ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีครีมบนชั้นสองของอาคารเก่าในซอยปรีดี พนมยงค์ 26 เป็นห้องทำงานของ คุณ ‘โจ้’ ดารกา วงศ์ศิริ พื้นที่ติดหน้าต่าง มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้ามาทางมู่ลี่ไม่จัดจ้ามากนัก เป็นมุมของโต๊ะทำงาน อีกฟากที่ติดประตูเป็นโต๊ะชุดรับแขกหน้าตาโบราณ ผนังห้องด้านตรงข้ามโต๊ะทำงานมีชั้นวางหนังสือ ซึ่งเต็มไปด้วยโมเดลบ้านขนาดจิ๋ว หรือบ้านตุ๊กตาแบบต่างๆ ที่เจ้าตัวโปรดปราน และหมั่นสั่งซื้อทางออนไลน์ทุกครั้งที่รู้สึกเครียด

เธอไม่ได้เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการของ บริษัท ดรีมบอกซ์ จำกัด ที่เกิดจากการรวมตัวกันของแดส เอนเทอร์เทนเม้นท์ และโรงละครกรุงเทพในปี 2544 แต่ยังเป็นนักเขียนบทละครเวทีมือฉมัง ที่มีผลงานละครเวทีจากอดีตถึงปัจจุบันร่วม 60 เรื่อง และ 10 กว่าเรื่องในจำนวนนั้นเป็นละครเพลง อาทิ ‘มอม’ ‘นางพญางูขาว’ ‘ปริศนา’ ‘น้ำใสใจจริง’ ‘แม่นาค’ ‘คู่กรรม’ 

พื้นที่กว้างบนชั้นล่างของอาคารสำนักงานแห่งนี้ เป็นห้องซ้อมการแสดง ระหว่างที่เราไปเยือนมีการซ้อมละครเพลงเรื่องใหม่ ‘ซ้อน A New Musical’ กันอย่างขะมักเขม้น เราเริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับผลงานใหม่เรื่องนี้ ที่จะเปิดรอบการแสดงจริงที่โรงละคร เอ็ม เธียเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคมนี้

การทำละครเพลงแนวสืบสวนสอบสวนแบบร้องทั้งเรื่อง (Sung-through) มีความยากมากขึ้นไหม

ก็ยากขึ้นนะ เพราะเรื่องมันซับซ้อนขึ้น ยากขึ้นในแง่การทำงานที่มันมีเพลง ต้องทำงานกันหลายฝ่าย

คุณต้องดูในส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เขียนบท?

คือเวลาเขียนเรื่อง ก็ต้องคิดฉากอยู่แล้วว่ามันจะเป็นประมาณนั้นประมาณนี้ ฉากมันต้องมีทางเข้าทางออก หรือสเปซของฉากจะเป็นอย่างไร ก็คิด แต่ความสวยงามนั้นต้องให้ฝ่ายดีไซเนอร์เป็นคนทำ เราคิดแค่ฟังก์ชัน ว่าเป็นบ้านสามชั้น มีห้องใต้หลังคา ห้องซ้ายอยู่ด้านนี้ ห้องขวาอยู่ด้านนี้ ห้องรับแขกอยู่ตรงกลาง สวนอยู่ตรงโน้น จะเขียนประมาณนี้ แล้วดีไซเนอร์ก็จะเป็นฝ่ายออกแบบสเปซให้มันสวย

ความจริงแล้วเรื่องการคิดฉากเป็นหน้าที่ของคนเขียนบทหรือเปล่า

ถ้าเป็นละครเวที ปกติคนเขียนบทจะต้องคิดด้วย เพราะสเปซมันจำกัด ไม่ต้องไปหาโลเกชัน โลเกชันคือบนเวที อย่างน้อยคนเขียนบทต้องคิดฟังก์ชันอย่างที่ดิฉันทำ บางทีนักเขียนจะเขียนกำกับไว้เลย

ละครเพลงเรื่องแรกที่คุณทำคือเรื่องอะไร

ไร่แสนสุขค่ะ เป็นเรื่องแรกที่เขียนบทและดูโปรดักชัน ตั้งแต่ปี 2529 เรื่องนั้นเล่นสองครั้ง ครั้งแรกเล่นที่หอประชุมจุฬาฯ ครั้งที่สองเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอใหญ่ เป็นเรื่องแรกที่เราเปิดศูนย์วัฒนธรรมฯ เลยนะ เพราะเพิ่งสร้างเสร็จ และเนื่องจากว่าตอนนั้นดิฉันทำงานให้กับมูลนิธินักเรียนขาดแคลนฯ เขามีทุนเยอะ เราก็ไปใช้สิทธิ์จองสถานที่ตรงนั้น

ตอนนั้นสังคมไทยคุ้นกับมิวสิคัลหรือละครเพลงหรือยัง

ก่อนหน้านั้นก็มีงานของละครสองแปดแล้วนะ เขาทำเรื่อง ‘สู่ฝันอันยิ่งใหญ่’ (The Man of La Mancha) แต่มันเป็นมิวสิคัลตะวันตก ของเราเป็นละครเพลงสำหรับเด็ก ช่วงแรกๆ ดิฉันจะทำแต่ละครสำหรับเด็ก หรือดูได้ทั้งครอบครัว

จริงๆ แล้วเท่าที่ดูจากผลงานที่ผ่านมา คุณโจ้จัดเป็นสายคอมเมดีใช่ไหม

ใช่ (หัวเราะ) แต่เขียนคอมเมดีมันยากนะ ยากกว่า ยิ่งพอยุคสมัยผ่านไปความตลกของคนสมัยเก่ามันดูเป็นเรื่องเข้าใจยาก เราก็อารมณ์แบบเสียดสี เด็กสมัยนี้อาจจะโป๊งชึ่งหน่อย เขาก็ชอบตลกที่… คือเป็นรสนิยมคนละแบบ ยุคมันเปลี่ยนน่ะ (หัวเราะ) ในเรื่อง ‘ซ้อน’ ล่าสุดนี่ก็มีคอมเมดีนิดๆ นะ แต่ไม่มาก หลักๆ เป็นเรื่องสืบสวนสอบสวนมากกว่า

