ถ้าถามว่า การระบาดของ โควิด-19 ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไร เราคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนในสังคมน่าจะเพิ่มขึ้น เหตุผลหลักก็เพราะคนที่มีรายได้น้อยกว่าย่อมปรับตัวได้น้อยกว่าและช้ากว่า คนจนจึงน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเมื่อเกิดโรคระบาด แต่ประสบการณ์การเกิดโรคระบาดเมื่อหลายร้อยปีก่อนไม่ได้บอกเราเช่นนั้น

โรคระบาดอยู่คู่กับมนุษย์มาหลายพันปีแล้ว ตั้งแต่โรคระบาดแอนโทนีน (Antonine Plague) ระบาดในช่วง ค.ศ. ที่ 165-180 ที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปกว่า 5 ล้านคน จนถึงกาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) ในช่วง ค.ศ. 541-542 และในปัจจุบันกับโรคโควิด-19 แต่ก็ไม่มีการระบาดครั้งไหนที่รุนแรงและคร่าชีวิตผู้คนได้เท่ากับ ‘กาฬโรค’ หรือรู้จักกันในชื่อของ ‘มรณะดำ’ (Black Death) ในช่วงปี ค.ศ. 1347-1351 ส่งผลให้มีคนตายกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก กาฬโรคอุบัติขึ้นจากทะเลทรายโกบี ประเทศมองโกเลีย ขยายต่อไปยังจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง บริเวณเมดิเตอร์เรเนียน อิตาลี ฝรั่งเศส และเข้าสู่อังกฤษใน ค.ศ. 1348 มีการบันทึกไว้ว่า กาฬโรคได้เข้าสู่ประเทศไทยในยุคของพระเจ้าอู่ทอง 

คำถามสำคัญก็คือว่า แล้วการเจ็บป่วยล้มตายของคนส่งผลอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อ 600 ปีที่ก่อนที่ปัจจัยการผลิตมีแค่แรงงานที่มาจากคน และที่ดินที่ถือครองโดยคนรวย ไม่มีเครื่องจักรซับซ้อน ไม่มีหุ่นยนต์ ไม่มีโรงงานทันสมัย ‘แรงงาน’ จึงเป็นหัวใจของการกระจายรายได้ Branko Milanovic นักเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำที่ City University of New York และ London School of Economics and Political Science ได้เขียนหนังสือชื่อ Global Inequality: A New Approach for the Age of Globalization ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 โดยระบุว่า ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มหรือลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งออกเป็น benign force และ malign force สำหรับสังคมยุคก่อนอุตสาหกรรม (pre-industrial society) ที่ไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ Milanovic เห็นว่า มีเพียง malign force เท่านั้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ซึ่ง malign force ประกอบไปด้วย 2 เหตุการณ์หลัก (idiosyncratic events) คือ (1) สงคราม และ (2) โรคระบาด

Milanovic อธิบายว่า ในช่วงก่อนอุตสาหกรรม การระบาดครั้งใหญ่ (massive epidemics) ทำให้แรงงานเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อจำนวนแรงงานลดลง ค่าจ้างแรงงานจึงสูงขึ้น ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนจึงลดลง Milanovic ใช้อัตราส่วนของค่าเช่าที่ดินต่อค่าจ้างในประเทศสเปนเพื่ออธิบายความเหลื่อมล้ำในช่วงกาฬโรค โดยพบว่า อัตราส่วนดังกล่าว ‘ลดลง’ อย่างต่อเนื่องในช่วงปี 1300 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เกิดการระบาดของกาฬโรคที่คร่าชีวิตประชากรไปกว่าครึ่งค่อนประเทศ 

ข้อสรุปของ Milanovic สอดคล้องกับสิ่งที่ศาสตราจารย์ Walter Scheidel นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Stanford ได้ระบุไว้ในหนังสือ The Great Leveler: Violence and the History of Inequality from the Stone Age to the Twenty-first Century ตีพิมพ์ในปี 2018 ว่า การระบาดใหญ่ (lethal pandemics) เป็นหนึ่งในสี่อัศวินขี่ม้าขาว (Four Horsemen) ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่นคง (อีก 3 อัศวิน คือ สงคราม การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และความล้มเหลวของรัฐ) ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะเปลี่ยนแปลงไปสักแค่ไหน มีเพียง 4 อัศวินนี้เท่านั้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้จริงๆ 

