เป็นเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ ที่ ‘กันดั้ม’ (Gundam) แอนิเมชันซีรีส์แนวสงคราม-ไซไฟ สามารถครองใจผู้คนได้ทั่วโลก ส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เพียงเนื้อหาที่เข้มข้น สอดแทรกด้วยข้อคิดเกี่ยวกับการเมืองโลก หรือความสูญเสียจากการเข่นฆ่ากันเองของมนุษย์ แต่รวมไปถึงคาแรกเตอร์ ‘หุ่นรบ’ (Mobile Suit) ที่มีรูปร่างหน้าตาดุดัน ยุทโธปกรณ์เหนือจินตนาการ ทั้งดาบเลเซอร์ ปืนบีมไรเฟิล ปืนใหญ่พลังงานนิวเคลียร์ ฯลฯ พลันจินตนาการว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราได้ขึ้นขับหุ่นเหล่านี้จริงๆ
อย่างไรก็ดี โลกแห่งความเป็นจริงเราไม่จำเป็นต้องสร้างอาวุธสุดอันตรายเช่นนั้น เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ‘กันพลา’ (Gunpla) หรือหุ่นกันดั้มในรูปแบบโมเดลพลาสติก (Plastic Model Kits) ขนาดพอดีมือ ที่บันได (Bandai) บริษัทผู้ผลิตของเล่นชื่อดังจากแดนอาทิตย์อุทัย วางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1980 พร้อมพัฒนาลูกเล่น สีสัน และความทันสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับซีรีส์หุ่นรบอวกาศ ที่มีการออกฉายภาคใหม่เกือบทุกปี
ขณะเดียวกัน อิทธิพลของกันพลาได้แผ่ขยายมาถึงในประเทศไทย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยหลงใหลศาสตร์และศิลป์การประกอบโมเดลพลาสติกชนิดนี้ มีการใช้อุปกรณ์ลงสีแบบต่างๆ ไม่ว่าจะสีน้ำมัน สีสเปรย์ ปากกาเมจิกตัดเส้น สุดแต่จะดัดแปลง สร้างกันพลาคู่ใจให้มีความเท่ดังปรารถนา
วันหนึ่ง ระหว่างที่เราหนีอุณหภูมิร้อนระอุจากแดดเดือนเมษายน เข้าไปหลบในห้างเซียร์รังสิต บังเอิญได้พบ ไอซ์-รังสรรค์ วันดี เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Gunpla Builder Thailand ที่กำลังง่วนกับการจัด ‘Platopia’ งานชุมนุมของคนรักกันดั้ม ที่มีการประกวดกันพลานานาชนิด ก่อนมีโอกาสสนทนาจนรู้ว่า ของเล่นไซซ์เล็กนี้มีค่ากว่าแค่ความเท่ แต่ยังแปรเปลี่ยนเป็นอาชีพและแรงผลักดันในการใช้ชีวิต
“มีวันหนึ่งได้ไปเดินตลาดสำเพ็งกับแม่ แล้วเห็นหุ่นกันดั้มรุ่น Strike Freedom เตะตาถูกใจมากก็เลยอ้อนขอแกซื้อ แต่พอกลับมาบ้านเรางงตาแตก ทำไมมันมีพลาสติกหลายชิ้นจังวะ สติกเกอร์อะไรไม่รู้อีก 4-5 แผง แถมต่อเสร็จก็ขยับได้ไม่กี่จุด สุดท้ายเราเลยตั้งไว้เฉยๆ ไม่ได้สนใจอะไร”
รังสรรค์ชวนเราเข้าสู่บนสนทนา ผ่านการทวนความทรงจำของเขาที่มีต่อหุ่นรบพลาสติก เดิมทีรังสรรค์มีความสนใจกันดั้มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อเติบโตขึ้น กระแสสังคมและความชอบที่เปลี่ยนไปทำให้หลงลืมไปบ้าง กระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้เจอเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ช่วยปัดฝุ่นความทรงจำดังกล่าวขึ้นมาอีกหน
“กระทั่งเข้ามหา’ลัยปี 1 เพื่อนเราชวนกลับมาดูกันดั้มภาค OO เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เนื้อหาภาคนั้นเล่าถึงมุมมองทางการเมืองอย่างเข้มข้น หุ่นรบสวย ตัวละครก็มีคาแรกเตอร์ชัดเจน ทำให้นึกอยากกลับมาต่อกันพลาอีกครั้งเป็นงานอดิเรก นับจากตอนนั้นถึงปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 10 พอดี