ช่วยเล่าโครงเรื่อง ‘ซ้อน’ ให้ฟังสักหน่อยครับ

ในเรื่องมันจะกินเวลา 100 ปี ดิฉันก็ดูจากบ้านตุ๊กตาเหล่านี้แหละ ดูแล้วก็คิดตาม บ้านหลังนี้มันต้องเก่ามาก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็อยู่มานาน เลยคิดว่า คนก็เหมือนกัน บางทีอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง มันทับซ้อนกันหลายเจเนอเรชันมากเลย แต่เด็กรุ่นใหม่กลับไม่ค่อยสนใจว่าพ่อแม่ของตัวเองเป็นอย่างไร บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าปู่ย่าของตัวเองมีความเป็นมาอย่างไร ก็เลยเอาโครงนี้มาเขียน

ดิฉันเขียนเรื่องย่อไว้ก่อน เรื่องนี้ ความที่มันซ้อนกันหลายเจนฯ ปกติเวลาเขียนเราจะไม่ค่อยร่างเรื่องย่อ แต่เรื่องนี้ต้องทำ ก็จะเขียนไล่ลำดับ ปีนี้เจเนอเรชันไหน เกิดอะไรขึ้น แล้วก็เลือกว่าจะเอารุ่นปีไหนเข้ามาซ้อน ความจริงเรื่องมันไม่ได้ยากหรอก แต่ดิฉันซ้อนสลับ กลับเวลาไปมา ให้เป็นแนวสืบสวน ลึกลับ

ทำละครเวทีมากว่าสามสิบปี มองเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุคก่อนถึงยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง

มองว่าไม่เคยเปลี่ยนนะ คือหมายความว่า คนชอบถามว่าละครเวทีปีนี้เป็นอย่างไร เราก็ตอบว่ายังเหมือนเดิม คนดูก็ยังเป็นกลุ่มเล็กเหมือนเดิม คือคนที่ชอบดูละครเวทีจริงๆ มันน้อยมาก มันคือกลุ่มน้อย ยกเว้นเวลามีนักแสดงที่มีแฟนคลับเยอะ ก็จะมีคนไปดูมากขึ้น แต่ดิฉันมองว่าว่าจำนวนคนชอบละครเวทีไม่ได้มากขึ้นเท่าไร เพราะว่ามันเป็นวัฒนธรรมไทยที่เราไม่ชอบจดจ่อกับอะไรนานๆ อันนี้คิดเองนะ เหมือนตอนเล็กๆ เราชอบดูละครแล้วเดินไปทำโน่นทำนี่ มันเป็นการดูที่รีแลกซ์ แต่ละครของตะวันตกมันต้องนั่งดู ใช้เวลานาน มันก็เลยมีความยากนิดหนึ่ง ดิฉันเลยวิเคราะห์เอาเองว่าวัฒนธรรมการดูละครเวทีของบ้านเราถึงไม่ค่อยไปไหน

แล้วการอยู่รอดของคนทำละครเวทีล่ะครับ เป็นอย่างไร

คนทำละครเวทีก็เคยมาคุยกับดิฉัน และมักจะพูดคล้ายๆ กันว่า มันยากมากเนอะ ดิฉันว่าคนทำละครเวทีต้องมีใจรักจริงๆ ต้องรักมากๆ น่ะ ถึงได้กลับมาทำอยู่นั่นละ แต่ทุกคนก็ต้องทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เพราะละครเวทีของเราไม่สามารถจะเปิดแสดงแบบบรอดเวย์หรือเวสต์เอนด์ที่เล่นยาวๆ ของเรามีคนดูจำกัด มันก็เล่นได้แค่นั้น อย่างของเราเล่นเรื่องละ 9 รอบ แล้วดูแนวโน้ม ถ้ามันไปได้ดีก็จะเล่นอีกล็อตหนึ่ง แต่เรายังไม่เคยเปิดแสดงยาวขนาดนั้น อีกอย่าง-สื่อที่เขียนถึงละครเวทีก็มีค่อนข้างน้อย เพราะมันไม่แมสส์ เราก็เลยรู้สึกว่าเราเล่นเท่าที่เราโอเค ใครที่ชอบงานของเราก็มาดูได้เท่าที่เราเล่นแค่นี้

ดรีมบอกซ์-นอกจากผลิตละครเวทีแล้ว ยังรับงานแนวอื่นด้วยไหม

รับค่ะ เพราะปีหนึ่งเราทำละครเวทีอย่างเดียวแค่สองเรื่อง เราอยู่ไม่ได้ ต้องรับจ๊อบทำอีเวนต์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับละคร อย่างตอนนี้เราทำ ‘ไตรภูมิ’ เป็นธีมปาร์กที่บริษัท ไร้ท์ จำกัด ร่วมกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต ซึ่งเป็นสวนสนุกอยู่ด้านหน้า และมีพื้นที่ส่วนเล็กๆ ที่เป็นละคร น่าจะเปิดช่วงปลายปี เหมือนสวนไดโนเสาร์ที่เราก็เคยเข้าไปทำโปรดักชั่นแป๊บหนึ่ง

