‘ปุรุษะ นปุงสกะ นารี วา ชิวะ จราจระ โกอี 

สรรวะ ภาวะ ภชะ กปฏะ ตชี โมฮี ปรมะ ปรีถะ โสอี’

(อันว่า บุรุษ เพศกลาง สตรี สัตว์ แลพืชพันธุ์ ผู้ใดเข้าหาเรา (ราม) หลังละแล้วซึ่งความอกุศล ผู้นั้นคือผู้เป็นที่รักแห่งเรา) – รามจริตมานัส (กัณฑ์ที่ 7 โศลกที่ 87)

ศาสนาฮินดู หนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยืนหยัดท้าทายการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์นับพันปี และดูเหมือนว่าศาสนาโบราณนี้ยังคงมอบสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกในยุคปัจจุบันอย่างไม่หยุดหย่อน

ศาสนาฮินดูหรือบางคนรู้จักในชื่อ ‘ศาสนาพราหมณ์’ ถือกำเนิดขึ้นในอนุทวีปอินเดียราว 4,500 ปีที่แล้ว มีลักษณะเด่นคือการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ มีนิกาย คัมภีร์ และพิธีกรรมมากมาย ที่สำคัญคือไร้ซึ่งองค์กรกลางทางศาสนาใดๆ ที่ชวนให้สับสน 

ปัจจุบัน ศาสนาโบราณนี้มีศาสนิกชนมากเป็นอันดับสามของโลก ด้วยความไร้องค์กร คัมภีร์เดี่ยว หรือเทพเจ้าองค์เดียว ทำให้ศาสนาฮินดูมีลักษณะพิเศษ คือมีความหลากหลายสูง เปิดรับ เปิดกว้าง และไม่เบียดเบียน กระนั้นศาสนาฮินดูยังคงมีแกนแนวคิดกว้างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนิกายต่างๆ คือการเวียนว่ายตายเกิด กรรม ธรรมะ และการหลุดพ้น

ศาสนาฮินดูจัดอยู่ในศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด (Karmic Religions) เหมือนกับศาสนาอื่นที่เกิดในอินเดีย เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน และศาสนาซิกข์ โดยอธิบายว่า ในร่างกายมนุษย์เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณที่เรียกว่า ‘อาตมัน’ และเมื่อร่างกายสิ้นอายุขัยลง อาตมันจะออกจากร่างเพื่อกลับมาเกิดใหม่ตามกรรมที่ได้กระทำไว้

การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนี้ขึ้นอยู่กับการปลดพันธนาการของกรรม ซึ่งสามารถกระทำได้หลายวิธี 

1. การทำโยคะเพื่อให้เกิดการตื่นรู้ (Self-Realization) ว่าแท้จริงแล้วร่างกายนี้ไม่ใช่เรา เราคืออาตมัน และอาตมันคือสากล

2. การปฏิบัติตามหน้าที่ของตน – ‘ธรรมะ’ ในความหมายตามภาษาสันสกฤต ไม่ใช่หลักธรรมคำสอน แต่หมายถึง ‘หน้าที่ทางสังคม’ ที่มนุษย์พึงปฏิบัติตาม ในคัมภีร์ภควัทคีตา พระกฤษณะอธิบายว่า มนุษย์พึงปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างตั้งมั่นเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมหมู่มาก (ทำโดยไม่หวังผล) และการรักษาธรรมะนี้จะนำไปสู่การหลุดพ้นในท้ายที่สุด

3. วิธีที่ง่ายกว่านั้น คือการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า เรียกว่า ‘ภักติ’ หมายถึง การอุทิศทั้งชีวิตเพื่อรับใช้ สรรเสริญ และภาวนาถึงพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่ง เพื่อให้พระองค์ประทานความหลุดพ้นให้ 

ศาสนาฮินดูและมุมมองต่อ LGBTQIA+

    ในคัมภีร์ภควัทคีตา บทที่ 13 โศลกที่ 22 กล่าวว่า

“ในทุกๆ กายเนื้อสถิตซึ่งอาตมัน ผู้เห็น ผู้นำทาง ผู้สนับสนุน และผู้เปี่ยมสุขด้วยสิ่งซึ่งผัสสะได้ประสบ”

มีผู้ตีความว่า จริงอยู่ที่ดวงจิตหรืออาตมันของมนุษย์ทั้งหลายไร้เพศหรือรูปลักษณ์ แต่จากข้อความข้างต้นและความเชื่อเรื่องกรรมสะท้อนว่า อาตมันเป็นตัวกำหนดมาก่อนแล้วว่า ร่างกายที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะมีลักษณะอย่างไร ด้วยคำกล่าวที่ว่า “อาตมัน ผู้เห็น ผู้นำทาง ผู้สนับสนุน” อาตมันจึงอาจมีลักษณะของความเป็นผู้หญิง แต่ด้วยผลของกรรมจำต้องมาเกิดในร่างผู้ชาย

    ในทางเทวตำนาน ตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับความลื่นไหลทางเพศถูกขับเน้นและแสดงออกอยู่ตลอดเวลา เช่น ครั้งหนึ่งพระศิวะปรากฏพระองค์ในลักษณะครึ่งหญิงและครึ่งชาย เรียกว่า ‘อรรธนารีศวร’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวของจักรวาลให้พระนางปารวตีเข้าใจ โดยคำว่า อรรธนารีศวร นั้นมีความหมายว่า ครึ่งนารีครึ่งผู้เป็นใหญ่หรือเพศชาย

    ตำนานท้องถิ่นหนึ่งในรัฐเกรละ (Kerala) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ได้เล่าถึงการกำเนิดของเทพท้องถิ่นองค์หนึ่งชื่อ ‘สวามีอัยยัปปา’ ไว้อย่างน่าสนใจและตื่นเต้นว่า ครั้งหนึ่งพระวิษณุแปลงองค์เป็นนางโมหินีเพื่อหลอกล่อบรรดาอสูรให้ออกห่างจากน้ำอมฤต เพื่อให้เหล่าเทวดาได้ดื่มกันอย่างสะดวกสบาย ปรากฏว่าด้วยความงามอย่างหาผู้ใดเปรียบของนาง ทำให้พระศิวะเกิดความหลงใหล วิ่งเข้าใส่พระวิษณุจำแลง ผลสรุปพระศิวะและนางโมหินีก็ได้สังวาสกัน ถือกำเนิดเป็นสวามีอัยยัปปา เทพท้องถิ่นในเขตอินเดียใต้ ตำนานนี้จะว่าไปก็ชวนให้นึกถึงข่าวคู่รักข้ามเพศ เช่น เรื่องราวความรักของ ปิยธิดา นวลอินทร์ ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ทอม’ กับ นิรุต อุ่นเจริญ ผู้บอกว่าเขาเป็น ‘เกย์’

    อีกหนึ่งตำนานที่น่าสนใจมาก คือรัฐทมิฬนาฑู ในอินเดียใต้ มีคนกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า ‘อิราวานี’ เป็นสาวกของพระอิราวัน ลูกชายของอรชุนกับนางนาคอุลูปี โดยสมาชิกของกลุ่มอิราวานีเกือบทั้งหมดเป็นกะเทย และเดือนจิตติไร (Cittirai Month) ตามปฏิทินจันทรคติแบบทมิฬ หรือระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พวกเธอจะมารวมตัวกันที่เมืองโกวากัม (Koovagam) เพื่อแต่งงานกับพระอิราวัน