Scheidel อธิบายต่อว่า ก่อนหน้าที่กาฬโรคจะระบาดในยุโรป ประชากรของทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราส่วนของที่ดินและประชากรลดลง เมื่อแรงงานมีจำนวนมาก ค่าจ้างจึงถูกลงไปด้วย คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงก็คือ ‘เจ้าของที่ดิน’ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นสูง (elite) ที่สามารถจ้างคนมาทำงานในพื้นที่ของตัวเองได้ในราคาถูก แต่เมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก แรงงานจึงเหลือน้อยลง อำนาจต่อรองของแรงงานมีมากขึ้น นอกจากนั้น แรงงานยังสามารถไปทำงานที่อื่นได้หากไม่พอใจในค่าจ้างที่ได้รับ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการผลิตในยุโรปสูงขึ้น ทำให้ผลผลิตต่อหัวสูงขึ้น ค่าตอบแทนแรงงานจึงสูงขึ้นตามไปด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นคนรวยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าชนชั้นแรงงาน

Scheidel ใช้ข้อมูลค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานทั้งมีฝีมือและไร้ฝีมือในทวีปยุโรป เช่น ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม เวียนนา และอิสตันบูล พบว่า ค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงที่ศตวรรษที่ 14 และ 15 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่จำนวนประชากรเหลือน้อยที่สุดอันเป็นผลมาจากการระบาดของกาฬโรค การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริงนี้ สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีจีนี (Gini coefficient) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแรงงานมีค่าจ้างเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขาสามารถซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นมาจากคนรวยได้ ศาสตราจารย์ Guido Alfani จาก Bocconi University ใช้ข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มคนที่รวยที่สุดในยุโรปตั้งแต่ ค.ศ. 1300 พบว่า ในช่วงที่เกิดกาฬโรค (ค.ศ. 1347-1351) ความมั่งคั่งของคนที่รวยที่สุด 10% แรก ลดลงกว่า 15-20% ดังนั้น ในยุคก่อนอุตสาหกรรมที่แรงงานมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด โรคระบาดส่งผลโดยตรงต่อจำนวนแรงงานที่เหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจ และจำนวนแรงงานเหล่านี้เองที่เป็นตัวกำหนดความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างไรก็ตาม การลดลงของความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นแรงงานอาจไม่เกิดขึ้น หากมีความพยายามของรัฐและกลุ่มชนชั้นนำที่จะลดอำนาจการต่อรองของแรงงาน เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างในช่วงการระบาด การห้ามย้ายถิ่น เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ Scheidel ไม่ได้พิจารณาถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในตอนแรก จริงอยู่ที่โรคระบาดในช่วงศตวรรษที่ 14 จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่ปัญหาหลายอย่างยังถูกซุกไว้ใต้พรม ไม่หายจางไปกับผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ (ระหว่างนายทุนและขุนนาง) การกระจายอำนาจทางการเมือง การกระจุกของความเจริญในเมืองหลวง รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย และสิทธิเสรีภาพ ซึ่งหลังการระบาดสิ้นสุดลง ความเหลื่อมล้ำก็อาจจะถ่างสูงมากขึ้นอีกครั้ง 

จริงอยู่ที่โรคระบาดในช่วงศตวรรษที่ 14 จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่ปัญหาหลายอย่างยังถูกซุกไว้ใต้พรม ไม่หายจางไปกับผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด … ซึ่งหลังการระบาดสิ้นสุดลง ความเหลื่อมล้ำก็อาจจะถ่างสูงมากขึ้นอีกครั้ง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คงจะเป็นระดับของความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา เหตุเพราะการพัฒนาเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์เอื้อประโยชน์ให้แรงงานมีฝีมือ (skilled worker) มากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือว่า Scheidel ไม่ได้บอกว่า การที่คนเจ็บป่วยล้มตาย (ซึ่งความสูญเสียซึ่งชีวิตเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้) เป็น ‘ข้อดี’ (หรือเป็นประโยชน์) ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่ Scheidel พยายามอธิบายว่า โรคระบาดไม่ได้ส่งผลกระทบแต่คนจนเท่านั้น แต่ยังทำให้ ‘สถานะ’ ของคนรวยอ่อนแอลง นำไปสู่การลดลงของช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย 

