การเลือกตั้งครั้งปี 2562 เป็นความสำเร็จเกินคาดของพรรคอนาคตใหม่และคุณธนาธร เพราะท่ามกลางแรงต้านจากอำนาจรัฐในรูปแบบของคดีความและอื่นๆ แต่พรรคอนาคตใหม่ก็มีคนเลือกทั้งประเทศกว่า 6 ล้านเสียง จนได้ ส.ส. 80 คน ทะยานเป็นพรรคอันดับสาม ทั้งที่เป็นพรรคใหม่ซึ่งไม่มีอดีต ส.ส. ในพรรคเลย

ในทางตรงกันข้าม พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นพรรคที่ล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนี้หนักที่สุด จำนวนคนที่เลือกพรรคลดลงจาก 11,435,640 คน ในปี 2554 เป็น 3,947,726 ในปี 2562 และ ส.ส. ของพรรคลดจาก 159 คน เป็น 52 คน หรือลดลงสามเท่าตัว

หลังวันที่ 24 มีนาคม พรรคประชาธิปัตย์ที่มองตัวเองว่าอยู่เหนือทุกพรรคพบความจริงว่า ตัวเองแพ้พรรคใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคอนาคตใหม่ คุณอภิสิทธิ์ผู้มั่นใจในความพร้อมเป็นนายกฯ ของตัวเองพบว่าสังคมไม่ต้องการคุณอภิสิทธิ์เท่าเดิม กระทั่งภาคใต้กับกทม.ก็ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งพรรคส่งใครแล้วชนะง่ายๆ อีกต่อไป

ผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่แทนคุณอภิสิทธิ์ได้แก่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ คุณกรณ์ จาติกวณิช, คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน และคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แต่ความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง 2562 อย่างย่อยยับทำให้สังคมสนใจเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้น้อย จนเป็นหนึ่งในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข่าวน้อยที่สุดด้วยซ้ำไป

ในโลกที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจตัวเอง ประชาธิปัตย์คือพรรคระดับเดียวกับไทยรักไทยและเพื่อไทย แต่ความพ่ายแพ้ในปี ‘62 คือส่วนหนึ่งของความถดถอยที่ชี้ว่า ประชาชนไม่ได้มองประชาธิปัตย์แบบที่พรรคเข้าใจตัวเองมานานเหลือเกิน พรรคการเมืองคือการรวมกลุ่มเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยความเห็นชอบของประชาชน คะแนนเสียงจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านความชอบธรรมของพรรคการเมืองทั้งหมด ผลเลือกตั้งครั้งนี้จึงชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เผชิญ “วิกฤติความชอบธรรม” จนเป็นพรรคขนาดกลางที่อาจจะกำลังเดินหน้าสู่พรรคขนาดเล็กโดยไม่รู้ตัว

แม้จะมีคนที่ตระหนักถึงความถดถอยของพรรคทันทีที่ผลเลือกตั้ง 2562 ออกมา แต่คนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า ความถดถอยเป็น “อุบัติเหตุ” ที่เกิดเพราะ “สถานการณ์พิเศษ” เช่น คนหนีไปเลือกพลังประชารัฐ, คนรักลุงตู่เยอะ, อภิสิทธิ์ทำคลิป, Hong Kong Factor ฯลฯ จนพรรคพ่ายแพ้ไปในบั้นปลาย

แน่นอนว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มที่หนุนทหารสร้าง  “วาทกรรม” นี้เพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะคำพูดนี้มีนัยยะว่า พรรคยุคหลังอภิสิทธิ์ไม่ต้อง “ต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.” ส่วนหนทางฟื้นฟูพรรคได้แก่การร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐเพื่อดันคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อให้จะทรยศคนที่เลือกพรรคเพราะ “ต้านสืบทอดอำนาจ” ก็ตาม

อย่างไรก็ดี ถ้าการชูธง “ต้านสืบทอดอำนาจ” เป็นเหตุให้ประชาธิปัตย์ถดถอยจนควรเดินตามก้นพรรคพลังประชารัฐจริงๆ ทำไมผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคใน กทม. ถึงแพ้พรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง “ต้านสืบทอดอำนาจ” อย่างเข้มข้น  เช่นเดียวกับอดีต ส.ส. ในภาคใต้ ที่แพ้ผู้สมัครจากภูมิใจไทย ซึ่งไม่ได้มีท่าทีหนุนพลเอกประยุทธ์เต็มตัว

หากอ้างว่ายุทธศาสตร์ “ต้านสืบทอดอำนาจ” ทำให้พรรคถดถอย  ผลเลือกตั้งรอบนี้ชี้ว่า พรรคที่มีระยะห่างกับคุณประยุทธ์ประสบความสำเร็จทั้งหมด พรรคอันดับหนึ่งอย่างเพื่อไทยชนะเพราะเรื่องนี้แน่ อนาคตใหม่ได้ ส.ส.80 ที่นั่ง เพราะเหตุนี้ด้วย เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. จาก 32 เป็น 51 โดยวางตัวแบบนี้เหมือนกัน