“ประจวบกับเป็นช่วงที่เฟซบุ๊กเฟื่องฟูพอดี ก็เลยตัดสินใจเปิดเพจ Gunpla Builder Thailand ที่ลงข่าวสารเกี่ยวกับซีรีส์กันดั้ม และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสนทนาแก่คนชอบเล่นกันพลา ผลปรากฏว่ากระแสค่อนข้างดี มีคนสนใจเข้ามาพูดคุยหลายวัย หลายกลุ่ม”
ไม่ช้าเจ้าของเพจ Gunpla Builder Thailand อาสาพาเราเดินทัวร์รอบงาน Platopia โปรเจกต์ที่เขากับเพื่อนๆ ร่วมกันออกแรงจัด โดยมี Seventeen Gunpla Shop ร้านขายกันพลาประจำชั้น 2 หน้าลาน Tamiya ของห้างเซียร์รังสิต เป็นสปอนเซอร์ ท่ามกลางกันพลาหลากหลายสไตล์ตั้งโชว์เรียงราย บางตัวทำสีใหม่หัวจรดเท้า บางตัวเสริมแกร่งด้วยอาวุธ สร้างฉากจำลองว่ากำลังเข้าห้ำหั่นกัน
รังสรรค์อธิบายว่า งานจะจัดขึ้นสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-2 เมษยน 2566 จุดประสงค์นอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรักกันพลาได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความชอบแบบเดียวกัน ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้มีฝีมือต่อกันพลาได้เฉิดฉาย ผ่านการประกวดรังสรรค์หุ่นรบตามแบบฉบับของตน โดยมีกติกาคือ กันพลาที่จะนำมาใช้ต้องมาจากเฉพาะภาค The Witch From Mercury ซึ่งเป็นภาคล่าสุดที่กำลังออกฉายเท่านั้น
ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจัดงานลักษณะนี้ขึ้น ย้อนกลับไปราว 10 ปี คอมมูนิตี้ของคนรักกันดั้มในไทยค่อยๆ เบ่งบานทีละนิด กระทั่งรังสรรค์และผองเพื่อนที่เปิดเพจ Gunpla Builder Thailand ตัดสินใจทำหน้าที่ชักชวนคนรักกันดั้มให้ออกมาร่วมทำกิจกรรมกัน โดยมีสถานที่นัดหมายเป็นร้านขายกันพลา ย่านพระราม 9 ความทรงจำครานั้นเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และมิตรภาพ มีการจัดกิจกรรมเล็กๆ เช่น หาคนประกอบกันพลาได้เร็วที่สุด เพื่อแลกกับของรางวัลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ หรือเวิร์กชอปให้ความรู้แก่ผู้ที่หัดต่อกันพลา
ที่น่าสนใจ คือมีคนเข้าร่วมตั้งแต่เด็กเล็กระดับนักเรียนชั้นประถม จนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน บ้างก็เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่จูงลูกมาหาประสบการณ์ และที่สำคัญยังเป็นการสร้างรายได้เข้ากระเป๋าให้กับร้านขายกันพลา ที่ยอมเปิดพื้นที่หน้าร้านให้พวกเขาได้ทำกิจกรรม ดังสุภาษิตน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
“ถ้าจะหัดเล่นกันพลาต้องเตรียมตัวอย่างไร” ผมถามด้วยความสงสัย หลังกวาดสายตาจนทั่วงานพบหุ่นรบหน้าตาไม่ซ้ำ ขนาดเล็กใหญ่ลดหลั่นกันไป บางตัวดูผอมเพรียว บางตัวหัวกลมโต ดวงตาเปล่งประกาย ไหนจะสีประเภทต่างๆ รวมถึงปากเมจิกที่ใช้เสริมความงามให้กับตัวหุ่น
รังสรรค์ที่ได้ฟังคำถามจึงอธิบายให้เราเข้าใจว่า เบื้องต้นกันพลามีการแบ่ง ‘เกรด’ หลายประเภท
1. Super Deformed (SD) มีขนาดเล็กสุด เป็นกันดั้มหัวโตหน้าตาน่ารัก มีความละเอียดไม่เยอะ เหมาะสำหรับมือใหม่หัดเล่น และมีการจำแนกแยกย่อยแต่ละรุ่น เช่น EX Standard (SDEX) Cross Silhouette (SDCS) และ Master Grade (SDMG)