คำถามสำคัญก็คือว่า แล้วการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันจะส่งผลอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำ? ในขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตจาก โควิด-19 ทั่วโลกแล้วกว่า 200,000 คน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคน สัดส่วนและจำนวนผู้เสียชีวิตยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับ Hong Kong Flu (ค.ศ. 1968 – 1970)  และ Spanish Flu (1918-1919) ถ้ามองในมุมนี้ การลดลงของประชากรก็อาจจะไม่มากพอที่จนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ถึงขนาดที่ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงสูงขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแตกต่างไปจากเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในปัจจุบัน มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ได้ถูกแบ่งระหว่าง ‘ค่าเช่า’ (ให้เจ้าของที่ดิน) กับ ‘ค่าจ้าง’ (ให้กับแรงงาน) แต่ยังรวมถึง ‘กำไร’ ในตลาดเงินตลาดทุน ที่ผู้ได้รับผลประโยชน์มีตั้งแต่เศรษฐีรวยหมื่นล้านไปจนถึงกลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง บทบาทของภาคการเงิน (ไม่ใช่แค่การซื้อขายหุ้นทั่วไป แต่ยังรวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุ share buybacks การซื้อขายตราสาร และอื่นๆ) ที่เด่นชัดในศตวรรษที่ 20 ทำให้การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในช่วงที่เกิดโรคระบาดเปลี่ยนแปลงไป เพราะผลตอบแทนจากการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปริมาณแรงงานในระบบเศรษฐกิจจริง 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบของโควิดต่อนักลงทุนยังไม่ชัดเจนนัก เพราะมีทั้งคนที่เสียผลประโยชน์ (ในระยะสั้น) จากราคาหุ้นตก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายคนได้ประโยชน์จากการช้อนซื้อหุ้น หวังเก็งกำไรในอนาคต นอกจากนั้น วิธีการผลิตสินค้าและบริการในปัจจุบันยังซับซ้อน มีทั้งการใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ รวมไปถึงการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่มูลค่า (global value chain) ที่การผลิตในประเทศยึดโยงกับการผลิตในต่างประเทศ แม้ระบบเศรษฐกิจจะสูญเสียแรงงานจากการระบาดของโคโรนาไวรัส แต่การแสวงหากำไรในตลาดสินค้าบริการ ตลาดทุน และตลาดหุ้น ดูเหมือนจะยังดำเนินต่อไป

อีกความต่างที่สำคัญก็คือว่า ‘แรงงาน’ ในปัจจุบัน มีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น หากเราแบ่งแรงงานออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม คือ แรงงานคอปกขาว (white-collar worker) ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ข้าราชการ คนที่ทำงานด้านบริการ หรือทำงานกับคอมพิวเตอร์ และแรงงานคอปกน้ำเงิน (blue-collar worker) กลุ่มลูกจ้าง รับจ้างทั่วไป ที่ต้องใช้กำลังกายในการทำงาน แรงงานทั้งสองกลุ่มนี้จ่ายราคาของโรคระบาดไม่เท่ากัน แรงงานคอปกน้ำเงิน นอกจากจะมีความเสี่ยงมากกว่าในการที่จะติดโรคแล้ว (เพราะต้องติดต่อ สัมผัส ผู้อื่นตลอดเวลา) นโยบายที่ใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาดยังเพิ่มความลำบากในชีวิตของพวกเขามากขึ้นไปอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คงจะเป็นมาตรการปิดเมือง (lockdown) ที่ทำให้แรงงานคอปกน้ำเงินไม่สามารถออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ ยังไม่นับรวมแรงงานนอกระบบ หาบเร่แผงลอย หรือพนักงานบริการทางเพศ ที่นอกจากจะตกงานแล้ว มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ (ที่ออกนโยบายเหมือนปิดตาไว้ข้างหนึ่ง) อาจไม่ครอบคลุม

แรงงานทั้งสองกลุ่มนี้จ่ายราคาของโรคระบาดไม่เท่ากัน แรงงานคอปกน้ำเงิน นอกจากจะมีความเสี่ยงมากกว่าในการที่จะติดโรคแล้ว นโยบายที่ใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาดยังเพิ่มความลำบากในชีวิตของพวกเขามากขึ้นไปอีก

แล้วเราต้องรอให้มีคนเสียชีวิตจากโรคระบาดเป็นล้านๆ คนก่อนหรือไม่ กว่าที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลง? ข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์มีทั้งการไปจัดการกับความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีและนายทุน จนไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มคนที่จนที่สุดในสังคม แต่ที่เห็นบ่อยที่สุด คงหนีไม่พ้นการใช้ ‘ภาษี’ มาเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก รวมไปถึงภาษีความมั่งคั่งที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในศึกชิงตัวแทนพรรคเดโมแครตในสนามเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่นอกจากภาษีแปลกๆ ใหม่ๆ ที่จะออกมาลดความเหลื่อมล้ำแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเก็บภาษี คือ การตระหนักรู้และจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาด 

ประวัติศาสตร์ได้มอบบทเรียนสำคัญให้กับมนุษย์อย่างหนึ่ง แม้ในยามที่มนุษย์เผชิญกับความไม่รู้ มนุษย์สามารถเรียนรู้ ปรับตัว ดิ้นรน ต่อรอง ไม่เพียงเพื่อหนีตายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ยังทำให้ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างคนรวยกับคนจนแคบลงได้ จะดีไม่น้อย หาก ‘รัฐ’ คือ ผู้สนับสนุนกระบวนการดังกล่าว หรืออย่างน้อย ก็ไม่ทำให้การต่อสู้กับความไม่รู้… ‘ช้าลง’ 

 

Tags: , , ,