เวลาทำละครเวที มีสปอนเซอร์สนับสนุนด้วยหรือเปล่าครับ

มันก็ควรจะมีนะ แต่ของเราไม่มี (หัวเราะ) คือดิฉันขี้เกียจน่ะ ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วเรามีความรู้สึกว่า เราโอเคแล้วกับสิ่งที่ทำ กับมีกลุ่มคนดูเท่านี้ แล้วที่รู้สึกเองก็คือ ละครของเรามีรอบจำกัด คนดูก็จำกัดแค่แปดร้อยที่นั่ง คนที่จะมาเป็นสปอนเซอร์เราจะได้อะไรล่ะ เราไม่ได้ทำอะไรที่แมสส์ไง ก็เลยขี้เกียจไปขอสปอนเซอร์

แต่บางครั้งที่เราทำละครเด็ก ก็อาจจะมีบางบริษัทที่เขามีแผนจะทำ CSR อยู่แล้ว บางทีเขาก็ให้เงินเราเหมือนกัน แต่การตลาดแบบทั่วไปนั้นดิฉันทำไม่เป็น ไม่เข้าใจด้วยว่ามันคืออะไร (หัวเราะ) คือเราไม่มีอะไรไปแลกกับเขาไง

บางค่ายอย่าง ‘โต๊ะกลม’ ซึ่งสนิทกันกับดิฉัน เขาก็จะมีเวิร์คพอยท์ที่คอยซัพพอร์ต เขาอาจจะมีช่องเวิร์คพอยท์ที่คอยทำการตลาดได้ แต่อย่างเรา เราไม่มีอย่างอื่น ไม่มีสื่อ เรามีแค่นี้ ดิฉันก็เลยคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก เราทำแล้วขายบัตรเอาละกัน ถามว่ามีความเสี่ยงไหม มันก็แน่นอน มีความเสี่ยงแหละ แต่ช่วยไม่ได้ การลงทุนทุกอย่าง ต่อให้ขายข้าวแกง มันก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากมีสปอนเซอร์ หรือหยิ่งนะ แต่ว่านึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะต้องทำอย่างไร

พูดถึง ‘โต๊ะกลม’ ล่าสุดมีการสัมภาษณ์ร่วมกับคุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) และพูดถึงว่าคนทำละครเวทีควรจะมารวมตัวกัน ทำประเด็นเรื่องพระพุทธเจ้า แล้วต่างคนต่างเปิดแสดงกันไป โดยที่คนดูซื้อตั๋วแค่ใบเดียว แต่สามารถเลือกดูละครของคนทำทุกคนได้ ในเทปสัมภาษณ์มีพูดถึงคุณโจ้ด้วย ประเด็นนี้คิดอย่างไรครับ

อันนี้มันต้องดูกันก่อนละว่า เรารักที่จะทำเรื่องนี้หรือเปล่า ถามว่าดิฉันอยากทำเรื่องพระพุทธเจ้าไหม ก็ไม่อยากทำ โดยเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่คนอื่นๆ อาจจะอยากทำ เพราะเขามีประเด็นที่อยากจะพูด

สำหรับดิฉัน การทำละครมันขึ้นอยู่ความชอบของตัวเองก่อน เรามีแมสเสจอะไรที่จะเสนอให้คนดู คือเราต้องรู้ก่อนว่าเราเขียนเรื่องนี้เพราะว่าอะไร อย่างเรื่อง ‘ซ้อน’ ที่เราเขียน เพราะอยากทำละครแนวสืบสวนสอบสวน และที่ทำเป็นละครเพลง เพราะอยากลองดูว่าเพลงมันจะช่วยให้ได้อารมณ์เหมือนกับละครปกติไหม หรือว่าในเรื่อง มันมีแมสเสจบางอย่างที่ต้องการจะให้คนดูรู้ อย่างเช่นเราพูดถึงเรื่องเจเนอเรชันของคน ว่าทำไมเราไม่รู้อะไรเลยแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับแม่ของเราแท้ๆ ถ้าเราไม่ถาม หรือแม่เราไม่พูด เราก็จะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับรากเหง้าของเราเลย

มันเป็นประเด็นที่ดิฉันคิดว่า สังคมสมัยนี้เราไม่ชอบพูดคำว่า ‘รากเหง้า’ เราจะพูดไปถึงเรื่องข้างหน้าอย่างเดียว เราอยากจะอย่างโน้นอย่างนี้ รากเหง้าที่พูดถึงเราไม่จำเป็นต้องขุดคุ้ยไปถึงยุคอู่ทองเสียที่ไหน (หัวเราะ) มันคือรากเหง้าของเราเอง ของครอบครัวเรา เรายังไม่รู้เลย ทีนี้ถ้าเราเริ่มจากการรู้จักคนสักคนในอดีต ช่องว่างระหว่างวัยของคนเราก็จะน้อยลง หรือเราจะเข้าใจเขามากขึ้น อย่างในเรื่อง ‘ซ้อน’ บางเจเนอเรชันเล่นซ้อนกันมาร้อยปี มันไม่น่าเชื่อว่าเจเนอเรชันในปี 2461 ที่เรื่องเริ่ม คือปลายรัชกาลที่ 6 มันมีบางอย่างที่ทำไม่ได้เลย อย่างเช่น บทบาทของผู้หญิงที่ไปไหนไม่ได้ มันไม่มีทางออก ฉะนั้นชีวิตของผู้หญิงยุคนั้นก็อยู่แค่ตรงนั้น แต่พอผ่านไปอีกสิบปี มันก็เปลี่ยนไป จนมาถึงยุคปัจจุบัน สิ่งที่เคยต้องห้าม มันก็ทำได้ จริงๆ แค่เราตระหนักถึงตรงนี้ บางทีเราก็จะรู้สึก appreciate แล้วว่า ตอนนี้เราสามารถทำอะไรได้ตั้งหลายๆ อย่าง แล้วเราก็จะคิดอะไรได้อีกมากมายเลยนะ  

