ความทรงจำอันเลวร้ายดูจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน มันเป็นชิ้นส่วนที่เราไม่เคยปรารถนาให้เกิดขึ้น แต่แล้วจู่ๆ ชีวิตก็จับเราไปวางไว้ตรงจุดนั้น ขีดเส้นเรื่องราวจนเสร็จสรรพ แล้วปล่อยให้เราเอาตัวรอดออกมาเองเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออะไรเลย และหากรอดมาได้ มันก็จะทิ้งบาดแผลเอาไว้ให้ได้ระลึกถึง ครั้นหลับตาลงเมื่อใดความทรงจำนั้นก็ดูท่าว่าพร้อมจะจู่โจมหัวใจอยู่เสมอ อย่างเช่นที่ แดนนี่ ทอแรนซ์ พบเจอและเลือกที่จะวิ่งหนีตลอดมา

แดนนี่ ทอแรนซ์ เป็นเด็กชายที่สูญเสียพ่อไปในฤดูหนาวอันโหดร้าย เมื่อครอบครัวของเขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมโอเวอร์ลุกยาวนานถึง 5 เดือน โดยที่มันไม่ต่างอะไรจากโรงแรมปิดตายเลยสักนิด เหตุเพราะโรงแรมตั้งอยู่บนภูเขาสูง ยามที่ลมเปลี่ยนทิศ และฤดูหนาวกล้ำกรายเข้ามา หิมะจะท่วมสูง อากาศหนาวเหน็บ และบรรยากาศเงียบสงัด มันโดดเดี่ยวพอที่จะทำให้ใครคนหนึ่งคลุ้มคลั่งได้ และไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด แจ็ค ทอร์แรนซ์ ก็โดนสถานที่แห่งนี้กลืนกิน เขาไล่ล่าฆ่าฟันครอบครัวตัวเอง แต่คนที่ถูกความตายเล่นงานกลับเป็นเขา แจ็คจึงจากไปในฤดูหนาวนั้น ทิ้งให้เวนดี้ต้องดูแลแดนนี่ตามลำพัง เธอพาลูกชายตัวน้อยย้ายไปยังสถานที่ที่ไม่ต้องพบเจอกับหิมะอีก เพราะไม่อยากหวนไห้ถึงเหตุการณ์นี้อีกต่อไป แม้ว่าในส่วนลึกในใจของทั้งสองจะยังติดอยู่ในโรงแรมแห่งนั้นก็ตาม

ต้นกำเนิดคำสาปสยอง

Doctor Sleep เป็นส่วนที่เกิดขึ้นหลังจาก The Shining (1980) โดยเนื้อหาของทั้งสองเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายของสตีเฟ่น คิง เจ้าพ่อนวนิยายสยองขวัญที่ผลงานถูกหยิบไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ซึ่ง The Shining นั้นถูกหยิบไปกำกับโดยสแตนลีย์ คูบริก ตัวนวนิยายถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1977 และเพียงอีกสามปีต่อมาคูบริกก็เนรมิตรทุกอย่างให้ออกมาโลดแล่นบนหน้าจอ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าสุดท้ายคิงก็ไม่ได้ปลื้มผลงานที่ออกมาเท่าไรนัก แม้ว่ามันจะมีความยอดเยี่ยมอยู่ก็ตาม

ส่วนแรกคือการแสดงของแจ็ค นิโคลสัน คิงบอกว่าการที่แจ็คมาแสดงบทนี้มันทำให้เจตนารมณ์ของตัวละครเขาเปลี่ยนไป ผู้ชมต่างติดภาพจำของเขาจากเรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ดังนั้น เมื่อมารับบทแจ็ค ทอร์แรนซ์ อย่างไรเสียผู้ชมก็จะยังคงเห็นเค้าความบ้าที่ติดมาอยู่ดี ทั้งๆ ที่ตัวละครของคิงไม่ได้บ้าแบบนั้นมาตั้งแต่แรก อีกส่วนหนึ่งที่คิงไม่เห็นด้วยก็คือการตีความของคูบริกเอง ขณะที่ในหนังสือมันเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น แต่คิงกลับไม่เห็นโศกนาฏกรรมในภาพยนตร์ และแทนที่ตอนจบจะจบลงด้วยกองเพลิง มันก็จบลงด้วยความยะเยือกแทน นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เข้าใจได้ว่าหลายคนที่ได้อ่านต้นฉบับทำไมถึงไม่ชอบภาพนตร์ของคูบริก แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆ จนต้องยอมรับก็คือ The Shining มีฉากที่น่าจดจำอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวของเด็กแฝด ฉากปั่นจักรยานของแดนนี่ ลวดลายของเขาวงกต และใบหน้าของแจ็ค ทอร์แรนซ์ที่มองผ่านประตู

