พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) ในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2023 กำลังอยู่ในความสนใจของคนนับล้านทั้งโลกถึงบทบาทกษัตริย์และพระราชินีองค์ใหม่ของดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน หลังจากสูญเสียสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพกว่า 70 ปี

The Momentum พาทุกคนมาเปิดเรื่องราวอันน่ารู้ของการเตรียมพิธีราชาภิเษกในครั้งนี้ ซึ่งระบุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วนให้ทันสมัย เพื่อสอดคล้องกับการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ในยุคใหม่ รวมถึงความคิดเห็นของผู้คนในสังคม ได้แก่ ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์

ที่มา: AFP

พิธีจัดขึ้นที่ไหนและมีอะไรบ้าง?

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (Westminster Abbey) ในวันที่ 6 พฤษภาคม เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศอังกฤษ

ตามแผนกำหนดการ พระเจ้าชาร์ลส์จะเดินทางไปพร้อมกับคามิลลา ราชินีพระองค์ใหม่ (Queen Consort) ด้วยเส้นทางสำหรับ ‘ขบวนเสด็จของกษัตริย์’ (The King’s Procession) จากพระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) ไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ แต่จะมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนจับจองเพื่อเฝ้ารอตั้งแต่ 06.00 น.

โดยกษัตริย์และราชินีจะเดินทางด้วย ‘รถม้าดำทองคำ’ หรือ ‘ราชรถพัชราภิเษก’ (Diamond Jubilee State Coach) ที่มีการดัดแปลงนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใส่ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและกระจกไฟฟ้า จากธรรมเนียมเดิมที่ต้องใช้รถทองคำล้วน ซึ่งไม่สะดวกมากนักสำหรับผู้นั่ง

ตามรายงานของบีบีซีไทย (BBC Thai) ขบวนเสด็จใช้ทหารราว 200 นายจากทุกกองทัพเพื่ออารักขาความปลอดภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่นับ 1,000 กว่านายสำหรับการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า พระราชพิธีในครั้งนี้น่าจะมีผู้มาร่วมงานน้อยกว่าการขึ้นครองราชย์ของพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 2

พิธีราชาภิเษกจะเริ่มต้นขึ้นราว 11.00 น. และใช้ระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษเพียงเท่านั้น หากเทียบกับพิธีของพระราชินีผู้ล่วงลับ ที่กินเวลาถึง 3 ชั่วโมง 

เมื่อเข้าไปยังมหาวิหารโดยใช้ประตูทางทิศตะวันตก มาสู่โถงกลาง พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงนั่งบัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด หรือบัลลังก์ราชาภิเษก (Coronation Chair) และมีการใช้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ได้แก่ พระมหามงกุฎลูกโลกประดับกางเขน พระคทานกพิราบ และพระคทากางเขนทองคำประดับด้วยพลอยแอเมทิสต์ (Amethyst) เพชร ทับทิม สปิเนล (Spinels) และมรกต มีความหมายถึงการปกครองประเทศ ในขณะที่ราชินีคามิลลาจะทรงพระคทากางเขนและพระคทานกพิราบ

ขั้นตอนเริ่มพิธี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี (Archbishop of Cranberry) จะเป็นผู้ประกอบพิธีหน้าบัลลังก์ราชาภิเษก โดยประกาศแนะนำกษัตริย์ใหม่ต่อหน้าประชาชนทั้งหมด ซึ่งเป็นพิธีโบราณตั้งแต่สมัยแองโกล-แซกซันว่า “นี่คือกษัตริย์ของเราอย่างแน่นอนโดยมิต้องสงสัย” ก่อนผู้เข้าร่วมจะแสดงความเคารพและกล่าวคำสรรเสริญว่า “ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงคุ้มครองพระราชา” (God Save The King)

หลังจากนั้น พระเจ้าชาร์ลส์จะถูกถามว่า “จะปกครองสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพด้วยกฎหมายและความยุติธรรมหรือไม่?” รวมถึงการวางตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาคริสต์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการกล่าวปฏิญาณอาจเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้นับศาสนาอื่นๆ นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ แต่คำพูดดังกล่าวจะไม่รวมในคำปฏิญาณ