2. Gundam High Grade (HG) เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยอัตราส่วน 1:144 มีความละเอียดระดับในหนึ่ง สามารถนำไปแต่งเติมได้ง่าย ยกตัวอย่าง Gundam Aerial ที่มาจากภาค The Witch From Mercury มีลักษณะเป็น Unisex ตีความเป็นเพศไหนก็ได้ นับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมปัจจุบัน
3. Gundam Master Grade (MG) มีอัตราส่วน 1:100 มีรายละเอียดประกอบแยกเป็นส่วนของโครงด้านในและด้านนอกเป็นเกราะ คล้ายกับมนุษย์ที่มีโครงกระดูกและเนื้อหนัง จึงมีรายละเอียดเยอะ ท้าทายความประณีตของคนต่อ
4. Gundam Perfec Grade (PG) มีอัตราส่วน 1:60 เป็นรุ่นที่มีรายละเอียดความสวยงามมากที่สุด ละเอียดถึงขั้นสามารถเดินไฟดวงเล็กด้านในหุ่น ดูสมจริงเหมือนในแอนิเมชัน ทำให้ราคาซื้อสูงถึงตัวละ 6,000-7,000 บาท และอาจแตะหลักหมื่นบาท แต่ถึงราคาแพงก็มีคนหาซื้อเสมอ
นอกจากนี้ รังสรรค์ได้จำแนกอุปกรณ์ที่สำคัญต่อต่อกันพลา ประกอบด้วย
- คีมตัด สำหรับตัดชิ้นส่วนออกจากแผงพลาสติกที่มีความแข็ง
2. Art Knife ใช้เฉือนพลาสติกส่วนที่นูนหรือติดออกมาจากแผงพลาสติก
3. แหนบติดสติกเกอร์ที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กจิ๋วใช้นิ้วจับลำบาก
4. สี มีหลายรูปแบบที่นักต่อสายเอาจริงเอาจังใช้ เช่น สี Air Brush สีน้ำสูตรทินเนอร์ และสีน้ำสูตรน้ำมันสน โดยความเหมาะสมขึ้นอยู่กับจุดที่ต้องการใช้ ยกตัวอย่าง จุดที่เล็กมากควรใช้สีน้ำสูตรน้ำมันสน ที่สามารถใช้กระดาษทิชชู่ซับออกได้ง่ายหากแต้มพลาด
5. ปากกาตัดเส้นสีดำ เพื่อเพิ่มมิติให้แก่หุ่นกันพลาตามจุดข้อต่อต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวปากกาตัดเส้นสูตรน้ำมันสน ที่เช็ดออกได้ง่ายเช่นกัน
เปรียบเทียบแล้วการรังสรรค์กันพลาให้มีซิกเนเจอร์ ไม่ต่างจากผลิตงานศิลปะดีๆ สักชิ้น เมื่อซักไซ้ถามไถ่กันไปมา รังสรรค์จึงเผยตัวว่า ณ ตอนนี้ เขากับเพื่อนๆ อีก 4 คน เปิดสตูดิโอชื่อว่า ‘Nextacestudio’ ที่รับทำกันพลาแบบครบวงจร ตั้งแต่ต่อใหม่จนถึงลงสี
“3 ปีก่อน เรามีอาชีพเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แนวยูทูเบอร์ แต่พอเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้กลายเป็นคนตกงาน ระหว่างนั้นเราคุยกับเพื่อนว่าจะเอาไงต่อดี ไม่อยากตื่นขึ้นมาวนเวียนอยู่แค่ในบ้าน ออกไปได้ไกลสุดคือออกไปรับข้าวกับคนส่งอาหาร ก็เลยตัดสินลองรับงานเพนต์สีกันพลาจากเพื่อนใกล้ตัว จนเราเห็นสามารถต่อยอดทำเป็นอาชีพได้ เลยลองขอห้องเล็กๆ จากพี่ที่สนิทมาเปิดเป็นสตูดิโอชื่อว่า Nextacestudio รับลงสีกันพลา ค่อยๆ พัฒนามีทีมเป็นเพื่อน เป็นรุ่นน้องคนสนิท จนทุกวันนี้ยึดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงปากท้องได้ แต่กว่าจะถึงตอนนั้นก็เพนต์เสียไปหลายตัว (หัวเราะ)”
ไม่ใช่แค่รังสรรค์ แม้แต่ หมอก-ภูชิต ชาวดร หนุ่มวัย 22 ปี ที่มาในมาดนักคอสเพลย์ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หลงเสน่ห์ของกันดั้ม และนำความชอบนั้นมาต่อยอดเป็นอาชีพรับลงสีกันพลา รวมถึงดัดแปลงรูปร่างตามสั่งจากลูกค้า
“ผมเล่นกันพลามาตั้งแต่ตอน 4 ขวบ เป็นความผูกพันที่มากกว่างานอดิเรก เริ่มแรกก็เอาคัตเตอร์จิ้มๆ ตัดๆ มาประกอบผิดหรือถูกก็ไม่รู้ (หัวเราะ) สีก็ใช้เมจิกเขียนซีดีแต้มเอา พอโตมาเริ่มชำนาญเลยลองรับอาชีพลงสีกันพลาเป็นอาชีพเสริม