ถ้าอ้างว่าพรรคแพ้เพราะคนหันไปเลือกพปชร. สิ่งที่พปชร.หาเสียงไม่ใช่ “สืบทอดอำนาจ” แต่คือ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ซึ่งโจมตีเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ว่า ทำให้ประเทศขัดแย้งจนน่าห่วงว่า ประชาธิปัตย์ยุคตามก้นพปชร.จะเป็นแค่หางเครื่องปลายแถวของแผนหนุนประยุทธ์ ที่ขนาดพปชร.ยังไม่กล้าพูดตรงๆ

หายนะของประชาธิปัตย์ในปี 2562 เป็นภาพความพ่ายแพ้ต่อเนื่องของพรรค ที่ครั้งสุดท้ายที่ชนะเลือกตั้งจนได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง ก็คือปี 2535 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว จากนั้น ก็แพ้พรรคชาติไทยในปี 2538, แพ้ความหวังใหม่ปี 2539 จากนั้นก็แพ้ไทยรักไทย, พลังประชาชน และเพื่อไทยในปัจจุบัน

เส้นทางแห่งความพ่ายแพ้ต่อเนื่องราวสามทศวรรษชี้ว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อประชาธิปัตย์สั่นคลอนมานานแล้ว ยิ่งกว่านั้น ช่องว่างของพรรคกับฝ่ายชนะเลือกตั้งยังถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ จาก 2-5 คนในปี 2538-2539 เป็นแพ้ 84 คนในปัจจุบัน หากคิดแบบเคารพความจริง ผลเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาชี้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยไว้ใจประชาธิปัตย์มากจนเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ต่อให้พรรคคู่แข่งจะสิ้นสภาพเพราะผู้นำ, ถูกยุบพรรค หรืออำนาจรัฐกดดันติดต่อกันห้าปี

หนึ่งในปัญหาของประชาธิปัตย์คือ ไม่มีผู้นำที่ระดมความสนับสนุนจากประชาชนได้กว้างขวาง ขณะที่คุณบรรหาร ศิลปอาชา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, คุณทักษิณ และ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สร้างความนิยมจากคนส่วนใหญ่ได้ หรือไม่ก็มีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการสร้างความร่วมมือในสภา

นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ยังเผชิญปัญหาที่ไม่สามารถพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่ทำให้ “คนส่วนใหญ่” รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น อย่างบัตรทอง, ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, อีสานเขียว, ปฏิรูปการเมือง ฯลฯ ต่อให้พรรคจะพยายามสร้างนโยบายแค่ไหนก็ตามที

คำอธิบายที่ประชาธิปัตย์บอกตัวเองและสังคมคือ พรรคแพ้เพราะคู่แข่งใช้เงิน ผลที่ตามมาคือ พรรคทำงานการเมืองทั้งในและนอกสภาเพื่อทำลายคู่แข่งด้วย “ตัวช่วย” อย่างกฎหมาย, องค์กรอิสระ, ทหาร, พันธมิตรฯ, กปปส. ฯลฯ จนคู่แข่งมีอันเป็นไปโดยพรรคไม่เคยชนะใจคนส่วนใหญ่เหนือคู่แข่งสักรายเดียว

ยี่สิบสี่ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีโจมตีคุณบรรหารว่าเป็นลูกจีน, พล.อ.ชวลิต ลอยตัวค่าเงินบาท, อดีตนายกทักษิณล้มเจ้า, คุณยิ่งลักษณ์โกงจำนำข้าว , คุณหญิงสุดารัตน์เตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรม ฯลฯ คือยี่สิบสี่ปีที่พรรคแสดงให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าอยู่ตรงข้ามนายกฯ ที่คนเลือกมากที่สุดทุกกรณี

ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะเลือกยุทธศาสตร์นี้เพราะอะไร  ผลที่ได้คือ คนส่วนใหญ่เห็นว่าพรรคเป็นพวกเดียวกับ “ตัวช่วย” ที่ทำให้นายกฯ จากเสียงข้างมากพ้นตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง ประชาธิปัตย์มีภาพเป็น “พันธมิตร” กับคุณสนธิ, คุณสุเทพ, คุณจำลอง ฯลฯ ซึ่งยิ่งนานยิ่งตอกย้ำว่า ประชาธิปไตย์ไม่ใช่พรรคที่เคารพระบบรัฐสภา

ยี่สิบสี่ปีที่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง คือยี่สิบสี่ปีที่พรรควนเวียนในวงจรอุบาทว์ของการเมืองแบบทำลายล้างตัวบุคคล (Politics of Personal Destruction) ซึ่งในที่สุด ทำให้พรรคถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับคนส่วนใหญ่, ทำลายการปกครองในระบบรัฐสภา, ไม่ศรัทธาประชาธิปไตย ฯลฯ ไม่ว่าพรรคจะมองตัวเองอย่างไรก็ตาม

รากฐานของพรรคการเมืองคือความยอมรับของประชาชน แต่ในเมื่อประชาธิปัตย์ทำงานการเมืองโดยทำลายล้างคู่แข่งที่ชนะเลือกตั้งทุกราย สังคมย่อมเห็นว่าพรรคต่อต้านตัวบุคคลจนต่อต้านผู้นำจากระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด  และนั่นเปิดทางให้พรรคถูกมองว่าไม่ภักตีต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยทันที

แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการทำลายผู้นำจากการเลือกตั้งทุกคน แต่สิ่งที่พรรคทำคือการบีบตัวเองไปอยู่ในมุมตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่อย่างที่สุด กระบวนการนี้ทำให้พรรคระดมความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเดินหน้าสู่ความเป็นพรรคที่มีฐานผู้สนับสนุนเรียวแคบลงตลอดเวลา

คนประชาธิปัตย์รู้ดีว่าคนอีสานยอมรับพรรคน้อยจนพรรคไม่เคยครองใจพื้นที่ซึ่งมีประชากรและ ส.ส. มากที่สุดได้เลย  แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่พรรคใช้มายี่สิบสี่ปี แม้แต่ภาคใต้และกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ก็สั่นคลอนไปด้วย ผลจากการเมืองแบบทำลายล้างจึงได้แก่การทำลายตัวเองอย่างปัจจุบัน

ประชาธิปัตย์หลังปี 2538 เผชิญคู่แข่งที่แข็งแกร่งจนพรรคถดถอยแบบไม่เป็นกระบวนสองครั้งด้วยกัน หนึ่งคือไทยรักไทยที่ทำให้คุณชวนแพ้เลือกตั้งปี 2544 จนพรรคต้องเปลี่ยนหัวหน้าเป็นคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ตามด้วยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สองคือพรรคอนาคตใหม่ที่ทำให้พรรคไม่เหลือ ส.ส. ใน กทม.จนคุณอภิสิทธิ็ต้องลาออกจากหัวหน้าไป

ขณะที่ประชาธิปัตย์ต่อสู้กับคู่แข่งโดยใช้กฎหมาย, สนับสนุนม๊อบ และการยื่นคำร้องไปองค์กรต่างๆ เพื่อให้คู่แข่งหมดสภาพทั้งในทางกฎหมายหรือในแง่การเมือง (Disqualify) สิ่งที่ไทยรักไทยและอนาคตใหม่ทำในเวลาเดียวกันคือสร้างผู้นำ, สร้างนโยบาย และสร้างแนวร่วมจนประชาธิปัตย์มีสภาพอย่างปัจจุบัน

หากเทียบพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักไทย สิ่งที่ประชาธิปัตย์ควรเรียนรู้คือ การเมืองเป็นเรื่องของการสร้าง (Politics as Creation) สามเรื่องด้วยกัน หนึ่งคือผู้นำที่มีบารมี, สองคือ พรรคที่ประสานคนทุกกลุ่มได้กว้างขวาง และสามคือการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคม

ภายใต้ความถดถอยที่นำประชาธิปัตย์สู่การเป็นพรรคเล็กอย่างที่เห็นกัน พรรคต้องการหัวหน้าซึ่งต่างจากเดิมมากกว่าที่คิด ผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าทั้งสี่ราย มีทั้งที่มีคุณสมบัตินี้บางข้อ และมีบางคนที่ไม่มีเลย  อย่างดีที่สุดที่พรรคจะได้ จึงได้แก่การยันไม่ให้พรรคถดถอย เพื่อเปลี่ยนผ่านพรรคสู่ผู้นำคนใหม่ที่มีศักยภาพจริงๆ

เฉพาะในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ความยากลำบากของพรรคคือ ทำอย่างไรที่การเลือกหัวหน้าจะเป็นมากกว่าการตัดสินใจว่าจะหนุนพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจที่จะปิดฉากพร้อมอวสานของคุณประยุทธ์ แต่การสร้างพรรคต้องการวิสัยทัศน์ที่สูงกว่าเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี

ความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์เป็นทิศทางที่ไม่ควรเป็น เพราะหลายนโยบายที่พรรคเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องซึ่งหากทำได้ก็จะเปลี่ยนประเทศได้เยอะ พรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจไม่ควรมีจุดจบแบบนี้ และการมีทางเลือกที่สามเพื่อออกจากการเมืองแบบแบ่งขั้ว เป็นเรื่องจำเป็นในระยะยาว

Tags: , , , , , , ,