วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) มหาเศรษฐีอเมริกันเคยกล่าวถึงภาษีมรดกและภาษีความมั่งคั่งไว้อย่างน่าสนใจว่า การต่อต้านภาษีเหล่านั้นไม่ต่างจาก “การเลือกทีมนักกีฬาโอลิมปิกปี 2020 จากลูกชายคนโตของผู้ได้รับเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกในปี 2000” วาทะดังกล่าวชัดเจนว่าเขาไม่เห็นด้วยที่ใครคนหนึ่งจะร่ำรวยหรือได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่นเพียงเพราะเขาหรือเธอเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะดีเท่านั้น โดยไม่ต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถของตน

คำพูดดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งเพราะปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้สมัครชิงตำแหน่งฝั่งเดโมแครตต่างก็ชูนโยบายสำคัญนั่นคือภาษีความมั่งคั่งโดยจะเน้นเก็บจากมหาเศรษฐีเป็นหลัก

นโยบายดังกล่าวอิงมาจากความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้นในยุคอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา 0.1% ถือครองสินทรัพย์ทั้งสิ้นราว 20% เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าหากเทียบกับราว 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจถึงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของภาษี โดยผู้มีเงินได้ส่วนใหญ่จะเสียภาษีในอัตราราว 28% โดยที่มหาเศรษฐีมีการจ่ายในอัตราสูงกว่านี้เล็กน้อย ในทางกลับกัน ชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 400 คนแรกกลับเสียภาษีในอัตรา 23% เท่านั้น

ข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอในการรื้อโครงสร้างภาษีเสียใหม่ให้เป็นการเก็บแบบ ‘อัตราก้าวหน้า’ ตามที่ควรจะเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำเงินก้อนดังกล่าวมากระจายสู่ผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการสนับสนุน เช่น ประกันสุขภาพ หรือที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของฝั่งเดโมแครต

แต่ก่อนจะไปถึงข้อเสนอเรื่องภาษีความมั่งคั่ง ผู้เขียนอยากชวนมาทำความรู้จักสมมติฐานความเหลื่อมล้ำซึ่งเสนอโดยโธมัส พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ศึกษาการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งกว่าสองศตวรรษแล้วนำมาสรุปในหนังสือเล่มหนา ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 (Capital in the Twenty-First Century)’ หนังสือเล่มหนาเนื้อหาหนักแต่กลับขึ้นแท่นขายดีที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น คาร์ล มาร์กซ์ แห่งยุคสมัยใหม่

สมมติฐานความเหลื่อมล้ำของ โธมัส พิเก็ตตี้

หากได้เห็นคำว่าสมมติฐาน ทฤษฎี หรือสมการ หลายคนคงทำหน้าเหม็นเบื่อแล้วเปิดผ่าน แต่ผู้เขียนขอสัญญาด้วยความสัตย์จริงว่าสมมติฐานนี้แสนจะเรียบง่ายและเข้าใจได้แม้สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ โดยมีสมการคือ

r > g

โดยที่ r คือผลตอบแทนจากความมั่งคั่ง และ g คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กล่าวโดยสรุปคือ ยิ่งผลตอบแทนจากความมั่งคั่ง เช่น การนำเงินที่ได้รับมาจากมรดกหรือเงินที่เก็บหอมรอมริบมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นภาพแทนการเติบโตของรายได้สุทธิจากการทำงาน มากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

หากจะให้เห็นภาพ ก็คงไม่แตกต่างจากครอบครัวมหาเศรษฐีที่นั่งเฉยๆ ก็มีเงินไหลเข้ามาในบัญชีจากการลงทุน 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งสูงกว่าการขึ้นเงินเดือน 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีของชนชั้นกลางที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ หากผลตอบแทนยังคงเป็นเช่นนี้ ต่อให้ผ่านไปอีกกี่ชาติก็ยากที่ชนชั้นกลางจะผันตัวเองกลายเป็นเศรษฐีได้ ในขณะที่ผลตอบแทนจากเงินลงทุนอาจทำให้ครอบครัวมหาเศรษฐีพัฒนากลายเป็นอภิมหาเศรษฐีในระยะยาว

สมการดังกล่าวฉายภาพความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันได้ค่อนข้างชัดเจนโดยคนจนทั่วโลกมีจำนวนลดลง ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำระหว่างเหล่าอภิมหาเศรษฐีกับชนชั้นกลางก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา คนทุกคนรวยขึ้น เพียงแต่คนรวยนั้นรวยเร็วกว่ามากจากเงินทุนที่มีนั่นเอง

