ปี 2567 นี้ตรงกับ ‘ปีมะโรง-งูใหญ่’ ตามนักษัตรแบบจีน แน่นอนว่าพูดถึงพญางูยักษ์ คนไทยส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพของพญานาค เจ้าแห่งโลกใต้พิภพบาดาล เจ้าแห่งแม่น้ำโขง ผู้ดลบันดาลทรัพย์สมบัติ โชคลาภ ให้แก่ลูกหลานผู้ศรัทธา แต่คำว่า ‘นาค’ เดิมแล้วไม่ใช่ภาษาไทย คำนี้กลับเป็นภาษาสันสกฤต ภาษาเก่าแก่ของอนุทวีปอินเดีย และนาคอินเดียไม่มีหงอนยาวสูงยาวเหมือนไทยเสียด้วย

‘นาค’ คือใคร

‘Naga/ นาค’ เป็นคำภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า งูใหญ่ โดยเฉพาะพวกงูมีแม่เบี้ย ไม่ว่าจะเป็น งูเห่า งูจงอาง ซึ่งต่างจากคำว่า ‘Sarpa/ สรรปะ’ ซึ่งแปลว่างูในภาพรวม เช่น งูดินและงูเขียว ทั้งนี้ คำว่า ‘นาคา’ ยังอธิบายถึงสิ่งอื่นที่มีขอบเขตมากกว่าเพียงแค่งูใหญ่ได้ด้วย เช่น นาคาในบางบริบทสามารถแปลว่าช้าง เมฆ หรือภูเขา เนื่องจากลักษณะยาวและคดโค้งที่คล้ายงู ความหมายเทียบเคียงนี้ชัดเจนอยู่ในชื่อ ‘ช้างปัจจัยนาเคนทร์’ หรือช้างปัจจัยนาค ของพระเวสสันดร ซึ่งหมายถึงพญาช้างผู้มอบปัจจัยแก่ผู้คนโดยรอบ และนาเคนทร์ในส่วนนี้หมายถึงช้างไม่ใช่งูใหญ่  

มีความน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือคำว่า ‘นาค’ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า Nake หรือ Naked ซึ่งหมายถึง ‘เปลือย’ ในภาษาอังกฤษ ทำให้บางครั้งนาคมีความหมายสื่อไปถึงคนพื้นเมืองผู้มิได้แต่งกายตามอย่างชาวอารยันด้วย ปัจจุบันในอินเดียยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าพวกนาค หรือนาคา คือชาวนาคาที่อยู่ในรัฐนาคาแลนด์ (Nagaland) ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ความหมายในฐานะชนพื้นเมืองยังเห็นได้ชัดในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา เช่น คัมภีร์ชื่อมหาวงศ์ ของประเทศศรีลังกา แต่งขึ้นราว พ.ศ. 900 เล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปปราบพวกนาคที่ครองเกาะลังกาอยู่ เช่นเดียวกัน ความหมายตรงนี้ นาคไม่ใช่งูแต่เป็นคนพื้นเมืองเดิมในศรีลังกา เช่น ชาวเวดด้า ซึ่งอาศัยอยู่เป็นหมื่นปีแล้ว

หรืออาจหมายความถึงคนเปลือยก็ได้ เพราะมีนักบวชผู้บูชาพระศิวะบางกลุ่มเรียกตัวเองว่านาคา โดยพวกเขานุ่งลมห่มฟ้า ไม่สวมเสื้อผ้า ทาตัวด้วยขี้เถ้า เดินเร่ร่อนไปยังสถานที่ต่างๆ