    ตามตำนานระบุว่า พระอิราวันยอมเสียสละตัวเองเป็นเครื่องสังเวยเพื่อให้พ่อรบชนะสงครามมหาภารตะ แต่ก่อนตายพระอิราวันได้ขอแต่งงานก่อน พระกฤษณะจึงแปลงกายเป็นนางโมหินีเพื่อแต่งงานกับพระอิราวัน เหล่าสาวข้ามเพศจึงกระทำตามอย่างนั้นด้วย พวกเธอยอมเป็นโมหินีให้กับอิราวัน แต่ความเศร้าสลดก็เกิดขึ้นหลังจากพิธีแต่งงาน เมื่อพระอิราวันตาย โมหินีแสนสวยทั้งหลายถูกยึดเครื่องหมายของเจ้าสาวคืน กลายเป็นหญิงม่ายไร้สามีที่ต้องทนทุกข์ทรมาน

     ยังมีตำนานอื่นๆ อีกมากมายที่แพร่กระจายอยู่ทั่วอินเดีย เช่น กลุ่มรามสักขี ผู้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นเอกบุรุษหนึ่งเดียวของจักรวาล ฉะนั้น มนุษย์ทุกคนเป็นผู้หญิงทั้งหมด นักบวชทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายต้องใส่ส่าหรี มีหน้าที่ปรนนิบัติพระเจ้าและดื่มด่ำความรักในฐานะชายาของพระองค์ 

     ผู้เขียนอยากชวนย้อนดูโศลกที่ยกมาช่วงต้น จากรามจริตมานัส ของท่านมหากวีตุลสีทาส ในโศลกบทดังกล่าวสะท้อนชัดว่า โลกนี้ช่างหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงชายหรือหญิงเท่านั้น ยังมีกลุ่มคนตรงกลาง และเบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้าทุกคนเสมอเหมือนกันทั้งหมด

มาตรา 377 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย

    ความเปิดกว้างและการมีตัวตนของเพศหลากหลายทั้งในแบบครึ่งชายครึ่งหญิง ชายกลายเป็นหญิง หรืออื่นๆ ในศาสนาฮินดูนั้น ราวกับว่าศาสนานี้เปิดกว้างและต้อนรับชาว LGBTQIA+ เป็นอย่างมาก ทว่าในทางกลับกัน สังคมมนุษย์ไม่ได้สวยงามดั่งเช่นเทพนิยาย

    เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2023 สำนักข่าว The Hindustan Time รายงานข่าวว่า ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) สองคนถูกแทงเสียชีวิตที่เมืองไฮเดอราบัด (Hyderabad) เมืองหลวงของรัฐเตลังกานา โดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี ข่าวอันน่าหดหู่เช่นนี้ยังคงได้ยินอยู่เรื่อยๆ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อปี 2018 ศาลสูงแห่งอินเดีย (Supreme Court of India) ประกาศหมุดหมายสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนไปแล้วก็ตาม

    ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2018 เวลา 12.25 น. ศาลสูงแห่งอินเดียประกาศให้ มาตรา 377 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย (Indian Penal Code) ว่าด้วยให้ถือว่าการมีเพศสัมพันธ์อย่างผิดธรรมชาติ (Unnatural Offences) จะด้วยเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ดี กับผู้ชาย ผู้หญิง หรือสัตว์ก็ดี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแห่งอินเดีย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

    มาตรา 377 ตามประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย หากพิจารณากันตามประวัติศาสตร์กฎหมายของอินเดียแล้ว ไม่ใช่มรดกของคนอินเดียเอง แต่เป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมเมื่อกว่า 100 ปีก่อน จักรวรรดิอังกฤษแนะนำให้คนอินเดียรู้จักกับกฎหมายนี้ ซึ่งร่างขึ้นโดยชาวอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี 1862 นอกจากนั้นในปี 1871 รัฐบาลอังกฤษผ่านพระราชบัญญัติ Criminal Tribes Act เพื่อควบคุมและติดตามการกระทำของกลุ่ม เผ่า และองค์กรที่เข้าข่ายความรุนแรงตามความคิดของอังกฤษ อันหมายรวมถึง ‘ศีลธรรมอันดีแบบวิกตอเรียน’ (British Victorian Morality) นำไปสู่การเข้าจัดการชุมชนกะเทยในหลายพื้นที่ เริ่มจากมุมไบเป็นแห่งแรก ซึ่งชุมชนกะเทยถูกทำให้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม บีบให้กะเทยต้องกลายเป็นโสเภณี ขอทานเพื่อแลกกับคำอวยพรหรือคำสาป และเจ้าอาณานิคมยังอ้างว่าเป็นกลุ่มลักพาตัวเด็กชายไปทำมิดีมิร้ายด้วย 

    ความคิดแบบอังกฤษเข้าครอบงำอนุทวีปอยู่นานกว่าสองศตวรรษ กัดกินภาพฉากความหลากหลายที่เขียนเอาไว้ในเทพนิกาย คัมภีร์ทางศาสนา หรือแม้แต่หลักการทางศาสนา ผู้คนเห็นกะเทย หรือที่คนอินเดียเรียกว่า ‘ฮิจรา’ เป็นตัวประหลาด

ลักษมี นารยัน ตรีปฐี

ท่ามกลางความมืดมนนั้น ความหลากหลายทางเพศของอินเดียกลับหาทางออกให้กับตัวเองได้ในที่สุด ในปี 2009 มีความพยายามแรกที่จะแก้ไขมาตรา 377 จนกระทั่งนำมาสู่ความสำเร็จในปี 2023 ซึ่ง ลักษมี นารยัน ตรีปฐี (Laxmi Narayan Tripathi) เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

ลักษมี นารยัน ตรีปฐี หรือลูกศิษย์เรียกเธอว่า ‘Big Boss’ เกิดเมื่อปี 1978 ในครอบครัวพราหมณ์ชั้นสูงจากรัฐมหาราษฎร เธอรู้ว่าตัวเองพิเศษมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.5 เธอมักถูกเพื่อนในห้องเรียนล้อเลียนถึงอัตลักษณ์และท่าทางของเธอด้วยคำว่า ‘Homo’ ซึ่งหมายถึงเกย์ หากเปรียบเทียบกับภาษาไทยคงจะใกล้เคียงกับคำว่า ‘ไอ้ตุ๊ด’

ลักษมีเคยให้สัมภาษณ์กับ สันธยา ดังวัล (Sandhya Dangwal) นักเขียนด้านสิทธิมนุษยชนและเพศหลากหลายชาวอินเดีย ว่า “ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองแตกต่าง แต่คนรอบข้างต่างหากที่ทำให้มันแตกต่าง ฉันเป็นตัวเองแบบนี้มาตลอด แต่คนอื่นกลับเห็นฉันเป็นอื่น ฉันไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่ฉันเป็นฉัน”

หลังจากจบการศึกษาด้านภารตนาฏยัม (นาฏศิลป์อินเดีย) เธอเริ่มเข้าสู่วงการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มตัว ตั้งแต่เข้าร่วมกับกลุ่ม NGO ต่างๆ กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าของ NGO DAI Welfare Society องค์กรอาสาสมัครเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศแห่งแรกของเอเชียใต้ในปี 2002 ก่อนจะตั้งองค์กรของตัวเองในปี 2007 ในนาม ASTITVA – An Organisation for the Support & Development of Sexual Minorities เพื่อช่วยเหลือกลุ่มฮิจราและผู้มีความหลากหลายทางเพศจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความรุนแรงในครอบครัว

ลักษมี นารยัน ตรีปฐี (ที่มา: AFP)

