ความล้มเหลวจากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับห้า ได้ที่นั่งในสภาอย่างไม่เป็นทางการเพียง 50+ นำมาซึ่งการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้งของวันที่ 24 มีนาคม 2562 ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ก่อนเลือกตั้งว่า หากไม่สามารถนำพาพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ที่นั่งในสภามากกว่า 100 ที่นั่ง จะรับผิดชอบโดยการลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

แล้วใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่?

รายชื่อที่คาดว่าเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนต่อไปของประชาธิปัตย์ตามที่ปรากฏมีอยู่ 4 คน คือ 1. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค 2. นายกรณ์ จาติกวณิช 3. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรค และ 4. นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์

ใครจะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปคงไม่สำคัญเท่ากับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนี้ ในการตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล และที่สำคัญ ฝั่งไหน เพื่อไทย หรือ พลังประชารัฐ

ก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพสต์คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อประกาศชัดว่า จะไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน แต่นั่นก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะในขณะนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของพรรคอีกต่อไปแล้ว

และหลังจากการลาออกของอภิสิทธิ์ พร้อมด้วยกระแสกดดันจากสังคมว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเลือกร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือพรรค ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็เกิด ‘เสียงแตก’ ในนามบุคคลจากพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเป็นระลอก

ทั้ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้ซึ่งแพ้การเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมากล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดทิศทางทางการเมืองผิดที่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จนทำให้ประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ และโดยส่วนตัวนพ.วรงค์ เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างถึงประชาชนที่สนับสนุนพรรคว่ามีแนวความคิดเห็นไปในทางนั้น

ส่วน ไอติมพริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งใน New Dem ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกและพ่ายแพ้ไปในที่สุด ก็แสดงเจตจำนงออกมาว่า “หากพรรคประชาธิปัตย์จะไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐผมคงต้องขอทบทวน และขอยืนยันว่าจะไม่ร่วมงานกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างแน่นอน” ซึ่งอาจหมายถึงการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคหากสุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไปรวมกับฝั่งพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

โดยพริษฐ์ ให้เหตุผลว่า 3.9 ล้านเสียงที่ประชาชนมอบให้กับ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ คือเสียงที่มอบให้กับพรรคที่ประกาศชัดว่าจะไม่สนับสนุนรัฐบาลที่สุ่มเสี่ยงต่อการสืบทอดอำนาจหรือการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งหากอยากจะเลือกเดินทางอื่น ก็หวังว่าจะต้องมีกระบวนการหยั่งเสียงจากสมาชิกหรือแนวร่วมทั่วประเทศที่ชี้ชัดว่าต้องการสนับสนุนพรรคให้เดินไปในทางนั้นๆ พริษฐ์เสนอทางออกให้พรรคว่า “ขอให้ท่านตัดสินใจไม่เข้าร่วมรัฐบาลทุกฝ่าย และประกาศทำหน้าที่ #ฝ่ายค้านอิสระ อย่าง “สง่างาม” “สร้างสรรค์” และ “จำเป็นต่อความอยู่รอดของพรรค”

อีกหนึ่งคนที่ประกาศคัดค้านที่ประชาธิปัตย์จะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็คือ นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และบุตรชายของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ผมมองไม่เห็นว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงควรจะไปอยู่ในวงจรของการตั้งรัฐบาลที่มีที่มาและที่ๆจะไปขัดกับอุดมการณ์พรรคฯ ขนาดนั้น ผมคงต้องยืนยันเหมือนเดิมว่า “คนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์จะคิดอย่างไร อยากเป็นรัฐบาล อยากร่วมรัฐบาลหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ผมว่าเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็งบนหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย”

ในขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช ซึ่งถือเป็นตัวเต็งหน้าพรรคคนใหม่และเป็นนักการเมืองภายใต้ร่มพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับความนิยมสูง แสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเรื่อง ‘เป็นไปไม่ได้’ ส่วน ถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา ก็มีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้นายนิพนธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย แต่ขอถอนตัวไม่ร่วมในการคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในครั้งนี้

แม้ในสถานการณ์ตอนนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ ออกมา โดยเพียงแต่แจ้งว่าจะรอหลังวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นวันประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามที่ กกต. แจ้งไว้ จากกระแสเสียงของคนในพรรคที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณชนทีละคน แม้จะทำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังระส่ำระสายและเสียงแตกจนอาจนำไปสู่ความแตกแยกของสมาชิกพรรคในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่กำลังทำให้พรรคดูระส่ำระสายนี้ อาจจะเป็นผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์เองก็ได้ ที่จะใช้โอกาสนี้ประกาศจุดยืนได้อย่างมั่นคงและชัดเจน ว่าจุดยืนของพรรคที่มีชื่อพรรคมาจากคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ นั้นเป็นเช่นไร

จากความแตกแยกของพรรคในเวลานี้ บีบคั้นให้พรรคต้องตัดสินใจทางอุดมการณ์ครั้งใหม่ ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินใจจะออกมาในรูปแบบใด และแม้ว่าทางเลือกข้างหน้าจะทำให้มีสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยอาจจะต้องลาออกไป รวมไปถึงฐานคะแนนเสียงประชาชนที่สนับสนุนพรรค แต่กำลังไม่แน่ใจว่า พรรคการเมืองที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร แต่ครั้งนี้กลับประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ที่แท้แล้วตอนนี้ทางพรรคมีจุดยืนทางการเมืองและมุมมองต่อประชาธิปไตยอย่างไรกันแน่ แต่ก้าวที่สะดุดล้มในครั้งนี้ อาจช่วยทำให้สมาชิกพรรคมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นปึกแผ่น ซึ่งย่อมดีกว่าในนามพรรคการเมือง และเชื่อว่าอีกไม่นาน เราก็จะได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ยอมประกาศจุดยืนชัดเจนเสียที

Tags: , , , , , , , , ,