ดิฉันว่าบางทีมันก็สำคัญกว่าการที่เราจะรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยน่ะ เพราะนี่เราได้เรียนรู้ประวัติของตัวเราเอง และของคนในเจเนอเรชันที่ใกล้ๆ เรา ว่าเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมเขาคิดอย่างนี้ ก็ทำให้เรารู้จักคนมากขึ้น เรื่องที่ดิฉันเขียนก็มักจะพูดแบบนี้ คือจะให้ความสำคัญกับมนุษย์ในแบบที่ต่างๆ กัน

ต้นแบบการละครของคุณคือใคร

อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ซึ่งเป็นครูที่สอนดิฉันตั้งแต่จุฬาฯ ครูสอนวิชาศิลปะการละคร สมัยเป็นนิสิต ดิฉันไม่ชอบเรียนหนังสือเลยนะ พูดตรงๆ รู้สึกว่าตัวเองเบื่อกับการเรียนการสอนแบบไปนั่งฟังเลกเชอร์ ไม่ชอบมากๆ แต่ความที่ครูมาสอนละคร สอนเด็กทั้งคลาส 100-200 คน เรารู้สึกว่ามันใช่เลย มันเป็นวิชาที่เราอยากจะเรียน เราสนใจ ตั้งแต่นั้นดิฉันก็เลยเลือกศิลปะการละครเป็นวิชาเอกเลย แต่ในคลาสของละครเองก็ไม่ได้ชอบทุกวิชานะ (ยิ้ม) ดิฉันไม่ชอบการแสดง ไม่ชอบการกำกับ ชอบแต่เขียนบท เพราะฉะนั้นก็จะเลือกแต่ตัวเขียนบท แต่ว่าในกระบวนการทำละครทั้งหมดน่ะดิฉันชอบ

ครูพูดเสมอว่า ละครคือศาสตร์ทุกอย่างที่มารวมกัน ไม่ว่าศาสตร์ของการแสดง ของการกำกับ ของบท ของการออกแบบ ออกแบบฉาก ออกแบบแสง ทีนี้พอเราเอามารวมกันแล้วมันเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่เรารู้สึกทึ่ง มันมีชีวิตของมันเอง และเพราะมันรวมศาสตร์ทุกอย่างไว้ ทุกคนถึงบอกว่ามันยาก ซึ่งมันก็ยากจริงๆ เพราะละครเวทีมันตัดต่อไม่ได้ ต้องทำโมเมนต์ตรงนั้นให้ดีที่สุด คนที่มาดูเราจะไม่ให้อภัยถ้าเราผิดพลาด แต่กว่าจะทำตรงนั้นให้ได้ดีต้องใช้เวลา และใช้ศิลปะของทุกคน ดิฉันก็เลยชอบมาก

คุณเคยแหกกฎหรือคำสอนของอาจารย์บ้างไหมครับ

ไม่ค่ะ สิ่งที่ครูสอนดีที่สุดก็คือว่า อย่าเชื่อครู ครูจะบอกว่า ‘โจ้…โจ้ฟังครูนะ แต่โจ้ห้ามเชื่อนะ’ ดิฉันว่านั่นเป็นคำสอนที่ดีที่สุดเลย เพราะว่าต่อไปเวลาทำอะไรก็จะบอกได้ว่า ก็ครูบอกว่าอย่าเชื่อครู อันนี้เอาไปย้อนได้ (หัวเราะ)

ครูบอกว่า ครูคอมเมนต์ได้ แต่ทุกอย่างมาจากตัวเราใช่ไหม เราเป็นคนคิดใช่ไหม เราก็ฟังคอมเมนต์ของครู ฟังอย่างละเอียดด้วย แล้วเราก็แก้ถ้ามันผิด แต่บางอย่างเราไม่เห็นด้วย ครูบอกให้ถามว่าเรามีเหตุผลเพียงพอหรือเปล่า สิ่งที่เราคิดน่ะ ถ้าเรามีเหตุผลพอ เถียงครูได้ ก็โอเค อันนี้ก็ไม่ถึงกับแหกกฎนะ เพราะเราทำตาม ไม่เชื่อ นี่คือทำตาม (หัวเราะ)

ด้วยเหตุนี้ดิฉันถึงรักครู ตอนนี้อาจารย์สดใสอายุแปดสิบกว่าแล้ว แต่ก็ยังตรวจบทให้ดิฉันอยู่เลย พอเราเขียนเสร็จก็จะส่ง ‘ครูขา ตรวจให้หนูหน่อย’ แล้วครูก็จะมีคอมเมนต์ แต่จะบอกเหมือนเดิมว่า โจ้ ฟังได้นะ แต่อย่าเชื่อ

ครูมักจะบอกว่า การเขียนบทมันไม่ได้มีกฎตายตัว แต่ที่ครูสอนมันเป็นเบสิกของ story telling ไม่ว่าอะไรก็ใช้แบบเดียวกัน เหมือนเวลาเราเล่าเรื่อง ไปพูดหน้าชั้น ที่เราเรียนว่า… เริ่มต้น แล้วค่อยพูดเนื้อหาอย่างไรให้คนสนใจ และเราจะลงท้ายบทสรุปเป็นแมสเสจของเราอย่างไร การเขียนบทก็เหมือนกัน มันคือ story telling ที่สำคัญคือแมสเสจของคนเขียน ครูบอกว่า ถ้าคนเขียนไม่มีแมสเสจที่จะเล่า เรื่องมันก็จะไม่มีความหมาย เพื่อจะบอกคนดูในตอนจบว่าเรื่องที่เราจะบอกคืออะไร

คุณสมบัติที่ดีของคนเขียนบทมีอะไรบ้าง ในความเห็นของคุณ

หนึ่ง-อ่านเยอะ อ่านนี่ไม่ใช่ให้ไปก็อปปีนะ อ่านเยอะเป็นการเปิดโลกทัศน์ บางทีเราก็ได้รู้จักสไตล์การเขียนแบบต่างๆ ของนักเขียนคนนั้นคนนี้ ยิ่งสมัยนี้มันยิ่งง่าย สมัยพี่ตอนเด็กๆ ยังต้องไปห้องสมุดเพื่อไปหา แต่เดี๋ยวนี้เราอ่านจากอินเตอร์เน็ตก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านนิยายอย่างเดียวด้วยซ้ำ อะไรก็ได้ ที่เราหาเจอในเน็ต ที่เราสนใจ แต่แน่นอน การอ่านนิยายหลายๆ แบบมันก็ช่วยได้เยอะ เพราะพอเรารู้มากขึ้นเราก็มีวัตถุดิบที่จะเลือกมาใช้ แต่ถ้าเราอ่านนิยายของคนคนเดียว เราชอบสไตล์เดียว เราก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน ดิฉันคิดว่าคนเราต้องอ่านหนังสือน่ะ ถ้าไม่อ่านวัตถุดิบในตัวเราจะน้อยมาก นอกเสียจากว่าคนคนนั้นจะออกไปท่องเที่ยวตลอดเวลา แต่คนแบบดิฉัน ซึ่งไม่ค่อยไปไหน ชอบอยู่อย่างนี้ ก็เลยอ่านแต่หนังสืออย่างเดียว ไม่ค่อยได้คุยกับคนมาก เพราะไม่ค่อยได้เจอใคร (ยิ้ม)

สอง-ต้องสังเกตเป็น ต้องหัดฟังคนอื่นว่าเขาพูดอะไร ต้องหัดเข้าใจว่าทำไมเขาทำแบบนี้ คือเราต้องถาม เหมือนเวลาเราโกรธใครสักคน ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ เขาทำแบบนี้เพราะอะไร เราต้องพยายามเข้าใจเขา โอเค เราอาจจะไม่ให้อภัยก็ได้ แต่เราต้องเข้าใจเขา ถ้าเราฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เวลาเราเขียนบท ตัวละครของเราจะมีความลึกขึ้น ว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจอย่างนี้ ทุกคนมีเหตุผลในการกระทำ ถึงแม้ว่าจะใช้อารมณ์แค่ไหน แต่บางครั้งมันมีเหตุผลให้เกิดอารมณ์

สาม-ต้องเขียน อยากเป็นนักเขียนแล้วไม่เขียน จะเป็นนักเขียนได้อย่างไร ใช่ไหม พอเขียนเป็นแล้วมันจะรู้เองว่าเราเขียนไม่ได้ (หัวเราะ) คือถ้าเราเขียนไม่ได้ก็ติดไว้ แล้วกลับไปคิดว่าทำไมเราเขียนไม่ได้ แล้วลองเขียนใหม่ ถึงจะเขียนแล้วแก้เป็นร้อยๆ ดราฟต์ก็ต้องเขียนน่ะ เขียนไปเรื่อยๆ แล้วเราจะพัฒนาการเขียนขึ้นมาเอง ในชีวิตดิฉันเจอคนมาเยอะมากเลยที่บอกว่าอยากจะเป็นนักเขียนบทจังเลย บอกแล้วหายไปเลย ยี่สิบปีมาเจออีกทีก็ยังไม่ได้เขียน ไม่มีเวลาบ้าง…ก็พูดไป มันต้องเขียนน่ะ แต่ดิฉันเขียนแต่บทละครนะ นิยายเขียนไม่เป็น มันบรรยายมากไปก็รำคาญตัวเอง ไม่เหมือนบทละคร เราบรรยายฉากแค่นิดเดียว

ละครเวทีแต่ละเรื่อง คุณกำหนดเวลาหรือความยาวไว้อย่างไร

ปกติเรามีสูตรคือ ละครเพลงจะไม่เกินสามชั่วโมง ถ้าเป็นละครพูดก็แล้วแต่ ถ้าเป็นละครพูดแบบใหญ่ๆ ของเรานะ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีละครเล็กๆ ที่บางเรื่องเขาเล่นกันสิบห้านาทีก็มี แล้วแต่คณะ แต่ของดรีมบอกซ์เท่าที่เล่นโครงใหญ่ความยาวประมาณสองชั่วโมง

ในการทำงานของคุณ ต้องมีความเป็นเผด็จการด้วยหรือเปล่า

มากเลย (หัวเราะ) จะเรียกว่าเผด็จการไหมล่ะ การทำงานทุกอย่างมันต้องตัดสินใจคนเดียว คือเราฟังความคิดเห็นของทุกคน แต่ถึงเวลาตัดสินใจ เราต้องตัดสินใจเอง ถ้าฟังคนนั้นเชื่อคนนี้ บางทีมันจะไม่เป็นผลดีกับละครของเรา เพราะเราจะรักและเกรงใจทุกคน เขาพูดได้ เราก็ฟังได้ แต่สุดท้ายเราต้องเลือกน่ะ

อีกอย่างที่ครู (อาจารย์สดใส) พูดตลอดคือ ละครมีการเลือก มีการดีไซน์มาหมดแล้ว เราเลือกบทสนทนาที่จะพูดตรงนี้ เพราะอะไร และภาพรวมทั้งหมดเราก็เป็นคนเลือก เลือกที่จะให้มันออกมาเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญ คนเลือกจะมีหลายคนไม่ได้ แน่นอนว่าทุกฝ่ายต่างก็เลือกของเขา แต่ว่าพอเราดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว …ดิฉันไม่ได้เป็นแค่คนเขียนบทอย่างเดียว แต่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย ฉะนั้นต้องดูภาพรวมของทั้งหมดด้วย เราก็ต้องเป็นคนเลือกในท้ายที่สุด

ความจริงดิฉันทำงานกับคนไม่กี่คน ชอบทำงานกับคนที่ตัวเองไม่เกรงใจ และเขาก็ไม่ใช่คนที่เกรงใจเรามากจนไม่กล้าพูด พอทำงานกับคนที่สนิท เราก็พูดได้สะดวก เช่น อันนี้ไม่ใช่ ไปเปลี่ยนมาก่อน เขาก็จะสนิทกับเราพอที่จะไม่โกรธที่เราคอมเมนต์งานของเขา ในทีมเราเคารพซึ่งกันและกัน และฟัง คือทีมงานมีสิทธิ์เถียงได้ตลอด แล้วเราก็ฟังนะ บางทีเขาถูก เราก็ยอมรับ แต่ถ้าอันไหนที่เราคิดว่าเราถูก เราก็จะบอกว่าอันนี้พี่รับผิดชอบเอง แล้วถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา มันก็เป็นความผิดของเรา ไม่ใช่ของใคร

ถามว่าเป็นเผด็จการไหม ดิฉันว่าตัวเองก็เป็นนะ ดิฉันมีความรู้สึกว่า ก็ฉันจะเอาอย่างนี้น่ะ แต่ดิฉันว่าทุกองค์กรละที่จะมีใครสักคนหนึ่งต้องตัดสินใจ องค์กรอะไรก็ตามที่มีบอร์ดมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป ดิฉันว่าไม่รอด แม้แต่บอร์ดก็ต้องมีหัวสุดที่จะต้องตัดสินใจ แต่คนนั้นต้องรับผิดชอบว่าจะพาองค์กรไปทางไหน ยิ่งถ้ามีบอร์ดเยอะๆ เหมือนสมัยทำงานเมื่อก่อน เราก็ได้แต่นั่งฟัง เข้าใจเหตุผลของเขา แล้วจะรู้สึกเกรงใจเขา (หัวเราะ) ดิฉันเป็นอย่างนั้นนะ ตอนนี้เราก็เลยพยายามทำงานกับคนที่เราไม่เกรงใจ เพราะรู้ว่าถ้าเกรงใจไปแล้วไม่เป็นผลดี ท้ายที่สุดแล้วมันก็เสียกันไปหมดเลย เขาก็เสีย เราก็เสียด้วย

ดิฉันชอบทำงานกับทีมงานเดิมๆ มีคนเคยถามเหมือนกันว่าไม่ลองเปลี่ยนคนทำงานด้วยบ้างเหรอ ดิฉันก็บอกว่ามันดีอยู่แล้ว ไม่รู้จะเปลี่ยนทำไม

โปรดักชันแต่ละเรื่องของดรีมบอกซ์ ใช้เวลาเตรียมงานหรือทำงานนานแค่ไหน

สี่เดือน อย่างต่ำสามเดือน ไม่รวมการเขียนบทนะ ดิฉันใช้เวลาคิดค่อนข้างนาน แต่เวลาเขียนจะเขียนเร็ว

เวลาทำโปรดักชันละครเพลงแต่ละครั้งมักจะเครียดกัน โดยเฉพาะพี่ลิง (สุวรรณดี จักราวรวุธ) ผู้กำกับฯ จะเครียดมาก เพราะเขาจะเป็นคนปะทะทุกอย่าง ไม่ว่าจะกับนักแสดง กับเพลง ถึงจะมีคอมโพสเซอร์ แต่เขาจะต้องดูภาพรวมของทั้งหมด ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร

คุณเคยมีความคิดที่จะทำงานร่วมกับค่ายอื่นที่เขาแมสส์กว่านี้บ้างไหม

ไม่ค่ะ เพราะมันคนละแนวทางกัน จริงๆ แล้วสิ่งที่ดีก็คือทุกคนมีแนวทางของตัวเอง เพราะถ้าทำงานร่วมกันมากๆ มันก็จะกลายเป็นแนวทางเดียวเหมือนกันหมด คนดูก็จะไม่มีทางเลือก ของเราแนวทางแบบนี้ ของเขาก็อีกแนวหนึ่ง คนดูก็มีโอกาสเลือกได้ว่าชอบแนวไหน เพราะคนดูแต่ละคนมีภูมิหลังไม่เหมือนกัน

ดิฉันคิดว่า การทำงานด้วยกันก็ดี แต่มันก็มีข้อจำกัดทางความคิด หรือความต่างของสไตล์เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นการร่วมมือกันทางด้านอื่นอาจเป็นไปได้นะ อย่างเช่น จัดเฟสติวัลร่วมกัน สมมติเป็นไทยมิวสิคัล ใครอยากจะทำเรื่องไหนก็ทำ ไม่มีอะไรเป็นขอบเขต อันนี้ดิฉันว่าทำได้

หน่วยงานของรัฐอย่างกระทรวงวัฒนธรรม เคยคิดทำโปรเจ็กต์อะไรแบบนี้บ้างไหม

ไม่มีหรอก (หัวเราะ) หมายความว่าหน่วยงานเหล่านี้เขาก็งานเยอะอยู่แล้วน่ะ นอกจากกลุ่มละครเวทีมันเล็กอยู่แล้ว บางครั้งหน่วยงานรัฐของไทยเราก็ต้องยอมรับว่าเขา…สมมติว่าเขามีศิลปวัฒนธรรมในกระทรวงวัฒนธรรม เขาก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของไทยที่จะทำ หรือคำว่าวัฒนธรรมของเขากับของเราไม่เหมือนกัน (หัวเราะ)

แต่ทุกปีก็มีศิลปะการแสดงจากนานาชาติมาจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ นี่นะ

อันนั้นเขาสนับสนุนนานาชาติ (ยิ้ม) เขาถือว่าเป็นวัฒนธรรมของนานาชาติที่เขาสนับสนุนได้

แปลกดีนะครับ

ก็ยังดีกว่าไม่มีวัฒนธรรมนะ (หัวเราะ) แล้วเขาอาจจะสนับสนุนแค่เรื่องของสถานที่ก็ได้

คุณเคยดีลกับหน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรมบ้างไหม

ก็เคยบ้างนะ พี่ลิงก็เคยได้รางวัลศิลปาธร (ปี 2560 สาขาศิลปะการแสดง) เหมือนกัน ความจริงมันเคยมีโปรเจ็กต์ของกระทรวงฯ บางอย่างที่เขาจะให้เงินสนับสนุน พี่ลิงก็เคยเสนอขอไป แต่ก็ไม่ได้ ซึ่งเราก็เลยคิดว่าเราอย่าไปหวังเลย เพราะวัฒนธรรมประเทศเรามันกว้าง ประเทศเราใหญ่ แล้วกระทรวงฯ ก็ไม่ได้มีงบฯ เยอะ อีกอย่างละครเวทีของเรา เราเองก็ยอมรับมานานแล้วว่ามันเป็นศิลปะที่มีคนดูน้อย เจียมตัว 

การเดินทางของประเทศเราก็ยาก กว่าจะฝ่ารถติดไปอะไรไปนั่งดู ยิ่งคนสมัยนี้ทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้ว เดี๋ยวก็ได้ดูแล้วจากยูทูบ ทุกอย่างมัน custom สำหรับตัวเรา แต่ละครเวทียังเป็นอะไรที่ไม่ custom ต้องไปซื้อตั๋ว ต้องไปนั่งดู แล้วถ้าเกิดไม่สนุกล่ะ บางทีคนก็ต้องชั่งใจนะ ดิฉันว่าสภาพเศรษฐกิจของเราทำให้คนต้องคิดเยอะละว่า ในการที่จะต้องเสียเงินกับละครเวที ที่เชื่อกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า มันเป็นแค่ความบันเทิง ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต มันไม่ใช่ปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับชีวิต ถ้าเขาต้องเลือกที่จะเสียเงิน เขาก็อาจเลือกไปดูคอนเสิร์ต ไปดูศิลปินที่เขาชอบดีกว่าไหม อันนี้เราว่าใครไม่ได้ เพราะมันเป็นรสนิยม

ถ้าถามว่าทำไมคนที่ยุโรปเขาดูละครเวทีกันเยอะล่ะ อันนั้นมันเป็นวัฒนธรรมของเขา ที่เขารู้สึกว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับตัวเขา แต่ในประเทศเรา สิ่งนี้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เพราะเรายังเป็นประเทศที่ยากจนอยู่ อะไรอย่างอื่นเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า อย่างเช่นเราต้องมีข้าวกิน มีเครื่องนุ่งห่ม มีการศึกษา มีบ้าน แต่ในยุโรปเขามีสวัสดิการทุกอย่าง เรื่องศิลปวัฒนธรรมก็เลยเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนา

ถามจริงๆ คุณเองทำละครเวทีมาต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ และหนทางก็ไม่ได้รุ่งโรจน์เท่าไรนัก เคยรู้สึกเหนื่อยกับการทำละครเวทีบ้างไหม

ตอนทำมันไม่เหนื่อยหรอก แต่พอทำเสร็จแล้วมันเหนื่อย (ยิ้ม) ปวดหัว คือชีวิต ถ้าเราเลือกได้เราก็อยากทำละครอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะอยู่ไม่ได้ เราต้องไปทำอะไรอย่างอื่นด้วย มันจะมีพาร์ตหนึ่งของการทำธุรกิจที่เกลียดที่สุดเลยคือการคิดเลข เกลียดมาก ดิฉันเรียนอักษรฯ มา ทำไมต้องมานั่งคิดเลข มันเป็นทุกข์มากเลยที่ต้องมาดู จะให้คนอื่นทำก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นบริษัทที่เราต้องดูแล มีน้องๆ ที่ทำงานให้เรา รักเรา แล้วเราก็รักเขา อยากให้เขาอยู่กันได้ เลี้ยงชีพได้ แต่บางทีในแง่ธุรกิจมันสวนทางกันน่ะ มันไม่ก่อให้เกิดความร่ำรวย (หัวเราะ) หรือเงินที่มากพอ มันก็เลยมีความเหนื่อยตรงจุดนี้

ซึ่งตอนที่เรียนอักษรฯ เราไม่เคยเรียนอะไรพวกนี้ ไม่เคยรู้ว่าการทำละครมันต้องใช้เงิน และใช้เยอะด้วย แล้วการตลาดก็เป็นศาสตร์ที่เราไม่เคยเรียนว่าเราจะต้องทำอะไรอย่างไร เราเรียนแต่การทำงานละครอย่างเดียว ไม่ได้เรียนส่วนอื่นเลย แต่จริงๆ แล้วมันสำคัญ ดิฉันคิดว่าหลักสูตรของทุกมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน วิชาศิลปะการละครจะต้องมีวิชาการตลาดเข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นมันอยู่ไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักมาก พอๆ กับการคิดทำละคร เหนื่อยใจกว่าด้วย

