เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการ ‘ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต’ ซึ่งจัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในไทยไม่ว่าจะในด้านวัฒนธรรม รายได้ ทรัพย์สิน ตลอดจนการเมือง ล้วนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา งานเขียนตลอดจนงานวิชาการเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความตระหนักรู้ของสังคมต่อความสำคัญในการหาทางลดความเหลื่อมล้ำ

ตัวแปรใหม่และผลกระทบ

ศ.ดร.ผาสุกมองว่า สภาวะโลกร้อนคือความท้าทายและตัวแปรในทางเศรษฐกิจใหม่ เพราะสภาวะโลกร้อนทำให้อากาศคาดเดายากขึ้น ฝนตกทิ้งช่วงนานขึ้น ภัยแล้งเกิดบ่อยขึ้น และเมื่อฝนมาก็แรงมากเกินไปจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ยกตัวอย่าง ขณะที่ภาคอีสานของไทยกำลังเผชิญภัยแล้งเมื่อปีที่แล้ว พายุโพดุลก็พัดเข้ามาทำให้จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงจมอยู่ใต้สายน้ำในชั่วข้ามคืน 

ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีโอกาสส่งผลกระทบไปสู่ด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์กับการเมือง โดยจะทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในประเทศอื่น เช่น ในซูดานทศวรรษ 1990 ฝนแล้งเป็นเหตุให้ชุมชนเกษตรขัดแย้งเรื่องที่ดินกับชุมชนเลี้ยงสัตว์ ขยายเป็นความขัดแย้งด้านชนชาติ ก่อนปะทุเป็นสงครามกลางเมืองและนำไปสู่การอพยพลี้ภัยสงคราม ในซีเรียปี 2011-2012 ภัยแล้งติดต่อกันทำให้ชาวชนบทอพยพเข้าเมือง จุดประกายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ ในที่สุดทำให้เกิดวิกฤตการอพยพเข้ายุโรป เช่นเดียวกับอเมริกากลาง ที่ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวกัวเตมาลาต้องอพยพเข้าสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว

ศ.ดร.ผาสุกชี้ว่าปัญหาเหล่านี้มีองค์ประกอบที่เหมือนกันคือ สภาวะแวดล้อมและสภาวะอากาศแปรปรวนที่ส่งผลต่อการทำมาหากินของคนจำนวนมาก และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งด้านสังคมการเมือง ก่อนทำให้เกิดการอพยพออกจากถิ่นฐานเพื่อไปตายเอาดาบหน้า 

ทั้งนี้ เราสามารถใช้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาคาดการณ์สำหรับประเทศไทยได้ โดยตลอดสมัยบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจชนบทเผชิญภาวะซบเซา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐลดการอุดหนุนราคาพืชผล ผนวกกับผลพวงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกษตรกรรายเล็กหลายรายล้มละลาย และมีแนวโน้มอพยพเข้าสู่เมืองเพิ่มมากขึ้น

ศ.ดร.ผาสุกยังกล่าวถึงประเด็นระดับความร้อนในเมือง โดยยกข้อมูลจาก IPCC 6 โดย UN ซึ่งชี้ว่า สภาวะโลกร้อนและความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลต่อระดับความร้อนในเมือง หรือ Urban Heat Island Effect ซึ่งอาจเพิ่มอุณหภูมิได้ถึง 10 องศาเซลเซียสและมากขึ้นอีกในตอนกลางวัน เพราะอาคารทุกหลังล้วนเปิดเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ รถติด ถนนยางมะตอย ตึกคอนกรีต รวมถึงภูเขาและหุบเขาคอนโดที่ไม่ได้สร้างโดยคำนึงถึงความร้อนในเมืองและการลดใช้พลังงาน ก็ล้วนส่งผลต่อระดับความร้อน 

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เพราะเมื่อคนเมืองรู้สึกร้อนและเปิดแอร์มากขึ้น จะเป็นการสร้างวงจรอุบาทว์ที่เพิ่มความร้อนภายนอกอาคาร ทำให้ผู้ที่ต้องอาศัยหรือทำงานอยู่ภายนอกอาคารเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคฮีทสโตรก

ศ.ดร.ผาสุกทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า “เราควรต้องคิดได้แล้วว่าจะทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั่วไปในเมืองของทวีปยุโรปที่แข่งขันกันเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

