แค่เจ้าสัวอาลีบาบาออกจากไทยเพียงเดือนเดียว ความสนใจเรื่องไทยได้หรือเสียอะไรจากการลงทุนของอภิมหาเจ้าสัวจีนก็หายไปหมด ยกเว้นข่าวคนไทยไม่ได้กินทุเรียน ซึ่งปีนี้ราคาแพงจนในกรุงเทพฯ ราคาขึ้นไปโลละ 150 บาท ส่วนกลุ่มราคากิโลละ 80 บาทก็มีแต่ทุเรียนเกรดถูกคัดทิ้งหรือพันธุ์รอง
ไม่เพียงการค้าออนไลน์ใต้บารมีหม่าจะส่งผลให้ทุเรียนแพงถึงขั้นเกษตรกรเล็งโค่นต้นยางเพื่อปลูกทุเรียน มังคุดก็เป็นผลไม้อีกอย่างที่มีชะตากรรมคล้ายกัน รัฐบาลอ้างว่ามังคุดขาดตลาดเพราะอากาศรวนจนผลผลิตผันผวน ส่วนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศบอกว่า จีนกว้านซื้อมังคุดเพราะจัดเป็นผลไม้ชั้นเดียวกับทุเรียน
ข้อมูลจากแม่ค้าที่ตลาดเนินสูง จ.จันทบุรี ตรงกับที่อธิบดีว่า พ่อค้าจีนกวาดเอาผลไม้เกรดเอจากสวนไปจนไม่เหลือให้คนไทยกิน และแม้ว่าการที่จีนกักตุนผลไม้จะทำให้ชาวสวนได้ราคาดี แต่เครือข่ายพ่อค้าจีนก็อาจรวมตัวกันกดราคารับซื้อผลไม้จากชาวสวนให้ต่ำลงได้ตลอดเวลา
ตามที่รายงานของสนช.และกระทรวงพาณิชย์ระบุ แม้ทุนจีนในธุรกิจผลไม้ที่จันทบุรีจะมีจำนวนน้อยกว่าคนไทยเกินหนึ่งเท่าตัว คนกลุ่มดังกล่าวกลับกวาดผลผลิตของจังหวัดไปร้อยละ 70 จนมีโอกาสที่จะครอบงำตลาดผลไม้ที่นั่นภายใน 5 ปี ซึ่งก็คือการควบคุมห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain เกือบสมบูรณ์
ด้วยวิธีปกป้องการค้าในประเทศจีน การนำเข้าผลไม้จะทำได้โดยผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น มิหนำซ้ำความจริงคือส่วนใหญ่มีแต่พ่อค้าจีนที่มีเอกสารนี้ ชาวสวนไทยจึงส่งผลไม้ไปขายในจีนโดยตรงไม่ได้ ทำได้เต็มที่แค่ฝากขาย ซึ่ง นั่นเท่ากับจีนคุมห่วงโซ่อุปสงค์หรือ Demand Chain จากนำเข้าถึงจัดจำหน่ายโดยปริยาย
ขณะที่นายกฯ ของไทยโหนอาลีบาบาราวอภิมหาความสำเร็จด้านการลงทุน เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม หนังสือพิมพ์มติชนกลับรายงานเรื่องพ่อค้าจีนชะลอซื้อทุเรียนเพื่อกดราคาหน้าสวน การค้าออนไลน์ที่จบด้วยจีนครอบงำห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานจนรายได้ชาวสวนปั่นป่วนแบบนี้ไม่ปกติ และที่ผิดปกติกว่าคือ รัฐล่าช้าในการแก้ปัญหาประชาชน
ด้วยวิธีปกป้องการค้าในประเทศจีน การนำเข้าผลไม้จะทำได้โดยผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น มิหนำซ้ำความจริงคือส่วนใหญ่มีแต่พ่อค้าจีนที่มีเอกสารนี้ ชาวสวนไทยจึงส่งผลไม้ไปขายในจีนโดยตรงไม่ได้
ภายใต้การเชิดชูเศรษฐกิจดิจิทัลราวเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ของประเทศ ความผันผวนในสินค้าเกษตรคือตัวอย่างว่า นโยบายนี้มีปัญหาเหมือนนโยบายอื่น ยิ่งกว่านั้นคือรัฐผลักดันเรื่องนี้โดยพูดถึงประโยชน์สาธารณะน้อยมาก ดิจิทัลจึงอาจเป็นยุทธศาสตร์ในการดูดนักลงทุน มากกว่าที่จะเป็นทางออกของประเทศไทย
หากเป็นแบบนี้ต่อไป เศรษฐกิจดิจิทัลในฐานะนโยบายรัฐในประเทศไทยย่อมมีความเสี่ยงที่จะเดินไปสู่จุดจบ ซึ่งแตกต่างจากเส้นทางของ Digital Economy อย่างที่ควรจะเป็น
เศรษฐกิจดิจิทัลกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
ภายในเวลาสิบปีที่ผ่านมา ดิจิทัลคืออุตสาหกรรมซึ่งเติบโตสูงที่สุด ดัชนี Dow Jones Global Titans 50 ซึ่งสำรวจมูลค่าตามราคาตลาดของ 50 บริษัทใหญ่ในตลาดหุ้นอเมริกา ลอนดอน โตเกียว ฯลฯ พบว่า 6 ใน 10 ของบริษัทชั้นนำในปี 2017 อยู่ในธุรกิจนี้ ขณะที่ตัวเลขนี้เมื่อห้าปีก่อนมีเพียงสองบริษัทเท่านั้นเอง
มูลค่าตามราคาตลาดที่ขยายตัวในอัตราเร่งแบบนี้ สะท้อนการเติบโตอย่างแรงกล้าของกำไร แต่ที่สำคัญกว่าคือ แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีผลิตภาพแซงหน้าเศรษฐกิจแขนงอื่นรุนแรงมาก หรือพูดเชิงเปรียบเปรยคือ ดิจิทัลทำให้เศรษฐกิจแขนงอื่นคล้ายเข้าสู่สภาวะที่ไม่ได้สร้างอะไรในแง่การลงทุน
ในมิตินี้ เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่ระบบเศรษฐกิจซึ่งมาแทนที่เกษตรกับอุตสาหกรรม และยิ่งไม่ใช่การเชิญเจ้าสัวมาเปิดกิจการแบบรัฐบาลไทยคิด แต่เรากำลังพูดถึงเศรษฐกิจที่ผลิตภาพมีพลังจนเปลี่ยนพลังการผลิตของสังคม ซึ่งเท่ากับเรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมในระยะยาว
มองในมุมนี้ ดิจิทัลคือ ‘general-purpose technology’ ซึ่งหมายถึงวิทยาการที่จะต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมแก่สังคมในขอบเขตกว้างขวาง จนเกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายขั้น แทนที่วิทยาการที่มีอยู่เดิม เทคโนโลยีประเภทนี้จึงเปรียบได้กับตัวจุดระเบิดที่ส่งให้สังคมขยับจากทิศทางเดิมอย่างถึงรากถึงโคน
เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่ระบบเศรษฐกิจซึ่งมาแทนที่เกษตรกับอุตสาหกรรม และยิ่งไม่ใช่การเชิญเจ้าสัวมาเปิดกิจการแบบรัฐบาลไทยคิด แต่เรากำลังพูดถึงเศรษฐกิจที่ผลิตภาพมีพลังจนเปลี่ยนพลังการผลิตของสังคม
ริชาร์ด ลิบซีย์ (Richard Lipsey) อธิบายเรื่องนี้ด้วยคำว่า Transformative Technologies หรือเทคโนโลยีแห่งการเปลี่ยนผ่าน ดิจิทัลในแง่นี้เทียบได้กับเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไฟฟ้า ฯลฯ ที่จุดชนวนให้ปริมณฑลนอกเศรษฐกิจเปลี่ยนอย่างไพศาล โดยเฉพาะในกรณีที่เทคโนโลยีนั้นสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้นมหาศาลให้สังคม
จริงอยู่ว่าข้อถกเถียงของลิบซีย์คือ เทคโนโลยีแบบนี้ไม่ได้สร้างผลิตภาพใหม่ทุกกรณี แต่เมื่อใดที่พูดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อนั้นต้องคิดถึงกระบวนการทางสังคมที่ตามมาในระยะยาวเสมอ เพราะเรากำลังเผชิญยุคสมัยคล้ายกับที่เครื่องจักรไอน้ำสร้างโรงงานสมัยใหม่และชนชั้นกรรมกรยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
สำหรับรัฐที่มีวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่แค่โอกาสทางการค้าหรือการเซ้งประเทศให้นักลงทุนเหมือนยุคดูดเงินญี่ปุ่นไต้หวันสร้างโรงงาน
เมื่อใดที่พูดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อนั้นต้องคิดถึงกระบวนการทางสังคมที่ตามมาในระยะยาวเสมอ เพราะเรากำลังเผชิญยุคสมัยคล้ายกับที่เครื่องจักรไอน้ำสร้างโรงงานสมัยใหม่และชนชั้นกรรมกรยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
ในคำอธิบายของเจเรมี ริฟคิน (Jeremy Rifkin) นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาด้านดิจิทัลของผู้นำเยอรมัน เขาเห็นว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านยุคนี้ประกอบด้วยเทคโนโลยีสื่อสาร เทคโนโลยีพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ (Mobility) ซึ่งทั้งหมดหลอมรวมกันจนเปลี่ยนวิธีที่สังคมบริหารอำนาจและชีวิตทางเศรษฐกิจโดยตรง
กล่าวในแง่ทฤษฎีแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลทำให้ทุกคนที่เชื่อมต่อกับระบบมีศักยภาพจะเป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันโดยตรง ผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการในสังคม ‘ตัวกลาง’ ในระบบเศรษฐกิจจึงเสื่อมสลายไป เช่นเดียวกับสถาบันที่เคยเป็นกรรมการควบคุมระบบเศรษฐกิจแนวดิ่งที่ผ่านมา
พูดแบบสั้นที่สุด เมื่อทุกอย่างถูกทำให้เป็นดิจิทัล ต้นทุนคงที่ ต้นทุนส่วนเพิ่ม และอัตรากำไรจะหดตัวลง ผลก็คือ การให้บริการจะมีน้ำหนักต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจกว่าการขาย ความสัมพันธ์แบบผู้ซื้อผู้ขายจะกลายเป็นผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ส่วน ‘เครือข่าย’ จะมีบทบาทยิ่งขึ้นในระบบตลาดแบบดั้งเดิม
สำหรับนักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงระยะยาวแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีศักยภาพจะนำไปสู่ชีวิตทางเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย ผู้ขับเคลื่อนนโยบายที่ชาญฉลาดจึงต้องเห็นมิติทางสังคมที่กว้างขวางของเรื่องนี้ยิ่งกว่าการประโคมข่าวเรื่องแจ๊ค หม่า มาไทย
เศรษฐกิจดิจิทัลกับการเติบโตถ้วนหน้า
นอกจากเศรษฐกิจดิจิทัลจะถูกนักทฤษฎีเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย นักวางแผนเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งก็ยังเชื่อมโยงเรื่องนี้กับ ‘การเติบโตอย่างทั่วถึง’ (Inclusive Growth) ในสังคมด้วย เศรษฐกิจดิจิทัลในบริบทนี้จึงสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเจริญที่คนในสังคมมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ด้วยตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี คนที่สนใจเรื่องการพัฒนาคงรู้ว่า ‘การเติบโตอย่างทั่วถึง’ เป็นคำที่ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนนัก ความหมายของคำจึงมีตั้งแต่การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความยากจน หรือแม้แต่การขจัดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับเรื่องนี้จึงมีความหมายหลากหลายตามความเข้าใจเรื่องการเติบโตที่ต่างกัน
ในรายงานของ APEC เรื่องการค้าดิจิทัลกับการพัฒนา การเติบโตที่ทั่วถึงคือการสร้างสมรรถนะให้คนเข้าถึงการค้าออนไลน์มากที่สุด การทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเชื่อมต่อกับเรื่องนี้จึงได้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, เพิ่มทักษะ ICT และอำนวยความสะดวกให้คนเข้าถึงอินเทอร์เนตกว่าที่ผ่านมา
พูดให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ดัชนีชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลตามนิยามนี้ ได้แก่เรื่องสัดส่วนเซิร์ฟเวอร์ต่อประชากร คุณภาพด้านการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวนผู้จ่ายบรอดแบรนด์ ปริมาณผู้มีบัตรเครดิตและสมาร์ตโฟน ความเร็วของอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
ภายใต้นิยามแบบนี้ การกระจายตัวของอินเทอร์เนตและความเข้มข้นของการค้าดิจิทัลคือบรรทัดฐานว่าเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างการเติบโตที่ทั่วถึงหรือไม่ คำว่า ‘การเติบโต’ จึงโน้มเอียงจะหมายถึงการขยายตัวของการค้าออนไลน์เป็นด้านหลัก แต่ไม่ได้สนใจนักเรื่องผลที่การขยายตัวมีต่อรายได้ของคนในสังคม
องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัลกับการเติบโตที่ทั่วถึงในแง่มุมซึ่งกว้างขวางออกไป การเติบโตอย่างทั่วถึงในที่นี้คือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เศรษฐกิจดิจิทัลในบริบทนี้จึงเป็นการออกแบบระบบเพื่อให้คนมีรายได้เพิ่มเพื่อชดเชยความไม่เท่าเทียม
ตรงข้ามกับการนิยามเศรษฐกิจดิจิทัลในแง่การค้าออนไลน์ แนวคิดแบบนี้คิดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลในมิติที่ทำให้เทคโนโลยีเปลี่ยนจนความต้องการแรงงานเปลี่ยนไปในเวลาที่คนส่วนใหญ่ไม่พร้อม ผลก็คือตลาดแรงงานแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างตลาดสูงกับตลาดล่าง ส่วนงานที่ใช้ทักษะระดับกลางก็เสื่อมความสำคัญ
ในมุมมองนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมอุตสาหกรรม จน ‘การเติบโตที่ทั่วถึง’ เป็นเรื่องเลื่อนลอย เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การว่างงานที่ไม่สามารถหางานทดแทนได้ง่ายๆ เหตุผลคืองานใหม่ต้องการทักษะที่คนกลุ่มนี้ไม่มี ส่วนทักษะที่คนเหล่านี้มีก็ไม่มีการจ้างเพิ่มในตลาดแรงงาน
ในรายงานของ OECD ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G-20 เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา รัฐต้องมีนโยบายเพิ่มทักษะแรงงานทุกระดับเพื่อแก้ปัญหาที่เทคโนโลยีสร้างขึ้น โดยเฉพาะการสร้างสังคมเรียนรู้ตลอดชีวิต ปฏิรูประบบประกันสังคม และพัฒนาสถาบันเพื่อตอบสนองการทำงานรูปแบบใหม่ในระยะยาว
ด้วยการนิยามการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้ากับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็นเรื่องการปรับบทบาทรัฐเพื่อเอื้ออำนวยให้มวลชนในสังคมอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างสันติสุข ปัญหางานสูญสิ้นจนการว่างงานสูงขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นโดยเสรี
เศรษฐกิจดิจิทัลส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมอุตสาหกรรม จน ‘การเติบโตที่ทั่วถึง’ เป็นเรื่องเลื่อนลอย เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การว่างงานที่ไม่สามารถหางานทดแทนได้ง่ายๆ เหตุผลคืองานใหม่ต้องการทักษะที่คนกลุ่มนี้ไม่มี ส่วนทักษะที่คนเหล่านี้มีก็ไม่มีการจ้างเพิ่มในตลาดแรงงาน
ในวิธีคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแบบนี้ โจทย์ของรัฐไม่ได้มีแค่การอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน แต่รัฐต้องทำให้การลงทุนด้านดิจิทัลกับการมีงานทำและสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมเกิดขึ้นควบคู่กัน ต่อให้รูปแบบการจ้างงานกับสภาพการทำงานจะผิดไปจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างไรก็ตาม
ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลไทยจะกำหนดยุทธศาสตร์ดิจิทัลเพื่อการเติบโตในแนวทางที่กล่าวไป นโยบายดิจิทัลของไทยปล่อยให้ภาคธุรกิจเลิกจ้างคนในภาคอุตสาหกรรมได้เต็มที่ ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงซึ่งปราศจากการออกแบบกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบนี้มีโอกาสสร้างความปั่นป่วนทางสังคมในระยะยาว
ดิจิทัลกับการจ้างงาน : ทางเลือกที่ไทยต้องแคร์
ท่ามกลางการพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างอึกทึกครึกโครมของรัฐบาล ข้อเท็จจริงคือ นอกจากความบรรลุผลที่ทำให้แจ๊ค หม่า ตั้งศูนย์ขนส่งสินค้าในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การดำเนินนโยบายเรื่องนี้ในไทยถือว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก หากไม่นับการทำแผนดิจิทัลฉบับสองฉบับในช่วงที่ผ่านมา
ถ้านิยามว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคือเงินลงทุนจากนักธุรกิจรายใหญ่ การได้โครงการมูลค่าหนึ่งหมื่นล้านบาทของอาลีบาบาก็ถือเป็นความสำเร็จ แต่หากคิดถึงนโยบายนี้โดยเชื่อมโยงกับการเติบโตอย่างถ้วนหน้าและการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย วิธีที่ไทยสัมพันธ์กับหม่าด้านลงทุนก็มีหลายเรื่องที่ต้องทบทวน
ใครๆ ก็รู้ว่าหม่าตกลงทำศูนย์ขนส่งสินค้าในไทยหลังทำศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซระดับภูมิภาคที่มาเลเซียหนึ่งปี และแม้จะไม่มีการเปิดเผยเม็ดเงินอย่างเป็นทางการ รอยเตอร์ก็ระบุว่าโครงการจะสร้างการลงทุนจากในและนอกประเทศ 1,580 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 52,140 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเงินลงทุนในไทยห้าเท่าตัว
แน่นอนว่ามาเลเซียน่าทึ่งที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลจนหม่าขนเงินมหาศาลมาลงทุนระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ มาเลเซียเชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัลกับการเจริญเติบโตที่ทั่วถึงด้วย นโยบายดิจิทัลในกรณีนี้จึงถูกออกแบบให้คำนึงถึงการสร้างงานและการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กตลอดเวลา
ตรงข้ามกับรัฐบาลไทยที่พูดเรื่องเดียวกันนี้โดยเน้นหนักด้านพีอาร์รัฐบาล มาเลเซียทำเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมีเป้าหมายเป็นตัวเลขชัดเจนว่า จำนวนคนมีงานทำจะเพิ่มขึ้นเท่าไร SMEsจะเข้าร่วมโครงการนี้แค่ไหน และรายได้จากการส่งออกกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างไร
ขณะที่รัฐบาลไทยทำเหมือนภาพถ่ายกับแจ๊ค หม่า คือความสำเร็จครั้งใหญ่ หม่าในมาเลเซียกลับเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์เพื่อเติมเต็มการพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (DFTZ) ที่มีองค์ประกอบสามส่วนคือศูนย์โลจิสติกส์แบบม้วนเดียวจบ platform ของอีเซอร์วิส และการเปลี่ยนเมืองหลวงให้เป็นศูนย์กลางของ DFTZ
แม้อาลีบาบาจะเป็นตัวละครสำคัญในเขตการค้าเสรีดิจิทัลสองส่วนแรก แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง Oracle ก็เข้ามาเปิดศูนย์กลางดิจิทัลของตัวเองแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่มาเลเซียแล้วด้วย ส่วน Catcha ก็เป็นผู้เล่นหลักในการเปลี่ยนกัวลาลัมเปอร์เป็น Internet City เพื่อทำหน้าที่หัวใจของเขตการค้าเสรีดิจิทัลทั้งมวล
มาเลเซียใช้ดีลอาลีบาบาสร้างพลวัตทางเศรษฐกิจจนอีกแปดปี SMEs จะมีมูลค่าส่งออกรวมสูงกว่าเงินลงทุนโครงการนี้เกือบ 20 เท่า นอกจากนั้น ดีลนี้ยังสมทบส่วนให้มาเลเซียเดินหน้าตามโรดแมปด้านอีคอมเมิร์ซแห่งชาติที่ตั้งเป้าให้การค้าออนไลน์โตจาก 10.8% ในปัจจุบันเป็น 20.8% ในปี 2020 อีกด้วยเช่นกัน
ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซียมีการเติบโตในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ราว 10% ซึ่งสูงหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจทั้งประเทศที่โตเฉลี่ย 4-5% ยิ่งกว่านั้นคือ ผลิตภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้น 7.4% ซึ่งสูงกว่าผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ 1.7 เท่าตัว
ตามที่ซีอีโอบรรษัทเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซีย (MDEC) ที่รัฐบาลตั้งเพื่อกิจการนี้ระบุ เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประของประเทศจาก 18.6% ในปี 2016 เป็น 20.8% ในปี 2020 ส่วนเม็ดเงินจาก 2 แสนล้านริงกิตในปี 2016 จะเป็น 4 แสนล้านริงกิตในปี 2025 หรือเพิ่มเกือบเท่าตัวในเวลาเก้าปี
ในกรณีของมาเลเซีย อาลีบาบาไม่เท่ากับทั้งหมดของเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย ที่ภายในปี 2025 จะทำให้เกิดงานใหม่ 60,000 ตำแหน่ง ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีมูลค่าการส่งออกเมื่อถึงปี 2020 ที่ 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,254,000 ล้านบาทไทย
สำหรับผู้ที่ระแวงว่าตัวเลขแบบนี้เป็นแค่ราคาคุย การสำรวจของ Asean Service Providers Confederation (ASPC) ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานในเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซียปี 2016 เติบโตขึ้น 5% หรืออยู่ที่ 167,044 ราย และเมื่อถึงปี 2025 การขยายตัวของการจ้างงานด้านดิจิทัลในมาเลเซียจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลมาเลเซียน่าสนใจ เพราะบูรณาการองค์ประกอบสามส่วนเป็นอย่างน้อยเข้าด้วยกัน หนึ่งคือ การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน สองคือการกำหนดเป้าหมายเรื่องการสร้างงานใหม่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และสาม คือการผนวกเศรษฐกิจดิจิทัลกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจมาเลเซีย
ในกรณีของมาเลเซีย อาลีบาบาไม่เท่ากับทั้งหมดของเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย ที่ภายในปี 2025 จะทำให้เกิดงานใหม่ 60,000 ตำแหน่ง
ด้วยวิธีนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซียเป็นเครื่องมือในการยกระดับเศรษฐกิจประเทศพร้อมกับสร้างกลไกเปลี่ยนผ่านให้สังคมมาเลเซียสามารถตอบสนองความผันผวนที่เกิดขึ้นจนไม่เกิดความปั่นป่วนจากความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นและระยะยาว
จริงอยู่ว่ามาเลเซียมีองค์ประกอบทางเศรษฐกิจการเมืองหลายอย่างที่ทำให้เกิดแนวทางพัฒนาอย่างที่กล่าวไป แต่ไม่ว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะมีอะไร บทเรียนคือเศรษฐกิจดิจิทัลก็เหมือนนโยบายอื่นในแง่ที่อาจใช่หรือไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะก็ได้ สุดแท้แต่เนื้อในของเป้าหมายและกระบวนการปฏิบัติตามนโยบาย
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐไทยแสดงให้เห็นการสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อคนทุกฝ่ายน้อยมาก รัฐตั้งโจทย์เรื่องดิจิทัลแคบแค่เรื่องลงทุน เหมือนที่ทำกับนโยบายอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากนโยบายอื่น จึงเกิดกับนโยบายนี้ได้เช่นกัน
เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้รัฐบาลพลเอกและข้าราชการเกษียณอายุร่วมมือกับเทคโนแครตไม่กี่คนกำหนดอนาคตประเทศอยู่แค่กลุ่มเดียว
Tags: ภาวะว่างงาน, ความเหลื่อมล้ำ, GDP, อาลีบาบา, เศรษฐกิจดิจิทัล, แจ็ค หม่า, การจ้างงาน