“มาวันนี้ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องได้รางวัลชนะเลิศ ขอแค่ได้มาเจอสังคมคนที่มีความชอบเหมือนกันเท่านี้ก็มากพอ อะไรที่เป็นเซฟโซน ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วไม่เดือดร้อนใครทำไปเถอะครับ (ยิ้ม)”
ปัจจุบัน จุดศูนย์กลางของกันพลาตั้งอยู่ที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในชื่อ ‘กันดั้ม แฟกตอรี โยโกฮามา’ (Gundam Factory Yokohama) ในอดีตมีกันดั้มรุ่นแรก (RX-78F00) ความสูง 18 เมตร ยืนตระหง่าน ถ้าจะเปรียบเทียบให้ดูเวอร์วังคง คล้ายกับหอเอนเมืองปิซ่า ประเทศอิตาลี ที่เป็นสถาปัตยกรรมสุดคลาสสิกของชาวยุโรป แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ดูแคลนกันพลาเป็นของเล่นธรรมดาทั่วไป ซึ่งรังสรรค์ได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวกับเราว่า
“เราว่ากันพลามีคุณค่าไม่ต่างจาก Structure แทบจะไม่ต่างกันเลย เพียงแต่อยู่ในไซซ์ที่เล็กกว่า
“บางคนอาจจะคิดว่ากันพลามีราคาแพง บางคนอาจจะคิดว่ากันพลามีราคาถูก เหมือนที่คนชอบมาตั้งในกระทู้พันทิปว่า พาลูกไปเล่นที่บ้านพี่คนนั้นแล้วเผลอทำของเล่นเขาพัง ทำไมเก็บค่าเสียหายแพงจังคะ ดูแล้วราคาน่าจะแค่ไม่กี่ร้อย ไม่ว่าจะอย่างไรทุกคนมีสิทธิที่จะคิด เราไม่สามารถไปคัดค้านความคิดเขาได้ เพียงแต่เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นหลักมารยาท ผู้ปกครองควรสอนเด็กถึงมูลค่าของสิ่งนี้นะ มันมีราคาแพงเพียงแต่มาในรูปแบบของเล่น เหมือนคุณสะสมรองเท้าราคาแพง มีการรีเซล มีการปั่นราคา กลไกกการตลาดแทบไม่ต่างกัน
ก่อนจะจากกัน ชายผู้คลั่งไคล้กันดั้มได้แนะนำสั้นๆ ถึงผู้ที่อยากเข้าวงการต่อโมเดลกันพลา โดยเน้นย้ำตลอดว่า ให้วัดจากกำลังซื้อที่มีเป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจซื้อ
“ใครที่อยากเริ่มเล่น ลองประเมินกำลังทรัพย์ตัวเองก่อน โดยเฉพาะเด็กๆ หัดเล่นจากโมเดลตัวเล็ก แล้วค่อยขยายไปตัวใหญ่ พอถึงเวลาคุณมีกำลังซื้อก็จะเจ็บตัวไปเรื่อยๆ เอง (หัวเราะ) และอนาคตเราอยากให้คอมมูนิตี้คนรักกันพลาขยายไปถึงต่างจังหวัด เพราะส่วนใหญ่ที่เราจัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ถ้าเรามีกำลัง มีทุนทรัพย์มากพอ เราก็อยากไปถึงตรงนั้น” รังสรรค์ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มฉาบใบหน้า
ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า อาชีพที่เกี่ยวโยงกับของเล่นชนิดนี้จะอยู่ยงได้นานเพียงใด ถึงกระนั้น เราสามารถตัดสินได้ทันทีว่า กันดั้มเป็นมากกว่าการ์ตูนออกฉายให้คนดูไปวันๆ แต่พัฒนาอยู่ในจุดที่เรียกตนเองเป็น ‘Subculture’ และ ‘ความภูมิใจ’ ของชาวญี่ปุ่นได้เต็มปาก ทั้งมีอิทธิพลต่อสื่อทั่วโลก เห็นได้ชัดจากการถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตตามโปรดักต์ต่างๆ
หวังว่าอนาคต ประเทศไทยจะมี Subculture ที่แข็งแรงดังกันดั้มได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ต้องทลายขนบความคิดล้าหลังว่า ของเล่น การ์ตูน หรือเกม เป็นสิ่งไร้สาระ จนกลายเป็นกำแพงให้เด็กน้อยต้องหาวิธีก้าวผ่านไป จนเสียแรง เสียกำลังใจโดยใช่เหตุ
ขอให้มิตรสหายทุกท่านมีความสุขกับการต่อกันพลาช่วงวันหยุดครับ
Tags: Gundam, Platopia, Gunpla Builder Thailand, กันดั้ม, Feature