หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 16/2561 ให้ กกต. มีอิสระในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่และให้คสช. และครม. เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่า มีเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป 11 เขต
ทั้ง 11 เขตนั้น เป็นเขตเลือกตั้งในพื้นที่ของพรรคที่สนับสนุนคสช. จนเกิดเป็นคำถามว่า คสช. กำลังใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอยุติธรรม (Gerrymandering) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองหรือไม่
Gerrymandering การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม
เขตเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง นอกจากจะบอกถึงขอบเขตความรับผิดชอบของผู้แทนในพื้นที่นั้นๆ ที่ประชาชนจะไปลงคะแนนว่าอยากได้ใครมาเป็นผู้แทนหรือเป็นส.ส.เขต พรรคการเมืองก็ต้องประเมินว่าจะกระจายผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตไหนอย่างไร เพื่อจะชนะในเขตเลือกตั้งนั้นๆ และได้ที่นั่งในสภาให้ได้มากที่สุด
การแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผลต่อคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคจะได้รับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการโกงด้วยการออกแบบเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม หรือที่เรียกกันว่า Gerrymandering ซึ่งเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อที่จะให้พรรคบางพรรคได้ประโยชน์สูงสุดจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง
โดยที่มาของคำนี้ มาจากผู้ว่าการรัฐที่ชื่อ Elbridge Gerry ของรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ผ่านกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พรรคชื่อว่า Democratic-Republican เป็นพรรคชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาในรัฐของตนเมื่อปี ค.ศ. 1812 และมีการอธิบายผ่านภาพตัวอย่างดังนี้
ภาพประกอบ Gerrymandering ของ WashingtonPost
จากภาพเราจะเห็นได้ว่า การออกแบบเขตเลือกตั้งสามารถกำหนดชัยชนะของผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขตได้เลย เช่นภาพตัวอย่างจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ที่กำหนดให้มีผู้แทนได้ 5 คน จากประชากร 50 คน แบ่งเป็น สีฟ้า 30 คน และสีแดง 20 คน ทั้งนี้ หากเราแบ่งเขตเลือกตั้งตามภาพรูปแบบที่ 1 เราก็จะได้สัดส่วนตัวแทนเป็นแดง 2 คน และ ฟ้า 3 คน ซึ่งตรงกับจำนวนประชากรจริงที่มีสีฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 5 ของประชาชนทั้งหมด
แต่ถ้าเราแบ่งเขตตามภาพรูปแบบที่ 2 จำนวนสัดส่วนตัวแทนจะเปลี่ยนไปกลายเป็นมีตัวแทนที่เป็นสีน้ำเงิน 5 คน จากเดิมที่มีแดง 2 คน ฟ้า 3 คนที่ตรงกับสัดส่วนของประชาชน และในขณะเดียวกัน หากเราแบ่งเขตตามภาพรูปแบบที่ 3 จะพบว่าสัดส่วนตัวแทนจะเปลี่ยนไปเป็น แดง 3 คน ฟ้า 2 คน ทั้งที่ถ้าเราดูจำนวนประชากรทั้งหมด สีฟ้าคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าสีแดงด้วยซ้ำ ดังนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอยุติธรรม (Gerrymandering) จึงเป็นวิธีการสำคัญในการบิดเบือนเสียงของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมผ่านการแบ่งเขตเลือกตั้ง
เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ย้อนกลับมาที่การแบ่งเขตเลือกตั้งของไทย กำหนดว่า ส.ส.จะมีทั้งหมด 500 คน เป็นส.ส.เขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
ในการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ตามหลักการที่หวังจะให้ ส.ส.เขตทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นจึงใช้วิธีคำนวณจำนวนราษฎรตามฐานทะเบียนราษฎรปี 2560 ซึ่งมีทั้งหมด 66,188,503 คน หารด้วยจำนวน ส.ส. 350 เขต ผลออกมาได้ว่า ราษฎรเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน
จังหวัดที่มีจำนวนราษฎรไม่ถึง 189,110 คน ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หนึ่งคน (มี 8 จังหวัดที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดละหนึ่งคน คือ ตราด นครนายก พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และอ่างทอง) ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ให้เพิ่มที่นั่ง ส.ส.ไปตามสัดส่วน
ส่วนเรื่องที่ว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ “พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ” มาตรา 27 ระบุเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ว่า
- เขตเลือกตั้งต้องมีพื้นที่ติดกัน คือ ให้รวมอําเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ทั้งนี้ ถ้าการรวมอําเภอแล้วทําให้มีจํานวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตําบลในอำเภอเดียวกันได้ แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตําบลไม่ได้
- ในกรณีที่ไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งตามข้อ (1) ได้ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจําในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทําให้จํานวนราษฎรมีจํานวนใกล้เคียงกันมากที่สุด
- เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตามข้อ 1 และ 2 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กําหนด
กล่าวโดยสรุปก็คือ หลักการในการแบ่งเขตเลือกตั้งจะวางอยู่บนเรื่อง ‘จำนวนประชากรในเขตเลือกตั้ง’ ที่ควรมีสัดส่วนที่เท่ากัน และเรื่อง ‘พื้นที่’ ที่ควรมีรูปทรงต่อกัน พยายามไม่ตัดอำเภอหรือห้ามตัดพื้นที่ในตำบลเดียวกัน และต้องไม่สร้างภาระให้กับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น ประชาชนเดินทางสะดวกและมีความคุ้นชิน
คสช. ใช้ ม.44 รื้อเขตเลือกตั้งใหม่
เมื่อการเลือกตั้งขยับเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ คสช. เข้ามา ‘ช่วย’ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งถึงสองครั้ง ครั้งแรก ได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 ที่ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อนโดยไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มีผลใช้บังคับ ส่วนครั้งที่สอง คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2561 ที่ให้ กกต. สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ หาก คสช. และ ครม. ได้รับเรื่องร้องเรียน และ กกต. มีอำนาจโดยอิสระในการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ต้องยึดตามระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้
ทั้งนี้ แม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ. 2561 กำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ว่า ให้รวมอำเภอต่างๆ เข้าเป็นเขตเลือกตั้ง แต่หากจำเป็นอาจแยกตำบลออกมาจากอำเภอได้ แต่จะแบ่งตำบลออกจากกันไม่ได้ ทั้งนี้ การแบ่งเขตต้องคำนึงถึงชุมชนและความสะดวกในการคมนาคมของชุมชน และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
ดังนั้น ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ทำให้ กกต. ไม่จำเป็นต้องทำตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เช่น การคำนึงถึงจำนวนประชาชน พื้นที่ที่ต้องมีความใกล้เคียงเหมาะสม รวมถึงไม่ต้องพิจารณาการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเขตเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ และถือว่า กกต. กระทำการดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย
กกต. แก้เขตเลือกตั้งใหม่ ในพื้นที่พรรคหนุนคสช.
ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2561 กกต. ได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยมีเขตเลือกตั้งจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย
สำหรับเขตเลือกตั้งที่ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ เขตเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และปัจจุบันย้ายมาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและแกนนำกลุ่มสามมิตรที่เดินสายดูดอดีต ส.ส. และรัฐมนตรีให้เข้ามาร่วมงานด้วย
นอกจากนี้ นักการเมืองของจังหวัดสุโขทัยที่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ ยังได้แก่ จักรวาล ชัยวิรัตน์กูล อดีตส.ส.ภูมิใจไทยและส.ส.เพื่อไทย และพรรณสิริ กุลนาถศิริ อดีตส.ส.พรรคภูมิใจไทย ด้วย
ทั้งนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปยังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2554 จะพบว่าเขตเลือกตั้งของจังหวัดสุโขทัยมี 4 เขต โดยผู้ชนะคือส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้ไป 2 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทยได้ไป 2 ที่นั่ง ตามการแบ่งเขต ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 1 : อําเภอเมืองสุโขทัย (ยกเว้นตําบลตาลเตี้ย, ตําบลบ้านสวน, ตําบลบ้านหลุม และตําบลปากพระ) อําเภอศรีสําโรง (พรรคประชาธิปัตย์ชนะ)
- เขตเลือกตั้งที่ 2 : อําเภอกงไกรลาศ อําเภอคีรีมาศ อําเภอเมืองสุโขทัย (เฉพาะตําบลตาลเตี้ย, ตําบลบ้านสวน, ตําบลบ้านหลุมและตําบลปากพระ) (พรรคประชาธิปัตย์ชนะ)
- เขตเลือกตั้งที่ 3 : อําเภอทุ่งเสลี่ยม อําเภอบ้านด่านลานหอย อําเภอสวรรคโลก (ยกเว้นตําบลป่ากุมเกาะ, ตําบลในเมือง, ตําบลคลองยางและตําบลนาทุ่ง) (พรรคภูมิใจไทยชนะ)
- เขตเลือกตั้งที่ 4 : อําเภอศรีสัชนาลัย อําเภอศรีนคร อําเภอสวรรคโลก (เฉพาะตําบลป่ากุมเกาะ, ตําบลในเมือง, ตําบลคลองยางและตําบลนาทุ่ง) (พรรคภูมิใจไทยชนะ)
ส่วนการเลือกตั้งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2557 จังหวัดสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ จาก 4 เขต เหลือ 3 เขต ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 1 : อำเภอเมืองสุโขทัย (ยกเว้น ตำบลตาลเตี้ย ตำบลบ้านสวน ตำบลบ้านหลุม และตำบลปากพระ) อำเภอศรีสำโรง และอำเภอทุ่งเสลี่ยม
- เขตเลือกตั้งที่ 2 : อำเภอเมืองสุโขทัย (เฉพาะ ตำบลตาลเตี้ย ตำบลบ้านสวน ตำบลบ้านหลุม และ ตำบลปากพระ), อำเภอบ้านด่านลานหอย, อำเภอกงไกรลาศ และ อำเภอคีรีมาศ
- เขตเลือกตั้งที่ 3 : อำเภอสวรรคโลก, อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีนคร
ในปี 2561 เมื่อจะมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2562 กกต. ได้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง แต่ผลของการแบ่งเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกับการแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 2557 แต่หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2561 ออกมา ปรากฏว่า เขตเลือกตั้งในจังหวัดสุโขทัยถูกเปลี่ยนใหม่ ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 1 : อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอกงไกรลาศ (เฉพาะตำบลไกรกลาง ตำบลไกรใน ตำบลกกแรต และตำบลบ้านใหม่สุขเกษม)
- เขตเลือกตั้งที่ 2 : อำเภอบ้านด่านลานหอย, อำเภอคีรีมาศ อำเภอทุ่งเสลี่ยม และ อำเภอกงไกรลาศ (ยกเว้น ตำบลไกรใน ตำบลไกรนอก ตำบลกกแรต และตำบลบ้านใหม่สุขเกษม)
- เขตเลือกตั้งที่ 3 : อำเภอสวรรคโลก, อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอศรีนคร
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งใหม่ล่าสุดของ กกต. คือ มีการย้ายอำเภอทุ่งเสลี่ยมไปไว้เขตเลือกตั้งที่ 2 ทั้งที่เดิมอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 3 ของปี 2554 และเขตเลือกตั้งที่ 1 ของปี 2557 และตัดแบ่งอำเภอกงไกรลาศที่เคยอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ทั้งของปี 2554 และปี 2557 ให้บางตำบลของอำเภอกงไกรลาศอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 ของเขตเลือกตั้งล่าสุด
หากเรานำการแบ่งเขตดังกล่าวหากนำมาเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งปี 2554 จะเห็นความน่าสนใจว่า เดิมเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 เป็นเขตที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 และ 4 เป็นของพรรคภูมิใจไทยที่สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ ดังนั้น การที่ กกต. ย้ายอำเภอทุ่งเสลี่ยมซึ่งเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 3 และเป็นอำเภอในเขตที่พรรคภูมิใจไทยเคยชนะการเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้ผลของการเลือกตั้งในเขตที่ 1 ที่เคยเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับผลกระทบ
หรือ การที่แยกอำเภอกงไกรลาศไปที่เขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 ทั้งที่เดิมอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงได้ เพราะในเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 ของปี 2554 คนของพรรคภูมิใจไทยก็ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสองและสูสีกับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด
สุดท้ายแล้ว การแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะทำให้คำกล่าวของสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เคยประกาศในที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐว่า “รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” มีความชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
Tags: มาตรา 44, ส.ส., Gerrymandering, การแบ่งเขตเลือกตั้ง, สภาผู้แทนราษฎร, เลือกตั้ง62