นั่นละ เป็นพาร์ตหนึ่งของการทำละครที่ไม่ชอบเลย ต้องทนมากเลย แต่ก็ต้องทำ มันไม่ใช่แค่งบฯ โปรดักชันนะ มันจะมีแบบที่ต้องส่งทุกเดือน ทั้ง VAT ภาษี ประกันสังคม ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งถ้าจะไปจ้างคนอื่นทำมันก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทอยู่ดี ถ้าย้อนเวลากลับไปได้นะ ดิฉันจะเลือกเรียนสองคณะ คณะอักษรศาสตร์ กับคณะเศรษฐศาสตร์หรือบัญชี (หัวเราะ) ซึ่งก็คงสอบไม่ได้ แต่มันจำเป็นเหมือนกัน

อีกอย่างที่ไม่ชอบ คือสังคมสมัยนี้ที่มีพวกนักลงทุน ที่คิดแต่ว่าจะเอาเงินมาลงเพื่อทำธุรกิจอันนี้ให้ได้ผลกำไรกลับมา พอเป็นอย่างนั้นมันเหมือนกับจะดี แต่มันไม่จริงเลย เพราะเขาแค่เป็นนักลงทุน พอเขาขาดทุนเขาก็ถอนตัวไป มันเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลกำไร ไม่ใช่เพราะรักที่จะทำ ตรงนี้ดิฉันรู้สึกว่ามันเป็นจุดอันตรายของศิลปะ และทำให้ทุกฝ่ายผิดหวังกันไป

ดิฉันเคยเจอนะ ไม่ใช่นักลงทุนแบบยักษ์ใหญ่ก็มี เป็นนักลงทุนธรรมดา ชอบดูละครมาก เลยอยากจะเอาเงินมาลงทุนตรงนี้สักยี่สิบ-สามสิบล้าน ดิฉันพูดต่อหน้าเลยว่าไม่ คุณต้องกลับไปคิดให้ดีๆ ก่อน ดิฉันจะไม่ทำแบบนี้ เพราะรู้อนาคต มันยากมากเลย เขาเอาเงินมาลงทุนยี่สิบล้าน แต่เราขายได้แค่ห้าล้าน อย่างนี้เขาจะไม่เสียความรู้สึกเหรอ ทุกปีจะมีคนแบบนี้มาหาเรา เขาคงคิดว่ามันง่าย บอกว่าต้องทำการตลาดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราบอกเลยว่าให้ไปทำเอง ช่วยไม่ได้ เพราะเรากลัวมาก และจะรู้สึกผิดมากที่เอาเงินของคนอื่นมาใช้แล้วมันเจ๊ง

ทุกวันนี้ อะไรบ้างที่ทำให้คุณมีความสุข

มีนะ (ยิ้ม) ยกเว้นปวดหัวเรื่องธุรกิจ (หัวเราะ) ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ปวดหัวเรื่องการรันบริษัททั้งหมด นอกนั้นดิฉันไม่อยากได้อะไรเลย ก็ถือว่าตัวเองมีชีวิตที่โอเค เพราะมีแม่ มีลูก มีน้อง มีหมา มีทีมงาน และมีงานที่เรารักทำ ชีวิตดิฉันก็มีแค่นี้แหละ

ความสุขของดิฉันง่ายๆ อยู่เฉยๆ ก็แฮปปีได้ อย่างอ่านข่าวโน้นข่าวนี้ ซื้อของอีเบย์ของเราไป ง่ายๆ คล้ายๆ บำบัด พอเครียดแล้วก็จะดูไอ้นั่นไอ้นี่ แต่จริงๆ แล้วการบำบัดของดิฉันก็แค่มาทำงาน ชอบทำงานมาก วันอาทิตย์จะรู้สึกทุกข์ที่จะต้องอยู่บ้าน เบื่อ แต่ถ้ามาทำงานปุ๊บ จะแฮปปีขึ้นมาทันที ได้เจอคนนั้นคนนี้ คุยเรื่องงาน เรื่องทั่วไป

อีกอย่างดิฉันเป็นคนไม่ชอบเที่ยว อาจเพราะตอนเด็กๆ เที่ยวมาเยอะแล้วก็ได้ เสื้อผ้าก็ไม่ค่อยได้ซื้อเอง แต่ฝากซื้อ ไม่อยากได้อะไรมาก อยากทำละครอย่างเดียว ดิฉันคือคนบ้าคนหนึ่ง ไม่อยากได้อะไรเลย

Fact Box

  • ดารกา วงศ์ศิริ เป็นบุตรสาวของคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต สำเร็จการศึกษาสาขาศิลปะการละคร จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้ารับราชการ เป็นโปรดิวเซอร์รายการละครวิทยุและรายการสำหรับเด็กของวิทยุศึกษาได้ราวหนึ่งปี จากนั้นไปทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารลลนา (ยุคที่คุณนันทวัน หยุ่นเป็นบรรณาธิการ) ก่อนจะออกมาทำบริษัท แดส เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ และในปี 2536 ทำโรงละครกรุงเทพ
  • บริษัท ดรีมบอกซ์ จำกัด ซึ่งเธอเป็นกรรมการผู้จัดการ  (เกิดจากการรวมตัวกันของแดส เอนเทอร์เทนเม้นท์ และโรงละครกรุงเทพในปี 2544) มีผลงานละครเวทีจากอดีตถึงปัจจุบันร่วม 60 เรื่อง โดยเธอเป็นผู้เขียนบทจำนวนนับไม่ถ้วน ในจำนวนนั้น 10 กว่าเรื่องเป็นละครเพลง อาทิ ‘มอม’ ‘นางพญางูขาว’ ‘ปริศนา’ ‘น้ำใสใจจริง’ ‘แม่นาค’ ‘คู่กรรม’
  • ปี 2559 ดารกาได้รับรางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ และ Lifetime Achievement Award จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง IATC Thailand
  • สำหรับผู้สนใจการเขียนบทละครเวที สามารถคลิกอ่านคำแนะนำของเธอได้ที่: https://www.facebook.com/notes/dreamboxtheatre-bkk
Tags: , , , ,