญในเทศกาลแห่งการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มักหลีกเลี่ยงไม่พ้นการประมวลย้อนความทรงจำสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี สังเกตได้จากการรวบรวมคอนเทนต์ ว่าด้วยเรื่อง ‘ที่สุดของปี’ บนหน้าโซเชียลมีเดียที่ทุกคนกำลังไถอย่างเพลิดเพลินในวันหยุดพักผ่อนขณะนี้
หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ ‘คำศัพท์แห่งปี’ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Word of the Year’ (WOTY) เมื่อพจนานุกรมชื่อดัง หรือสำนักข่าวหลายแห่งต่างออกมาจัดอันดับและอธิบายความหมายของคำศัพท์ทุกปี จนกลายเป็นธรรมเนียมสำคัญเท่าที่หลายคนจำความได้ไปเสียแล้ว
ทว่าหากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง การจัดอันดับคำศัพท์แห่งปียังมีความหมายมากกว่าประเด็นทางภาษาศาสตร์ ครั้งหนึ่ง นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้แปลหนังสือ เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เคยอธิบายผ่านบทความใน 101 World ว่า คำศัพท์แห่งปีเปรียบเสมือน ‘บันทึกของมวลมนุษยชาติ’ ในยุคสมัยหนึ่ง เพราะคำเหล่านี้สร้างอิทธิพลต่อสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี หรือมากกว่านั้นก็ตาม
เหล่านี้สะท้อนจากคำศัพท์แห่งปีในอดีต เช่น คำศัพท์แห่งปี 2020 คือ ‘ล็อกดาวน์’ (Lockdown) หลังทั้งโลกต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้านเพื่อกักตัว หรือแม้แต่ ‘เบร็กซิต’ (Brexit) คำศัพท์เกิดใหม่ในช่วงปี 2012 ที่ถูกยกให้กลายเป็นคำศัพท์แห่งปี 2016 สืบเนื่องจากสถานการณ์การถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ที่สร้างผลกระทบทั่วโลก ไม่ใช่แค่ชาติยุโรปเท่านั้น
และในปี 2023 The Momentum รวบรวมการจัดอันดับคำแห่งปีจากพจนานุกรมชื่อดังมากมาย ได้แก่ อ็อกฟอร์ด (Oxford) คอลลินส์ (Collins) เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) และเคมบริดจ์ (Cambridge) เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด 10 คำ ดังต่อไปนี้
1. Rizz
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (Oxford University Press) ประกาศให้ Rizz กลายเป็นคำศัพท์แห่งปี 2023 ซึ่งผ่านการโหวตโดยสาธารณชน และถูกคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายจากผู้เชี่ยวชาญในองค์กร โดยเอาชนะในบรรดาคำอื่นๆ ได้แก่ สวิฟตี (Swiftie) ชื่อกลุ่มแฟนคลับของเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) Situationship หรือสถานะมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน และ Prompt แปลว่าคำสั่งต่อโปรแกรม AI
Rizz หมายถึง ความมีเสน่ห์ ความน่าหลงใหล หรือความสามารถดึงดูดผู้คน ซึ่งย่อมาจากคำว่า Charisma (ความมีเสน่ห์) และถือเป็นคำศัพท์ที่ใหม่กว่าอีกขั้นของคำว่า Game ที่แปลว่า ทักษะ ความสามารถอันยอดเยี่ยม และความสามารถในการดึงดูดผู้คนด้วยการใช้เสน่ห์ของตนเอง
นอกจากนี้ Rizz ยังสามารถใช้เป็นกิริยาเพื่อแสดงการกระทำด้วยคำว่า Rizz Up ซึ่งแปลได้ว่า หลงใหล มีเสน่ห์ หรือพูดคุยเกี้ยวใครสักคน (Chat someone up)
ทั้งนี้ บีบีซี (BBC) ระบุว่า Rizz เป็นคำที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นเจน Z ทั่วโลกออนไลน์ โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน TikTok เมื่อแฮชแท็ก #Rizz ปรากฏวิดีโอที่มียอดรับชมทั้งหมดถึงพันล้านวิว หรือแม้แต่คนดังอย่าง ทอม ฮอลล์แลนด์ (Tom Holland) ยังใช้คำศัพท์ดังกล่าวเพื่ออธิบายว่า ตนเองเป็นคนไม่มีเสน่ห์
2. AI (Artificial Intelligence)