ชาวนาคาในรัฐนาคาแลนด์ ประเทศอินเดีย

ที่มา: vacationstravel

ในเชิงเทวตำนาน ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของนาคที่เราจะสามารถเห็นได้ทั้งจากวรรณกรรมพุทธศาสนาและวรรณกรรมของศาสนาฮินดู คือความสามารถในการแปลงกาย บางครั้งก็เป็นคนมีมงกุฎเป็นงู เป็นคนมีท่อนร่างเป็นงู หรือเป็นพญางูใหญ่มีหลายเศียร ทำให้นาคถูกนับถือในฐานะ Semi-Divine หรือกึ่งเทพ โดยพวกนาคปกครองจักรวาลล่าง (โลกสวรรค์-ส่วนบน โลกมนุษย์-ส่วนกลาง โลกปาตาละ-ส่วนใต้) ส่วนที่ต่ำที่สุด เรียกว่า ปาตาละโลก (Patala Lok) หรือนาคโลก (Naga Lok) คนไทยเราออกเสียงคำนี้ว่าปาดาลหรือบาดาล

มหาฤาษีนารทอธิบายว่า ปาตาละโลกสวยงามกว่าโลกสวรรค์ เต็มไปด้วยอัญมณีอันงดงาม สวน ทะเลสาบที่สวยงาม และสาวอสูรผู้น่ารัก กลิ่นหอมหวานลอยอยู่ในอากาศตลอดเวลา หลอมรวมกับเสียงเพลงอันไพเราะ ดินที่นี่มีสีขาว สีดำ สีม่วง ดินทราย สีเหลือง และหินมีสีทองด้วย ดินแดนแห่งนี้มีราชานาควาสุกรีเป็นเจ้า พวกนาค ณ ที่นี้แต่งตัวงดงาม ประดับกายด้วยเพชรอันสุขสว่าง

อีกดินแดนหนึ่งซึ่งปกครองโดยเหล่านาคคือ มหาตละโลก (Mahatala Lok) ซึ่งดินแดนนี้อยู่ในชั้นที่ 5 จากทั้งหมด 7 ชั้นของโลกส่วนใต้ เป็นที่อาศัยของพวกนาคหลายเศียร ลูกหลานของนางกัทรูและมหาฤษีกัศยปะ ซึ่งนาคตระกูลนี้ต่างกับนาคที่ปาตาละ คือมีนิสัยดุร้าย ร่างกายดำสนิท ไม่ส่วมเครื่องประดับ นาคพวกนี้หนีมาอาศัยยังมหาตละโลกเพียงเพื่อลี้ภัยจากการตามล่าของพญาครุฑเท่านั้น

มหาตละโลก (Mahatala Lok) และปาตาละโลก (Patala Lok) ตามระบบจักรวาลฮินดู 

ที่มา: Wikipedia 

‘นาค’ เทพโบราณแห่งผืนดิน

การบูชางูในอนุทวีปมีหลักฐานปรากฏเก่าที่สุดย้อนไปได้ถึงราวสมัยหินใหม่ จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีจิรันทะ (Chirand) รัฐพิหาร พบตุ๊กตาดินเผารูปงูกำหนดอายุได้ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นหลักฐานเกี่ยวกับงูที่เก่าที่สุดในเอเชียใต้ อีกตัวอย่างที่ชัดเจน คือแหล่งโบราณคดีลาลปหารี (Lal Pahari) รัฐมัธยประเทศ ซึ่งขุดค้นโดยทีมนักโบราณคดีชาวตะวันตก พบร่องรอยการบูชางูคล้ายแหล่งโบราณคดีจิรันทะ

การนับถืองูมาเด่นชัดมากอีกครั้งในยุคพระเวท มีการกล่าวถึงงูในฐานะผู้รักษาทรัพย์แห่งผืนดิน (Ahi-Budhnya – the Serpent of the Deep) ทั้งคัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงอหิพุทธยะไว้ในลักษณะที่น่ายำเกรงและพึงเคารพในทุกวันเช่นเดียวกับเทพเจ้าอื่นๆ คัมภีร์อาถรรพเวทบรรจุคาถาจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันพิษงู จากมุมมองของคัมภีร์พระเวทจะเห็นว่า คนอินเดียในสมัยนั้นมีความยำเกรงและกลัวงูพอสมควรทีเดียว อาจเป็นเพราะงูเป็นสัตว์ที่มีพิษ ทำให้ภาพของงูออกมาในเชิงที่น่ากลัวและเป็นสัตว์ที่นำพามาซึ่งเรื่องโชคร้าย