จากจุดอับเศรษฐกิจไทย สู่เกมเศรษฐกิจใหม่

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นตัวแปรใหม่ในทางเศรษฐกิจ และเรากำลังเผชิญจุดที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่จุดอับอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลเดินแต่เกมเศรษฐกิจรูปแบบเดิม ทำให้เศรษฐกิจไม่เดินหน้า ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในด้านใดๆ และดูเหมือนว่าจะยิ่งทำให้จำนวนคนยากไร้และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ สังเกตได้ชัดจาก 4 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง นับจากวิกฤตต้มยำกุ้ง (1997) การลงทุนรวมของภาคเอกชนไม่ได้กระตุ้นขึ้นถึงระดับก่อนเกิดวิกฤต แม้จะมีเงินทุนมากมายกองอยู่ในธนาคารและกระเป๋าของเศรษฐี รวมถึงไทยยังมี ส่วนเกิน (Surplus) ในเงินคงคลัง (Current account) อยู่ถึง 6-7 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 41 ของ GDP ซึ่งสามารเพิ่มได้อีกถึงร้อยละ 60 การลงทุนภาครัฐชะงักมาหลายปี และไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เพราะประเทศเพื่อนบ้านน่าลงทุนกว่า กล้าทำสิ่งใหม่มากกว่า และมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า เศรษฐกิจไทยจึงเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านมาโดยตลอด ถึงแม้นักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลของเศรษฐกิจที่ซบเซาและสงครามการค้า แต่ผาสุกชี้ว่า เราต้องหันมามองเนื้อในของเศรษฐกิจไทย ภาคเกษตรที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเติบโตของสินค้าไฮเทคที่ทำให้เกิดภาวะคอขวดทางด้านเทคโนโลยี ขาดแรงงานทักษะสูง นโยบายส่งเสริม SMEs ไม่ถูกจุด แต่กลับส่งเสริมทุนใหญ่และการผูกขาด นอกจากนี้ ไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว และไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา แม้ใช้งบประมาณมากที่สุดก็ตาม

นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศที่ซบเซาก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนระดับล่างเกินกว่าร้อยละ 50 พบสภาวะรายได้เพิ่มในอัตราลดลงและหลายคนรายได้จริงลดลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น 

ประเด็นที่สอง หัวเรือที่คิดนโยบายเศรษฐกิจยังดำเนินกลยุทธ์เดิมๆ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น EEC ดึงทุนต่างประเทศเข้ามาจริง แต่บางทุนก็มีความยึดโยงกับทุนในประเทศต่ำ รวมทั้งโครงการขนาดยักษ์อาจมาพร้อมการนำเข้าแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินการตามโครงการขนาดใหญ่อาจทำลายแหล่งอาชีพและการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและประมง 

ศ.ดร.ผาสุกมองว่าโครงการเศรษฐกิจที่รัฐสนับสนุนถ้าทำสำเร็จอาจยกระดับ GDP ได้จริง แต่จะร่ำรวยอยู่แค่เศรษฐีไทยและต่างประเทศเพียงหยิบมือหนึ่ง ในทางกลับกัน มันจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้คนส่วนมาก รวมถึงอาจผลักให้เกษตรกรและชาวประมงที่เคยมีฐานะดีพอควรให้ไร้แหล่งทำกิน กลายเป็นคนจนติดหนี้สิน

ประเด็นที่สาม เส้นระดับความยากจนที่เคยดีขึ้นกำลังจะแย่ลงอีกครั้ง จากรายงานของ Thailand Economic Monitor ปี 2019 ของธนาคารโลกบอกว่า หลังปี 2015 สัดส่วนคนจนของไทยเพิ่มขึ้น

โดยเมื่อดูรายภาค สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นในทุกภาคยกเว้นกรุงเทพฯ และเมื่อลงไปดูจำนวนคนจนรายตำบล 5,424 ตำบลพบว่า ตำบลที่มีสัดส่วนคนจนสูงอยู่แถบอีสาน ภาคกลางที่ติดกับชายแดนพม่า ภาคเหนือที่ติดกับชายแดนลาว และปัตตานี ซึ่งธนาคารโลกอธิบายว่าภาคเหนือและอีสานประสบสภาวะยากจนเพราะปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ คนอีสานส่วนมากยังต้องพึ่งเงินจากลูกหรือพี่น้อง เพราะในพื้นที่ไม่มีแหล่งทำมาหากินที่พอเพียง

ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต สัดส่วนความจนไม่สูง แต่มีความหนาแน่นมากกว่าพื้นที่อื่น ทั้งนี้ การกระจุกตัวของความยากจนในกรุงเทพฯ หรือภูเก็ตบ่งบอกว่า สองเมืองนี้มีแรงดึงดูดคนจนที่มีปัญหาทำมาหากินให้เข้ามาหางานทำสูงกว่าที่อื่น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของคนจนเมือง 

ประเด็นที่สี่ การเมืองไทยอยู่ในระบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งในด้านบวกระยะสั้นและปานกลางทำให้เกิดความสงบ ม็อบบนถนนยุติลง แต่ถ้าเรามองเนื้อในของเศรษฐกิจสังคมไทยจากภายนอกและวิเคราะห์ถึงผลพวงพัฒนาการตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จะพบว่า เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ลดทอนศักยภาพของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว 

ประการแรก การชะงักงันของระบบรัฐบาลท้องถิ่นส่งผลต่อศักยภาพของการริเริ่มของคนและสถาบันท้องถิ่น ทั้งในด้านการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ด้านธุรกิจ การจัดการสวัสดิการสังคมในพื้นที่ รวมถึงความริเริ่มอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนคับข้องใจที่เสียโอกาสในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

ประการที่สอง สร้างความกระจุกตัวของความมั่งคั่ง จากตัวเลขของนิตยสาร Forbe ระหว่างปี 2549-2561 พบว่า มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐี 40 รายของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในเวลา 12 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และในปี 2561 มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐี 40 ราย คิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ ซึ่งการกระจุกตัวดังกล่าวอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเช่นค้าปลีก น้ำตาล น้ำมันฟอสซิล รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งการผูกขาดที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของ SMEs ในอุตสาหกรรมพลังงาน ยานยนต์และการขนส่ง และจะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจสู่พลังงานสะอาด

สู่สังคมเสมอหน้า คิดไกล คิดกรีน

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่าปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลันส่งผลต่อการตระหนักรู้ของสังคมส่วนรวม แผนการลงทุนและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เกมเศรษฐกิจเดิมๆ หลายอย่างจะล้าสมัย และเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ จะมีโอกาสมากขึ้น

Sustainable Development Goal จาก SDG Report ปี 2019 ได้สรุปว่า หากมองปัญหาโลกร้อนเป็นโอกาสไม่ใช่วิกฤต เราจะเห็นช่องทางคิดเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ ทุกประเทศทั่วโลกต้องปรับการใช้และผลิตพลังงานไฟฟ้า การใช้ที่ดิน การสร้างเมือง และสาธารณูปโภคเมืองแบบเดิม รวมทั้งปรับระบบการผลิตในระบบอุตสาหกรรมด้วย

ศ.ดร.ผาสุกมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและภาคสังคมที่ต้องหาวิธีทำให้เมืองใหญ่ร้อนน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง ลดมลพิษ ลดโลกร้อน นอกจากนี้ ภาครัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริมนักลงทุนในประเทศและรัฐวิสาหกิจ ให้ลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวหรืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะสีเขียว ซึ่งแนวทางเหล่านี้มีช่องทางการลงทุนมากมายถ้ามีการวางแผนที่ดีและร่วมกันคิด

รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใส่ใจเรื่องผังเมือง สร้างสาธารณูปโภคโดยคำนึงถึงสภาพธรรมชาติของพื้นที่ และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติพื้นถิ่น และต้องดำเนินกันไปแบบบูรณาการกับโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่นที่เกิดในหลายประเทศของยุโรป จีน หรือบังกลาเทศ

ศ.ดร.ผาสุกย้ำว่า เราต้องสนับสนุนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยคัดเลือกตัวแทนจากการเลือกตั้งและส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตามกลุ่มพื้นที่

ภายใน 1-5 ปี การลงทุนในโครงการเศรษฐกิจสีเขียวของหลายประเทศทั่วโลกจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน ลดปัญหาโลกร้อน สร้างสังคมน่าอยู่ ลดความขัดแย้ง ซึ่งถ้าต้องดึงเงินลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมก็ต้องทำ เธอเสริมว่าข้อเสนอเหล่านี้คิดไปถึงวันข้างหน้าเพื่อให้สังคมไทยสร้างเกมเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาด้วยการ ‘คิดไกล คิดกรีน’ ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว

ศ.ดร.ผาสุกทิ้งท้ายว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มันเป็นโอกาสให้สังคมมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการบ้านให้น่าอยู่และไม่ต้องอยู่กับความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม มันเป็นเกมที่เราไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนแปลงจึงอาจจะดูน่าสะพรึงกลัว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงควรทำอย่างค่อยเป็นไป อย่างไรก็ตาม มันเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจครั้งใหญ่ ซึ่งหลีกเลียงได้ยาก

Fact Box

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอสำเร็๗การศึกษาปริญญาตรี-โทร ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย และเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ จนได้รับปริญญาเอก

ผาสุกเคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นเมธีวิจัยอาวุโสของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 2 ครั้ง รวมถึงยังมีงานเขียนอีกหลายเล่ม อาทิ สู่สังคมไทยเสมอหน้า

Tags: , , , , ,