ด้านคอลลินส์ยกให้คำว่า AI (Artificial Intelligence) หรือเป็นที่รู้จักในภาษาไทย คือปัญญาประดิษฐ์ หรือการจำลองความสามารถความคิดของมนุษย์ผ่านโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ เป็นคำศัพท์แห่งปี 2023
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คำว่า AI ได้รับเลือก เพราะคำศัพท์ดังกล่าวกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด โดย อเล็กซ์ บีครอฟต์ (Alex Beecroft) กรรมการผู้จัดการของคอลลินส์ให้เหตุผลว่า AI คือไฮไลต์การพูดคุยในแวดวงสังคมของปีนี้ ซึ่งแพร่กระจาย และติดปากผู้คนอย่างรวดเร็ว
เหตุผลดังกล่าวสะท้อนจากปรากฏการณ์ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น The Beatles หรือศิลปินแนวหน้าคนอื่นๆ ปล่อยเพลงที่เกิดจากการดัดแปลงของ AI หรือแมตเทล (Mattel) บริษัทผลิตของเล่นชั้นนำระดับโลกอย่างบาร์บี้ (Barbie) ใช้ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงการมีอยู่ของ ChatGPT โปรแกรม AI สารพัดประโยชน์ที่ทำได้มากกว่าการพูดคุย
และหากพิจารณาในระดับการเมืองระหว่างประเทศ ยังปรากฏคำดังกล่าวในเชิงนโยบายจาก ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่จัดการประชุมสุดยอดระดับโลกเพื่อหารือการใช้ประโยชน์ขั้นสูงสุดจาก AI อีกด้วย
3. Authentic
ทางฟากสหรัฐอเมริกา เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ยกให้คำว่า Authentic ที่แปลว่าจริงหรือแท้ กลายเป็นคำศัพท์ของปี 2023 เนื่องจากการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์ หรือข่าวปลอมในโลกโซเชียลฯ ทำให้คำว่า ‘Real’ (จริง) หรือ ‘Fake’ (ของปลอม) ไม่สามารถชี้ชัดความหมายในตัวมันเองได้อย่างเที่ยงตรงอีกต่อไป
ทั้งนี้ ปีเตอร์ โซโคโลฟสกี (Peter Sokolowski) บรรณาธิการของเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ ระบุว่า สังคมต้องมีคำที่หนักแน่นเป็นพิเศษ เพราะโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่ทั้งในด้านการเมือง เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเสพข่าวในแวดวงบันเทิงทั่วโลก และตอนนี้ เขาต้องการให้ความสำคัญกับความจริงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คำว่า Authentic ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์เต็มไปด้วยความกำกวม เพราะมีความหมายว่า จริง, ควรค่าแก่การเชื่อหรือทำตาม เพราะเกิดจากข้อเท็จจริง หรือถูกทำให้เหมือนต้นฉบับ
4. Coronation
Coronation หรือพิธีราชาภิเษกถูกยกให้เป็นหนึ่งในคำศัพท์แห่งปีจากเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ หลังสหราชอาณาจักรมีพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) ในวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทั่วโลกต่างจับจ้องให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว (ผู้สนใจสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/analysis-king-charles-coronation/)
5. EGOT
EGOT เป็นตัวย่อของการคว้า 4 รางวัลใหญ่ในวงการบันเทิงโลก ได้แก่ เอ็มมี (Emmy) แกรมมี (Grammy) ออสการ์ (Oscar) และโทนี (Tony) ซึ่งใช้ครั้งแรกในปี 1984 และถูกบัญญัติในพจนานุกรมฉบับเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ในปี 2019
สาเหตุที่คำดังกล่าวถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคำศัพท์แห่งปี เพราะ ไวโอลา ดาวิส (Viola Davis) นักแสดงสาวมากความสามารถ กลายเป็นคนดังในทำเนียบ EGOT หลังคว้ารางวัลแกรมมี สาขา Audio Book, Narration & Storytelling Recording ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ต่อจากรางวัลเอมมีในสาขานักแสดงนำ จากเรื่อง Drama Series (2015) รางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงสมทบยอดเยี่ยมในปี 2017 และรางวัลโทนีในสาขานักแสดงนำประจำปี 2010 และสาขานักแสดงสมทบในปี 2001