กะเทย นักบวช และที่ทางในอ้อมอกศาสนา

    ในปี 2016 กลุ่มหญิงข้ามเพศร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม ‘กินนราอขาระ (Kinnara Akhara)’ โดยมีลักษมีเป็นผู้นำอขาระ นับเป็นองค์กรศาสนาแรกที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มฮิจรา ในปีเดียวกันหลังการจัดตั้งอขาระ พวกเธอได้เข้าร่วมเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของศาสนาฮินดู คือ ‘กุมภะเมลา (Kumbha Mela)’ ณ เมืองอุชเชน (Ujjain) พร้อมกับนักบวช นาคา และสาธุจากทั่วทั้งอินเดียกว่าล้านชีวิต รวมตัวกันเพื่อลงอาบน้ำในแม่น้ำศิประ (Shipra) หนึ่งในสี่มหานทีที่เชื่อว่าพระวิษณุทรงหยดน้ำอมฤตเอาไว้

ลักษมี นารยัน ตรีปฐี ท่ามกลางฝูงชน (ที่มา: Reuters)

 

    อนึ่ง อขาระคือกลุ่มนักบวชในศาสนาฮินดู สืบทอดต่อกันในระบบครูสู่ศิษย์ (สัมประทายะ – Sampradaya) อาจสืบย้อนกลับไปได้ราวพุทธศตวรรษที่ 10 ลักษณะสำคัญหนึ่งของอขาระ คือสาธุหรือนักบวชในอขาระ นอกจากมีความรู้ในด้านศาสนธรรมแล้ว ยังมีความสามารถในศิลปะป้องกันตัวด้วย โดยพวกเขาจะถือตัวเองเป็นนักรบแห่งพระผู้เป็นเจ้า มีหน้าที่ปกป้อง ‘ธรรมะ’ ให้ดำรงอยู่ ฉะนั้นนักบวชผู้สังกัดอขาระต่างๆ จึงมักถือสันโดษ แยกตัวออกจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือพระศิวะ แต่ก็มีกลุ่มที่อยู่รวมกันเป็นองค์กรเพื่อมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้คนผู้ตกยาก ปัจจุบันมีอขาระทั้งสิ้น 13 อขาระ แบ่งได้เป็นกลุ่มนับถือพระศิวะ 7 อขาระ พระวิษณุ 3 อขาระ และกลุ่มอทาสินอีก 3 อขาระ

    สำหรับกินนราอขาระของลักษมี เป็นอขาระใหม่ ภายใต้ชุนะอขาระ (Juna Akhara) ซึ่งเป็นอขาระใหญ่ที่สุดจาก 7 ไศวะอขาระ มีลักษณะเป็นองค์กรจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ตกยาก และเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับหญิงข้ามเพศ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหญิงข้ามเพศและความหลากหลายทางเพศในศาสนาฮินดูด้วย 

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ การเข้าร่วมเทศกาลกุมภะเมลาของพวกเธอประสบความสำเร็จเกินคาด กระทรวงวัฒนธรรมอินเดียออกประกาศว่า กินนราอขาระจะจัดตั้งอาศรมของพวกเธอที่นี่

    ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2018 เมื่อกินนราอขาระกลับมาร่วมเทศกาลกุมภะเมลาอีกครั้งที่เมืองประยาคราช (Prayagraj) ในครั้งนี้ คุณแม่ลักษมีนำกลุ่มฮิจราลงอาบน้ำบริเวณที่แม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนามาบรรจบกัน อีกทั้งเธอยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘มหามัณฑเลศวร’ (Mahamandaleshwar) หรือเจ้าคณะปกครอง จาก มหามัณฑเลศวร สวามี อวเธศนันทะ คีรี จี มหาราช (Mahamandaleshwar Swami Awadheshanand Giri Ji Maharaj) หัวหน้าชุนะอขาระ 

นับเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของกินนราอขาระและลักษมี เพราะการได้รับตำแหน่งในระดับเจ้าคณะ แปลว่าเธอมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับกลุ่มศาสนิกชนและนักบวชในสังกัดของเธออย่างเต็มที่