แม้ว่าสมมติฐานความเหลื่อมล้ำของพิเก็ตตี้จะได้รับเสียงชื่นชมค่อนข้างมาก แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับสมการดังกล่าว เช่น อาซีโมกลู และโรบินสัน (Acemoglu and Robinson) ได้ตีพิมพ์การศึกษาเชิงประจักษ์ที่พบว่าช่องว่างระหว่าง r และ g ไม่ได้ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยพวกเขาพบว่าปัจจัยเชิงสถาบันมีน้ำหนักมากกว่า หรือการที่หลายคนชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของข้อมูลที่พิเก็ตตี้ใช้วิเคราะห์ซึ่งถือว่าไม่ค่อยสมบูรณ์นัก โดยเฉพาะฐานข้อมูลด้านความมั่งคั่งในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงการไม่ได้รวมข้อมูลของประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาร่วมวิเคราะห์ด้วย

    ข้อโต้แย้งสำคัญของสมมติฐานดังกล่าวคือการประยุกต์ใช้ข้อค้นพบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าบริบทที่พิเก็ตตี้วิเคราะห์ซึ่งต่อเนื่องยาวนานจากในอดีตนั้นแตกต่างอย่างยิ่งกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังข้อเท็จจริงที่ว่ามหาเศรษฐีอเมริกันหลายคนร่ำรวยมาจากธุรกิจที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง มิใช่จากทรัพย์สมบัติซึ่งตกทอดมาจากต้นตระกูล ขณะที่เกรกอรี แมนคิว (Gregory Mankiw) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดก็ตีพิมพ์การศึกษา ‘ปกป้องผู้ร่ำรวย 1 เปอร์เซ็นต์’ ว่าความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วมาจากนวัตกรรมจำนวนมหาศาลที่จะนำไปสู่การเป็นอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น

แม้ข้อถกเถียงนี้จะยังไร้ข้อสรุป แต่ข้อเสนอของพิเก็ตตี้ว่าด้วยการเก็บภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็ได้กลายเป็นความจริงในข้อเสนอโดยผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากฝั่งเดโมแครต

ข้อเสนอภาษีความมั่งคั่งและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ภาษีความมั่งคั่งกลายเป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ที่เสนอให้มีการเก็บ ‘ภาษีอภิมหาเศรษฐี’ ผู้มีความมั่งคั่งเกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,500 ล้านบาท) ในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ และภาษี 3 เปอร์เซ็นต์สำหรับความมั่งคั่งตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30,000 ล้านบาท) ขึ้นไป

แต่อัตราภาษีดังกล่าวโดนเกทับโดยข้อเสนอโดยเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ที่ประกาศกร้าวว่าความมั่งคั่งของเหล่ามหาเศรษฐีจะต้องลดลงครึ่งหนึ่งภายใน 15 ปีข้างหน้า แผนภาษีที่เขาเสนอคือเก็บภาษีความมั่งคั่งในอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์สำหรับคู่สมรสที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ค่อยๆ ไต่ระดับไปจนถึงอัตรา 8 เปอร์เซ็นต์สำหรับความมั่งคั่งตั้งแต่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 300,000 ล้านบาท)

หากอัตราภาษีดังกล่าวบังคับใช้จริง อเมริกันชนที่ร่ำรวยที่สุดของเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แอมะซอนจะต้องจ่ายภาษีราว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

อัตราภาษีตามข้อเสนอของเบอร์นีจะไม่ได้เป็นเพียง ‘ชะลอ’ การเติบโตของความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐี แต่อาจถึงขั้นทำให้ความมั่งคั่งเหล่านั้นลดลงเนื่องจากอัตราดังกล่าวนับว่าสูงลิ่วหากเทียบกับการลงทุนโดยมืออาชีพอย่างระมัดระวังที่จะได้ผลตอบแทนเพียงราว 6 – 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น

กาเบรียล ซุคมัน (Gabriel Zucman) และ เอมมานูเอล เซอส (Emmanuel Saez) สองนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและความมั่งคั่งจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ พบว่าครอบครัวชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 400 อันดับแรกตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์จะมีอัตราการเติบโตของความมั่งคั่ง (หลังจากหากเงินเฟ้อ) ระหว่าง ค.ศ. 1982 – 2018 ราว 6.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปีซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของครอบครัวทั่วไปราว 4 เปอร์เซ็นต์

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองยังได้จำลองว่าการจัดเก็บภาษีในอัตราดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรในระยะยาวต่อคนที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐอเมริกา 15 อันดับแรกหากมีการบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 พวกเขาพบว่าการเก็บภาษีตามข้อเสนอของอลิซาเบธ วอร์เรน จะทำให้ความมั่งคั่งรวมของทั้ง 15 คนในปี ค.ศ. 2018 จากเดิม 9.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 4.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของเบอร์นี แซนเดอร์ส ความมั่งคั่งจะลดลงเหลือ 1.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