ย้อนกลับมาที่แหล่งโบราณคดีลาลปหารี ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของแหล่งโบราณคดีนี้คือ ตั้งอยู่ใกล้กับสถูปพุทธศาสนาโบราณแห่งภารหุต กำหนดอายุทางรูปแบบศิลปะและตัวอักษรได้ราว 130 ปีก่อนคริสตกาล บนเสาของรั้วล้อมรอบสถูปที่ยังหลงเหลือ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โกลกัตตา (Indian Museum, Kolkata) ปรากฏรูปพญานาคตนหนึ่งมีจารึกชื่อ จักรวกะนาคราช (Cakravaka Naga) ในรูปลักษณ์บุรุษยืนตรง (สมภังคะ) ยืนพนมมือ (อัญชลีมุทรา) หันหน้าเข้าหาสถูป ศีรษะส่วมผ้าโพกหัว ด้านบนมีหัวงู 5 หัว ข้อน่าสังเกตคือ บนสถูปแห่งนี้ปรากฏภาพเล่าเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งชาดก พุทธประวัติ และสัญลักษณ์มงคลอื่นๆ อีกทั้งยังมีการสลักภาพนาคที่มีหลักฐานอ้างอิงตามพุทธประวัติ เช่น เรื่องราวของเอลปัตระนาค (เอราปถนาค ในภาษาบาลี) ตามข้อความของคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท แต่กลับไม่เคยพบชื่อจักรวกะนาคราชในเอกสารพุทธศาสนาฉบับใดเลย จุดนี้อาจสะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่า นาคตนนี้เป็นนาคท้องถิ่นที่เคยได้รับการนับถืออยู่ก่อนแล้วบริเวณแหล่งโบราณคดีลาลปหารี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการนับถืองูในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ก่อนหน้าแล้ว

ภาพสลัก จักรวกะนาคราช (Cakravaka Naga) จากสถูปภารหุต

ที่มา: ANU Archives

ไม่ว่าจะตำแหน่งของสถูปที่ตั้งอยู่บริเวณตีนเขาของแหล่งโบราณคดีลาลปหารี การปรากฏภาพสลักจักรวกะนาคราช พร้อมทั้งหลักฐานทางวรรณกรรมอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว สะท้อนชัดถึงกระบวนการการดูดกลืนความเชื่อท้องถิ่นเดิมเข้ามาสู่ในจักรวาลของศาสนาเกิดใหม่ ในกรณีนี้คือพุทธศาสนา ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ เราก็ยังเห็นได้จากตำนานท้องถิ่นอื่นๆ ของในอินเดีย รวมทั้งของไทยด้วย โดยเรามักได้ยินเรื่องปู่นาคราชองค์ต่างๆ ในภาคอีสานบำเพ็ญเพียรตามหลักการพุทธศาสนา ซึ่งก็ย้ำชัดถึงการหลอมรวมกันระหว่างศาสนาพุทธกับความเชื่อดั้งเดิมของพื้นที่อุษาคเนย์

‘นาค’ ในอีสานมาจากไหน

ขอเริ่มเรื่องนี้ด้วยการตรวจสอบพงศาวดารล้านช้างของลาว พงศาวดารฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อแรกสร้างเมืองหลวงพระบาง มีฤาษี 2 ตนเดินทางมาชี้จุด และมีนาค 7 ตนมาเข้าเฝ้า ร่วมกันสร้างเมืองชวา (ชื่อเดิมของหลวงพระบาง) ขึ้น เรื่องเล่านี้ตีความได้ว่า เมืองหลวงพระบางเดิมเกิดจากคน 7 เผ่า จนต่อมาราชอาณาจักรลาวได้ใช้ชื่อว่า ‘ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว’ คำว่า ‘สัตนาค’ ในชื่อก็หมายถึงนาค 7 ตนเมื่อแรกสร้างพระนครนั่นเอง ในจุดนี้การกล่าวถึงฤาษี นักมานุษยวิทยาชี้ว่า เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอินเดียแบบกลางๆ ไม่แบ่งพุทธหรือพราหมณ์