    นอกจากจะเป็นก้าวกระโดดของตัวลักษมีและกลุ่มของเธอแล้ว การมีฮิจราขึ้นดำรงตำแหน่งนักบวชระดับสูงก็เป็นก้าวกระโดดสำคัญทางศาสนาเช่นกัน ภาพนี้สะท้อนชัดเจนและตอกย้ำว่า ศาสนาฮินดูเปิดกว้างขนาดไหน ลักษมีเคยกล่าวในปี 2016 เมื่อครั้งนำกลุ่มของเธอเข้าร่วมกุมภะเมลาครั้งแรกที่เมืองอุชเชน ว่า

“คนข้ามเพศเป็นส่วนหนึ่งของสนาตนธรรม (ฮินดูธรรม) และพวกเขาเคยได้รับสถานะที่น่านับถือในมหากาพย์ทางศาสนาและเทวตำนาน อขาระจึงเสมือนเวทีให้คนข้ามเพศดำเนินชีวิตอย่างสง่างามด้วยพิธีกรรมทางศาสนา”

    ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คืองานกุมภะเมลาในปี 2018 จัดขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม การที่กลุ่มศาสนายอมรับในตัวคุณแม่ลักษมีอาจนับเป็นแรงกระเพื่อมหนึ่งทางสังคมที่มีผลต่อการพิจารณาแก้ไขมาตรา 377 ของศาลสูงแห่งอินเดียหรือไม่ หรือเพียงเพราะถึงเวลาอันสมควรแล้วก็เท่านั้น

 อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือการเกิดขึ้นและเข้าร่วมเทศกาลกุมภะเมลาทั้งสองครั้ง (ปี 2016 และ 2018) ของกลุ่มกินนระอขาระ เกิดขึ้นในบรรยากาศทางการเมืองซึ่งพรรครัฐบาล (พรรค BJP) มีแนวคิดฮินดูนิยม การอนุญาตให้กลุ่มของลักษมีเข้าร่วมกุมภะเมลาทั้งสองครั้ง และการมอบตำแหน่งมหามัณฑเลศวรให้กับลักษมี จึงอาจมีพลวัตทางการเมืองแบบฮินดูนิยมเพื่อสร้างภาพอันเป็นบวกให้กับสังคมฮินดูเหนือกว่าศาสนาอื่น และสร้างคุณค่าของศาสนาฮินดูให้ดูเปิดกว้างเพื่อหวังผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลังด้วยหรือไม่

    อย่างไรก็ดี คำพูดของลักษมีที่ยกมาข้างต้น ยังพาเราย้อนกลับไปสู่แก่นความคิดอันเปิดกว้างของศาสนาฮินดู การยอมรับซึ่งความหลากหลายของสังคมอินเดียที่มีมาแต่โบราณ ทั้งยังสะท้อนภาพที่ชัดเจนในเรื่องของการมีอยู่ ตัวตน และตำแหน่งของคนข้ามเพศในศาสนาฮินดู ฉะนั้น ตำแหน่งมหามัณฑเลศวรของลักษมีจึงเสมือนการดึงฮิจรากลับมายังพื้นที่ของโลกศาสนาอีกครั้ง พื้นที่ที่พวกเธอเคยมีตัวตนอยู่ แต่สูญเสียมันไปในช่วงอาณานิคม

 

อ้างอิง

Johnson, Jerry, Tulleken, Loraine & Mokgethi-Heath, J.P. I am divine so you are: How Buddhism, Jainism, Sikhism and Hinduism Affirm the Dignity of Queer Identities and Sexualities. Haryana: Harper Coline, 2017, 119.

https://www.bbc.com/thai/thailand-60344863

https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1897917

Hinchy, Jessica. Governing Gender and Sexuality in Colonial India: The Hijra, c.1850–1900. Cambridge University Press, 2019.

Knowing Laxmi Narayan Tripathi- Interviewed by Sandhya Dangwal เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=66gj3xdLOds

https://www.ndtv.com/india-news/kinnar-akhara-group-of-transgender-saints-to-build-ashram-in-prayagraj-1981107

https://www.ndtv.com/india-news/kinnar-akhara-group-of-transgender-saints-to-build-ashram-in-prayagraj-1981107

Tags: , ,