หมายเหตุ: ความมั่งคั่งอ้างอิงข้อมูลจากการประมาณการโดยนิตยสารฟอร์บส์

ตารางจากการศึกษาโดยกาเบรียล ซุคมัน และ เอมมานูเอล เซอส

ภาษีความมั่งคั่งดูจะเป็นความหวังใหม่ของสหรัฐอเมริกาในการเดินหน้าสู่ความเท่าเทียม แต่การจัดเก็บภาษีดังกล่าวกลับล้มเหลวในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเนื่องจากไม่ตอบโจทย์ในแง่ประสิทธิภาพ เนื่องจากความยุ่งยากในการทำบัญชีสินทรัพย์และการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เหล่านั้น มันคงไม่เป็นปัญหาหากเหล่ามหาเศรษฐีเก็บเงินทั้งหมดอยู่ในธนาคารหรือตราสารทางการเงินซึ่งประเมินมูลค่าไม่ยาก แต่หากสินทรัพย์กลับอยู่ในรูปอัญมณี งานศิลปะ หรือสิ่งของโบราณ ย่อมนำมาซึ่งความยุ่งยากในการประเมินมูลค่า ในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลจะงดเว้นการเก็บภาษีสินทรัพย์บางประเภท ก็กลายเป็นการเปิดช่องให้ยักย้ายถ่ายโอนรูปแบบสินทรัพย์เพื่อหนีภาษีเสียอีก

แน่นอนว่าผู้เสนอภาษีความมั่งคั่งทั้งสองท่านต่างทราบดีถึงความล้มเหลวดังกล่าวและไม่ต้องการเดินย่ำรอยเดิม จึงมีการกำหนดระดับความมั่งคั่งขั้นต่ำไว้ค่อนข้างสูง หากใช้เกณฑ์ของวอร์เรน จะมีครอบครัวชาวอเมริกันราว 20,000 ครอบครัวเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ ส่วนในแง่การประเมินมูลค่าก็จะไร้ข้อยกเว้น ในขณะที่อาจพยายามลดต้นทุนโดยใช้วิธีที่ชาญฉลาดอย่างการให้เหล่าเศรษฐีไล่เรียงรายชื่อสินทรัพย์ที่ตนเองมีพร้อมทั้งระบุมูลค่าด้วยตนเอง แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะสามารถขอซื้อสินทรัพย์เหล่านั้นได้ตามราคาที่ระบุในลิสต์

ส่วนช่องทางหนีภาษีโดยย้ายสินทรัพย์ไปต่างประเทศนั้น ฝั่งเบอร์นีก็เตรียมรับมือโดยจะมีการขยายบทบาทของรัฐบาลกลางในการจัดการดูแล ‘ทะเบียนความมั่งคั่งแห่งชาติ (national wealth registry)’ ที่หากเหล่าเศรษฐีไม่ต้องการเสียภาษีให้สหรัฐอเมริกาอีกต่อไปโดยขอเพิกถอนสัญชาติ ก็สามารถจ่ายภาษีการออก (exit tax) ที่ร้อยละ 40 สำหรับความมั่งคั่งมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และร้อยละ 60 สำหรับส่วนที่เกินกว่านั้น

อย่างไรก็ดี แนวคิดภาษีความมั่งคั่งย่อมมีคนคัดค้าน โดยมองว่าการเก็บภาษีในอัตราหฤโหดนี้อาจไปทำให้กลไกตลาดบิดเบี้ยวจนคนไม่อยากคิดค้นอะไรใหม่ๆ เนื่องจากเกรงว่าจะต้องเสียภาษีดังกล่าว แต่เสียงดังกล่าวก็ดูจะไม่มีน้ำหนักสักเท่าไหร่ เพราะหากทั้งสองทำตามแผนได้จริงก็จะสามารถกวาดเงินเข้ากระเป๋ารัฐบาลได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำไปพัฒนาสวัสดิการสังคม โดยหยิบออกจากกองทรัพย์สินของมหาเศรษฐีจำนวนไม่กี่ครอบครัว

ความฝันดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ หรือทรัมป์จะครองตำแหน่งอยู่ต่ออีกสมัย รอลุ้นได้ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา พฤศจิกายนปีหน้าครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Why Economists Disagree With Piketty’s “r – g” Hypothesis On Wealth Inequality

Prof Piketty’s r>g equation causes waves

Democrats Want to Tax the Rich. Here’s How Those Plans Would Work (or Not).

Comparison of the Warren and Sanders wealth tax proposals

Warren Would Take Billionaires Down a Few Billion Pegs

Planet Money Episode 929: Could A Wealth Tax Work?

Wealth Tax Showdown

Why a Wealth Tax Has Support Among the Wealthy

Tags: , , ,