ในตำนานเท้าฮุ่งท้าวเจือง วีรบุรุษผู้เป็นต้นตระกูลของชาวลาว อ้างถึงแม่น้ำโขงในชื่อ ‘กาหลง’ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า เก้าหลวง คือนาคทั้ง 9 ที่เฝ้าแม่โขงอยู่ ตำนานกำเนิดแม่น้ำโขงในอุรังคธาตุ (กำเนิดพระธาตุพนม) ซึ่งเล่ากันอยู่ในวัฒนธรรมไทย-ลาว เล่าว่า นาคเป็นผู้ทำให้เกิด แม่น้ำสำคัญ 3 สาย คือมูล ชี และของ (โขง) และยังเล่าอีกว่า ในบริเวณหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เป็นที่อยู่ของนาคใหญ่ นาคตนหนึ่งชื่อชีวายนาค เป็นผู้สร้างแม่น้ำอู ตรงเมืองหลวงพระบาง โดยการควักเอาดินออก เกิดเป็นทางน้ำและเขา (คำว่า อู มาจากอุรังคธาตุ หมายถึง กระดูกส่วนไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อกันว่า ประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุพนม) แม้แต่ในตำนานพระร่วงของสุโขทัยก็ว่ากันว่า ท่านเป็นลูกนางนาค

ตำนานเหล่านี้อาจจะดูซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่เน้นให้เห็นคือ นาคมีความสำคัญมากกับคนในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว บริเวณภาคอีสานตอนบน ตัดภาพมาที่อีสานใต้สักนิด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ แถบนี้วัฒนธรรมเขมรเป็นพื้นหลังที่แข็งแรงมาก คนเขมรจริงๆ ก็นับถือนาคเหมือนกับคนลาว โดยเชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายหญิงของพวกเขาคือนางนาคชื่อ โสมา แต่งกับเจ้าชายหนุ่ม ชื่อ พระทอง เกิดเป็นตำนานพระทองนางนาคและราชวงศ์เขมรสืบมา

ในจดหมายเหตุโจต้ากวน ราชทูตจีน เดินทางมาราชสำนักเขมรในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 เล่าว่า มีปราสาทชื่อ ปักสีจำกง กษัตริย์เขมรต้องขึ้นไปนอนกับนางนาคทุกคืนบนนั้น หากไม่ไปจะเกิดโชคร้าย ที่เล่ามาตรงนี้จะบอกว่า นาคเป็นวัฒนธรรมและความเชื่อร่วมกันของพื้นที่อุษาคเนย์ในฐานะบรรพชน และในฐานะผู้สร้างสรรค์ภูมิศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์บางพื้นที่ในภูมิภาค

หลังรับวัฒนธรรมพุทธศาสนา นาคแบบโบราณของชาวอุษาคเนย์เริ่มดึงเอาความเป็นอินเดียมาผสม นาคกลายมาเป็นผู้รับใช้พระพุทธศาสนา เช่น ตำนานพระบาทบัวบกของจังหวัดอุดรธานี เล่าว่าพญานาครับพระธาตุจากพุทธเจ้าแล้วสร้างพระธาตุบริเวณปากถ้ำของตนเพื่อคอยดูแลพระธาตุ และรูปแบบของพญานาคก็พูดตามตรงว่ามีความซับซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา คือแบ่งชนชั้นของนาคออกเป็นตระกูลต่างๆ ตามแบบอินเดีย