ผลกระทบของคำสาป

สตีเฟ่น คิง ไม่ได้ลงมือเขียนภาคต่อของ The Shining ในทันที แต่มันผ่านเวลามาถึง 36 ปี กว่าที่ Doctor Sleep จะถูกตีพิมพ์ และเผยให้เห็นถึงบทสรุปในชีวิตของแดนนี่ ซึ่งตัวคิงเองก็สงสัยอยู่เสมอว่าเกิดอะไรขึ้นกับแดนนี่เมื่อเขาโตขึ้น คิงจึงตัดสินใจเขียนภาคต่อนี้ออกมา

คราวนี้ผู้กำกับที่จะมาสานต่อก็คือ ไมค์ ฟลานาแกน ผู้กำกับภาพยนตร์/ซีรีส์สยองขวัญหน้าใหม่ไฟแรงที่เคยฝากความระทึกขวัญมาแล้วกับ Hush (2016), Gerald’s Game (2017) และ The Hunting of Hill House (2018) เหนือสิ่งอื่นใดเขาเป็นแฟนตัวยงของคิง และในเมื่อเรื่องที่คิงไม่ปลื้ม The Shining เป็นที่รู้โดยทั่วกัน ในการทำงานครั้งนี้ทั้งสองจึงต้องมีการพูดคุยกันตั้งแต่ต้นในหลายๆ จุดที่ภาพยนตร์ต้องการจะให้เป็น เพราะไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่คูบริกได้ทำไว้ก็ยังติดตรึงผู้ชมอยู่เช่นกัน คิงจึงอ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาต้องการให้ Doctor Sleep ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่ต้องการให้มีอะไรผิดพลาดอีก เมื่อคิงได้อ่านบทเขาก็พูดกับตัวเองว่า ทุกสิ่งที่ไม่ชอบเกี่ยวกับ The Shining ได้รับการแก้ไขให้กับเขาแล้ว

แต่ความท้าทายสำคัญของไมค์ก็คือ หนังสือนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าในตอนจบโรงแรมจะจมอยู่ในเปลวเพลิง ภาษาที่คูบริกใช้สร้าง The Shining กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย และเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกร่วมของเขาแต่เมื่อได้อ่าน Doctor Sleep หนังสือนั้นพูดโดยชัดเจนว่า “ภาพยนตร์ของคูบริกไม่เคยเกิดขึ้น”

นั่นทำให้ไมค์ต้องเปลี่ยนตอนจบของ Doctor Sleep ด้วยการพาทุกคนกลับไปที่โรงแรมแห่งนั้น แล้วทำให้บางอย่างถูกต้องเสียที ไมค์บอกกับคิงว่า “ผมคิดว่าคุณต้องใช้สัญลักษณ์บางอย่างของคูบริกอย่างไม่มีทางเลือก แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ผมให้ได้ก็คือการพาเราย้อนกลับไปสู่ตอนจบดั้งเดิมของ The Shining ซึ่งเป็นสิ่งที่คูบริกไม่ได้ให้คุณ” มันสร้างความลำบากไม่น้อยเช่นกันสำหรับไมค์ เพราะเขาเองก็เป็นแฟนของทั้งคู่ แต่ก็เป็นการยากที่จะพูดกับคิงว่า “ผมเข้าใจว่าทำไมคุณถึงไม่ชอบ The Shining ในฐานะแฟนหนังสือผมเห็นว่ามันไม่ได้เป็นการดัดแปลงที่ยอดเยี่ยม แต่มันเป็นผลงานชิ้นเอกของภาพยนตร์ ดังนั้นเราจะเชิดชูทั้งสองสิ่งนี้ไปพร้อมกันได้อย่างไร ซึ่งมันต้องมีวิธี”

หลังจากที่คิงให้การอนุมัติในการสร้างแล้ว เขาก็ถอยตัวเองออกไปเลย และปล่อยให้ไมค์ได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจ คิงพูดกับไมค์ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของผม และผมต้องการให้ภาพยนตร์เป็นของคุณ ผมไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง”

