รายงานล่าสุดพบว่า ขั้วแม่เหล็กเหนือของโลกเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งอย่างรวดเร็วขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จากฝั่งประเทศแคนาดามุ่งหน้าสู่ไซบีเรีย และจากการศึกษาพฤติกรรมของขั้วแม่เหล็กของโลกมาอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยปี พบว่าความเร็วในเคลื่อนตัวนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันมีความเร็วการเคลื่อนที่มากถึง 55 กิโลเมตรภายใน 1 ปี
โดยปกติแล้วสนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีการคำนวณและปรับเปลี่ยนแบบจำลองอยู่เสมอในทุกๆ 5 ปี แบบจำลองปัจจุบันถูกออกแบบและอัปเดตลงบน World Magnetic Model (WMM) เพื่อใช้ในการอธิบายสนามแม่เหล็กขององค์กร National Geophysical Data Center ล่าสุดเมื่อปี 2015 และคาดการณ์ว่าจะได้รับการอัปเดตอีกครั้งในปี 2020 เพื่อให้ระบบนำทางสมัยใหม่ทั่วโลกได้ปรับตาม ตั้งแต่ระบบนำทางเรือไปจนถึงระบบกูเกิลแมปส์ในสมาร์ตโฟน
เหตุการณ์เคลื่อนตัวของขั้วแม่เหล็กที่เร็วขึ้นจากเดิมอย่างรวดเร็วนี้ สันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของเหล็กหลอมละลายที่อยู่ภายในแก่นโลกซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการสร้างสนามแม่เหล็กโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสนามแม่เหล็กโลกอย่างฟิล ลิเวอร์มอร์ (Phil Livermore) จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ได้เสนอความคิดว่า เหตุการณ์นี้อาจเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของกระแสของเหล็กหลอมละลายใต้ประเทศแคนาดาหรือไซบีเรีย การที่สนามแม่เหล็กบริเวณประเทศแคนาดามีความเข้มลดลง อาจทำให้ขั้วแม่เหล็กเคลื่อนที่ไปทางไซบีเรียเร็วขึ้น (ดูเหมือนสองพื้นที่กำลังเล่นชักกะเย่อกัน แล้วแคนาดาแพ้ให้แก่ไซบีเรียนั่นเอง)
การเหตุการณ์ข้างต้นทำให้ทีมวิจัยเกิดความคิดที่จะปรับปรุง WMM ให้เร็วขึ้นจากปกติ โดยสนับสนุนจากเหตุการณ์ในปี 2016 มีรายงานจากดาวเทียมภายใต้โครงการ European Space Agency’s Swarm ว่าพบว่า สนามแม่เหล็กใต้เปลือกโลกบริเวณทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกมีการเปลี่ยนแปลงในบางส่วนด้วยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2018 กลุ่มนักวิจัยจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และทีมสำรวจด้านธรณีวิทยา ในเมืองเอดินบะระ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการวัดค่าสนามแม่เหล็ก เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองของปี 2015 พบว่า สนามแม่เหล็กที่วัดได้จากเครื่องมือนั้นผิดไปจากแบบจำลอง โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมากเกินกว่าจะยอมรับได้ และส่งผลกระทบต่อระบบการนำทางอย่างแน่นอน จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องปรับปรุงการคำนวณแบบจำลองของ WMM มากขึ้นไปอีก
ด้วยหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลที่ทีมวิจัยได้รวบรวมมากว่า 3 ปี ทำให้ทีมวิจัยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแบบจำลองสนามแม่เหล็กโลกภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ เร็วขึ้นจากเดิมที่ควรจะเป็น
ส่วนสาเหตุการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังคงเป็นปริศนาที่นักวิจัยยังคงต้องหาคำตอบ แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ การใช้ระบบนำทางที่อ้างอิงจาก WMM เช่น การเดินเรือ การเดินอากาศ หรือแม้กระทั่งกูเกิลแมปส์ที่เราพึ่งพามันเสมอเวลาหลงทาง
ที่มาภาพ: Mladen ANTONOV / AFP
ที่มา:
- https://www.nature.com/articles/d41586-019-00007-1?WT.ec_id=NATURE-20190110&fbclid=IwAR08e-sTKmqekG3-6Ul2AO_UlO_Uz70Ni5KUYwbq9IseufTtTkzPZ3cR2dg
- https://www.iflscience.com/environment/earths-magnetic-field-is-up-to-some-seriously-weird-stuff-and-no-one-knows-why-/