ในระหว่างพิธี พระเจ้าชาร์ลส์จะได้รับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ปลุกเสกขึ้นในเดือนมีนาคมแห่งนครเยรูซาเล็ม โดยใช้ผลมะกอกจากโบสถ์มารี มักดาเลน (Monestery of Mary Magdalene) และโบสถ์พระคูหาแห่งศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ซึ่งเป็นสถานที่การหวนคืนสู่สวรรค์ของพระเยซูตามความเชื่อ

ในระหว่างขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้ผ้าคลุมปิดกั้นทุกคนไม่ให้มองเห็นขั้นตอนดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นพิธีกรรมระหว่างกษัตริย์กับพระเจ้า

หลังจากนั้นคือพิธีการสวมใส่พระมหามงกุฎ อาร์ชบิชอปจะสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดแก่พระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะทองคำแท้ประดับด้วยอัญมณีกว่า 400 ชนิด รวมถึงทับทิมและไพลิน ในขณะที่คามิลลาจะสวมมงกุฏของควีนแมรี (Queen Mary)

และขั้นตอนสุดท้าย กษัตริย์และพระราชินีขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการโดยการขึ้นประทับบนพระราชอาสน์ด้วยการอุ้มของอดีตนักบวชและขุนนาง ต่อมา บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางจะต่อแถวเข้าเฝ้าเพื่อจุมพิตที่พระหัตถ์ แต่พิธีนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นเจ้าชายวิลเลียมเพียงพระองค์เดียว ผู้ดำรงฐานันดรศักดิ์ดยุค ได้ทำพิธีดังกล่าว

เมื่อพิธีขึ้นครองราชย์สิ้นสุดแล้ว จะมีการบรรเพลงกรีกออโทด็อกซ์ คือ ‘Byzantine Chant Ensemble’ ซึ่งเป็นคำขอของกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ เพื่อถวายความเคารพต่อ เจ้าชายฟิลิป (Prince Phillip) พระบิดาผู้มีเชื้อสายกรีก

หลังเสร็จสิ้นพิธี พระเจ้าชาร์ลส์และราชินีคามิลลาจะเดินทางกลับพระราชวังบังกิงแฮมด้วยรถม้าทองคำปรับอากาศ โดยใช้เส้นทางขบวนเสด็จเดิม ทั้งนี้ มีรายงานจากบีบีซีว่า พระราชวงศ์อื่นๆ เช่น เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์อาจร่วมโดยเสด็จด้วย

อย่างไรก็ดี พิธีไม่ได้เสร็จสิ้นแต่เพียงเท่านี้ เพราะวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองและวันหยุดราชการ ยังคงมีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ งานเลี้ยงอาหารกลางวันร่วมกับพลเมืองสหราชอาณาจักรนับล้านคน ปาร์ตี้ริมถนน และคอนเสิร์ต

โดยเมนูในครั้งนี้ กษัตริย์และพระราชินีได้แรงบันดาลใจจากอาหารฝรั่งเศส คือ ‘คีช’ (Quiche) หรือพายชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยผักโขม ถั่วปากอ้า ชีส และทาร์รากอน (Tarragon) และอาจมีนายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพของงานเลี้ยงเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์

สำหรับช่วงเย็น คอนเสิร์ตเฉลิมฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกจะจัดขึ้นทางตะวันออกของปราสาทวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ศิลปินเข้าร่วมในงาน ได้แก่ อันเดรอา โบเชลลี (Andrea Bocelli) เคที เพอร์รี (Katy Perry) และไลโอเนล ริชี (Lionel Richie) นักร้องโอเปราอิตาเลียน รวมถึงคณะนักร้องประสานเสียง บรรยากาศในเมืองจะเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง มีการแสดงแสงสีและโดรนเพื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่

