ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

แม้การเลือกตั้ง 24 มีนาฯ จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน แต่กระแสสังคมที่ระแวงว่าจะไม่มีเลือกตั้งก็ยังไม่สิ้นสุด มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้รัฐบาล คสช.และข้าราชการซึ่งเป็น ‘เครือข่าย’ ถูกมองว่าเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง และพูดตรงๆ คือคนจำนวนมากวิตกว่าการเลือกตั้งอาจไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

เฉพาะเรื่องอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมา การปลดคุณอรวรรณ ชูดี จากช่อง 9 เพราะรายงานว่าคนรุ่นใหม่ไม่เห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ดีเบต, กองทัพดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, กกต.รับคำร้องว่าคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เขียนประวัติเท็จ ฯลฯ ยิ่งตอกย้ำให้สังคมรู้สึกว่า คสช.ทำทุกอย่างเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไป

ในบรรยากาศแบบนี้ แม้กระทั่งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรคไทยรักษาชาติก็ถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของการกำจัดคู่แข่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย ถึงความเกาะเกี่ยวของเรื่องนี้จะมีแค่สองตุลาการเข้าสู่ตำแหน่งโดย สนช.เห็นชอบ และอีกห้าคนไม่ถูก ‘เซ็ตซีโร่’ จนได้อยู่ในตำแหน่งทั้งที่ครบวาระไปแล้ว

ความหวาดระแวงทำให้การเลือกตั้งถูกโอบล้อมด้วยความรู้สึกถึงความไม่แน่นอน และต่อให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและการเลือกตั้งล่วงหน้าจะดำเนินไปแล้ว ความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจโมฆะก็ปรากฏขึ้นทันทีที่ กกต.แสดงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัครผิดพลาดหลายพื้นที่ หรือการใช้ลังกระดาษทำคูหาลงคะแนน

ท่ามกลางความระแวงที่สังคมมีต่อรัฐบาลทหารจนวิตกว่าการเลือกตั้งจะดำเนินต่อไปอย่างไร กระแสการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาฯ ทำให้สังคมสนใจว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งอย่างที่สุด หรือพูดตรงๆ คือสังคมอยากเห็นประเทศเดินหน้าสู่เส้นทางที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าเส้นทางนี้จะมี พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี ขณะที่การเลือกตั้งในอดีตมักมีสัญญาณมากพอจะทำให้พูดได้ว่าพรรคใดจะชนะ การเลือกตั้งครั้งนี้กลับยากที่จะประเมินได้จริงจังว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีพรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายราย แต่เท่าที่ได้คุยกับผู้ชิงตำแหน่งนี้จากพรรคที่มีโอกาสเป็นจริงๆ ไม่ใช่ตั้งพรรคเพื่อสนองความปรารถนาให้ได้ชื่อว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ผู้นำสี่คนจากสี่พรรคใหญ่พูดตรงกันว่ายังพูดเรื่องใครตั้งรัฐบาลไม่ได้เลย

ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคใหญ่และพรรคเล็กของทุกขั้วสะท้อนบรรยากาศในพื้นที่ตรงกันว่าเพื่อไทยคะแนนนำพรรคอื่นจริงๆ ยกเว้นภาคใต้ที่ประชาธิปัตย์ปักธงอย่างที่เป็นสามสิบปีแล้ว และทุกคนก็เล่าภาพตรงกันว่าอนาคตใหม่ ‘กระแส’ แรงมาก, พลังประชารัฐไร้กระแส แม้เพื่อไทยจะดูไม่แรงเท่าปี 2554 ด้วยเหตุที่รู้กัน

มองในแง่หนึ่ง ผลการเลือกตั้งปี 2562 น่าจะคล้ายการเลือกตั้งหลังปี 2544 ซึ่งคุณทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทยแล้วชนะทันทีที่ลงเลือกตั้งครั้งแรก จากนั้นการเลือกตั้งจบโดยพรรคที่ถูกเรียกว่า ‘ฝ่ายทักษิณ’ ชนะทั้งหมด แต่ในอีกแง่ การเมืองหลังเลือกตั้งปีนี้กลับต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาเหลือเกิน

ในการเลือกตั้ง 2562 ทุกคนที่เห็นภาพว่าเพื่อไทยจะมี ส.ส.อันดับหนึ่งล้วนเห็นภาพต่อไปว่าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ ได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญที่ พล.อ.ประยุทธ์ อำนวยการผลิตนั้นให้อำนาจ คสช.เลือกวุฒิสมาชิก 250 คนไปเลือกนายกฯ โดยหนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช.

