ปี 2017 เป็นปีที่เราได้ยินชื่อของ สตีเฟน คิง (Stephen King) กันบ่อยเหลือเกินในโลกของภาพยนตร์ เพราะมีหนังที่สร้างมาจากงานเขียนของเขาออกมามากถึง 4 เรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังขวัญใจมหาชนอย่าง It หายนะบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศอย่าง The Dark Tower รวมไปถึงหนังเล็กๆ อีก 2 เรื่องของ Netflix ที่ปล่อยฉายในเวลาไล่เลี่ยกันทั้ง Gerald’s Game และ 1922

หนัง 2 เรื่องนี้สร้างมาจากงานเขียนชิ้นที่มีชื่อเสียงน้อยลงมาของคิง โดย Gerald’s Game เป็นนิยายระทึกขวัญที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1992 ขณะที่ 1922 เป็นนวนิยายขนาดสั้น (novella) ในหนังสือรวมเรื่องสั้น Full Dark, No Stars ที่ตีพิมพ์ในปี 2010 เรื่องราวของหนังทั้ง 2 เรื่องจึงอาจไม่ได้มีสเกลใหญ่โตหรือมีองค์ประกอบอันเป็นที่จดจำอยู่ก่อนหน้า (อย่างเช่น เจ้าปีศาจตัวตลกเพนนีไวส์ใน It) แต่ก็มีความน่าสนใจบางอย่างและรสชาติของความสยองที่ไม่ควรมองผ่านไปง่ายๆ

Stephen King

สำหรับฮัลโลวีนที่กำลังจะมาถึงนี้ หากใครยังคิดไม่ออกว่าจะต้อนรับมันด้วยการดูหนังสยองขวัญเรื่องใด การนั่งชิลล์อยู่บ้านแล้วสตรีมหนัง 2 เรื่องนี้ที่สร้างจากปลายปากกาของ ‘ราชาแห่งเรื่องสยองขวัญ’ ก็ดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะอยู่ไม่น้อย

ภูมิทัศน์ของความกลัว

เจสซี (คาร์ลา กูจิโน) และเจอรัลด์ (บรูซ กรีนวูด) คือคู่สามีภรรยาความสัมพันธ์ระหองระแหงที่หวังกอบกู้ชีวิตคู่ด้วยการพากันไปพักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์อยู่ในบ้านกลางป่าห่างไกลผู้คน แต่ระหว่างที่เจอรัลด์กำลังพยายามเติมความซาบซ่าให้กับเกมเซ็กซ์ด้วยการใส่กุญแจมือล็อคเจสซีไว้กับหัวเตียง เขาดันมาหัวใจวายตายไปกลางคัน เจสซีจึงต้องพยายามหาทางเอาตัวรอดออกจากพันธนาการไปให้ได้ ก่อนจะตายคาเตียงเป็นศพตามสามีไปอีกคน

Gerald’s Game

ในขณะที่เราอาจมองว่า Gerald’s Game เป็นหนัง ‘เอาตัวรอดในพื้นที่จำกัด’ คล้ายๆ กับที่ Phone Booth (2002), Buried (2010) หรือ 127 Hours (2010) แต่มันก็โดดเด่นด้วยองค์ประกอบหลอนๆ ตามสไตล์ของคิง เพราะในช่วงเวลาวิกฤตนี้เองที่ปมปัญหาและความหวาดกลัวเบื้องลึกในใจของเจสซีถูกขุดคุ้ยขึ้นมาสำรวจ จนเธอเสียสติเห็นภาพหลอนต่างๆ นานา เธอเห็นทั้งร่างของสามีและตัวเธอในจินตนาการยืนพูดคุยสำรวจถึงตัวเลือกต่างๆ ที่จะทำให้เธอรอดออกไปได้ เธอหวนนึกถึงวัยเยาว์ที่ถูกพ่อทำร้าย รวมทั้งยังเห็นภาพหลอนของร่างพิกลพิการในเงามืดที่ดูเหมือนจะมาเฝ้ารอรับวิญญาณของเธอ

เส้นแบ่งระหว่างความจริง ภาพหลอน ความฝัน และความทรงจำใน Gerald’s Game จึงพร่าเลือนลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ความตายย่างกรายเข้ามาใกล้ จริงอยู่ที่ว่าภัยคุกคามของโลกแห่งความจริงยังเห็นได้ชัด เพราะต่อให้หลอนเพียงใด เจสซีก็ยังถูกล็อคข้อมือไว้กับเตียงอย่างแน่นหนาอยู่ดี กระนั้นการผสานโลกภายในจิตใจเข้ามาก็ช่วยขยายความน่ากลัวของหนังได้อย่างน่าพรั่นพรึง