ที่สำคัญที่สุด คำว่า EGOT ยังกลายเป็นคำกริยา เมื่อดาวิสอุทานในงานรางวัลว่า “I just EGOT!” ทว่าเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ยังไม่ได้ระบุให้ EGOT เป็นคำกริยาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
6. Hallucinate
พจนานุกรมของเคมบริดจ์ยกให้ Hallucinate เป็นคำแห่งปี 2023 สืบเนื่องจากการเข้ามาของ AI ที่แปรเปลี่ยนสังคมให้เต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอม สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือข้อมูลเท็จมากมาย
แต่เดิม Hallucinate มีความหมายในเชิงการประสบพบเจอ ได้ยิน ได้สัมผัสถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือเป็นที่เข้าใจในคำว่าภาพหลอน ทว่าในความหมายใหม่ คำศัพท์ดังกล่าวยังแปลได้ว่า การสร้างข้อมูลแปลกปลอมหรือเป็นเท็จ ซึ่งบริบทดังกล่าวใช้กับการทำงานของ AI เช่น โปรแกรม ChatGPT ที่ลอกเลียนแบบข้อมูลบางอย่างจากมนุษย์ หรือบิดเบือนความจริง
นอกจากนี้ เคมบริดจ์ยังบัญญัติศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ AI ในพจนานุกรมอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ Large Language Model (LLM), Generative AI (GenAI) และ GPT (Generative Pre-trained Transformer) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของโลกต่อกระแสเทคโนโลยียุคใหม่
7. De-influencing
อ็อกฟอร์ดยังกำหนดให้คำว่า De-influencing เป็นหนึ่งในคำศัพท์แห่งปี 2023 หลังผู้ใช้โซเชียลฯ หรือคนดังจำนวนมากพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนลดการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านความจำเป็น ประสิทธิภาพของสินค้า หรือการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในวงการแฟชั่นและเครื่องสำอาง เช่น การรณรงค์งดซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion
ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในโลก TikTok โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า แฮชแท็ก #Deinfluencing มียอดวิวถึง 582-584 ล้านวิว ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือแอ็กเคานต์ของ มิเชล สกีเดลสกาย (Michelle Skidelsky) อินฟลูเอนเซอร์สาวชาวแคนาเดียนที่มีผู้ติดตามประมาณ 1.8 แสนคน เธอโพสต์คลิปวิดีโอโน้มน้าวไม่ให้คนอื่นๆ ซื้อเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับเมื่อถึงโอกาสสำคัญ โดยให้เหตุผลว่า การทำสิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็น และเสียเงินในบัญชีธนาคาร
8. Implode
Implode เป็นคำกริยาที่ถูกใช้โดยสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททัน หรือเรือทัวร์ซากเรืออับปางไททานิก (Titanic) ที่เป็นประเด็นใหญ่โตในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ในวันที่ 18 มิถุนายน 2023 มีรายงานว่า เรือดำน้ำไททันระเบิดฉับพลันจากภายใน ทำให้ผู้โดยสาร 5 รายเสียชีวิตทันที ขณะนั้น มีการอธิบายปรากฏการณ์ด้วยคำว่า ‘Implode’ ซึ่งผู้คนไม่ได้พบเห็นกันบ่อยครั้งนัก โดยเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ระบุว่า จำนวนการค้นหาคำศัพท์ดังกล่าวในเว็บไซต์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
