ผมว่ากรณีของการขึ้นภาษีรอบนี้ไม่ค่อยปกติเท่าไร เพราะจังหวะเวลาในการขึ้น
มันเป็นจังหวะที่รัฐบาลชุดนี้มีการขึ้นภาษีค่อนข้างบ่อย และต่อเนื่องอย่างผิดปกติ

หลายปีที่ผ่านมาโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ที่มีชื่อว่า ‘โรคอ้วน’
ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ในปี 2014 มีผู้ใหญ่ที่น้ำหนักตัวเกินทั่วโลกมากกว่า 1.9 พันล้านคน และมีมากกว่า 600 คนที่เป็นโรคอ้วน

หนึ่งในมาตรการจัดการกับภัยคุกคามนี้ที่หลายประเทศกำลังหยิบยกมาใช้กันก็คือ มาตการทางภาษี หรือการจัดเก็บภาษีความหวาน (Sugar-Sweetened Beverage Tax) และไทยคือหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

ท่ามกลางข้อถกเถียงกันอย่างมากในเรื่องนี้ ด้านหนึ่งมองว่ามาตรการนี้น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน เพราะแม้แต่ WHO ก็ยังเรียกร้องให้ทั่วโลกจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลอย่างน้อยร้อยละ 20 เพื่อให้มีการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง

แต่อีกด้านกลับโต้แย้งว่ามาตรการนี้อาจเป็นการสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงผู้ผลิตเครื่องดื่ม จนสุดท้ายอาจกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีทางเลือก อีกทั้งยังมองว่ามาตรการนี้คือความตั้งใจแฝงของรัฐที่ต้องการจะเพิ่มรายได้ด้วยการนำเรื่องสุขภาพของประชาชนมาเป็นข้ออ้าง เนื่องจากแนวคิดนี้ออกมาพร้อมๆ กับมาตรการภาษีหลายๆ ประเภท

ไทยควรเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร? ภาษีความหวานจะทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงหรือไม่? หรือนี่เป็นเพียงข้ออ้างของรัฐที่ต้องการรีดภาษีเพิ่มจากประชาชน? The Momentum อยากชวนคุณมามองเรื่องนี้อย่างรอบด้าน ด้วยความคิดเห็น และข้อเท็จจริงหลากหลายมุมมองที่สังคมควรรับฟัง

เหมือนการเก็บภาษีสุรา ยาสูบ ถามว่าทำให้คนเลิกได้ไหม
เมื่อคนติดไปแล้วก็คงเลิกยาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการส่งสัญญาณว่า
รัฐอยากจะเห็นการกำกับควบคุมการบริโภคสินค้าเหล่านี้

Photo: Sam Hodgson, Reuter/Profile

ภาษีความหวาน มาตรการที่ลดอ้วนได้จริง?

ภาษีความหวานในเครื่องดื่มไม่ใช่เรื่องใหม่ และไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ริเริ่มแนวคิดดังกล่าว เพราะที่ผ่านมามีหลายประเทศที่พยายามจะหยิบยกมาตรการทางภาษีมาใช้ โดยหวังจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้ลดการบริโภคน้ำตาลลง

ประเทศเม็กซิโก คือหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่มักจะถูกหยิบยกมาเป็นข้อถกเถียงกันบ่อยๆ เนื่องจากคนเม็กซิกันส่วนใหญ่นิยมบริโภคน้ำอัดลมควบคู่กับอาหารจนกลายเป็นนิสัย แต่หลังจากมีมาตรการจัดเก็บภาษีความหวานเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2014 ผลการศึกษาจาก Mexican Institute of Public Health และมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา พบว่าสามารถลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากได้ถึง 6%

เช่นเดียวกับเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เริ่มใช้มาตรการภาษีความหวานในเครื่องดื่มตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สำรวจพบว่า หลังจากมีการใช้มาตรการทางภาษีเพียง 4 เดือน พบว่าปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลสูงในเมืองเบิร์กลีย์ ลดลงมากถึง 21% โดยกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยครั้งนี้คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง

ขณะที่การศึกษาการจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มของ โรเบอร์ตา อาร์. ฟรีดแมน (Roberta R. Friedman) และ เคลลี ดี. บราวเนลล์ (Kelly D. Brownell) ระบุว่า เมื่อราคาเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลงประมาณ 8-12.6% แต่จากประสบการณ์ในหลายประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มกลับพบว่าการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อควบคุมการบริโภคยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น เดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่ม พบว่าหลังการจัดเก็บภาษี ปริมาณการบริโภคและจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนไม่ได้ลดลง ขณะที่ประเทศเยอรมนี หลังมีการจัดเก็บภาษี ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าราคาถูกที่ลักลอบนำมาขายตามชายแดนมากขึ้น ส่วนผู้ผลิตก็หันมาใช้น้ำตาลแคลอรีต่ำ น้ำตาลเทียม และสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้ช่วยทำให้ประชาชนลดการติดหวานลงแต่อย่างใด

สอดคล้องกับแถลงการณ์ของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ที่ออกหนังสือชี้แจงกรณีข่าวจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับภาษีน้ำอัดลม ซึ่งระบุว่า จากงานวิจัยโดย เจสัน เอ็ม. เฟลต์เชอร์ (Jason M. Fletcher) จากมหาวิทยาลัยเยล สรุปว่า แม้การจัดเก็บภาษีน้ำอัดลมจะทำให้การบริโภคน้ำอัดลมลดลง แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักตัว หรือแนวโน้มที่บุคคลจะมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้แต่อย่างใด เพราะคนจะหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์อื่นทดแทน

แม้จะมีผลการศึกษาในหลายๆ กรณี แต่ถึงขณะนี้ภาษีความหวานในเครื่องดื่มก็ยังคงเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษากันต่อไป และคงเร็วเกินไปที่จะหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้วภาษีความหวานช่วยลดปริมาณโรคอ้วนในประชากรได้จริงหรือไม่?

นอกจากภาษีความหวานในเครื่องดื่มแล้ว
รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
เช่น การออกกฎควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการหันไปใช้สารให้ความหวานอื่นๆ

Photo: Andrew Burton

ไทยพร้อมแค่ไหนกับภาษีความหวาน?

หันกลับมาดูที่ประเทศไทย ล่าสุด อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเดินหน้ามาตรการนี้ภายในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีเวลาปรับตัว

ขณะที่ สุมาลี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ ศสค. เปิดเผยกับ The Momentum ว่า ขณะนี้มีความสับสน เพราะหลายคนคิดว่ารัฐบาลกำลังขึ้นภาษีน้ำตาล แต่ในความเป็นจริงเป็นมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีความหวานสูง ซึ่งโดยปกติกระทรวงการคลังมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มอยู่แล้ว แต่มีข้อยกเว้นบางรายการในเครื่องดื่มที่ไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย นม น้ำผักผลไม้ รวมถึงชาเชียว ซึ่งแต่เดิมถือเป็นน้ำพืชผัก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการทบทวนมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ โดยใช้ความหวานเป็นเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม โดยนำข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. และข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการพิจารณา

“ถามว่าทำไมต้องเก็บเฉพาะเครื่องดื่ม ทำไมไม่เก็บภาษีน้ำตาลโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการถกเถียงกันเยอะว่าภาษีน้ำตาลถ้ามีการเก็บจริงก็อาจจะมีผลกระทบเยอะ เพราะน้ำตาลเป็นสินค้าที่รัฐมีการกำกับดูแลอยู่ ไม่ได้ปล่อยให้ราคาลอยตัวไปตามกลไกตลาด ขณะที่ทางกระทรวงสาธารณสุข และ สปท. เสนอว่าควรจัดเก็บเฉพาะเครื่องดื่มก่อน เพราะมีฐานการเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว และมองว่าคนที่บริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้ส่วนมากมักจะบริโภคอย่างไม่รู้ตัว ไม่เหมือนเวลาเรากินก๋วยเตี๋ยวที่เห็นชัดเจนว่าใส่น้ำตาลไปกี่ช้อน”

โดยสุมาลีกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แนวทางในการดำเนินการยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา และหาข้อสรุปอยู่ แต่หลักการโดยรวมคือ ภาษีสรรพสามิตควรจะคำนึงถึงความฟุ่มเฟือยและบวกสุขภาพของประชาชนเข้าไปด้วย และมาตรการทางภาษีอย่างเดียวอาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการให้ความรู้กับผู้บริโภค หรือการทำฉลากที่ชัดเจนว่าเครื่องดื่มขวดนี้มีน้ำตาลปริมาณเท่าไร หรือให้แคลอรีสูงแค่ไหนควบคู่กันไปด้วย

“ที่สุดแล้วนโยบายนี้น่าจะช่วยส่งสัญญาณว่ารัฐกำลังส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง เหมือนการเก็บภาษีสุรา ยาสูบ ถามว่าทำให้คนเลิกได้ไหม เมื่อคนติดไปแล้วก็คงเลิกยาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐอยากจะเห็นการกำกับควบคุมการบริโภคสินค้าเหล่านี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาษีสรรพสามิตที่ใช้จัดเก็บสินค้าหรือบริการบางประเภทที่รัฐอยากจะจำกัดหรือควบคุมการบริโภค”

ด้าน ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า หากมีการนำมาตรการจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มมาใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจมี 3 กรณี เมื่อเทียบกับประสบการณ์ในหลายประเทศที่ใช้มาตรการนี้

กรณีแรกคือ จะมีผู้ประกอบการบางรายที่ทำตามกฎเกณฑ์นี้อย่างเคร่งครัด โดยพยายามปรับสูตรและลดการใช้น้ำตาลในเครื่องดื่มลง ซึ่งจะตรงกับความต้องการของรัฐบาล

กรณีที่สองคือ จะมีผู้ประกอบการหลายๆ รายหันไปใช้สารให้ความหวานอื่นๆ แทนน้ำตาล ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจกลายเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภค เพราะสารเหล่านี้อาจมีโทษมากกว่าน้ำตาล

ส่วนกรณีสุดท้ายคือ แม้ผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงลงได้ แต่หลายคนอาจจะหันไปพึ่งพาความหวานจากของหวานประเภทอื่นๆ เป็นการทดแทน

“ผมคิดว่าทางออกของเรื่องนี้นอกจากภาษีความหวานในเครื่องดื่มแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การออกกฎควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการหันไปใช้สารให้ความหวานอื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องขององค์กรด้านสาธารณสุข อีกทางหนึ่งคือการขยายผล เพราะแทนที่จะเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มอย่างเดียว ก็ไปเก็บภาษีความหวานจากอาหารอื่นๆ ด้วย”

ในภาพรวมรัฐบาลไม่ได้หวังรายได้เพิ่มจากมาตรการนี้
เพราะในทางหนึ่งก็เป็นเทรนด์ของทั่วโลก
ที่เริ่มกังวลเรื่องสุขภาพของประชาชนมากขึ้น
อีกด้านก็เป็นหลักการในการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีอยู่แล้ว

Photo: Aly Song, Reuter/Profile

ห่วงสุขภาพประชาชน หรือเพียงข้ออ้างรีดภาษี?

ด้านศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อสารมวลชน ตั้งข้อสังเกตว่า การเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มครั้งนี้ เป้าหมายของรัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก แต่มีนัยยะซ่อนเร้นบางประการที่สุดท้ายอาจกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน

“ผมว่ากรณีของการขึ้นภาษีรอบนี้ไม่ค่อยปกติเท่าไร เพราะจังหวะเวลาในการขึ้นมันเป็นจังหวะที่รัฐบาลชุดนี้มีการขึ้นภาษีค่อนข้างบ่อย และต่อเนื่องอย่างผิดปกติ ซึ่งตรงกับสิ่งที่กรมสรรพสามิต และกระทรวงการคลังเคยตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากนี้ไปทิศทางของการเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นใน 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องพลังงาน ส่วนที่สองคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม และส่วนสุดท้ายคือ เรื่องสุขภาพ ซึ่งเป้าประสงค์ของฝ่ายรัฐก็พูดไว้ชัดเจนว่าเพื่ออยากจะหารายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่เวลาตอบคำถามกับสาธารณชนว่าเก็บภาษีเพื่ออะไร เหตุผลที่อ้างถึงกลับเป็นการอ้างว่าเก็บเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน มันจึงเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน”

นอกจากนี้ศิโรตม์ยังระบุว่า การจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่รัฐบาลมีอยู่ เพราะหากอยากรักษาสุขภาพของประชาชนจริง ก็ยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย เช่น การออกคำสั่งจำกัดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม โดยไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถสั่งการได้ทันที

“สิ่งที่ผมเป็นห่วงตอนนี้คือการแพร่หลายของแนวคิดที่ว่ารัฐบาลควรจะเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนด้วยการใช้มาตรการทางภาษี เพราะผมคิดว่าเป็นแนวความคิดที่อันตราย เพราะการที่รัฐจะเข้ามาควบคุมร่างกายของคนในสังคมมากเกินไป อันนี้ไม่น่าจะเป็นบทบาทที่ถูกต้องของรัฐ ซึ่งบทบาทที่ควรจะเป็นคือการให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนใช้วิจารณญาณเองมากกว่า หรือถ้าเป็นการแทรกแซงกับอุตสาหกรรมโดยตรงก็ยังพออ้างได้ว่าเป็นบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่กรณีนี้ชัดเจนว่ารัฐต้องการรายได้เพิ่มขึ้น แล้วผมคิดว่าเรากำลังจะเจอกับรัฐบาลในอนาคตที่จะมีนโยบายลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ”

ด้านตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังยืนยันกับ The Momentum ว่า เป้าหมายหลักของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่รายได้ เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแนวคิดการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

“ในภาพรวมรัฐบาลไม่ได้หวังรายได้เพิ่มจากมาตรการนี้ เพราะในทางหนึ่งก็เป็นเทรนด์ของทั่วโลกที่เริ่มกังวลเรื่องสุขภาพของประชาชนมากขึ้น อีกด้านก็เป็นหลักการในการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีอยู่แล้ว”

คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร เพราะถึงตอนนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะออกมาในทิศทางไหน แต่อย่างน้อยประเทศไทยก็ยังมีเวลาอีก 2 ปีที่จะถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของมาตรการนี้กันอย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะฟังเสียงสะท้อนอย่างรอบด้านมากน้อยแค่ไหน

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai ​

อ้างอิง:

Tags: , ,