สำหรับตอนเช้าวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการสำหรับชาวสหราชอาณาจักร จะมีการคัดเลือกกลุ่มจิตอาสาเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ The Big Help Out โครงการช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศเนื่องในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

‘Supertunica’ ฉลองพระองค์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับรายละเอียดของชุดที่พระเจ้าชาร์ลส์จะสวมในวันพิธี คือ ‘ชุดซูเปอร์ทูนิกา’ (Supertunica) หรือฉลองพระองค์ยาวทองคำ ประกอบด้วยแถบรัดหน้าอกด้วยเข็มกลัดสีทองรูปนกอินทรี ตามรายงานของบีบีซี ฉลองพระองค์นี้ทำขึ้นในปี 1911 โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 (George V) และสวมใส่กันมาอย่างยาวนานจนถึงพระราชินีนาถผู้ล่วงลับ

ที่มา: AFP

เสื้อคลุมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดพิธีราชาภิเษกสมัยโบราณ มีรูปลักษณ์คล้ายชุดนักบวชเพื่อแสดงความสูงศักดิ์ของกษัตริย์ น้ำหนักของชุดหนัก 2 กิโลกรัม ทำด้วยผ้าสีทอง ปักด้วยไหมทองและเงิน รวมถึงมีลวดลายดอกไม้สไตล์อาหรับ นกอินทรี และดอกไม้ประจำชาติ ได้แก่ ดอกกุหลาบสีแดง ดอกทิสเทิลสีน้ำเงิน และดอกแชมร็อก

อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องประดับอื่นๆ คือเข็มขัดใส่ดาบและถุงมือ พระเจ้าชาร์ลส์จะนำเครื่องประดับนี้ของพระอัยกา จอร์จที่ 6 (George VI) กลับใช้งานอีกรอบ เนื่องจากต้องการส่งเสริมความยั่งยืน จากธรรมเนียมเดิมที่ต้องใช้ของใหม่ทั้งหมด

ผู้เข้าร่วมมีใครบ้าง? 

ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ประกอบด้วยพระราชวงศ์และแขกจากทั่วโลกมากมาย

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ รายงานจากเทเลกราฟ (Telegraph) ว่า มีผู้เข้าร่วมเกือบทั้งหมด ยกเว้นเมแกน ดัชเชสแห่งซักเซกส์ (Duchess of sussex) ซึ่งจะพำนักอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พร้อมกับลูกของเธอ

ในขณะอาคันตุกะที่ยืนยันอย่างเป็นทางการ ได้แก่ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐฯ จิล ไบเดน (Jill Biden) รวมถึงตัวแทนจากทั้งราชวงศ์ในยุโรปและทั่วโลก ได้แก่ ภูฏาน จอร์แดน ตองกา ญี่ปุ่น เมารี รวมถึงประเทศไทย โดยมีตัวแทน คือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระราชินีสุทิดา และอดีตประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์คือ กรีซ โรมาเนีย บัลแกเรีย 

นอกเหนือจากนั้น ยังมีความน่าสนใจของการยกเลิกธรรมเนียมโบราณ คือ ห้ามราชวงศ์จากดินแดนอื่นเข้าร่วมในราชพิธี เพราะถือว่าเป็นพิธีสำหรับกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและประชาชนที่จะใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า แต่เดลีเมล์ (Daily Mail) รายงานว่า พระเจ้าชาร์ลส์ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนประเพณีเก่าแก่กว่า 900 ปี ด้วยการเชิญพระสหายทั่วโลก ทั้งราชวงศ์ในยุโรปและผู้ปกครองจากรัฐอาหรับ 

เปิดค่าใช้จ่ายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกท่ามกลางสภาวะขัดสนในประเทศ: เสียงของฝ่ายนิยมเจ้า vs ฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์

พิธีพระบรมราชาภิเษกในครั้งนี้มีรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยมีรายงานจากไทม์ (Times) คาดการณ์งบการจัดพิธี หากคิดเป็นจำนวนเงินภาษีประชาชนต้องชำระอย่างน้อย 100 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4,268,346,000 บาท) 