ทั้งนี้ Implode หมายถึงการระเบิดด้วยแรงอัดอย่างรุนแรงจากภายใน เทียบเคียงได้กับการใช้แรงบีบอัดให้กระป๋องบุบ ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากคำว่า Explode ที่แปลว่า การระเบิดปะทุออกมาสู่ภายนอก
9. Doppelgänger
อันที่จริง Doppelgänger เป็นคำที่ทั่วโลกต่างรู้จักเป็นทุนเดิมโดยมีที่มาจากคำว่า Dopple ในภาษาเยอรมัน (หรือ Double ในภาษาอังกฤษ) แปลว่า ซ้ำหรือเหมือนกัน
Doppelgänger จึงใช้อธิบายบุคคลที่เหมือนกันราวกับแฝด ทั้งบุคลิก หรือรูปร่างหน้าตา แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน อีกทั้งคำดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับเรื่องลี้ลับว่าด้วยเรื่อง ‘แฝดปีศาจ’ กล่าวคือ หากพบเจอคนที่หน้าเหมือนกับตนเอง แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องใด อาจหมายความว่า คนๆ นั้นจะมีเคราะห์ร้ายถึงกับชีวิต
อย่างไรก็ตาม Doppelgänger กลายเป็นหนึ่งในคำศัพท์แห่งปีของเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ สืบเนื่องจากคดีอาชญากรรมฆาตกรรมคนหน้าเหมือนกันในเยอรมนีและสหรัฐฯ สุดโด่งดัง เมื่อเกิดเหตุการณ์พยายามสังหารเพื่อขโมยตัวตนอีกฝ่าย
นอกจากนี้ คำว่า Doppelgänger ยังอยู่ในความสนใจของผู้คนจากเรื่องราวนักเบสบอลชาวอเมริกัน 2 คน หลังพวกเขาพบว่า แต่ละฝ่ายมีชื่อ รูปร่างหน้าตา และสีผิวคล้ายคลึงอย่างน่าตกใจ จนนำไปสู่การตรวจ DNA เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า พวกเขามีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติหรือไม่
10. X (ชื่อใหม่ของทวิตเตอร์โดย อีลอน มัสก์)
แม้ว่า X จะไม่ได้มีความหมายในตนเองไปมากกว่าเครื่องหมายหรือฟังก์ชันทางทางคณิตศาสตร์ ทว่าเมื่อ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ชายมหาเศรษฐี เจ้าของเทสลา (Tesla) ได้รีแบรนด์แอปพลิเคชันนกสีฟ้า หรือเป็นที่รู้จักในชื่อทวิตเตอร์ (Twitter) ครั้งใหญ่ เป็นชื่อแอปพลิเคชัน X ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างค้นหาคำดังกล่าวถึง 885% ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2023 หรือวันที่มีการประกาศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ความหมายของ X ยังเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์ โดย มาร์เซล ดาเนซี (Marcel Danesi) นักภาษาศาสตร์ระบุในดิแอตแลนติก (The Atlantic) ว่า X มีความหมายลึกลับ ซับซ้อน และไม่ชัดเจนเหมือนตัวย่อ F ที่หมายถึงความล้มเหลว (Failure) หรือ T ที่สื่อถึงความสมบูรณ์แบบ
อ้างอิง
https://www.the101.world/word-of-the-year/
https://www.bbc.com/news/uk-politics-37896977
https://www.cnbc.com/2023/11/29/merriam-webster-word-of-the-year-2023-authentic-rizz-deepfake.html
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-67602699
https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-67271252
https://www.merriam-webster.com/wordplay/word-of-the-year
https://www.gqthailand.com/culture/music/article/viola-davis-new-egot-winner-grammy-2023
https://dictionary.cambridge.org/editorial/woty
https://languages.oup.com/word-of-the-year/2023/
https://edition.cnn.com/2023/06/11/us/deinfluencing-tiktok-trend-explained-cec/index.htm
Tags: Word of the year 2023, Brexit, Rizz, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, Authentic, Lockdown, Halluciate, De-influencing, X, EGOT, Words, Coronation, Word of the year, Implode, คำแห่งปี, คำศัพท์แห่งปี, Feature, WOTY, AI