เมื่อปลายกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ‘โควิด-19’ ได้แพร่ลามจากประเทศจีนซึ่งเป็นเครื่องจักรอันดับ 2 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ไปยังเกาหลีใต้ สหภาพยุโรป แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็พบผู้ป่วยหลักพัน ความไม่แน่นอนดังกล่าวพ่นพิษพาทั้งราคาน้ำมันดิบ ราคาทอง และดัชนีหลักทรัพย์ทั่วโลกดิ่งลงเป็นประวัติการณ์สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกต่างกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่ที่ดูไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่พยายาม ‘แตะเบรก’ ดัชนีชี้วัดในตลาดเงินที่กำลังร่วงฮวบโดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนผ่านนโยบายการเงินแบบขยายตัวโดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และอีก 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 แต่ก็ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยกู้วิกฤต โควิด-19 ได้หรือไม่)
สาเหตุสำคัญที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเคยใช้การได้ในอดีตกลับไม่สามารถทำงานได้ดีนักเมื่อเจอกับโควิด-19 เนื่องจากโรคระบาดครั้งใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันส่งผลกระทบในสองมิติพร้อมกัน
มิติแรกคือฝั่งอุปทานหรือฝั่งการผลิต โรคระบาดทำให้ห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ต้องหยุดชะงัก เช่น การปิดโรงงานในประเทศจีนที่ทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ในหลายประเทศทั่วโลกต้องหยุดเดินเครื่องเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ หรือในบางประเทศซึ่งมีการประกาศให้ปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานาน แรงงานในตลาดก็อาจหดหายเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องหยุดงานเพื่อดูแลลูกหลาน
อีกมิติหนึ่งคือฝั่งอุปสงค์ที่โรคระบาดทำลายความต้องการซื้อในบางกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งประชาชนต้องบริโภคหรือการใช้บริการแบบ ‘รวมหมู่’ ไม่ว่าจะเป็นผับบาร์ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ รวมถึงสารพัดสถานที่ท่องเที่ยว เหตุการณ์โรคระบาดทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่ติดบ้านกลายเป็นการดับชีพจรในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจว่าประเทศต่างๆ มีมาตรการทางเศรษฐกิจในการรับมือ โควิด-19 กันอย่างไร
นโยบายการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาพิษ ‘โควิด-19’
เริ่มจากจุดกำเนิดของการระบาดอย่างประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ธนาคารกลางของจีนได้อัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อตราสารหนี้มูลค่าร่วม 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ย และลดสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดกู้ยืมเงินภาคเอกชน ในฝั่งการคลัง รัฐบาลจีนเตรียมมาตรการเบื้องต้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังควบคุมการระบาดตั้งแต่การขยายสินเชื่อ ลดภาษีในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และอุดหนุนค่าเช่าสำหรับร้านค้าปลีกที่ประสบปัญหา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการกระตุ้น ‘ก้อนใหญ่’ เช่นที่เคยเกิดขึ้นครั้งวิกฤติซับไพรม์เมื่อ พ.ศ. 2551
ส่วนเกาะฮ่องกงเลือกใช้การจ่ายเงินใส่มือประชาชน รัฐแจกเงินโอน 1,200 ดอลลาร์สหรัฐให้กับผู้บรรลุนิติภาวะและเป็นพลเมืองฮ่องกง และโบนัสอีก 1 เดือนสำหรับผู้ที่รับเบี้ยสำหรับผู้ชราภาพหรือผู้พิการ งดเว้นค่าเช่า 1 เดือนสำหรับผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านของรัฐ ลดภาษีเงินได้ ภาษีอสังหาริมทรัพย์ และภาษีธุรกิจ และที่ขาดไม่ได้คือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลค้ำประกัน
ในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างไม่คาดฝัน รัฐบาลได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราวหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจซึ่งเผชิญปัญหาสภาพคล่องและอาจไม่สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ ช่วยอุดหนุนสถานดูแลเด็กเพื่อให้พ่อแม่กลับไปทำงานได้อย่างสบายใจในช่วงที่โรงเรียนยังไม่เปิดตามปกติ รวมถึงโครงการฝึกทักษะใหม่สำหรับผู้ที่ตกงานจากวิกฤตโรคระบาด
ฝั่งสหภาพยุโรป ประเทศที่โดนผลกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้นอิตาลีซึ่งล่าสุดได้ประกาศเตรียมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 28,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่เผชิญกับการเลิกจ้างชั่วคราว เพิ่มวงเงินสินเชื่อที่รัฐค้ำประกันสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงเงินชดเชยให้กับบริษัทที่มียอดขายลดลงมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์
สองประเทศที่ ‘เล่นใหญ่’ โดยเตรียมรับมือภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากโควิด-19 ตั้งแต่ยังไม่มีการระบาดในระดับที่หนักหนาสาหัสคือสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยธนาคารกลางแห่งสหราชอาณาจักรได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 325 ปีและอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ใช้เงินสดสำรองซึ่งเก็บไว้เพื่อป้องกันวิกฤตการเงินมาใช้ปล่อยสินเชื่อได้ ส่วนฝั่งรัฐบาลได้ประกาศวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไว้ในงบประมาณประจำปี ครอบคลุมเงินอุดหนุนให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ลาป่วยหรือลาเพื่อกักตัวเองที่บ้านสำหรับธุรกิจที่มีพนักงานน้อยกว่า 250 คน ลดภาษีสำหรับร้านค้าปลีก สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลค้ำประกัน 80 เปอร์เซ็นต์ และเงินสดให้ธุรกิจขนาดเล็กเพื่อบรรเทาพิษเศรษฐกิจบริษัทละ 3,700 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงขยายผลประโยชน์จากรัฐสำหรับแรงงานอิสระและผู้ว่างงาน
ขณะที่สหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75 เปอร์เซ็นต์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์ พร้อมอัดฉีดเงินผ่านการซื้อตราสารหนี้อีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ฝั่งการคลังได้กันเงินห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นงบประมาณฉุกเฉิน เตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมประกาศชะลอวันจ่ายภาษีและล่าสุดได้คลอดกฎหมายรับมือโคโรนาไวรัสโดยครอบครัวต้องมาก่อน (Families First Coronavirus Response Act) ที่โดดเด่นด้วยวันลาฉุกเฉินซึ่งอนุญาตให้พนักงานลาสูงสุดถึง 3 เดือนหากต้องดูแลคนใกล้ชิดที่เจ็บป่วยหรือกรณีที่ลูกๆ ที่ต้องหยุดอยู่บ้าน โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้าง 2 ใน 3 ของเงินเดือนเฉลี่ยซึ่งจะได้รับชดเชยจากรัฐบาลในภายหลัง
หันกลับมาดูที่บ้านเรา หลังจากแผนแจกเงินต้องพับเก็บไป รัฐบาลก็เดินหน้าบรรเทาพิษโควิด-19 โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับทั้งภาคธุรกิจและลูกจ้างในระบบประกันสังคม รวมถึงการขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระเงินต้น ปรับลดดอกเบี้ย หรือขยายเวลาชำระหนี้ ส่วนในด้านภาษีก็มีมาตรการให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมนำดอกเบี้ยเงินกู้จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาหักลดหย่อนได้ 1.5 เท่า ส่วนค่าจ้างพนักงานนำมาลดหย่อนได้ 3 เท่าเมื่อคำนวณภาษี
ในฝั่งของการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้นถือว่าเป็นนโยบายมาตรฐาน แต่มาตรการด้านภาษียังค่อนข้างเบาบาง เพราะการลดภาษีให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในลักษณะดังกล่าว กว่าจะออกดอกผลอย่างเร็วที่สุดก็ต้องรอบการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี และที่สำคัญการลดภาษีในลักษณะนี้จะช่วยเหลือบริษัทที่มียังพอมีกำไร แต่ไม่ได้ช่วยเหลือบริษัทที่ประสบผลขาดทุนจากโควิด-19 อย่างไรก็ดี ภาครัฐก็ได้มีการขยับตัวเมื่อวันที่อาทิตย์ที่ผ่านมา และสร้างความหวังว่าจะมีนโยบายช่วยเหลือก้อนใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นเร็วๆ นี้ หลังจากที่มีการสั่งปิดธุรกิจเสี่ยงบางประเภทลงชั่วคราวเป็นเวลาราว 3 สัปดาห์
ส่วนฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.75 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย พร้อมจับมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ บ้าน รถ และบัตรเครดิต ซึ่งดูเผินๆ อาจจะดี แต่สำหรับมุมมองของคนทำงานธนาคาร นโยบายที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็ไม่ค่อยต่างจากการช่วยเหลือลูกหนี้ผิดนัดชำระโดยการผ่อนผันหนี้ระยะสั้น (Forbearance) สักเท่าไร
มาตรการทางเศรษฐกิจจะถอนพิษ ‘โควิด-19’ ได้จริงหรือ?
