สำหรับเกาหลีใต้ ประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม หากชายคนใดพยายามหลีกเลี่ยงการ ‘เกณฑ์ทหาร’ มักกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เปรียบเสมือน ‘ตราบาป’ ครั้งสำคัญของชีวิต ดังเรื่องราวของ ยู ซึงจุน (Yoo Seung-jun) นักร้องชื่อดังในทศวรรษที่ 1990 หมดอนาคตในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ และถูกแบนไม่ให้เข้าประเทศบ้านเกิด หลังเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน และสละสัญชาติเกาหลีทิ้งในปี 2002 ท่ามกลางข้อกล่าวหาจากสังคมว่า เขาพยายามหนีการรับใช้ชาติ

ชะตากรรมดังกล่าวยังรวมถึง ‘ผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม’ (Conscientious Objector) หรือกลุ่มที่จงใจปฏิเสธการเกณฑ์ทหารภายใต้เหตุผลในเรื่องเสรีภาพ การนับถือศาสนา หรือคุณธรรมทางความคิด โดยเดอะนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) รายงานว่า กลุ่มพยานพระยะโฮวาห์ (Jehovah’s Witnesses) นิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์ ที่คัดค้านการเกณฑ์การทหารในช่วงปี 1975-1985 ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสลดจากการถูกทุบตีและทรมานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่กว่ามาตรฐานของมนุษย์

ทว่าทุกอย่างพลิกตาลปัตรครั้งใหญ่ในปี 2018 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ตัดสินว่า การอ้างสิทธิโดยอ้างมโนธรรมเพื่อคัดค้านการเกณฑ์ทหาร สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และยังให้คำแนะนำรัฐบาลเกาหลีใต้ต่อว่า ต้อง ‘ให้ทางเลือก’ กับกลุ่มคนเหล่านี้ภายในปี 2019

“ทำไมมึงไม่ออกจากประเทศไปซะ ถ้าไม่อยากเกณฑ์ทหาร!”

เสียงตะโกนโห่ร้องของประชาชนผู้คัดค้านการต่อต้านเกณฑ์ทหารหน้าศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ สะท้อนถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในวงกว้าง เมื่อทั้งประเทศกำลังยึดเรื่อง ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ มากกว่า ‘เสรีภาพของปัจเจก’ ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ระหว่างเกาหลีเหนือที่กำลังดุเดือดในเวลานั้น

ประวัติศาสตร์การ (คัดค้าน) เกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้: ทุกข์และการลงทัณฑ์ของผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม

การรับใช้ชาติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ชายเกาหลี สืบเนื่องจากผลพวงในสงครามเกาหลี แม้มีข้อตกลงสงบศึก (Armistice) ที่มีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 1953 แต่ในความเป็นจริง เกาหลีใต้ยังไม่สามารถวางใจ เพราะการมีอยู่ของ ‘อาวุธนิวเคลียร์’ และ ‘ท่าทีขึ้น-ลง’ ของเกาหลีเหนือ ที่ยังคงเป็นภัยคุกคามอันหลีกเลี่ยงได้ยาก

ตามพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารเกาหลีใต้ ชายทุกคนอายุระหว่าง 18-28 ปี ที่ผ่านเกณฑ์ด้านร่างกายและจิตใจจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยหากฝ่าฝืนต้องรับโทษทางอาญาด้วยการจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ปีเต็ม (ยังไม่รวมถึงกรณียกเว้นจากปัญหาสุขภาพ ที่ต้องรับใช้ชาติด้วยวิธีการอื่นๆ เช่นการเข้าหน่วยบริการสาธารณะ) 

จากกฎหมายเข้มงวดเช่นนี้ เกาหลีใต้จึงกลายเป็นประเทศเลื่องชื่อในการประหัตประหารกลุ่มปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะกลุ่มคัดค้านโดยอ้างมโนธรรม เดอะนิวยอร์กไทมส์เปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลโซลจำคุกผู้คัดค้านด้วยเหตุผลทางเสรีภาพและศาสนามากกว่า 19,300 ราย ตั้งแต่ปี 1958-2018 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพยานพระยะโฮวาห์

ช่วงเวลาร้ายแรงที่สุดสำหรับกลุ่มต่อต้านเกณฑ์ทหาร คงหนีไม่พ้นยุคเผด็จการครองเมืองภายใต้กฎอัยการศึกของอดีตประธานาธิบดี พัค จองฮี (Park Chung-hee) และชอน ดูฮวัน (Chun Doo-hwan) ในปี 1975-1985 โดยมีการเปิดเผยข้อมูลจากรายงานคณะกรรมาธิการประธานาธิบดีในปี 2008 ว่า นักโทษผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร มักถูกทางการทรมานร่างกายเป็นกิจวัตร ถูกซ้อมและทุบตีไม่ต่างจากกระสอบทราย

มากกว่านั้น สภาพความเป็นอยู่ยังเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์ พวกเขาต้องอาศัยในห้องขังเดี่ยวขนาดเท่า ‘ตู้โทรศัพท์’ ขณะที่ผู้คุมสั่งให้บางคน ‘ห้ามหลับ’ และบังคับให้ยืนตลอดทั้งวันทั้งคืน กระทั่งร้ายแรงที่สุด บางคนเสียชีวิตจากภาวะขาดอาหารและน้ำ 

ภาพ: Netflix

ไม่ใช่แค่ทุกข์จากบทลงโทษทางกฎหมาย เพราะการลงทัณฑ์จาก ‘สังคมและคนรอบตัว’ เลวร้ายยิ่งเสียกว่า โดย อี เยดา (Lee Yada) สมาชิกกลุ่มพยานพระยะโฮวาห์รายหนึ่งที่ปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร ให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ในปี 2015 ว่า เขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการไม่ได้ถูกยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้กระทั่งคนในครอบครัวยังรู้สึกไม่พอใจและขอไม่ยุ่งเกี่ยว

“ทำไมนายไม่ไปเกณฑ์ทหารเหมือนคนอื่นเขา? ทำไมถึงอยากเป็นเหยื่อ?” 

นี่คือคำถามจากแม่ของเยดา ก่อนเธอจะไล่ให้เขาไป ‘เข้าคุก’ หลังยอมรับว่าตอนนี้เขากำลังขอสถานะผู้ลี้ภัยอยู่ ซึ่งในภายหลัง เขาได้รับการรับรองสถานะจากฝรั่งเศสก่อนการเกณฑ์ทหาร 2 เดือน

จาก ‘การประหัตประหาร’ สู่ ‘ทางเลือกใหม่’ ของผู้ต่อต้านเกณฑ์ทหาร ด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2018 

“รัฐไม่สามารถชะลอการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อีกต่อไป”

นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้แนะนำกับรัฐบาลในวันที่ 9 มิถุนายน 2018 หลังตัดสินให้การคัดค้านการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรม สามารถกระทำได้ด้วยมติ 6 ต่อ 3 โดยอ้างอิงว่า มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เสนอทางเลือกอื่นให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ 

นอกจากคำตัดสินนี้จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ยุคใหม่ ท่ามกลางข้อโต้แย้งในสังคมว่า เสรีภาพไม่อาจอยู่เหนือผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปในปี 2004 และ 2010 ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินว่า การปฏิเสธการเกณฑ์ทหารภายใต้เสรีภาพทางศาสนาและสัมปชัญญะ (Freedom of Conscience) ไม่สามารถลบล้างความจำเป็นการปกป้องประเทศได้ 

คำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ว่าด้วย ‘ทางเลือกเพิ่มเติม’ ยังเป็นใบเบิกทางสำคัญของการเกิดขึ้น ‘บริการสาธารณะ’ สำหรับผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม หรือการทำงานในหน่วยงานราชการ ที่มีใจความสำคัญไม่ต่างจากการเกณฑ์ทหาร คือ ‘รักษาผลประโยชน์สาธารณะ’

