ปี 2567 กำลังจะจบลง นับเป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญมากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ 

หลากหลายเหตุการณ์ที่นิ้วไม่อาจนับไม่ไหว The Momentum จึงเลือกข่าวสำคัญและอีเวนต์ใหญ่ในแต่ละเดือน ชวนทุกคนย้อนดูสิ่งที่เกิดในประเทศและสังคมโลกไว้ดังนี้ 

มกราคม – พิธารอดคดีหุ้นไอทีวี

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นำไปสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยบุคคลภายนอกและคู่แข่งทางการเมือง 

ข้อกล่าวหาหลักคือ พิธาถือหุ้นในบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งขัดต่อมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชนได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง เรื่องนี้นำไปสู่การพิจารณาคดีโดยศาลรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นหัวข้อที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก

ทว่าในวันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนด้วยมติ 8 ต่อ 1 เสียง ว่า บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง คำวินิจฉัยนี้ทำให้พิธา ‘ไม่ถูก’ ตัดสิทธิและยังคงมีสถานะเป็น ส.ส.ต่อไป หลังคำตัดสินพิธาแถลงขอบคุณผู้สนับสนุน และยืนยันเดินหน้าทำงานด้านการเมืองต่อ มุ่งแก้ปัญหาประชาชนและพัฒนาประเทศ

กุมภาพันธ์ – ทักษิณกลับบ้าน ‘จันทร์ส่องหล้า’ พร้อมเฝือกคาคอ หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกจากโรงพยาบาลตำรวจหลังจากการพักโทษระยะหนึ่ง โดยสวมหน้ากากอนามัยและเฝือกทางการแพทย์ที่คอ ก่อนจะเดินทางกลับบ้านจันทร์ส่องหล้าในช่วงเช้าตรู่ ข่าวการออกจากโรงพยาบาลของทักษิณได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาฯ แจ้งคำพิพากษาจำคุกทักษิณรวม 8 ปี (ภายหลังได้รับการอภัยโทษเหลือ 1 ปี และพักโทษกรณีพิเศษหลังรับโทษครบ 6 เดือน) จาก 3 คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ได้แก่ คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออก (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้, คดีหวยบนดิน และคดีแก้ไขสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปอเรชัน แต่เนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ จึงได้รับการย้ายไปโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มรับโทษ 

การพักโทษของทักษิณทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในประเด็นการที่ทักษิณได้รับการคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดระยะเวลา 6 เดือน แทนที่จะเป็นการคุมตัวในเรือนจำ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกมาชี้ว่า อาจมีการทุจริตหรือการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลในการจัดการเรื่องนี้ ทั้งยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการให้บริการทางการแพทย์ โดยแพทยสภาได้ส่งหนังสือถึงโรงพยาบาลตำรวจเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาทักษิณ เพื่อพิจารณาด้านจริยธรรมในการให้บริการ

มีนาคม – ‘วันกะเทยผ่านศึก’ กะเทยไทย ‘ตบ’ กะเทยฟิลิปปินส์ใจกลางกรุง

วันที่ 4 มีนาคม 2567 กะเทยชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 20 คน ทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์กะเทยไทย 2 ราย บริเวณซอยสุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ รวมทั้งอัดคลิปวิดีโอโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อยั่วยุท้าทาย เหตุการณ์นี้ทำให้กะเทยไทยเกิดความไม่พอใจและนัดหมายกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรวมตัวกันตอบโต้ในสถานที่เดียวกัน 

ส่งผลให้กะเทยชาวไทยนับร้อยคนมารวมตัวกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 11 ซึ่งเป็นที่พักของกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์ การเผชิญหน้ากลายเป็นการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงระหว่าง 2 กลุ่มนี้ และการต่อสู้ที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งแฮชแท็ก #สุขุมวิท11 ยังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนมีการพูดกันติดตลกแต่งตั้งวันที่ 4 มีนาคม เป็น ‘วันกะเทยผ่านศึก’ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้

เมษายน – เปิดตัว ‘หลานม่า’ ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทะยานเข้าสู่ออสการ์รอบ 15 เรื่องสุดท้าย

ในเดือนเมษายน 2567 ภาพยนตร์เรื่องหลานม่า จากค่าย GDH สร้างปรากฏการณ์ในวงการภาพยนตร์ไทยด้วยกระแสตอบรับที่ล้นหลาม ตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 4 เมษายน โดยภาพยนตร์ดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไทย-จีน เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น โดยเฉพาะความผูกพันระหว่างหลานกับอาม่า สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความรัก ความผูกพัน และการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ แต่ยังสร้างกระแสการตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง หลายบริษัทออกมาประกาศวันหยุดพิเศษในวันที่ 4 เมษายน เพื่อให้พนักงานได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยกัน

นอกจากนี้ หลานม่ายังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยการได้รับการคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ 1 ใน 15 เรื่องในการลุ้นชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม ประจำปี 2567 หลังจากที่ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนภาพยนตร์มาแล้ว 32 เรื่อง (รวมหลานม่า) ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งนับเป็นการเข้าใกล้รางวัลออสการ์มากที่สุดสำหรับไทย

พฤษภาคม – ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิต หลังอดอาหารในเรือนจำ 110 วัน 

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 28 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กรมราชทัณฑ์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและสมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ อันเป็นผลจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 110 วัน

ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำทนายความของบุ้งเปิดเผยข้อมูลว่า ในระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ บุ้งได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอเสียชีวิตก่อนนำส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ อย่างไรก็ตามกรมราชทัณฑ์ได้แถลงยืนยันว่า ได้ดูแลบุ้งตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า ได้ใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ในการกู้ชีพ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่บุ้งถูกถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำโพล ‘ขบวนเสด็จทำให้เดือดร้อนหรือไม่’ และถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567

การเสียชีวิตของบุ้งนำไปสู่ความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้สังคมกลับมาพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขังและการแสดงออกทางการเมืองในประเทศ

มิถุนายน – เลือก ส.ว.ชุดใหม่ที่ประชาชนไม่มีสิทธิ ‘เลือก’ แต่ กกต.อ้างโปร่งใสตรวจสอบได้

ในเดือนมิถุนายน 2567 ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้การเลือก ส.ว.จะเกิดขึ้นผ่านการเลือกตั้งแบบไต่ระดับ โดยเริ่มจากการเลือกตั้งในระดับอำเภอวันที่ 9 มิถุนายน ตามด้วยการเลือกตั้งในระดับจังหวัดวันที่ 16 มิถุนายน และสิ้นสุดการเลือกตั้งในระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

ผลการเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้ส่งผลให้มี ส.ว.ชุดใหม่จำนวน 200 คน พร้อมตัวสำรองอีก 100 คน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพิจารณากฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในอนาคต อย่างไรก็ตามกระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้รับความวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการสังเกตการณ์จากภายนอก โดยผู้สังเกตการณ์ถูกจำกัดพื้นที่ในการติดตามการลงคะแนนและนับคะแนน ซึ่งทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นธรรมของการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจต่างๆ ในกระบวนการนี้ เพราะระบบการเลือก ส.ว.ของประเทศไทยถูกออกแบบให้มีขั้นตอนซับซ้อน โดยเฉพาะกระบวนการ ‘เลือกไขว้’ ซึ่งตั้งใจให้เกิดความหลากหลายของตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เริ่มต้นด้วยการให้ผู้สมัครในกลุ่มวิชาชีพเดียวกัน เช่น เกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ประกอบการธุรกิจ เลือกกันเองในระดับจังหวัดเพื่อคัดเลือกตัวแทนเข้าสู่รอบต่อไป แต่ในรอบถัดมา ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเลือกตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพอื่นที่ตนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความสับสนและตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะผู้สมัครที่ต้องลงคะแนนอาจไม่มีข้อมูลหรือความรู้เพียงพอเกี่ยวกับผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่ตนต้องเลือก

กระบวนการเลือกไขว้ที่ว่านี้ถูกวิจารณ์ว่า อาจเปิดช่องให้มีการล็อกผลหรือการตกลงกันล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการลงคะแนนอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ยังพบว่า เครือข่ายของบางพรรคการเมืองใช้วิธีจัดหาผู้สมัครในกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมเสียงในวุฒิสภา การกระทำนี้ถูกมองว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของตัวแทนที่แท้จริง นอกจากนี้อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือค่าสมัคร 2,000 บาท ซึ่งถูกมองว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินไปสำหรับประชาชนในพื้นที่ชนบทหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การเลือกครั้งนี้จึงถูกวิจารณ์ว่า เป็นการจำกัดโอกาสของคนทั่วไปในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

กรกฎาคม – ปลาหมอคางดำระบาดหนัก รุกรานระบบนิเวศไทย

ในเดือนกรกฎาคม 2567 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศไทยอย่างรวดเร็ว โดยมีการแพร่ระบาดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2555 ทว่าแม้จะมีสัญญาณเตือนถึงผลกระทบที่เพิ่มขึ้น ปัญหานี้ก็ถูกมองข้ามมานานหลายปี โดยปลาหมอคางดำได้แพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องประสบปัญหาจากการที่ปลาหมอคางดำแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยในบ่อเลี้ยง ส่งผลให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศท้องถิ่นในวงกว้าง หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบต่อการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ แม้จะมีบริษัทผู้ขอนำเข้าปลาเพียงรายเดียวในไทย แต่ยังขาดหลักฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปลาที่นำเข้าเมื่อ 10 กว่าปีก่อน นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังไม่ได้รับการจัดให้อยู่ใน พ.ร.ก.ควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างถิ่น ทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น แหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตรกรรม ไม่สามารถได้รับเงินชดเชยหรือการช่วยเหลือจากรัฐ

สิงหาคม – นิติสงคราม 2567 ยุบพรรคก้าวไกล-ปลดเศรษฐา ทวีสิน ส่งผลการเมืองไทยสะเทือน

การเมืองไทยเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและระบบประชาธิปไตย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยข้อกล่าวหาว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การยุบพรรคดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงความไม่พอใจของประชาชนบางส่วนที่มองว่าการยุบพรรคนี้ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม

ในขณะเดียวกัน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 14 สิงหาคม เนื่องจากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง การปลดผู้นำรัฐบาลในครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

กันยายน – ประเทศไทยประกาศ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเป็นประเทศแรกในอาเซียน 

วันที่ 24 กันยายน 2567 ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ถือเป็นชาติแรกของอาเซียน และอันดับ 3 ของเอเชีย ที่รับรองการแต่งงานเพศเดียวกัน ต่อจากไต้หวันและเนปาล โดยได้มีการปรับแก้คำว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยไม่จำกัดเพศ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงคำเรียกจาก ‘สามี-ภรรยา’ เป็นคำว่า ‘คู่สมรส’ เพื่อสะท้อนความเท่าเทียมและการยอมรับในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่ไม่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพของบุคคล ไปจนถึงการปรับอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี

กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 หรือ 120 วันหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เริ่มได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากภาครัฐและประชาชนหลายกลุ่ม การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการยอมรับและเคารพความหลากหลายทางเพศ  

ตุลาคม – น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือในรอบ 50 ปี

ในเดือนตุลาคม 2567 ภาคเหนือของประเทศไทยประสบกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อหลายจังหวัด โดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลาก โดยเชียงใหม่ถือว่า ประสบกับน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ระดับแม่น้ำปิงสูงถึง 3.81 เมตร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำและเขตเมือง

ในขณะที่จังหวัดเชียงรายยังคงประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคม จากฝนที่ตกหนักติดต่อกันตั้งแต่เดือนกันยายน ทำให้ประชาชนใน 14 อำเภอ 66 ตำบล และ 591 หมู่บ้านได้รับผลกระทบ รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่ถูกน้ำท่วมสูง (ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม 2567 จังหวัดเชียงราย)

พฤศจิกายน – ทรัมป์กลับมาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024

โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2657 โดยสามารถเอาชนะ กมลา แฮร์ลิส (Kamala Harris) คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ทำให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาของทรัมป์หลังจากที่เขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2563 ส่งผลให้ทรัมป์กลับมามีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองสหรัฐฯ อีกครั้ง และเป็นที่จับตาของทั่วโลกเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในอนาคตของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์

ธันวาคม – เกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบ 50 ปี 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ของเกาหลีใต้ได้ประกาศกฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี โดยอ้างเหตุผลว่า จำเป็นต้องปกป้องประเทศจากภัยคุกคามที่มาจากกลุ่มสนับสนุนเกาหลีเหนือและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของเกาหลีใต้ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศ ทว่าการประกาศนี้กลับทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่กังวลว่า การใช้กฎอัยการศึกอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชน

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ การประกาศกฎอัยการศึกต้องได้รับการอนุมัติจากสมัชชาแห่งชาติ หากไม่เห็นด้วยรัฐบาลจะต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทันที โดยรัฐธรรมนูญยังคุ้มครองสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจากการจับกุมภายใต้กฎอัยการศึก เพื่อป้องกันการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมจากฝ่ายบริหาร การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดในรัฐสภา สมาชิกบางคนต้องฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเพื่อเข้าร่วมการประชุมเพื่อลงมติ และผลการประชุมระบุว่า รัฐสภาไม่เห็นชอบกับการประกาศดังกล่าว 

หลังจากการประกาศไม่นาน ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล จึงตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก หลังจากเผชิญกับกระแสการประท้วงต่อต้านจากประชาชน รวมไปถึงความกดดันจากองค์กรต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการที่รุนแรงในช่วงเวลานี้ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังอยู่ในกระบวนการถอดถอนยุน ซอกยอลออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

Tags: , , , , , , , ,