สำหรับคำถามข้างต้น นักเศรษฐศาสตร์แทบจะเห็นตรงกันว่าช่วยได้บ้างแต่คงไม่ได้มาก
สาเหตุก็เนื่องจากรัฐบาลแทบไม่มีเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาผลกระทบของโควิด-19 ในฝั่งการผลิตหรือฝั่งอุปทาน ส่วนฝั่งอุปสงค์เองก็อาจช่วยไม่ได้มากเพราะนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น การปิดสถานที่ต่างๆ หรือการสนับสนุนให้สร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไม่เอื้อต่อการให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการ
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญคาดหวังจากนโยบายรัฐคือการประคับประคองทั้งภาคเอกชนและปัจเจกชนที่กำลังร่อแร่จากพิษเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แล้วรอมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังทั่วโลกสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ ในภาวะเช่นนี้ นโยบายเชิงเศรษฐกิจจึงสัมพันธ์กับนโยบายเชิงสุขภาพอย่างแนบแน่น
อย่างไรก็ดี นโยบายการคลังจำนวนไม่น้อยก็ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งการระบาดของ โควิด-19 ได้ ลองนึกง่ายๆ ถึงกลุ่มแรงงานอิสระ เช่น คนขับแท็กซี่ กรรมกร หรือพ่อค้าแม่ขายตามท้องถนน ที่ถึงแม้จะเจ็บป่วยก็ต้องออกมาหาเลี้ยงชีพเนื่องจากไม่มีวันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง การที่รัฐมีนโยบายจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ที่ป่วยและต้องหยุดงานนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีอาการป่วยฝืนตัวเองออกจากบ้านจนไปติดต่อคนอื่น
แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับหนึ่งและรัฐบาลควรท่องจำให้ขึ้นใจคือ ตราบใดที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของ โควิด-19 คิดค้นวัคซีน หรือค้นพบยารักษา ไม่ว่าจะใช้นโยบายกระตุ้นแบบไหนหรือควักงบประมาณมาใช้มากมายเพียงใด เศรษฐกิจก็ไม่มีทางกลับมาฟื้นตัวอย่างแน่นอน
เอกสารประกอบการเขียน
Government Stimulus Efforts to Fight the COVID-19 Crisis
สหราชอาณาจักร: Key points from budget 2020 – at a glance
สหราชอาณาจักร: Anti-covid-19 measures mask a shift in Britain’s budget strategy
อิตาลี: Italy Announces $28 Billion Plan to Cushion Virus-Hit Economy
เกาหลีใต้: South Korea unveils $9.8 billion stimulus to fight coronavirus
Fiscal stimulus can ease the impact of COVID-19 on the global economy
To save the economy from COVID-19, the only effective policy is medical, not monetary or fiscal
Economic policy and COVID-19—Mitigate harm and plan for the future
Planet Money Episode 979: Medicine For The Economy
Tags: โควิด-19