‘นาคให้หวย’ พลังที่สืบต่อมาจากบรรพกาล

ปัจจุบัน การบูชานาคในอินเดียยังเป็นกิจกรรมที่คนทั่วไปปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย มีวันสำคัญอย่าง ‘นาคปัญจมี’ เพื่อบูชานาคโดยเฉพาะ วัดของพญาวาสุกรีในอินเดียภาคใต้ก็มักพบเห็นหินสลักรูปงูได้ทั่วไป ในภาคตะวันออกก็มีเทพงูท้องถิ่นอย่างมันสาเทวี (Mansa Devi) ชาวอินเดียเชื่อว่า การบูชานาคจะช่วยให้เราได้รับสิ่งทางโลกที่ปรารถนาแต่ไม่อาจนำไปสู่การหลุดพ้นได้

มันสาเทวี (Mansa Devi)

ที่มา: Wikipedia

ฉะนั้น หากถามว่านาคศักดิ์สิทธิ์ไหม? สำหรับผมแน่นอนครับ ความพิศวงของมนุษย์เราที่มีต่อสัตว์ไร้ขาชนิดนี้ ไม่เคยจางหายมาตลอดระยะเวลาหลายพันหลายหมื่นปีของอารยธรรมมนุษย์

กระโดดกลับมายังขอบเขตของวัฒนธรรมไทย-ลาว พญานาคในเชิงหนึ่งคือ ‘บรรพบุรุษ’ เวลาคนเราไม่สบายใจ คนแรกๆ ที่เราจะนึกถึงคือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พญานาคก็เช่นกัน ในภาวะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน คนอีสานจึงหันกลับหาความรู้สึกผูกพันเดิมที่ตนมีกับพญานาค กลับไปหาเหล่านาคในลักษณะหลานกลับไปหาพ่อปู่แม่ย่า พอมองแบบนั้นจึงทำให้รู้สึกได้ว่า คนเราในปัจจุบันทุกข์มาก ลึกๆ แล้วเราโหยหายความอบอุ่น ความรู้สึกปลอดภัย

ผมจึงมองว่า นาคศักดิ์สิทธิ์เพราะนาคมอบความอบอุ่นให้คนอีสานได้และให้มาตลอด อีกปัจจัยที่ส่งผลให้คนหันมาไหว้พญานาคมากขึ้น ก็เพราะ ‘สื่อ’ ที่ประโคมข่าวกัน ถึงขนาดที่ปัจจุบันมีรายการพาไปมู (คำย่อของ มูเตลู) โดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้ก็ประเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ คนจึงหันไปไหว้ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันมากขึ้น

“เขาว่าดีก็เอาลองดูสักหน่อย เผื่อจะดีขึ้น เผื่อจะถูกรางวัล”

แหล่งที่มาข้อมูล

Apte, Vaman Shivram (1997). The student’s English-Sanskrit dictionary. Delhi: Motilal Banarsidass.

Bloss, Lowell W. (1973). The Buddha and the Naga: A Study in Buddhist Folk Religiosity, History of Religions, Vol. 13, No. 1 (August), pp. 36-53

Dimmitt, Cornelia (2012). Classical Hindu Mythology: A Reader in the Sanskrit Puranas. Temple University Press

Mukherjee, U. N. (1961). NAGA WORSHIP IN ANCIENT INDIA, AND ITS REFERENCE IN VEDIC LITERATURE, Proceedings of the Indian History Congress, Vol. 24, pp. 84-87

ปรานี วงษ์เทศ. (2549). เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์). กรุงเทพฯ: มติชน.

ธนโชติ เกียรติณภัทร. (2565). “พระร่วง” ลูกนางนาค สะท้อนสัมพันธ์ร่วมเมืองน่านและกลุ่มชนลุ่มน้ำโขง, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2537). “นาค” แม่น้ำโขง เชื่อมโยงเครือญาติ “ไทย-ลาว” กับ “มอญ-เขมร”, ศิลปวัฒนธรรมฉบับมีนาคม.

สำนักหอสมุดแห่งชาติ, (2565). ประชุมคำนำคำอธิบายหนังสือของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เล่ม 2 ประวัติศาสตร์ ตอน 2, กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ

Tags: , , , , ,