ปัจจุบันของอดีต

เมื่อสูญเสียแจ็คไปแล้ว เวนดี้ก็พยายามเลี้ยงดูแดนนี่ให้ดีที่สุด แต่ถึงจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนจากโรงแรมโอเวอร์ลุก แดนนี่ก็ยังถูกสิ่งชั่วร้ายตามมาหลอกหลอนอยู่ดี ซึ่งต่อมาเขาก็ได้เรียนรู้ว่าควรจัดการกับมันอย่างไร นั่นคือการสร้างกล่องภายในใจขึ้นมาขังพวกมันไว้ ชีวิตของแดนนี่ดำเนินไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เขาปิดบังพลังไชน์นิ่งของตัวเองมาตลอด แม้ว่าบางครั้งมันจะทำให้เขามองเห็นความเป็นความตายอย่างชัดเจน อย่างในวันที่แม่ของเขากำลังจะจากไป แดนนี่รับมือกับชีวิตได้ไม่ดีนัก เขาติดแอลกอฮอล์ ต่อยตีกับคนอื่น เมาหยำเปเพื่อให้แต่ละวันผ่านไปอย่างไม่ยากเย็นนัก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแดนนี่ก็เกินจะทนกับความเจ็บปวดทั้งหมดที่สั่งสมมา เขาจึงย้ายไปยังสถานที่อันห่างไกล และได้เข้าทำงานเป็นบุรุษพยาบาล ณ ที่แห่งนี้เอง เขาได้ใช้ไชน์นิ่งของตัวเองเพื่อส่งให้ผู้ป่วยนอนหลับไปตลอดกาลอย่างสงบ

แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นช่วงเวลาในการเติบโตของแดนนี่ แต่ร่องรอยของความผุพังก็ปรากฏให้เห็นอยู่ในแววตา เขาอ่อนล้า โรยแรง ไร้คนรักและที่พึ่งพิง การกระทำที่ผ่านมาของเขาแทบไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่พ่อเคยเป็นเลย ยิ่งหนีเงาของพ่อมากเท่าไรก็ดูเหมือนว่าเขาจะติดอยู่เงามากเท่านั้น ในหนสุดท้ายนี้แดนนี่จึงลงมือทำในสิ่งที่พ่อไม่เคยทำได้ นั่นคือการฟื้นฟูตัวเองเพื่อเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

ชีวิตของแดนนี่กลับมาสดใสได้อยู่หลายปี จนความชั่วร้ายเดินทางเข้ามาใกล้ พวกเขามีนามว่ากลุ่มทรูน็อต ซึ่งนำโดย โรส เดอะแฮต มันเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีไชน์นิ่งเป็นของตัวเอง แต่พวกเขามีอายุขัยมาอย่างยาวนานด้วยการกลืนกินไชน์นิ่งของคนอื่น “Live long. Eat well.” เป็นคำติดปากของโรส แล้วเธอก็ค้นพบกับขุมพลังอันยิ่งใหญ่ แอบรา เด็กหญิงที่มีไชน์นิ่งอย่างที่โรสไม่เคยพบมาก่อน โรสพบเธอเพราะแอบราดันนิมิตเห็นพิธีกรรมชั่วช้า ทันทีที่แอบรารู้สึกถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ เธอจึงไปขอความช่วยเหลือจากแดนนี่ เนื่องจากแดนนี่กับแอบราสื่อสารกันอยู่เนืองๆ จากการเป็นเพื่อนทางจดหมาย (พวกเขาพูดคุยผ่านตัวหนังสือบนกำแพงห้องของแดนนี่) การปรากฏตัวของกลุ่มทรูน็อตจึงเป็นการพาแดนนี่ย้อนกลับไปยังอดีตที่ยากจะลืมเลือน 

ความเป็น ความตาย การมีความหมายและการเผชิญหน้า

ผลกระทบของบาดแผลทางใจมักจะคงอยู่ยาวนาน สิ่งที่แดนนี่ต้องเผชิญแทบไม่ต่างอะไรจาก PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ผลกระทบของมันครอบคลุมแทบจะทุกสิ่งในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ทั้งสุขภาพ ความสัมพันธ์ และความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆ แดนนี่จึงเลือกที่จะขังทุกอย่างไว้ภายในใจ ทั้งความทรงจำและภูติผีปีศาจ ระบายออกผ่านแอลกอฮอล์ บางคืนก็นอนเหน็บหนาวอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ เขาไม่รู้ว่าจะโอบกอดตัวเองให้ลุกขึ้นยืนอีกครั้งได้อย่างไร จนกระทั่งการจับรถไปยังเมืองที่ตัวเองไม่รู้จัก เมืองที่คนแปลกหน้าถามคนแปลกหน้าว่าคุณหนีอะไรมา

คงกล่าวได้ไม่ผิดนักหากบอกว่า Doctor Sleep ถูกขับเคลื่อนไปด้วยปมความเจ็บปวดของแดนนี่ เขามีชีวิตอยู่จนล่วงผ่านเวลามาเป็นระยะเวลากว่าสี่สิบปี โดยที่ยังติดอยู่กับความกลัว ความรู้สึกผิด และความไร้ค่า ไชน์นิ่งของเขามีแต่จะเก็บกดเขาไว้ โดยที่ไม่เคยได้ส่องประกายออกมาจริงๆ เลย การได้เข้ามาเป็นบุรุษพยาบาลและเจอเพื่อนที่ดีถึงได้เป็นเหมือนการพบที่ทางของตน แดนนี่เผชิญหน้ากับความตายทุกวัน เขารู้ดีว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ แล้วมื่อเขาได้ช่วยใครสักคนให้จากไปอย่างสงบ เขาก็พบความสงบในใจของตัวเองเช่นกัน

หากใครยังจำเรื่องราวในตอนเด็กของแดนนี่กันได้ เขาจะมีชื่อเล่นที่แม่ใช้เรียกตัวเองว่าด็อก อันมีที่มาจากการ์ตูนที่เขาชอบดู นั่นคือ Bugs Bunny (ตอนพบกับดิ๊ค—ชายผิวสีที่มีไชน์นิ่ง ครั้งแรกในโรงแรม ดิ๊คก็เรียกแดนนี่ด้วยชื่อนี้เช่นกัน) ชื่อเล่นนี้ไม่มีใครใช้เรียกเขาอีกแล้ว ในวันที่ทั้งดิ๊คและแม่จากไป ตัวแดนนี่เองก็คงไม่คิดว่าตนจะถูกเรียกด้วยชื่อนี้อีกครั้ง จนกระทั่งเขามาทำงานเป็นบุรุษพยาบาล แล้วได้รับฉายา ‘ด็อก(เตอร์สลีป)’ จากการกระทำที่ช่วยให้คนใกล้หมดลมหายใจหลับใหลในห้วงนิทราที่จะไม่ตื่นขึ้นมาอีก สำหรับผู้เขียน Doctor Sleep ยังมีความหมายในอีกนัยหนึ่ง เพราะในขณะที่แดนนี่ทำให้คนอื่นหลับ มันกลับเป็นการปลุกไชน์นิ่งของตัวเอง ไชน์นิ่งที่เขาก็พยายามให้มันหลับตลอดมา 

ขณะที่สิ่งที่กลุ่มทรูน็อตทำก็ไม่ต่างอะไรจากการหลบหนีเช่นกัน พวกเขาไม่ได้หลบหนีอดีตอย่างแดนนี่ แต่กลับหนีสิ่งที่มนุษย์ไม่มีทางหนีได้ นั่นคือความตาย และมันต้องสังเวยด้วยชีวิตของคนอื่น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ยืดความตายออกไปอีกหน่อย ซึ่งมันสามารถยืดออกไปได้นานพอที่ร่างกายจะค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพลง ผนวกกับที่การตามหาไชน์นิ่งนั้นหาไม่ได้ง่ายๆ อย่างแต่ก่อน พวกเขาจึงพะวงกับความตายยิ่งๆ ขึ้น เพราะปฏิเสธมันมาโดยตลอด และเมื่อความตายมาประชิดตัวเข้าจริงๆ มันก็ช่างทรมานสาหัสกว่าที่จะหายไป ร่างของพวกเขาจะทุรนทุรายตะเกียดตะกายเอาลมหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนจะแหลกสลายจนไม่เหลือแม้แต่ผุยผง

ครั้งแรกที่แดนนี่เจอกับแอบราตรงๆ เขาแนะนำให้เด็กน้อยหลบซ่อนตัวให้มิดที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นเรื่องร้ายๆ ก็จะเกิดขึ้น เขาปฏิเสธที่จะให้การช่วยเหลือ แต่แล้วเพื่อนในอดีตก็ปรากฎตัวต่อหน้าเขา เพื่อนในความทรงจำ เพื่อนเพียงคนเดียวที่เข้าใจ และเป็นเพื่อนคนนี้นี่แหละที่เคยให้คำแนะนำดีๆ แก่เขา ครั้งนี้เขามาเพื่อบอกลา รวมถึงบอกว่าแดนนี่ต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ว่าก็คือการเผชิญหน้ากับอดีต เผชิญหน้ากับวัยเยาว์ เผชิญหน้ากับพ่อที่ไม่ใช่พ่ออีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เขาต้องคลายปมในใจเสียที ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะไม่หายไป แถมยังจะรวมตัวกันจนเป็นผลึกที่ไม่สามารถทำลายได้ง่ายๆ เพราะถ้าเขาไม่ทำมันในวันนี้ เขาก็คงจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วยังจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ที่จะปล่อยให้ความชั่วช้ากลืนกินอนาคตของคนอื่น ปล่อยให้ไชน์นิ่งต้องถูกความตายพรากไปอย่างเจ็บปวดและไม่ยุติธรรม ต่อให้หนีมาไกลแค่ไหน ถ้าอยากให้ทุกอย่างจบก็ต้องหันหลังกลับไปยังที่ๆ จากมา รวบรวมความกล้าแล้วปลดเปลื้องทุกอย่างภายในใจ…

สานต่อ ก้าวผ่าน เลียนแบบ สร้างใหม่ อยู่ที่ใครนิยาม

 ไมค์อาจเหมือนเด็กน้อยคนหนึ่งที่ต้องการให้พ่อแม่ของเขากลับมาคืนดีกัน ในฐานะลูกเขาจึงพยายามรักษาสมดุลให้ดีที่สุด โดยยังคงให้มี DNA ของทั้งคิงและคูบริก แต่มันก็จำเป็นจะต้องทำออกมาโดยไม่ละทิ้งตัวตนของตัวเองด้วย ไมค์ไม่เคยพยายามจะเป็นคูบริก ดังนั้น Doctor Sleep จึงไม่ได้มีทิศทางอย่าง The Shining ที่มีความระทึกขวัญผสมจิตวิทยาอยู่ในนั้น แต่ไมค์ทำมันออกมาอย่างแฟนตาซีบวกกับ trauma ของตัวละครอย่างที่เขาถนัด เขาเชื่อว่าผีอยู่รอบๆ ตัวเราทุกคน แต่บางทีมันก็มาในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งความทรงจำ ความรู้สึกผิด ความเศร้า ความเสียใจ และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนี่คือ DNA ของเขา ตัวละครของไมค์มักต้องแบกรับบางอย่างจนทรุดลง ครั้นพยายามจะฮึดสู้ก็ต้องเจ็บซ้ำสอง เพราะโลกเป็นสถานที่ที่มืดมิดและน่ากลัว ความชั่วร้ายมักได้สิ่งที่ต้องการไปเสมอ แต่อย่างน้อยถ้าใครบางคนยังเชื่อว่าความชั่วร้ายจะไม่ชนะตลอดไป โลกก็คงยังพอมีหวังให้กับคนที่ล้มเสมอมา แล้วเมื่อหากถอดเรื่องราวของภูติผีออกไปนี่ก็แทบไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์ซููเปอร์ฮีโร่แม้แต่น้อย มันให้ความรู้สึกเหมือนดู X-Men ผสม Logan นี่จึงเป็นส่วนที่ทำให้เราสลัดภาพจาก The Shining ไปได้ทันที แล้วในส่วนที่คารวะต้นฉบับก็ช่วยเติมเต็มจิ๊กซอว์ของเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ฉะนั้นการจะนำทั้งสองเรื่องมาเปรียบเทียบกันก็รู้สึกว่าใจร้ายไปหน่อย เพราะนี่คือการสร้างสิ่งใหม่ไม่ใช่สร้างสิ่งเก่า ซึ่งในสายตาผู้เขียน ไมค์ทำมันออกมาได้อย่างน่าจดจำมากเช่นกัน

Tags: , , , , ,