Gerald’s Game

การแสดงให้เห็นความสยองขวัญที่บรรเลงอยู่ในภูมิทัศน์ทางจิตใจมนุษย์นับเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นเสมอมาของ ไมค์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan) ผู้กำกับที่หลายเสียงยกให้เป็นคลื่นความสยองลูกใหม่ ดังเห็นได้จากผลงานอย่าง Oculus (2013), Before I Wake (2016) หรือ Ouija: Origin of Evil (2016) ซึ่งใน Gerald’s Game ก็เห็นได้ชัดถึงพัฒนาการทางฝีมือของฟลานาแกนในการควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ได้อยู่มือมากขึ้น ทั้งยังสอดแทรกประเด็นต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจ

ในขณะที่ภูมิทัศน์ของความกลัวใน Gerald’s Game ผสานเอาโลกภายนอกและภายในจิตใจเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อลองเทียบเคียงกับ 1922 จะพบว่า เรื่องหลังเน้นไปที่โลกภายนอกเป็นหลัก ความน่าสะพรึงมาจากพฤติกรรมและการตัดสินใจของตัวละครที่สะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวภายในของพวกเขา อีกทั้งฉากหลังที่เป็นไร่ข้าวโพดและบ้านมืดทึมก็เข้ามาช่วยขับเน้นบรรยากาศชวนขนลุกของตัวเรื่อง

Gerald’s Game

1922 เล่าถึง วิลเฟร็ด (โธมัส เจน) เจ้าของไร่ข้าวโพดในยุค 20s ที่ตัดสินใจฆ่า อาร์เล็ตต์ ภรรยาของตน (มอลลี พาร์คเกอร์) เพราะไม่พอใจที่นางอยากขายที่ดินเพื่อย้ายไปมีชีวิตในเมือง ทั้งยังเกลี้ยกล่อมให้ เฮนรี (ดีแลน ชมิด) ลูกชายวัยรุ่นของเขาร่วมกันลงมือ แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปดังที่วิลเฟร็ดหวัง เมื่อผู้คนเริ่มระแคะระคายถึงการหายตัวไปของอาร์เล็ตต์ ตัวเฮนรีเองก็ประสบปัญหากับสิ่งที่ตนทำลงไป และผีภรรยาก็เริ่มมาปรากฏกายให้เขาเห็น พร้อมกับบรรดาหนูที่กัดกินซากศพของเธอ

Gerald’s Game

หนังกำกับโดย แซ็ก ฮิลดิตช์ (Zak Hilditch) คนทำหนังจากออสเตรเลียผู้เคยมีผลงาน These Final Hours (2013) ที่ได้ไปฉายในเซ็กชัน Directors’ Fortnight ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ เห็นได้ชัดว่าใน 1922 เขาตั้้งใจสำรวจความฉ้อฉลในจิตใจและความรู้สึกผิดบาปของตัวละคร แต่ก็น่าเสียดายที่มันยังไม่คมคายหรือขุดลึกเข้าไปในจิตใจตัวละครเท่าที่ควร ถึงแม้การเล่าเรื่องอย่างเชื่องช้านิ่งงันช่วยสร้างบรรยากาศหลอนๆ ให้ค่อยๆ คืบคลานมาเกาะกุมจิตใจคนดู (กว่าผีภรรยาจะเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น ก็ปาเข้าไปครึ่งเรื่องแล้ว) แต่ไปๆ มาๆ คนดูก็อาจไม่ได้รู้สึกอยากจะติดตามชะตากรรมของนายวิลเฟร็ดเท่าไหร่ ยิ่งเมื่อตัวละครเป็น ‘ผู้กระทำ’ ที่ยากจะเห็นใจ ต่างจากเจสซีใน Gerald’s Game ผู้เป็น ‘เหยื่อ’ ที่เราย่อมเอาใจช่วย ก็ยิ่งทำให้คนดูตีตัวออกห่างออกจากหนังอย่างเสียไม่ได้

พันธนาการมรณะ

จุดร่วมทางเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของ Gerald’s Game และ 1922 คือการพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในโลกของผู้ชาย สำหรับเจสซี การถูกพันธนาการทำให้เธอได้เข้าใจว่าตนถูกล่ามโซ่ตรวนมานานก่อนจะมาสิ้นท่าอยู่บนเตียงมรณะ และที่ผ่านมานั้นราวกับเธอใช้ชีวิตในโหมด autopilot มาตลอด เธอถูกพันธนาการไว้ด้วยการแต่งงานกับผู้ชายอายุมากอย่างเจอรัลด์ซึ่งสัญญาจะมอบความมั่นคงในชีวิตให้เธอ เธอถูกผูกมัดไว้ด้วยบทบาทหน้าที่ของภรรยาที่ดีเพื่อจะได้เติมเต็มภาพลักษณ์ของครอบครัวอเมริกันอันสมบูรณ์แบบ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือเธอถูกจองจำด้วยสิ่งที่พ่อของเธอกระทำไว้ตอนเด็กซึ่งสร้างบาดแผลที่พลิกผันทิศทางชีวิตของเธอมาตั้งแต่นั้น สุริยคราสที่เราเห็นในหนังจึงเป็นช่วงเวลาที่กักขังเธอไว้ไม่ให้ก้าวเดินต่อไปได้ ช่วงเวลาก้ำกึ่งระหว่างกลางวันและกลางคืนซึ่งทอดเงาครอบงำให้เธอต้องติดกับมาตลอดชีวิต

ชั่วชีวิตของเจสซี เธอถูกดึงเข้าไปมีส่วนใน ‘เกม’ ของผู้ชายไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นเดียวกับอาร์เล็ตต์ที่ความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าต้องมอดดับลงด้วยน้ำมือของผู้ชายที่เธอไว้ใจ

อาร์เล็ตต์เป็นผู้หญิงที่อยากใช้ชีวิตในเมืองแต่กลับต้องมาทนอยู่ในไร่นากับครอบครัวเสียนานนม เธอจึงวางแผนจะขายที่ดินซึ่งตกทอดมาจากพ่อของเธอเพื่อที่จะเอาเงินไปตั้งหลักแล้วเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าในเมืองตามความฝัน

Gerald's Game

แน่นอนว่าแผนของอาร์เล็ตต์ย่อมเข้ามาสั่นคลอนโลกอันแน่นิ่งของผู้ชาย ซึ่งก็คือสามีและลูกของเธอ เพราะดังที่วิลเฟร็ดกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “ในปี 1922 ความภาคภูมิใจของผู้ชายอยู่กับที่ดินและลูกชายของเขา” การสูญเสียที่ดินของเมียจะทำให้วิลเฟร็ดไม่มีมรดกตกทอดให้กับลูกชาย ทั้งยังจะทำให้วิถีชีวิตการทำไร่ทำนาของเขาต้องเปลี่ยนแปลงไป การแต่งงานจึงเป็นเสมือนกรงขังที่ผูกขาดชีวิตและการตัดสินใจของผู้หญิงให้ต้องเป็นไปตามครรลองของผู้ชาย ผู้หญิงไม่มีอำนาจจะลุกขึ้นมาเลือกอะไรให้ตัวเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เธอเรียกร้องเกินไป โซ่ตรวนในนามของการแต่งงานก็จะยิ่งบีบรัดชีวิตออกไปจากเธอมากขึ้น การตัดสินใจฆ่าอาร์เล็ตต์จึงเป็นการดิ้นรนของผู้ชายที่จะรักษาวิถีชีวิตและโลกใบเดิมของพวกเขาไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง โดยที่วิลเฟร็ดและลูกชายไม่อาจล่วงรู้เลยว่าความพยายามของพวกเขาที่จะแช่แข็งโลกใบเดิมไว้ เป็นการปูหนทางไปสู่ความพินาศของพวกเขาเอง

Gerald’s Game

ความแตกต่างของการเล่าเรื่องการกดทับของเพศหญิงเห็นได้จากที่ 1922 เล่าจากมุมของผู้ชาย แสดงให้เห็นระบบของผู้ชายที่กัดกินตัวมันเอง ราวกับหนูซึ่งแทะกินซากศพ การพยายามเหนี่ยวรั้งไม่ให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงและจองจำทางเลือกของผู้หญิงจึงดูจะไม่ได้ยังประโยชน์ให้กับใครเลยในท้ายที่สุด ส่วน Gerald’s Game เล่าเรื่องจากมุมมองของผู้หญิงโดยตรง ตลอดทั้งเรื่อง เราได้เห็นผู้หญิงดิ้นรนเอาตัวรอดและปลดแอกตัวเองออกจากพันธนาการของผู้ชาย แม้จะเต็มไปด้วยความน่าสะพรึง (ในหลายๆ ฉากโหดร้ายถึงขั้นมีรายงานว่าคนดูเป็นลมตอนหนังไปฉายเปิดตัวที่ Fantastic Fest!) แต่หนังก็มอบความหวังในการกอบกู้ชีวิตที่มีบาดแผลโชกโชนและสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างน่าประทับใจ

Tags: , , , , , ,