แม้ในปี 2023 ผลงานเรื่องล่าสุดของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) อย่าง Barbie จะเป็นหนังเรื่องเด่นตีคู่มากับ Oppenheimer ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ทั้งในแง่ของรายได้ที่กวาดไปร่วม 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงในแง่คำวิจารณ์ที่ได้รับเสียงชื่นชม ทั้งในส่วนของบทที่สามารถบอกเล่าประเด็นของผู้คนในโลกปิตาธิปไตยอย่างเจ็บแสบ 

ทว่าในเวทีการประกวดกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ เคน (แสดงโดย ไรอัน กอสลิง) ตัวละครที่สะท้อนถึงความปิตาธิปไตย เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ในขณะที่ มาร์โกต์ รอบบี (Margot Robbie) เจ้าของบทนำ กลับไร้ชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมไปถึงเกรตาก็ไม่ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเช่นกัน

จากเหตุการณ์ข้างต้น นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหัวข้อ ‘Oscars Snubs’ หรือปรากฏการณ์นักแสดงและผู้กำกับที่ถูกลืมในเวทีออสการ์ แต่ในครั้งนี้กลับซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก เมื่อหลายคนมองว่าการพลาดรางวัลของนักแสดงนำและผู้กำกับเรื่องบาร์บี้ สะท้อนถึงความเป็นไปของกลุ่มเฟมินิสต์ที่เกิดขึ้นในสังคมปิตาธิปไตย เช่นที่เนื้อเรื่องในหนังต้องการสื่อสารไม่ผิดเพี้ยน 

ถึงขนาดที่ ไมเคิล คูบี (Micheal Cuby) บรรณาธิการจากสื่อออนไลน์ Them โพสต์ผ่านแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ตัวละครเคนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ไม่ใช่ตัวละครอย่างบารบี้ อืม… ช่างเหมาะสมจริงๆ สำหรับหนังเกี่ยวกับผู้ชายที่ค้นพบพลังของปิตาธิปไตยที่ฉายบนโลกใบนี้”

เอ็ม.จี ลอร์ด (M.G Lord) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และผู้เขียนหนังสือ Forever Barbie เขียนถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านบทความ Barbie Biographer on What’s Really Behind the ‘Barbie’ Oscar Snubs บนเว็บไซต์ The Hollywood Reporter โดยอธิบายถึงสิ่งสำคัญที่ออสการ์มองข้ามหนังเรื่องนี้ ที่ไม่ใช่เหล่าตุ๊กตาอันเป็นตัวแทนของเด็กสาว แต่คือการเนรมิตโลกของบาร์บี้ด้วยวิสัยทัศน์ของเกรตามากกว่า

ในบทความดังกล่าว ลอร์ดยังอธิบายอีกว่า Mattel บริษัทผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ ไม่ใช่ผู้คิดค้นหรือเจ้าของโลกของบาร์บี้ (Barbie Land) แต่เป็นผลงานของเกรตาที่เธอพยายามฉายภาพให้ผู้ชมเห็นถึงช่วงเวลาที่เด็กผู้หญิงหลายคนอยู่กับตุ๊กตา ก่อนที่ประสบการณ์ตรงนั้นจะสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดให้เขากลายเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เข้าใจมนุษย์และโลกอย่างถูกต้อง และเมื่อถึงเวลานั้น โลกของบาร์บี้แลนด์ก็จะค่อยๆ หายไป และถูกแทนที่โดยสังคมปิตาธิปไตยที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน 

“บาร์บี้แลนด์เป็นสถานที่อันไร้เดียงสาเรื่องเพศ ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงอยากจะเป็นอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ถูกจับจ้องด้วยความใคร่จากเพศชาย” ลอร์ดอธิบายผ่านบทความพร้อมตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบาร์บี้บนเวทีออสการ์ คือภาพสะท้อนที่น่าสนใจสำหรับการทำงานขององค์กรหนึ่งบนสังคมปิตาธิปไตย ที่กำลังมองข้ามอะไรบ้างอย่างไปหรือไม่ 

ทว่าอีกมุมหนึ่งก็มีนักแสดงบางส่วนมองว่า การที่มาร์โกต์และเกรตาพลาดเข้าชิงรางวัลออสการ์ ไม่ได้เกี่ยวกับการที่ออสการ์มองข้ามหรือหลงลืมอะไรไป โดย วูปี โกลด์เบิร์ก (Whoopi Goldberg) นักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง Ghost (1990) ออกมาพูดถึงเรื่องนี้โดยระบุว่า 

“นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องออสการ์เมินประเด็นไหนหรือเรื่องอะไร คุณอย่าลืมนะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับรางวัล ความชื่นชอบในหนังสักเรื่องเป็นเรื่องค่อนข้างส่วนตัวนะ อาจมีหนังสักเรื่องที่คุณชอบมากๆ แต่คนอื่นๆ เขาไม่ได้ชอบและไม่ได้เห็นด้วยว่าควรได้รับรางวัล” 

นั่นรวมไปถึง มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ปีล่าสุดจากภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once (2022) ที่ระบุว่า เป็นเรื่องปกติสำหรับเวทีประกวดระดับโลกที่มีการแข่งขันสูง จึงไม่แปลกที่หนังบางเรื่องจะไม่ได้เข้าชิงรางวัลสักสาขา เพราะอย่าลืมว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่มีสิทธิออกเสียงในการคัดเลือกแต่ละรางวัล

น่าสนใจว่า วันที่ 11 มีนาคม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2024 นี้ Barbie จะสามารถคว้ารางวัลใดติดมือกลับบ้านได้บ้าง รวมไปถึงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมนั้น ใครจะเป็นผู้คว้ารางวัลไป ในเมื่อเกรตาและมาร์โกต์ที่เป็นตัวเก็งพลาดเข้าชิง

อ้างอิง

https://www.hollywoodreporter.com/c/news/

https://variety.com/2024/film/news/michelle-yeoh-barbie-oscar-snubs-happen-1235888885/

https://ew.com/whoopi-goldberg-reacts-barbie-snubs-oscar-nominations-8549124



Tags: , , , , , , , ,