**อ่านตอนแรกได้ที่ ร่างทรง พลังจิต วิทยาศาสตร์: เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ใช้พลังพิเศษในการสงคราม  **

ในอดีต คลีฟ แบ็คสเตอร์ (Cleave Backster) เป็นเจ้าหน้าที่ต่อต้านการข่าวของกองทัพบกสหรัฐฯ (Army Counter Intelligence) เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการตรวจจับการโกหกในการสอบสวนเชลยสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเมื่อมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับซีไอเอ (แต่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของซีไอเอโดยตรง)

แบ็คสเตอร์เป็นผู้ริเริ่มโครงการใช้เครื่องจับเท็จให้กับซีไอเอ (Lie detector หรือ Polygraph ความหมายของคำนี้ค่อนข้างตรงตัว คือเป็นเครื่องที่ผลิตกราฟยึกยือจากสัญญาณชีพหลากหลายชนิด (โพลี) – ของมนุษย์)

ในการทดลองหนึ่งที่แบ็คสเตอร์ทำกับต้นไม้ในห้องของเขา เขาสนใจว่าถ้าหากติดเครื่องจับเท็จเข้ากับต้นไม้แล้วกระตุ้นมัน ผลจากเครื่องจับเท็จจะออกมาเป็นอย่างไร? แบ็คสเตอร์วางแผนจะกระตุ้นให้ต้นไม้มีปฏิกิริยาแบบเดียวกับคนที่กำลังโกหกโดยการจุดไฟที่ใบ ในขณะที่เขากำลังจะจุดไม้ขีดนั้น เครื่องจับเท็จของเขาก็มีปฏิกิริยาขึ้นมา สิ่งนี้ทำให้แบ็คสเตอร์มั่นใจว่าต้นไม้ก็มีความนึกคิดและจิตใจเหมือนกันกับมนุษย์ และสนใจที่จะทำการทดลองต่อไปว่าต้นไม้สื่อสารระหว่างกันด้วยพลังงานรูปแบบใด

ในปี 1972 นักฟิสิกส์คนหนึ่งที่ชื่อ ดร.แฮโรลด์ ฮาล พัทฮอฟฟ์ แห่งสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute – SRI) เป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์เฉียดตายมาก่อน และจากเหตุการณ์นั้น เขามั่นใจว่ามนุษย์น่าจะมีพลังพิเศษอะไรบางอย่าง เขาเขียนจดหมายถึงคลีฟ แบ็คสเตอร์ เพื่อเสนอการทดลองที่เกี่ยวกับพืชคล้ายกับที่แบ็คสเตอร์เคยทำ ดร.พัทฮอฟฟ์ต้องการจะทดลองว่าพืชนั้นสามารถสื่อสารทางไกลได้หรือไม่ ดร.พัทฮอฟฟ์ออกแบบการทดลองโดยจะปลูกสาหร่ายในน้ำหนึ่งถัง จากนั้นแบ่งสาหร่ายออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้อยู่แยกกันเป็นระยะทาง 5 ไมล์ จากนั้นใช้เลเซอร์ยิงทำลายสาหร่ายกลุ่มหนึ่งแล้วดูว่าสาหร่ายอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ห่างกันไป 5 ไมล์จะมีปฏิกิริยาอย่างไร

หลังจากได้รับจดหมายของ ดร.พัทฮอฟฟ์ แบ็คสเตอร์ได้พบกับผู้มีพลังจิตอีกคนหนึ่งชื่อดักลาส อินโก สวอน (Douglas Ingo Swann) อดีตพลทหารกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่ามีความสามารถในการ ‘ถอดจิตออกจากร่าง’ (out-of-body experience อีกชื่อหนึ่งคือ travelling clairvoyance) เพื่อไปเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกสายตาของตัวเขาได้

ผู้ที่ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าสวอนนั้นมีพลังพิเศษนี้จริงคือ ดร.คาร์ลิส โอซิส หัวหน้าฝ่ายวิจัยของสมาคมวิจัยพลังจิตแห่งอเมริกา (American Society of Psychical Research) ในเมืองนิวยอร์ก เขาทดลองโดยให้สวอนนั่งอยู่บนโซฟาแล้วแขวนกล่องทึบใบหนึ่งที่มีสิ่งของอยู่ด้านในด้านบนโซฟา แล้วให้สวอน ‘ถอดจิต’ ออกจากร่างเพื่อไปดูว่าของที่อยู่ในกล่องคืออะไร ซึ่งการทดลองนี้ทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ผลที่เป็นบวกทุกครั้ง

ในวงสังคมชั้นสูงเชื่อถือผลการทดลองนี้ แต่สื่อหลายแห่งไม่เชื่อ และบอกว่าสวอนเป็นแค่นักต้มตุ๋น แบ็คสเตอร์จึงคิดขึ้นมาได้ว่า แทนที่จะทำการทดลองกับสาหร่าย ลองมาทำการทดลองโดยตรงกับผู้มีพลังจิตเลยดีกว่า จะได้เป็นการพิสูจน์พลังจิตโดยนักวิทยาศาสตร์ไปในเวลาเดียวกันด้วย แบ็คสเตอร์จึงแนะนำให้อินโก สวอน ติดต่อดร.พัทฮอฟฟ์เพื่อไปรับการทดสอบพลังจิตโดยนักฟิสิกส์ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวแปรที่เข้มงวด ในเดือนมิถุนายน ปี 1972 อินโก สวอนจึงเดินทางไปพบกับ ดร.พัทฮอฟฟ์ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ดตามคำแนะนำของแบ็คสเตอร์

พลังจิตของสวอน และอุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กที่เคลื่อนไหว

หลังจากที่อินโก สวอนมาถึงสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ดร.พัทฮอฟฟ์ ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ได้คิดการทดลองที่ไม่สามารถโกงได้ เพื่อพิสูจน์ว่าสวอนสามารถใช้พลังจิตได้จริงๆ การทดลองดังกล่าวใช้อุปกรณ์ที่มีเพียงไม่กี่คนในโลกสามารถเข้าถึงได้ คือ อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็ก (Magnetometer) แบบที่ใช้สารตัวนำยิ่งยวด (ภาษาอังกฤษคือ Superconducting Quantum Interference Device – SQUID) ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้อาคาร Varian Physics Hall ภายในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

โดยหลักการแล้ว อุปกรณ์นี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหาอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม (subatomic particle) ที่เรียกว่าควาร์ก (quark) ซึ่งก็คืออนุภาคที่เป็นส่วนประกอบของโปรตอนและนิวตรอน อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กนี้จึงมีความไวที่สูงมากเพื่อทำการทดลองหาควาร์กในการทดลองทางด้านฟิสิกส์อนุภาค อุปกรณ์นี้เป็นหนึ่งในโครงการทดลองที่ให้ทุนโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ดังนั้นแบบแปลนและรูปร่างที่แท้จริงของอุปกรณ์จึงเป็นความลับทางทหารที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะในขณะนั้น

เพื่อเป็นการทดสอบว่าสวอนนั้นสามารถสร้างพลังงานบางอย่างแบบเดียวกับที่เขาใช้เพื่อถอดจิตออกจากร่างเพื่อไปดูสิ่งของได้ ดร.พัทฮอฟฟ์ จึงออกแบบการทดลองโดยพาสวอนเข้าไปที่ห้องที่มีเครื่องบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก ลักษณะก็คือมีดินสอติดกับปลายแท่งเหล็กที่จะขยับขึ้น-ลงในแนวนอนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กและมีกระดาษกราฟที่เป็นตารางสี่เหลี่ยมเลื่อนไปตามสายพานเพื่อบันทึกการขยับของดินสอนั้น ห้องนี้อยู่ด้านบนของอุปกรณ์ตัวจริงอีกทีหนึ่งเพื่อไม่ให้สวอนได้เห็น

ในห้องดังกล่าวมีเจ้าของโครงการทดลองที่เป็นผู้สร้างอุปกรณ์​นี้ รวมทั้งนักเรียนและนักวิจัยในโครงการรวมแปดคนที่เข้ามาสังเกตการณ์และเป็นพยานในการทดลอง ทุกคนล้วนแล้วแต่ไม่เชื่อว่าสวอนนั้นมีพลังจิตและคาดว่าสวอนคงไม่สามารถทำให้เข็มของอุปกรณ์ขยับได้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อ ดร.พัทฮอฟฟ์ บอกให้สวอนเพ่งกระแสจิตเพื่อทำให้เครื่องบันทึกขยับ ในครั้งแรกสวอนไม่สามารถทำให้เครื่องบันทึกมีปฏิกิริยาอะไรได้ สวอนจึงขอกระดาษเพื่อร่างภาพอุปกรณ์ที่อยู่ข้างใต้จากการที่สวอนได้ ‘ถอดจิต’ ออกไปดู โดยบอกว่าเอาไว้ใช้เพื่อเพ่งกระแสจิตทำให้เครื่องบันทึกขยับ หลังจากนั้นไม่นานเครื่องบันทึกก็ขยับได้ และขยับได้ตามเวลาที่ ดร.พัทฮอฟฟ์บอกให้ขยับด้วย นักเรียนและนักวิจัยทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างก็งุนงงกับผลที่ออกมา

ในคืนเดียวกันนั้นเอง เหล่านักวิจัยซึ่งสงสัยว่าอุปกรณ์อาจจะเสีย จึงเปิดอุปกรณ์เอาไว้ทั้งคืนเพื่อดูว่าเครื่องบันทึกจะขยับเองแบบสุ่มหรือไม่ (นัยว่าเพื่อพิสูจน์ว่าที่อุปกรณ์บันทึกขยับระหว่างที่สวอนอยู่นั้นเกิดขึ้นแบบสุ่มอยู่แล้ว) ผลปรากฏว่าไม่พบการขยับใดๆ จากเครื่องมืออีกเลยในคืนนั้น

ดร.พัทฮอฟฟ์เขียนรายงานผลการทดลองนี้ส่งให้กับสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่สองคนจากซีไอเอจึงได้เข้าพบกับ ดร.พัทฮอฟฟ์ โดยมาพร้อมกับรายงานผลการทดลองนั้น และขอให้ ดร. พัทฮอฟฟ์ทำการทดลองแบบเดียวกันนี้อีกกับอูริ เกลเลอร์ ผู้มีพลังจิตอีกคนหนึ่งที่กำลังจะมาสหรัฐอเมริกาตามคำชวนของ นพ.พูฮาริคนั่นเอง

โปรแกรมตรวจวัดสนามพลังชีวะ ของซีไอเอ

ซีไอเอมีข้อจำกัดบางอย่างในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับเกลเลอร์กับ นพ.พูฮาริค นั่นก็คือภายในองค์กรซีไอเอเองมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ไม่เชื่อว่าพลังจิตเหล่านี้เป็นเรื่องจริง และคิดว่าซีไอเอไม่ควรเกี่ยวข้องกับการทดสอบหรือใช้งานผู้มีพลังจิตเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้เอง ทางซีไอเอจึงได้จัดระบบการจ่ายเงินให้กับ นพ.พูฮาริค และเกลเลอร์ผ่านทางมูลนิธิที่อดีตนักบินอวกาศเอ็ดการ์ มิตเชล (ที่ได้เขียนถึงไว้ในตอนที่แล้ว) ก่อตั้งขึ้นแทน

ซีไอเอตั้งชื่อโครงการทดสอบเหล่านี้ในเอกสารทางการว่าเป็น ‘โปรแกรมตรวจวัดสนามพลังชีวะ’ หรือ ‘Biofield Measurement Program’ (ในขณะที่นักวิเคราะห์ของซีไอเอเองนั้นเรียกโครงการนี้แบบดูถูกว่า ‘โครงการวิจัยการรับรู้เหนือธรรมชาติ’ หรือ ‘Paranormal Perception Research Project’) การทดลองที่ ดร.พัทฮอฟฟ์ทำกับเกลเลอร์นั้นมีตั้งแต่ให้เขาทายหน้าบนสุดของลูกเต๋าที่อยู่ในกล่องทึบหลังจากเขย่าแล้ว เกลเลอร์ทายถูกแปดครั้งติดต่อกัน โอกาสที่จะได้ผลแบบนี้หากทำการทดลองแบบสุ่มมีเพียงหนึ่งในล้านครั้ง

อีกการทดลองหนึ่งคือเอากล่องเหล็กทึบมาวางเรียงกันสิบกล่อง สามในสิบกล่องมีของอยู่ข้างใน กล่องหนึ่งมีหยดน้ำ กล่องที่สองมีลูกปืนเล็กๆ หนึ่งลูก และกล่องที่สามมีแม่เหล็กชิ้นเล็ก เกลเกลอร์ใช้มือลอยอยู่เหนือกล่องโดยไม่แตะต้อง และต้องบอกว่ากล่องใดบ้างเป็นกล่องเปล่า สุดท้ายเมื่อเหลือเพียงสามกล่อง ก็ให้เกลเลอร์ระบุว่าในสามกล่องนั้นมีอะไรอยู่ ดร.พัทฮอฟฟ์ทำการทดลองนี้ซ้ำ 12 ครั้งโดยเกลเลอร์ทายถูกทุกครั้ง ทั้งกล่องเปล่าและกล่องที่มีของอยู่ โอกาสที่จะได้ผลแบบนี้หากทำการทดลองแบบสุ่มคือหนึ่งในล้านล้านครั้งเท่านั้น

การทดลองสุดท้ายคือให้เกลเลอร์ใช้พลังจิตเคลื่อนย้ายวัตถุทำให้เครื่องชั่งที่อยู่ในโหลแก้วนั้นขยับโดยที่ไม่แตะต้องเครื่องชั่งหรือโหลแก้ว ผลปรากฏว่าเกลเลอร์ทำให้เครื่องชั่งวัดน้ำหนักได้ตั้งแต่ 50-1,500 มิลลิกรัม (หรือคือ 0.5-15 กรัม) โดยใช้พลังจิต

เจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ดูแลโครงการนี้เป็นนายแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine) ชื่อคริสโตเฟอร์ คิท กรีน (Christopher Kit Green) กรีนเชี่ยวชาญการวิเคราะห์สาเหตุการป่วยและเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติของเหล่าสายลับซีไอเอและสนใจการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย เขาจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการนี้

หลังจากที่ซีไอเอได้รับรายงานเกี่ยวกับการทดลองพลังจิตจากสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด หน่วยงานหนึ่งซึ่งดูแลงานด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมที่ชื่อ ‘อาร์ปา’ (Advanced Research Project Agency – ARPA ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น Defense Advanced Research Project Agency – DARPA อันโด่งดังในภายหลัง) ก็ได้รับรายงานนี้ด้วย อาร์ปาจึงติดต่อเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ขององค์กรไปทดสอบเกลเลอร์ด้วยตัวเอง

จากผลการทดสอบนั้น อาร์ปารายงานเพียงว่าใครก็ตามที่เชื่อว่าเกลเลอร์มีพลังจิตนั้นเป็นพวก “เหลวไหลไร้สาระ” คิท กรีน ผู้ไม่เชื่อว่าพลังจิตนั้นมีจริงได้พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องปรับความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่

ปริศนาการมองเห็นจากระยะไกล แม้ไม่มีกล้องวงจรปิด

ครั้งหนึ่ง ดร.พัทฮอฟฟ์โทรศัพท์ไปหากรีนหลังจากที่อาร์ปาได้ทดสอบเกลเลอร์แล้ว โดย ดร.พัทฮอฟฟ์พยายามจะพิสูจน์ให้กรีนเชื่อว่าเกลเลอร์มีพลังจิตจริงๆ (ในเวลานั้น เกลเลอร์รู้แต่เพียงว่า ดร.พัทฮอฟฟ์ กำลังคุยกับ “เพื่อนร่วมงานที่ชายฝั่งตะวันออก” เท่านั้น ไม่ได้บอกว่ากรีนทำงานอะไร ให้กับองค์กรใด หรืออยู่ที่ไหน) เกลเลอร์จึงบอกกับกรีนว่าให้เปิดหนังสืออะไรก็ได้ที่กรีนมีในห้องทำงานที่สำนักงานใหญ่ซีไอเอ โดยขอให้เป็นหนังสือที่มีภาพที่ชัดเจนเพื่อที่เกลเลอร์จะได้มองเห็นได้และร่างภาพที่กรีนเห็นอยู่ได้

ขณะนั้นกรีนกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพที่มีผลต่อสมองมนุษย์และเปิดหนังสือที่มีภาพตัดขวางของสมองมนุษย์อยู่พร้อมกับคำที่กรีนเขียนไว้บนหนังสือด้วยตัวเองว่า ‘Architecture of viral infection’ เกลเลอร์เพ่งกระแสจิตแล้วบอกกรีนผ่านทางโทรศัพท์ว่าเขาสัมผัสอย่างแรงกล้าได้ถึงคำหนึ่งในหนังสือที่กรีนเปิดอยู่คือคำว่า ‘Architecture’ และร่างภาพที่เหมือนกับไข่ออกมา (ซึ่งดูคล้ายกับภาพตัดขวางของสมองมนุษย์)

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดจะแพร่หลายและก่อนที่จะมีโปรแกรมวิดีโอแชตอย่าง Skype เสียอีก การเกลเลอร์จะเข้าถึงอุปกรณ์สอดแนมใดๆ นั้นอาจจะเป็นไปได้ แต่การที่จะนำอุปกรณ์สอดแนมเหล่านั้นเข้าไปติดในห้องของคนที่เกลเลอร์ไม่รู้จักในสำนักงานใหญ่ซีไอเอนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวนี้แล้วคุณผู้อ่านอาจจะคล้อยตามที่แอนนี เจค็อบเซน เขียนมา ผมขอสารภาพตามตรงว่าตอนอ่านครั้งแรก ผมก็คล้อยตามไปไม่น้อยเหมือนกัน แต่หลังจากที่ผมลองคิดอีกมุมหนึ่งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ว่ามีคำอธิบายอื่นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้หรือไม่ ผมพอจะอธิบายได้ดังนี้

  1. เรื่องผลการทดลองของอินโก สวอน กับเครื่องวัดสนามแม่เหล็ก แนวคิดที่จะสร้างอุปกรณ์ที่ว่านี้มีขึ้นก่อนหน้าปี 1972 เพียงไม่กี่ปี ด้วยความที่อุปกรณ์นี้มีความไวค่อนข้างสูง มีความเป็นไปได้ว่าที่เครื่องบันทึกนั้นทำงานอาจเกิดจากการที่คนจำนวนมากถึงสิบคนเข้าไปอยู่ในห้องนั้น และส่งผลให้อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กทำงานก็เป็นไปได้
  2. เรื่องที่เกลเลอร์ร่างภาพได้ใกล้เคียงกับรูปสมองและกล่าวถึงคำว่า ‘Architecture’ ได้แม่นยำ ขอให้สังเกตว่าเกลเลอร์บอกให้กรีนเลือกหนังสือที่มีภาพชัดเจน หนังสือที่มีรูปภาพชัดเจนนั้นมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากว่าจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม (Architecture) รูปภาพไข่คนนั้นเมื่อคิดอย่างถี่ถ้วนสักหน่อยจะเห็นได้ว่ารูปร่างเป็นวงกลมซ้อนๆ กันนั้นก็เป็นรูปทรงที่มีอยู่ได้ทั่วไปในหนังสือภาพที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมนั่นเอง ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนให้ทายใจมนุษย์ได้ดีนั้นสามารถชี้นำเรื่องแบบนี้ได้ไม่ยาก (และอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเกลเลอร์เองก็อาจจะได้รับการฝึกและทำงานให้กับมอสสาดก็ได้ เรื่องนี้ในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกลลอร์ทำงานให้มอสสาดหรือไม่)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของซีไอเอมองว่า แม้ว่าจะยังพิสูจน์แบบฟันธงไม่ได้ว่าพลังจิตเหล่านี้มีจริง หรือว่ามันทำงานได้อย่างไร แต่หากซีไอเอสามารถนำมาใช้ได้ ก็น่าที่จะลงทุนในการศึกษาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

ในตอนหน้าจะเขียนถึงช่วงที่โครงการวิจัยพลังจิตนั้นถูกเปลี่ยนไปอยู่ในการควบคุมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โปรดติดตามตอนต่อไป

Fact Box

เรื่องราวการทดลองพลังลี้ลับที่ดำเนินการโดยกองทัพและหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ปรากฏในหนังสือชื่อ Phenomena: the secret history of the U.S. Government’s investigations into extrasensory perception and psychokinesis (แปลเป็นไทยได้ว่า ปรากฏการณ์: ประวัติศาสตร์ลับของการสืบสวนสอบสวนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องสัมผัสที่หกและพลังจิตเคลื่อนย้ายวัตถุ) เขียนโดยแอนนี เจค็อบเซน (Annie Jacobsen)

Tags: , , , ,