เนื้อแท้ของระบอบเผด็จการทหารคือการปกครองประเทศตามอำเภอใจ และด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้หัวหน้า คสช.พัวพันกับการเลือกวุฒิสมาชิกทุกมิติ ตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงอยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกอะไรระหว่างการสืบทอดอำนาจกับครรลองที่ประเทศควรเป็น

เมื่อเป็นเช่นนี้ คู่แข่งของเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลปีนี้คือ คสช. ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ซึ่งมี ส.ส.เป็นอันดับสองในการเลือกตั้งทุกครั้งหลังปี 2544 แม้จะเปลี่ยนผู้นำจากคุณชวน หลีกภัย เป็นคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งได้เปรียบ ‘ฝ่ายทักษิณ’ ในแง่ที่ทหารและ ปชป.เป็นรัฐบาลช่วงเลือกตั้ง2544, 2550 และ 2554 ก็ตาม

ด้วยอำนาจในการเลือกนายกฯ ของวุฒิสภาที่ คสช.แต่งตั้ง พรรคที่ได้ ส.ส.อันดับหนึ่งอาจไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อผลักดันผู้นำพรรคเป็นนายกฯ เพราะวุฒิสมาชิก 250 คน สามารถเลือกนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับสามหรือเจ็ดก็ได้ จากนั้นบุคคลที่เป็นนายกฯ ค่อยไปรวบรวมเสียง ส.ส.เพื่อตั้งรัฐบาลอีกที

การเลือกตั้งที่รัฐบาลอาจไม่เป็นไปตามเสียงประชาชน

ภายใต้อุบายการเขียนกฎหมายเพื่อให้ได้นายกฯ ก่อนตั้งรัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ล้มล้างประเพณีการปกครองที่ประเทศยึดถือตั้งแต่ปี 2531 ว่านายกฯ ต้องมาจากพรรคที่ประชาชนให้ความไว้วางใจในการเลือกตั้งสูงสุด จากนั้นก็ยัดเยียดระบอบการปกครองที่ผู้นำไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับความยอมรับของประชาชน

สามวันหลังจากประชาชนราว 51 ล้าน ไปเลือกผู้แทนของตัวเอง คสช.ซึ่งได้อำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารปี 2557 จะประกาศชื่อวุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐไปด้วย อำนาจประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งจึงจบลงแทบจะทันทีที่หีบเลือกตั้งปิดลง

ไม่ว่าประชาชนจะลงคะแนนสูงสุดให้ผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ คนไหนจากพรรคอะไร บุคคลและพรรคดังกล่าวก็ไม่แน่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ทั้งนั้น หาก 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจใช้อำนาจที่ คสช.มอบหมายไปเลือกนายกฯ โดยลงมติเลือกบุคคลจากพรรคซึ่งสวนทางกับมติของประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตำแหน่งผู้นำประเทศหลังการเลือกตั้งจึงวางอยู่บนการปะทะของความเข้าใจเรื่องความชอบธรรมที่ต่างกันสองแบบ แบบแรกคือผู้นำที่ชอบธรรมต้องมาจากความยอมรับของประชาชนที่แสดงออกผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง ส่วนแบบที่สองคือความชอบด้วยกฎหมายซึ่งเขียนโดยผู้มีอำนาจในช่วงห้าปี

ไม่ว่าประชาชนจะลงคะแนนสูงสุดให้ผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ คนไหนจากพรรคอะไร บุคคลและพรรคดังกล่าวก็ไม่แน่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ทั้งนั้น

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ประเทศไทยหลังวันที่ 24 มีนา จะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มซึ่งมีความคิดเรื่องผู้นำทางการเมืองที่ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งนั้นเห็นว่าผู้นำการเมืองต้องอิงกับ Legitimacy หรือความชอบธรรมตามหลักการ แต่อีกฝ่ายเห็นว่าผู้นำการเมืองเป็นเรื่อง Legality หรือการทำตามกฎหมายบ้านเมือง