แม้การเมืองในสภาขณะนั้นจะเต็มไปด้วยความดุเดือด เมื่อพรรคอิสรภาพเกาหลี (Liberty Korea Party) พรรคอนุรักษนิยม พยายามเสนอกฎหมายเพิ่มระยะเวลาการทำงานของผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมถึง 44 เดือน จาก 36 เดือน ซึ่งมากกว่าการประจำการตามปกติ 2 เท่า อีกทั้งยังชี้แนะข้อเสนอที่เต็มไปด้วยการทำงานอันตราย เช่นการเก็บกู้ระเบิด ทำให้สื่อเก่าแก่อย่างฮันคยอเร (Hankyoreh) ประณามว่า นี่คือบทลงโทษต่อคนกลุ่มนี้อีกรูปแบบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยดี โดยกระทรวงความมั่นคงภายในระบุว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือด้วยการเปิดกว้างต่อทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบริการสาธารณะในบ้านพักคนไร้บ้าน คุก โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือสถานีดับเพลิงก็ตาม

ตามมาด้วยการผ่านกฎหมายในรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2018 โดยอนุญาตให้ผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารเหล่านี้ทำงานราชการอื่น ซึ่งเริ่มจาก ‘งานในเรือนจำ’ เป็นอันดับแรก

ปัจจุบัน แนวคิดผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมได้รับการยอมรับในหลากหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือแม้แต่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ก็ตาม

เมื่อการทำงานในคุกเป็นทางเลือกเดียวของกลุ่มปฏิเสธเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้

ถึงกระนั้นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่ ‘ชัยชนะ’ ที่สมบูรณ์แบบสำหรับกลุ่มผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรม เมื่อไทม์ (TIME) และบีบีซี (BBC) เปิดเผยว่า การทำงานในทัณฑสถานยังคงเป็นทางเลือกเดียวสำหรับพวกเขา และทางเลือกที่ว่ายังมาพร้อมกับเงื่อนไขสุดโหด

รายละเอียดการทำงานนั่นดูราวกับง่ายดาย พวกเขาเหล่านี้ไม่ต้องเกณฑ์ทหารหรือรับการฝึกโหดเหนือมนุษย์ เพียงแค่ทำงานใน ‘เรือนจำ’ ด้วยหน้าที่ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับอาวุธปืนหรือหน้าที่ของทหาร ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัว ภารโรง หรือแม้แต่ผู้ช่วยหมอก็ดี 

ทว่าพวกเขาต้องทำงานถึง 3 ปี พร้อมระยะเวลาเคอร์ฟิวการเข้าออกเรือนจำไม่เกินสามทุ่มครึ่ง จนทำให้แอมเนสตี (Amnesty) ระบุว่า ระยะการทำงานดังกล่าวเป็นการรับใช้ชาติที่ยาวนานที่สุดในโลก โดย อาร์โนลด์ ฟาง (Arnold Fang) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกในแอมเนสตีแสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นการไม่เคารพเสรีภาพของผู้คนเหล่านี้อีกรูปแบบ

“ผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมกำลังเผชิญกับการลงโทษมากกว่าทางเลือก การจำกัดให้พวกเขาอยู่ในคุกด้วยระยะเวลานานกว่า 2 เท่าของการเกณฑ์ทหารทั่วไป ถือเป็นการไม่เคารพต่อเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อ และศาสนา” 

สาเหตุที่ฟางกล่าวเช่นนั้น เพราะปกติแล้วการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใช้ระยะ 18-21 เดือน ขึ้นอยู่กับการประจำการในรูปแบบใด เช่น หากทำงานในหน่วยสาธารณะด้วยปัญหาทางสุขภาพ ต้องใช้เวลา 21 เดือน ซึ่งนานกว่าการเป็นทหารปกติราว 3 เดือน

นี่จึงเป็นเพียง ‘ก้าวแรก’ ที่สำคัญในการต่อสู้ของกลุ่มผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม ซึ่งไม่ต่างจากการขับเคลื่อนประเด็น ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ในเกาหลีใต้ที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติตามวัฒนธรรมของชายชาติทหาร ​

 

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2018/06/28/world/asia/south-korea-military-service-conscientious-objectors.html

https://edition.cnn.com/2019/01/11/asia/conscientious-objector-south-korea-gaming-intl/index.html

https://www.theguardian.com/world/2015/may/13/amnesty-international-south-korea-free-conscientious-objectors

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/03/113_364223.html

https://time.com/6208211/south-korea-military-service-draft-conscription-conscientious-objector/

https://elaw.klri.re.kr/eng_service/lawView.do

https://www.nytimes.com/2020/10/24/world/asia/south-korea-draft-conscientious-objectors.html

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , ,