จุดนี้ คำกล่าวที่ว่า การสื่อสารเรื่องการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนในสังคมไทยเกิดความสับสน คงไม่ใช่ข้อสรุปที่เกินจริง 

การที่ประชาชนต้องงงงันกับประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงในเขตกรุงเทพฯ ของ กทม. ซึ่งก็มีข่าวตามมาว่าโฆษกรัฐบาลออกมาสวนกลับทันทีว่าเป็นข่าวปลอม’  จนต้องไล่เช็กตามไทม์ไลน์กันดีๆ ว่าใครพูดก่อนพูดหลัง ตกลงเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม การที่ผู้คนเที่ยวควานหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ ยา วิตามิน และน้ำยาฆ่าเชื้อตามแหล่งขายของออนไลน์และร้านขายยาทุกมุมเมือง (สารภาพว่าผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น) การกว้านซื้อของอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตจนเกลี้ยงชั้นหลังการประกาศจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อกลางเดือนมีนาคม หรือความว้าวุ่นของคนที่สงสัยว่าตนป่วยและต้องการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสหรือไม่ เป็นอาการที่สะท้อนถึงภาวะที่ผู้คนไม่รู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรดี นอกจากเอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน 

โควิด-19 สร้างความตื่นตัวในข้อมูลข่าวสารอย่างไร 

เว็บไซต์ข่าว Vox รายงานว่า การสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาพุ่งพรวดในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมหลังมีรายงานผู้ติดเชื้อคนแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยในวันที่ 11 มีนาคมเพียงวันเดียว มีการพูดถึงโคโรนาไวรัสเกือบ 20 ล้านครั้ง ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเด็นร้อนอื่นๆ ในวันนั้น เช่น การยกเลิกการแข่งบาสเกตบอล NBA (ไม่ถึง 2 ล้านครั้ง) และประธานาธิบดีทรัมป์ (ประมาณ 4 ล้านครั้ง) นอกจากนี้ ความรู้สึกที่ปรากฏในโพสต์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ก็เป็นความรู้สึกเชิงลบเป็นส่วนใหญ่

จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการแนะนำให้ผู้คนพักวางจากการใช้โซเชียลมีเดียบ้างเพื่อไม่ให้กังวลมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเสนอมาตรการสุดซอยให้ปิดช่องทางโซเชียลไปเลย เมื่อไทยเข้าสู่การระบาดในระยะที่

ขณะที่การรายงานของสื่อมวลชนเกี่ยวกับโรคนี้ก็มีมากกว่าการระบาดของโรคอื่นๆ เว็บไซต์ Information is Beautiful เก็บข้อมูลจากการค้นหาทาง Google เมื่อกลางเดือนมีนาคมและประมวลผลเป็นอินโฟกราฟิกซึ่งแสดงให้เห็นว่า โควิด-19 ถูกพูดถึง 2.1 พันล้านครั้ง มากกว่าโรคที่คล้ายกันอย่าง SARS (66.5 ล้านครั้ง) และ MERS (33.1 ล้านครั้ง) หรือ HIV ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ยังต้องการการรับมือ (69.5 ครั้ง

ทั้งแพทย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ผลสำรวจความเห็นประชาชน และบทเรียนจากประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก ต่างเสนอว่าในภาวะเช่นนี้ ของที่ต้องมีคือการสื่อสารที่ทันเหตุการณ์และเป็นเอกภาพ ด้วยข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นวิทยาศาสตร์ ตรงไปตรงมา หนักแน่น และชัดเจน ผ่านการแสดงความเป็นผู้นำที่พึ่งพาได้และการพินิจพิเคราะห์อย่างรอบคอบและสมเหตุสมผล เพื่อให้ประชาชนทราบว่าต้องทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้อย่างทันท่วงที และให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐสามารถจัดการกับภัยที่คุกคามชีวิตของเขาได้จริง รวมทั้งป้องกันไม่ให้

ประชาชนต้องเสาะหาแนวทางรักษาชีวิตกันเองอย่างอลหม่าน จนนำไปสู่ความโกลาหลในสังคมทั้งทางกายภาพและทางข้อมูลข่าวสาร

แน่นอนว่าภาครัฐถูกกำหนดและคาดหวังให้ทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน จึงต้องเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่เชื่อถือได้ด้วยการให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่ชี้ว่าใครให้ข้อมูลผิดบ้าง หรือใช้ช่องทางทั้งที่เป็นทางการและส่วนตัวในการให้ข้อมูลที่สับสนและย้อนแย้ง ขณะเดียวกัน นิเวศของข้อมูลข่าวสารที่ขับเคลื่อนโดยสื่อมวลชนและผู้ใช้สื่อก็มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ พร้อมรับมือกับการระบาดได้แบบแม้จะหวั่นใจแต่ก็ไม่ไร้สติ

รายงานจาก Vox ที่อ้างถึงข้างต้นบอกว่า แม้บทสนทนาบนพื้นที่ออนไลน์จะแสดงถึงความวิตกกังวลของผู้คนต่อโรคระบาด แต่การค้นหาส่วนใหญ่ไม่ใช่การกระทำด้วยความตระหนกตกใจ ทว่าเป็นการหาข้อมูลที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เช่นต้องล้างมือเป็นเวลานานเท่าไหร่หรือการค้นหาคำว่าโคโรนาไวรัสคู่กับสถานที่เพื่อดูว่ามีการพบการแพร่เชื้อในชุมชนของตนหรือไม่ 

ขณะที่บทความโดย BBC media editor ระบุว่าตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ BBC News จากทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นกว่า 575 ล้านเพจวิวเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า สะท้อนว่าคนยังต้องการหาข้อมูลจากองค์กรสื่อที่ตนเห็นว่าเชื่อถือได้

ความต้องการในการหาข้อมูลของผู้คนในภาวะโรคระบาดครั้งนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘คุณค่าข่าวในภาวะวิกฤตทางสังคมของ ผศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ (ปัจจุบันเป็นคณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย) ที่พบว่า คุณลักษณะของข้อมูลหรือเรื่องราวในวิกฤตการณ์ทางสังคม 3 อันดับแรกที่สื่อมวลชนควรรายงานตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ สื่อมวลชน และประชาชน จากกรณีไข้หวัดนกระบาดเมื่อปี 2546 ได้แก่ (1) องค์ความรู้เกี่ยวกับโรค เช่น อาการของโรค พาหะ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการ

ระบาด และการควบคุมการระบาด (2) ความเสี่ยง เช่น ระบบเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ ความพร้อมของระบบการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศ และ (3) การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ เช่น นโยบายและแนวทางในการจัดการปัญหา เพื่อช่วยให้สังคมทำความเข้าใจกับปัญหาที่ซับซ้อนและไม่เคยพบมาก่อน และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์สถานการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบ มากกว่าความเห็นและการวิเคราะห์โดยสื่อมวลชนและภาครัฐ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การรายงานปรากฏการณ์รายวันและความขัดแย้งในการแก้ปัญหาระหว่างกลุ่มต่างๆ กลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่สำคัญนักเมื่อเทียบกับ 3 ประเด็นข้างต้น ผู้วิจัยวิเคราะห์ว่า เหตุที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญน้อยกับประเด็นนี้ ไม่ได้หมายความว่าสื่อจะรายงานเรื่องความขัดแย้งไม่ได้ แต่ควรแสดงให้เห็นว่าเป็นปัญหาเชิงระบบอย่างไรและควรหาทางออกอย่างไร มากกว่าการชี้ว่าเป็นการกระทำหรือความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน หรือโทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ประเทศไทยรายงานสื่อสารข่าวโควิด-19 กันอย่างไร

ย้อนมาดูว่านิเวศข่าวสารของไทยในช่วงนี้ได้ตอบสนองความต้องการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของผู้คนที่กำลังสับสนและวิตกกังวลหรือไม่

สื่อมวลชนหลายสำนักพยายามเกาะติดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ตรวจสอบคำกล่าวอ้างต่างๆ ของผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงให้พื้นที่ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายความซับซ้อนของโรค ปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมการระบาด แนวทางป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเป็นรูปธรรม และผลกระทบต่อคนกลุ่มต่างๆ ทั้งยังมีแนวปฏิบัติในการทำงานเพื่อรับประกันความปลอดภัยของทีมงานข่าว 

ขณะที่บนโลกออนไลน์ ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยทั้งบุคคลทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญก็แบ่งปันข้อมูลและข่าวสารที่เห็นว่ามีประโยชน์ผ่านสื่อสังคม

ออนไลน์และแอปพลิเคชัน รวมทั้งช่วยกันตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายและการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไม่ชอบธรรม จนนำไปสู่การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายได้บ้าง

กระนั้น สังคมก็ยังคงวิตกกังวลและสับสน ปัจจัยหนึ่งคือความเคลือบแคลงต่อข้อมูลจากทางการและนโยบายของภาครัฐที่ถูกมองว่าไม่ทันสถานการณ์และไม่กระจ่าง ขณะเดียวกันบทบาทขององค์กรสื่อบางสำนักหรือในบางช่วงก็มีส่วนให้การตรวจสอบรัฐเป็นไปอย่างหละหลวม นอกจากจะส่งผลให้หลายคนไม่เชื่อมั่นต่อสถาบันสื่อในภาพรวมแล้ว ประชาชนก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิต

ตัวอย่างเช่น การใช้คำที่ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไรกันแน่ เช่น ปิดเมือง/ประเทศ/พรมแดน หรือยกระดับการคัดกรองอย่างเข้มข้น ขึ้นอยู่กับว่าจะอ้างคำพูดของใคร การเลือกคำที่เน้นความผิดของปัจเจกมากกว่าระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกลุ่มคนที่ถูกตีตราว่าทำผิดกฎหมาย บางองค์กรก็เน้นการให้พื้นที่กับผู้แสดงทางการเมืองที่แสวงโอกาสในการผลักดันวาระที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ด้วยการหยิบโพสต์หรือคลิปไวรัลที่เป็นความคิดเห็นมาขยายต่อ หรือการประกาศเรื่องสำคัญที่มาจากหลายแหล่งข่าวที่ขัดกันจนสร้างความสับสน ดังเช่น เรื่องการปิดสถานที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ ของผู้ว่าราชการกรุงเทมหานคร  

สภาพการณ์เช่นนี้สะท้อนอุปสรรคเดิมๆ ในวัฒนธรรมการผลิตข่าว ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงข้อเท็จจริงโดยผู้รับผิดชอบ การไม่สามารถทำความเข้าใจกับประเด็นที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน (เพราะต้องเร่งทำงานเฉพาะหน้า) การเน้นดราม่ามากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างจุดขาย การอ้างคำพูดของผู้แสดงทางการเมืองเพราะเกรงจะตกกระแสหรืออ้างว่าประชาชนมีสิทธิที่จะรู้แม้จะเป็นข้อมูลที่ผิดและบิดเบือน

บวกกับบริบทความขัดแย้งแบ่งขั้วทางอุดมการณ์และสถาบันทางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ แนวทางรับมือกับการระบาดของโรคที่ควรตัดสินได้ด้วยข้อเท็จจริง กลับถูกตีความด้วยจุดยืนและผลประโยชน์ของทั้งผู้แสดงทางการเมืองต่างๆ จนยากที่จะเห็นพ้องกันว่าทางออกควรเป็นอย่างไร

อย่างในสหรัฐฯ เอง ก็มีรายงานจากเว็บไซต์ข่าว The Daily Beast ว่า รัฐบาลถึงกับส่งข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือกับโควิด-19 เพื่อล็อบบี้เครือข่ายผู้ผลิตสื่อขนาดเล็กฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพล (influencer) ในโลกออนไลน์และผู้จัดรายการวิทยุที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ให้ช่วยตอกย้ำวาทกรรมของรัฐบาล เช่น การเรียกชื่อไวรัสว่ามาจากอู่ฮั่นและจีน หรือการชี้ว่าการตื่นตระหนกเรื่องการแพร่ระบาดเป็นผลจากโฆษณาชวนเชื่อของจีน รวมทั้งเป็นแรงสนับสนุนในการตอบโต้กับสื่อสถาบันอื่นๆ ที่คอยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้

เมื่อสื่อมวลชนไม่สามารถนำข้อเท็จจริงมาคลี่ให้ประชาชนเข้าใจปัญหา แถมโดนกล่าวหาว่าเป็นตัวปั้นข่าว หรือยังเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนและสร้างความระแวงสงสัยต่อข้อเท็จจริง จนถูกเหมารวมไปหมดว่าไม่น่าเชื่อถือ คนรับภาระเต็มๆ คือประชาชน

แทนที่จะคิดว่าผู้ใช้สื่อคือ ‘ลูกค้าที่ต้องขายข่าวให้เพื่อทำกำไร ภาวะวิกฤตเป็นช่วงเวลาที่สื่อมวลชนต้องคิดว่าผู้ใช้สื่อคือคนใกล้ชิดของตัวเอง ดังนั้น ข้อมูลที่รายงานจึงต้องเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วว่าถูกต้องและไม่สร้างความสับสนหรือผลด้านลบให้คนที่ตนเป็นห่วงเป็นใยแน่ๆ 

กองบรรณาธิการของ The Seattle Times องค์กรสื่อระดับท้องถิ่นในรัฐวอชิงตันซึ่งพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับสองของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาไม่ได้รายงานข่าวให้กับผู้อ่านทั่วๆ ไป แต่เขามองว่าผู้อ่านคือเพื่อนบ้านของเขา ครูของลูกๆ หรือเพื่อนของพวกเขาเอง ดังนั้น ผู้สื่อข่าวเกือบทั้งหมดในองค์กรซึ่งมีอยู่ 58 คนจึงได้รับมอบหมายให้เกาะติดเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญของตน โดยเฉพาะเรื่องของผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียง เพื่อให้คนในเมืองทราบสถานการณ์ปัจจุบัน รู้ว่าจะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ที่ไหน โรงพยาบาลจะแบ่งสรรปันส่วนเวชภัณฑ์ต่างๆ อย่างไร รวมถึงผู้สูงอายุและคนไร้บ้านสามารถเข้าถึงอาหาร น้ำ และยาได้ทั่วถึง

หรือไม่ ขณะที่ผู้อ่านในท้องถิ่นก็พึ่งพาข่าวสารและการอัพเดตสถานการณ์จากช่องทางออนไลน์ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การรายงานของสื่อมวลชนควรชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก หรือเกิดจากการที่คนไม่มีจิตสำนึกหรือไม่รับผิดชอบ แต่น่าจะชี้ว่าภาวะที่สังคมเผชิญอยู่สะท้อนระบบที่มีปัญหาอย่างไร เช่น เพราะอะไรคนจึงไม่ยอมกักตัว หรือกลุ่มผลประโยชน์จะให้บริการแก่สาธารณะอย่างไรจึงจะเหมาะสมและโปร่งใส

และแม้การก้าวให้ทันสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องจำเป็น แต่การมองไปข้างหน้าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ ในระยะยาวก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อมูล (data) ไม่ใช่ความเห็นหรือคาดการณ์เพียงเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับมือ (หรืออย่างน้อยก็ทำใจ) กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านผู้ใช้สื่อเองก็ต้องตระหนักถึงการตรวจสอบต้นตอข้อมูลเพื่อช่วยกันสร้างนิเวศข่าวสารที่มีคุณภาพ อย่างน้อยก็ไม่แชร์ข้อความที่ไม่มีการระบุที่มาชัดเจนถึงแม้จะมาจากคนรู้จักหรืออยู่ในกลุ่มไลน์เดียวกันก็ตาม งานวิจัยของ BBC เรื่องพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในอินเดีย พบว่าเหตุที่ข่าวลวงหรือ fake news แพร่กระจายรวดเร็วทางโซเชียลมีเดียเพราะผู้ใช้เห็นว่าข้อความมาจากคนรู้จัก ก็เลยเชื่อว่าคนนั้นต้องกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว (ซึ่งก็มักจะไม่ได้ทำอย่างนั้น) อ่านนิดเดียวก็ส่งต่อทันที

งานวิจัยยังพบว่า ประชาชนเชื่อว่าการแชร์ข้อความที่ดูดีมีประโยชน์ถือเป็นหน้าที่พลเมืองเพราะได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารให้คนอื่นได้รู้ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นข้อเท็จจริง หากไม่ตรวจสอบความถูกต้องหรือเช็คที่มาก่อน ก็อาจสร้างความว้าวุ่นใจหรือวิตกจริตได้

ดังนั้น ในภาวะที่คนต้องเผชิญกับความเสี่ยงและไม่แน่นอน ข้อมูลข่าวสารไม่ใช่สิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้ผู้พูดได้แสดงตนเป็นผู้รู้ในวงคุยซุบซิบเหมือนสินค้าหายากที่ต้องซื้อขายกันในตลาดมืด หรือกระจายไปเกลื่อนโดยไม่ตรวจสอบที่มาที่ไปเหมือนหน้ากากอนามัยที่ถูกผลิตมาอย่างไร้คุณภาพแล้วถูกนำมาแจกจ่ายเพื่อให้คนแจกได้ชื่อว่าทำเพื่อสาธารณะ แต่เป็นสวัสดิการที่ทุกคนในสังคมต้องเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้า จะได้ปกป้องชีวิตของตนเองและเพื่อนร่วมสังคมได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

นั่นจึงเป็นเหตุให้องค์กรสื่อที่มีชื่อเสียงบางแห่งยกเลิกระบบ paywall หรือระบบสมาชิก เพื่อให้คนทั่วไปสามารถอ่านข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาได้ฟรี แต่ขณะเดียวกัน ผู้อ่านก็ยังสนับสนุนองค์กรสื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และน่าเชื่อถือ อย่าง The Seattle Times ที่กล่าวถึงข้างต้น ก็พบว่ายอดสมาชิกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่เปิดให้ผู้คนเข้าถึงเรื่องโรคโควิด-19 ได้โดยไม่เสียเงินอยู่แล้ว

ดังนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นบททดสอบว่าสถาบันสื่อมวลชนจะเรียกความไว้วางใจคืนมาจากประชาชนได้อย่างไร โดยมีเดิมพันคือชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ (และบนโลก) รวมทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานวารสารศาสตร์เอง

ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะใช้ภาวะวิกฤตมาเป็นข้ออ้างในการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพสื่อ หากไม่สามารถสื่อสารเรื่องการระบาดอย่างตรงไปตรงมาให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อใจ หรือพร้อมจะรับฟังความเห็นหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อย่างน้อยรัฐบาลก็ต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้สื่อมวลชนนำไปกระจายต่อในนิเวศของข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที รวมถึงให้สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามและสะท้อนความกังวลแทนประชาชน

และแม้วาระหลักของชาติในวันนี้จะเป็นเรื่องการทำความเข้าใจและบรรเทาโรคระบาด อย่าลืมว่ายังมีปัญหาที่บางคนอาจไม่เห็นว่าเป็นเรื่องวิกฤตไม่ว่าจะเป็นฝุ่นพิษในภาคเหนือ ภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร ความไม่สงบในชายแดนใต้ การใช้อำนาจโดยมิชอบโดยสถาบันที่มีอำนาจ การรุกล้ำทรัพยากรและสิทธิชุมชน ความคลางแคลงใจต่อ

กระบวนการยุติธรรม ซึ่งคุกคามชีวิตของประชาชน และสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการข้อมูลข่าวสารของรัฐไทยไม่ต่างกัน

ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจต่อสถาบันสื่อจึงไม่ได้จบอยู่แค่การรายงานเพื่อฝ่าวิกฤตโควิดเท่านั้น แต่ต้องช่วยกันสร้างต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพสำหรับการใช้ชีวิตในระยะยาว

ข้อเสนอแนะในการรายงานเรื่องโควิด-19 อย่างรับผิดชอบ

จัดทำโดยองค์กร First Draft ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังกำไรที่ทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking)

  • เลี่ยงการใช้ภาษาเร้าอารมณ์ซึ่งอาจยกระดับความกลัวได้

  • เลี่ยงการใช้คลังภาพเก่าที่ตอกย้ำการเหมารวมหรือสร้างความตื่นตระหนกเพิ่มขึ้น

  • เลี่ยงการคาดเดาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst-case scenario)

  • ให้ข้อมูลผู้อ่านเกี่ยวกับสิ่งที่สามารถทำได้

  • ชี้แหล่งข้อมูลที่เป็นทางการให้ผู้อ่านทราบ

  • รู้ว่าต้องถามคำถามอะไรเกี่ยวกับงานวิจัยใหม่ๆ

  • คุยกับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1 คน

  • ระลึกเสมอว่าไม่ใช่ข่าวลือทุกเรื่องที่สมควรเป็นข่าว

  • ในกรณีที่รายงานข่าวลือ ต้องระบุว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ตั้งแต่ในพาดหัวและข้อความแรกในทวีต

  • ย่อยข้อมูลที่ซับซ้อน เช่น ระดับความเสี่ยง ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

  • เลี่ยงภาษาที่ตำหนิบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

  • ค้นหาว่าผู้อ่านมีคำถามอะไร และพยายามหาคำตอบ

  • ระบุแหล่งข้อมูล วันที่ และบริบทที่เกี่ยวข้องในแผนที่และกราฟ

ที่มา: https://firstdraftnews.org/latest/tips-for-reporting-on-covid-19-coronavirus-and-slowing-the-spread-of-misinformation/

อ้างอิง:

https://www.vox.com/recode/2020/3/12/21175570/coronavirus-covid-19-social-media-twitter-facebook-google

https://informationisbeautiful.net/visualizations/covid-19-coronavirus-infographic-datapack/

https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-51858555

https://www.thedailybeast.com/trump-white-house-privately-backchannels-its-coronavirus-messaging-to-conservative-social-media-influencers

https://www.nytimes.com/2020/03/16/business/media/coronavirus-seattle-times.html

https://www.bbc.com/news/world-46146877

https://ifex.org/emergency-covid-19-measures-must-not-be-used-to-roll-back-media-freedom/