ค่าใช้จ่ายในการจัดงานกลายข้อถกเถียงครั้งใหญ่ของสังคม เพราะมีราคาสูงกว่าพิธีของพระราชินีผู้ล่วงลับถึง 2 เท่า ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่าเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาพิธีของกษัตริย์องค์ใหม่ระบุถึงการลดระยะเวลาและขนาดงาน แต่ราคากลับแพงขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม ทางการอ้างถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นตัวแปรสำคัญของการใช้เงิน

อันที่จริง เหตุผลความพยายามลดค่าใช้จ่ายของพิธีมีหลายปัจจัย นอกเหนือจากความต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษไปสู่ความทันสมัยและลดพิธีรีตองลง อีกเหตุผลหนึ่ง คือการจัดงานราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์อยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประเทศ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมเชิงลบอย่างมหาศาลสำหรับการขึ้นมาของกษัตริย์ชาร์ลส์ 

ปฎิเสธไม่ได้ว่าความหรูหราในพระราชพิธีตรงกันข้ามกับความเป็นจริงของอังกฤษโดยสิ้นเชิง เพราะลอนดอนกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายทศวรรษ จนทำให้เกิดการประท้วงของผู้คนในสังคม 

เริ่มจากการหยุดงานเพื่อประท้วงของกลุ่มแรงงาน ชนชั้นกลางของอังกฤษหลายแสนคน ได้แก่ แพทย์ ครู และคนขับรถไฟ ออกจากงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่ดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการนัดหยุดงานเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่จราจร และพนักงานสนามบินฮีทโธรว์ (Heathrow) เพื่อประท้วงต่อพิธีราชาภิเษก

“มันเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปสำหรับผู้เสียภาษี เรารู้ดีว่ามีพนักงานภาครัฐหลายคนประสบปัญหาในการขึ้นเงินเดือน เรารู้ว่ามีแรงงานที่ต้องหาอาหารกินจากโครงการธนาคารอาหาร (Food Banks) 

“มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ดิ้นรนหาเงินเลี้ยงชีพ โรงเรียนต่างๆ พยายามหาทรัพยากรที่มากพอสำหรับเด็กๆ รวมถึงตำรวจก็พยายามจัดการอาชญากรรมประเภทต่างๆ

“(100 ล้านปอนด์) มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคุณเอาไปใช้จ่ายสาธารณะ หมู่บ้าน คนไร้บ้าน คนยากจน มากกว่าการใช้เงินกับขบวนพาเหรดของคนคนเดียว” เกรแฮม สมิธ หัวหน้ากลุ่มต่อต้านระบอบกษัตริย์ ‘รีพับบลิก’ (Republic) แสดงความคิดเห็น และพร้อมจะวางแผนประท้วงในงานพิธีดังกล่าว

ที่มา: Reuters

นอกเหนือจากนั้น มีการสำรวจถึงความคิดเห็นของประชาชนถึงการใช้งบสำหรับพระราชพิธี โดยคนรุ่นใหม่ระหว่างช่วงอายุ 18-24 ปี กว่า 62% ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนงบในพิธีราชาภิเษกจากรัฐบาล ขณะที่ 15% เห็นด้วย และกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี 43% เห็นด้วยกับการใช้ภาษีของประชาชนในพิธี

สำหรับฝั่งผู้คนที่ไม่เห็นด้วย บางคนถึงกับตั้งคำถามว่าทำไมราชวงศ์จึงไม่ยอมออกค่าใช้จ่ายเอง โดยเฉพาะหากอ้างอิงรายงานจากเดอะการ์เดียน (The Guardian) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระเจ้าชาร์ลส์มีมูลค่าถึงประมาณ 1,800 ล้านปอนด์ แม้ว่าภาพรวมทางการเงินของสถาบันกษัตริย์ยังคงคลุมเครือก็ตาม

อย่างไรก็ดี ฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง โอลิเวอร์ โดวเด็น (Oliver Dowden) รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า รัฐบาลกับราชวงศ์ใส่ใจต่อการใช้เงินในครั้งนี้อย่างมาก ไม่มีการใช้เงินฟุ่มเฟือยเหมือนในอดีต และจะแจ้งให้ทราบถึงการใช้งบจัดงานภายหลังอย่างละเอียด

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมในประวัติศาสตร์ของเรา และประชาชนไม่ต้องการโดนขูดเลือดขูดเนื้อหรอกนะ” เขากล่าว

รวมถึงผู้สนับสนุนบางส่วนเห็นว่า พระราชพิธีราชาภิเษกจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศมาชม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์โต้แย้งกับเหตุผลดังกล่าว 

“ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่จะสนับสนุนว่า นักท่องเที่ยวเดินทางมาอังกฤษเพราะสถาบันกษัตริย์” สมิธแสดงความเห็นและแย้งว่าตรงกันข้าม จะมีคนมากมายที่พร้อมจะหนีจากพิธีนี้ต่างหาก

คำตอบที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ บ็อบ มอร์ริส (Bob Morris) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน อธิบายถึงสาเหตุที่รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่าย เพราะพระราชพิธีนี้ถือเป็น ‘งานของรัฐ’ สืบเนื่องจากพิธีเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ หลังจากประมุขแห่งรัฐเสียชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเป็นใครก็ตาม

ริชาร์ด ฟิตซ์วิลเลียม (Richard FitzWilliam) ผู้เชี่ยวชาญราชวงศ์อังกฤษ ยังมองว่า ถ้ารัฐไม่แบกรับค่าใช้จ่ายนับว่าเป็นเรื่องแปลก และการเรียกร้องนี้อันตรายเป็นอย่างมาก หากประมุขเชิงสัญลักษณ์แห่งสหราชอาณาจักรตามระบอบประชาธิปไตย ผู้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและไม่มีอำนาจทางการเมือง เข้ามาข้องเกี่ยวกิจการแห่งรัฐและออกค่าใช้จ่ายเอง 

“คุณไม่สามารถให้ประมุขแห่งรัฐทำแบบนั้นได้” เขาอธิบาย

ในขณะที่ นอร์แมน เบเกอร์ (Norman Baker) นักการเมืองจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมองว่า ต้นตอของภาษีประชาชนอันแพงหูฉี่อย่างพิธีบรมราชาภิเษก ไม่จำเป็นต้องมีเลยด้วยซ้ำ ชาร์ลส์เป็นกษัตริย์ของอังกฤษตามกฎหมายนับตั้งแต่วันที่พระราชินีผู้ล่วงลับสิ้นพระชนม์ แต่การเล่นใหญ่ของพิธีเกิดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ราชวงศ์เสียมากกว่า

ไม่ว่าข้อยุติของฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐจะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเปิดเสรีให้เรื่องราวการใช้งบประมาณ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในยุคปัจจุบัน ถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างโดยปราศจากการปิดกั้น ในขณะที่ สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อปรับตัวและสามารถคงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยไม่ผุพังไปตามกาลเวลาจากคลื่นลมของคนรุ่นใหม่

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/articles/c1d3rdmdpyvo

https://www.tatler.com/king-charles-coronation-foreign-royals-complete-list

https://www.bbc.com/news/uk-65448709

https://time.com/6274001/king-charles-iii-coronation-schedule/

https://www.bbc.com/news/uk-65342840

https://www.telegraph.co.uk/royal-family/2023/05/01/king-charles-coronation-guest-list-who-expected-attend-invited/

https://time.com/6275383/king-charles-iii-coronation-cost-taxpayers/

https://news.yahoo.com/over-half-british-not-want-183407691

https://www.theguardian.com/uk-news/commentisfree/2023/apr/29/charles-coronation-pay-king-uk-taxpayers

https://www.lbc.co.uk/news/explained/how-much-king-charles-iii-coronation-cost-who-pays-for-it/

Tags: , , , , , , ,