หากรัฐธรรมนูญรับรองว่านายกฯ ต้องมาจากผู้นำที่มีความชอบธรรมเพราะได้ความยอมรับจากประชาชนสูงสุด พรรคซึ่งมี ส.ส.อันดับหนึ่งสมควรเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลและนายกฯ แน่ๆ แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คนที่ประชาชนไว้ใจน้อยเป็นนายกฯ ได้ ผลเลือกตั้งกับการได้มาซึ่งนายกฯ ย่อมไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ในเงื่อนไขทางการเมืองที่ คสช.กำหนดขึ้น การเลือกตั้งกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลกลายเป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันเกือบจะสมบูรณ์

ด้วยบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน คนไทยจึงเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยความรู้สึกสองอย่างกำกับอารมณ์สังคมถึงขีดสุด หนึ่งคือความรู้สึกว่า คสช.ทำทุกอย่างเพื่อกำจัดคู่แข่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังที่กล่าวไป และสองคือ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ 250 ส.ว.เลือกตัวเองเป็นนายกฯ โดยไม่คำนึงถึงความยอมรับของประชาชน

ไม่ว่า คสช.จะมีพฤติกรรมเหล่านี้จริงหรือไม่ ประสบการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดห้าปีหลังรัฐประหาร 2557 ทำให้คนจำนวนมากมองการเมืองผ่านเลนส์ที่ประมวลการรับรู้ว่า คสช.เป็นศูนย์กลางของ ‘เครือข่าย’ ที่มุ่งกำกับประเทศไว้ใต้อาณัติตัวเองไม่รู้จบ ต่อให้ คสช.อาจเป็นหรือไม่เป็นแบบนี้ก็ตาม

ด้วยเหตุจากความหวาดระแวงแบบนี้ ประเด็นเรื่องมีเลือกตั้งหรือไม่จึงเป็นหัวข้อที่คนพูดกันทั่วไป และในเมื่อรัฐประหารคือวิธีเดียวที่จะล้มเลือกตั้งได้จริงๆ ความระแวงนี้จึงสะท้อนความระแวงว่า ผบ.ทบ.จะรัฐประหารไปด้วย เพราะ ผบ.ทบ.คนนี้ก็ถูกแต่งตั้งเป็นเลขา คสช.เหมือน ผบ.ทบ.หลังรัฐประหารทุกคน

ในเงื่อนไขทางการเมืองที่ คสช.กำหนดขึ้น การเลือกตั้งกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลกลายเป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันเกือบจะสมบูรณ์

สงครามวาทกรรม สมรภูมิช่วงชิงอนาคต

สำหรับคณะรัฐประหารซึ่งนายใหญ่เป็นนายกฯ ในปี 2557 แล้วจะผลักดันตัวเองให้เป็นต่อในปี 2562 อุปสรรคที่ต้องฝ่าข้ามคือประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2531 ที่สรุปง่ายๆ ว่า ‘นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง’ หรือเสียงข้างมากในสภาผู้แทน รวมทั้งทำให้คนสยบต่อระบบที่นายกไม่ได้มาจากประชาชน

โดยวิธีปกครองที่ปิดปากประชาชนมาห้าปี ผู้มีอำนาจเข้าใจผิดว่าประเด็นนายกฯ ต้องมาจากประชาชนเป็นเรื่องที่ล้มล้างได้ง่ายนิดเดียว ยุทธวิธีให้หัวหน้า คสช. ตั้ง ส.ว.ไปเลือกตัวเองเป็นนายกฯ เพื่อใช้ตำแหน่งนี้ดึงดูด ส.ส.ไปร่วมรัฐบาลจึงเกิดขึ้นบนความรับรู้ที่ผิดๆ ที่ทำให้ 250 ส.ว. เป็นระเบิดเวลาของฝ่าย คสช.

พูดแบบอิงหลักวิชา 250 ส.ว. คือการที่คณะรัฐประหารแปลงอำนาจกองทัพซึ่งแปลกปลอมจากระบอบประชาธิปไตยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองหลังเลือกตั้ง 2562 แต่ถ้าพูดแบบชาวบ้าน 250 ส.ว.คือหลักฐานว่า คสช.ตั้งเครือข่ายทั้งทหารและพลเรือนไปคุมรัฐบาลและสภาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ตามความรับรู้ของหัวหน้า คสช.ที่แสดงออกตัั้งแต่ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ในปี 2557 คนไทยเลือกนักการเมืองเพราะขายเสียง, ส.ส.มีแต่พวกไม่รู้เรื่อง, รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ได้ความ, คนชอบทักษิณเพราะออกสื่อเยอะ ฯลฯ การที่หัวหน้า คสช.จะตั้งวุฒิสมาชิกมาตั้งรัฐบาลแข่งกับคนกลุ่มนี้จึงไม่มีปัญหาอะไร

ในโลกที่ คสช.รับรู้ยามประชาชนยอมจำนน 250 ส.ว. ก็เหมือน สนช. หรือสภาปฏิรูปที่ คสช. ตั้งสมัครใครต่อใครกินเงินเดือนราว 130,000 ราว 700 ตำแหน่งมาห้าปีแล้ว และถึงจะมีบางฝ่ายครหาว่าคนเหล่านี้ถูกตั้งเพราะเป็นพวกเดียวกับทหาร คสช.ก็เห็นว่าคนเหล่านี้ชอบธรรมเพราะเข้าสู่อำนาจตามกฎหมายตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ในโลกที่ประชาชนรับรู้ในปี 2562 วุฒิสภาคือรูปธรรมของการเผชิญหน้าระหว่างหัวหน้า คสช.กับประชาชน

แม้ห้าปีหลังยึดอำนาจจะเต็มไปด้วยการปิดกั้นการแสดงความเห็นจนวลี ‘อุ้มคนเข้าค่ายทหาร’ เป็นที่เข้าใจทั่วไป ทันทีที่บรรยากาศทางการเมืองเปิดกว้างขึ้นหลังความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้ง คำวิพากษ์วิจารณ์ที่คนกลุ่มต่างๆ มีต่อ คสช.และหัวหน้ารัฐบาลก็พวยพุ่งราวลาวาที่ระเบิดหลังสะสมพลังมาหลายปี

ต่อให้การลงคะแนนเลือกตั้งจริงๆ จะยังไม่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาที่คนทุกกลุ่มในสังคมมีต่อการ ‘ดีเบต’ ก็เป็นสัญญาณว่าสถานการณ์ก่อนเลือกตั้งคืนชีวิตให้สำนึกทางการเมืองที่ถูกกดทับหลังยึดอำนาจปี 2557 โดยเฉพาะผู้นำที่ชอบธรรมต้องมาจากความยอมรับของประชาชนที่แสดงออกผ่านการลงคะแนนเลือกผู้แทน

ในบริบทนี้ วุฒิสมาชิกซึ่งโดยความมุ่งหมายแล้วกำเนิดเพื่อเป็น ‘ห่วงโซ่’ ให้คณะรัฐประหารรักษาสถานภาพทางอำนาจกลับกลายเป็น ‘ใบเสร็จ’ ของการแย่งอำนาจที่คณะรัฐประหารกระทำต่อประชาชน

โดยเงื่อนไขนี้ ปัญหาว่าใครควรเป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัญหาที่กดดันประเทศในปี 2562 มากที่สุด เพราะอำนาจจากประชาชนเห็นว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ต้องตั้งรัฐบาลและเลือกนายกฯ ส่วนอำนาจอีกแบบมุ่งหวังให้พรรคเสียงข้างน้อยกับวุฒิสมาชิกของ คสช.ตั้งนายกฯ แล้วตั้งรัฐบาล

ในสังคมที่การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยลงหลักปักราก หลักการของวุฒิสภาคือที่มาเป็นต้นกำเนิดของอำนาจเสมอ วุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งจึงมีอำนาจออกกฎหมายหรือถอดถอนฝ่ายบริหารได้ ส่วนวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่มีเหตุให้มีอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

วุฒิสมาชิกซึ่งโดยความมุ่งหมายแล้วกำเนิดเพื่อเป็น ‘ห่วงโซ่’ ให้คณะรัฐประหารรักษาสถานภาพทางอำนาจกลับกลายเป็น ‘ใบเสร็จ’ ของการแย่งอำนาจที่คณะรัฐประหารกระทำต่อประชาชน

ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะอ้างความจำเป็นในการมี 250 ส.ว.ซึ่งมีอำนาจเลือกนายกฯ ไว้ว่าอย่างไร ไม่มีสังคมอารยะที่ไหนซึ่งอนุญาตให้คนหยิบมือเดียวมีสิทธิเลือกผู้แทนไปเลือกผู้นำประเทศเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศเดียวกัน

คำถามคือ คสช.และพลเอกประยุทธ์จะทำอย่างไรเพื่อทำให้คนยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แบบนี้ในเวลาที่การเลือกตั้งทำให้คนทั้งประเทศตื่นตัวถึง ‘อำนาจประชาชน’?

วาทกรรมปฏิกิริยา : ตรรกะแห่งความล้มเหลว

ในเงื่อนไขที่กระแสให้เลือกระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘เผด็จการ’ และชี้ชวนใหัไม่ยอมรับนายกฯ จาก 250 ส.ว.รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายซึ่งต้องการให้นายกฯ มาจากวุฒิสมาชิกของ คสช.ก็พยายามผลักดันประเด็นใหม่ๆ เพื่อปรับดุลยภาพของความชอบธรรมให้เท่าฝ่ายที่เห็นว่านายกฯ ต้องมาจากประชาชนด้วยเช่นกัน

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ มีวาทกรรมหลายอย่างซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนนายกฯ จากพรรคที่ประชาชนเลือกน้อยเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือวาทกรรมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สืบทอดอำนาจ แต่ ‘ต่อยอดการพัฒนาประเทศ’ ส่วนอีกวาทกรรมคือการบอกว่าประชาธิปไตยไม่สำคัญเท่าการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน

อย่างไรก็ดี คำอธิบายสองข้อนี้ไม่ประสบความสำเร็จจนตัววาทกรรมถูกมองว่าเป็นเพียง ‘ข้ออ้าง’ ซึ่งยิ่งทำให้คนเชื่อยิ่งขึ้นต่อไปอีกว่า คสช.ทำทุกอย่างเพื่อให้หัวหน้า คสช.ได้เป็นนายกฯ หรืออีกนัยก็คือเชื่อว่า คสช. เป็นอุปสรรคของการได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

คนที่จะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเป็นนายกฯ เพื่อ ‘ต่อยอดการพัฒนา’ คือคนที่ต้องเชื่อว่าห้าปีใต้ระบอบ คสช.คือต้นแบบการพัฒนาที่ประเทศควรเดินหน้าต่อไม่รู้จบ แต่ถ้าเห็นว่าห้าปีนี้ประเทศเดินผิดทาง คำถามคือทำไมต้องต่อยอด และทำไมต้องให้นายพลเกษียณวัย 65 นำประเทศสู่เส้นทางแบบนี้ต่อไป

ต่อให้คนที่คิดว่า คสช.พัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองจริงๆ คำถามก็มีต่อไปอีกว่าทำไม ‘ต่อยอดการพัฒนา’ เท่ากับการยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ เพราะนายกฯ คนไหนก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เขียนขึ้นและมีหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อยู่ดี

นอกจากวาทกรรมสกัดกั้นนายกฯ จากเสียงข้างมากจะไร้น้ำหนักด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวไป เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าวันนี้การผลักดันให้เสียงข้างน้อยปกครองประเทศได้พัฒนาเป็น ‘ระบอบ’ ที่ชัดเจนขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการแปลงนโยบายประชารัฐเป็นพรรคเพื่อผลักดัน ‘โครงการทางเศรษฐกิจการเมือง’

ถ้าห้าปีของรัฐบาลประยุทธ์เป็นอย่างที่หลายคนวิจารณ์ว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ หรือ ‘แข็งบน อ่อนล่าง’ ในแบบที่มีแต่ ‘เจ้าสัว’ รวยขึ้น การเลือกตั้งปี 62 กำลังเป็นขั้นตอนใหม่ของการเข้าสู่อำนาจโดยฝ่ายต้านประชาธิปไตยซึ่งเน้นการพัฒนาเท่าที่ผู้มีอำนาจจะให้ แต่ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้วยวิธีคิดของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ‘การพัฒนา’ คือการเจือจานเม็ดเงินหรือความช่วยเหลือทางวัตถุเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วงชิงคนส่วนใหญ่ในประเทศให้ไปเลือกตัวเองเท่านั้น ห้าปีของรัฐบาล คสช.จึงแช่แข็งค่าแรงไว้ที่วันละ 300 บาท, ไม่ขึ้นเงินเดือนคนจบปริญญาตรี แต่ให้คนรายได้น้อยไปรับเงินคนจน 300 บาทต่อเดือน

หากจำคำแถลงของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล เรื่องทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะสมเป็นนายกฯ ได้ หนึ่งในประเด็นที่อดีตรองนายกฯ ของรัฐบาล คสช.ระบุไว้อย่างชัดเจนก็คือ คสช.มีนโยบายแจกเงินเพราะอยากลงเลือกตั้งเท่านั้นเอง

ขณะที่เพื่อไทยเสนอนโยบายเศรษฐกิจให้คนไทยหายจนในระยะยาว ส่วนประชาธิปัตย์และอนาคตใหม่เสนอนโยบายสวัสดิการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งระบบ พล.อ.ประยุทธ์ คือนายกฯ ที่ตัดงบสวัสดิการและคุมค่าแรงของคนส่วนใหญ่ มิหนำซ้ำยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าพฤติกรรมและวิธีคิดนี้จะเปลี่ยนไปหลังเลือกตั้งเลย

หากจะอ้างว่านายกฯ มาจากการเลือกตั้งไม่สำคัญเท่าการทำเพื่อประชาชน ห้าปีใต้ระบอบ คสช.ก็ไม่ใช่ยุคที่ผู้นำ ‘ทำเพื่อประชาชน’ อย่างเป็นระบบ เพราะนอกจากสวัสดิการอย่างรถเมล์ฟรีรถไฟฟรีจะถูกยกเลิก ‘บัตรคนจน’ ก็เป็นการแจกเงินเฉพาะหน้าซึ่งไม่กี่เดือนจะหมดอายุและยุติได้ในเวลาที่นายกฯ ต้องการ

จะมีคนไทยกี่คนเลือกระบอบการปกครองที่สวัสดิการประชาชนถูกลดทอนให้เป็นเพียงเศษเงินหรือความช่วยเหลือที่รัฐบาลให้หรือเลิกเมื่อไรก็ได้ตามใจชอบ หากมีทางเลือกสู่ระบอบการปกครองอีกแบบที่สวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายและนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามตลอดไป?

ถ้าการเมืองไทยหลังปี 2557 คือระบอบที่คนส่วนน้อยยึดอำนาจรัฐจากคนส่วนใหญ่ การเมืองไทยในปี 2562 คือระบอบที่คนส่วนน้อยเขียนกฎหมายให้ตัวเองคุมสถาบันการเมืองผ่าน 250 ส.ว.และนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากคนทั้งประเทศ หรือถึงที่สุดคือการตรึงอนาคตประเทศไว้ที่คนหยิบมือเดียว

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โจทย์ใหญ่ที่สุดไม่ใช่การตัดสินใจว่าใครควรเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะการเลือกผู้นำพรรคไปเป็นผู้นำประเทศไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการปลดปล่อยประเทศจากพันธนาการของระบอบเก่าที่เปิดทางให้คนหนึ่งคนตั้งคนอีก 250 คน มาเลือกตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าอยากให้ 24 มีนาฯ เป็นการเลือกตั้งเพื่อสร้างประเทศจริงๆ ไม่ใช่การได้มาซึ่งผู้นำหน้าเดิมที่ฟอกตัวด้วยพรรคและรัฐสภา บรรยากาศก่อนเลือกตั้งต้องเป็นเรื่องของการสร้าง ‘กระแส’ เพื่อไม่ให้ 250 ส.ว.เลือกนายกฯ จะด้วยการงดออกเสียงหรือยกมือสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนก็ตาม

ไม่มีเส้นทางไหนไปสู่การทวงประเทศกลับมาเป็นของประชาชนได้ หากก้าวแรกของเส้นทางนั้นไม่เริ่มด้วยการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคที่มีประชาชนสนับสนุนมากที่สุด  หาไม่ประเทศก็จะถดถอยสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้นำที่ไม่มีใครยอมรับ กับประชาชนที่รังเกียจผู้นำซึ่งไม่ได้ความยอมรับจากประชาชน

เลือกตั้ง 24 มีนาคม คือหน้าต่างทางประวัติศาสตร์บานสำคัญที่จะพาประเทศไปสู่สภาวะปกติ แต่ถ้าหากการเลือกตั้งครั้งนี้ทำหน้าที่นี้ไม่ได้ ประเทศจะตกหล่มอยู่ในความขัดแย้งระลอกใหม่ที่หนักหน่วงกว่าหลังปี 2557 จนเป็นการต่ออายุให้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนหลังปี 2549 ยืดยาวไปอีกหลายปี

Tags: