“โคโรนาไวรัสเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น (invisible enemy)” “บุคลากรทางการแพทย์เป็นนักรบในสงครามโควิด-19” และ “เราต้องชนะ”
การอธิบายวิกฤตโควิด-19 ด้วยการเปรียบเทียบทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั้งโลก จนเป็นเรื่องปรกติ
การสร้างกรอบ (framing) เพื่ออธิบายวิกฤตทางสุขภาพด้วยกรอบด้วยรูปแบบสงคราม การสู้รบ (militaristic framing) หรือความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมักนำมาใช้กับโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก เพื่อย้ำความเป็นภัยคุกคามอย่างชัดแจ้ง
แม้กรอบแบบสงครามจะเน้นให้พลเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบในการคลี่คลายวิกฤตของชาติร่วมกัน แต่งานวิจัยก็พบว่ามุมมองแบบความมั่นคงไม่ช่วยให้การจัดการกับการแพร่ระบาดทั้งภายในประเทศและนานาชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นักวิชาการส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่าการใช้อุปลักษณ์แบบสงครามมุ่งเป้าไปที่การจัดการปัญหาเชิงกายภาพของการแพร่ระบาดด้วยการควบคุม จึงไม่ยากนักที่จะอธิบายว่าการเสียสละชีวิตและสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องชอบธรรม ทั้งยังทำให้คนที่ได้รับผลกระทบรู้สึกว่าตนเป็นผู้กระทำผิดและละอายใจ
ในกรณี HIV/AIDS กรอบการอธิบายโรคในช่วงแรกก็มักมุ่งไปที่ประเภทของผู้ที่มักติดเชื้อมากกว่าวิธีการติดเชื้อ ผลคือสังคมตีตรากลุ่มอัตลักษณ์ทางสังคมและเชื้อชาติที่ถูกย้ำว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะมองว่าเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด
การศึกษาการรายงานของสื่ออังกฤษเรื่องเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดพบว่า กรอบแบบความมั่นคงทำให้วิธีการเล่าเรื่องเน้นความตื่นตระหนกและการหาผู้รับผิด รวมถึงนำไปสู่การใช้มาตรการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่สนามบินและท่าเรือ ซึ่งเน้นการสร้างภาพ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ส่วนงานวิจัยที่ศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่พบว่า เมื่อใช้กรอบการอธิบายโรคระบาดว่าเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ประเทศต่างๆ จะให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติเป็นหลัก เช่น สั่งซื้อยารักษาโรคล่วงหน้า หรือมีแผนป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจประสานงานในระดับนานาชาติอย่างหลวมๆ อย่างกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศใช้ Defense Production Act ซึ่งเป็นกฎหมายในภาวะสงคราม เพื่อระงับการส่งออกและเร่งผลิตอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์สำหรับการใช้งานในประเทศที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดอย่างหนัก จนกลายเป็นกรณีพิพาทกับเยอรมนีเมื่อต้นเดือนนี้
ขณะที่หากใช้กรอบการมองปัญหาแบบสาธารณสุข ผู้กำหนดนโยบายอาจให้ความสำคัญกับการสะสมยาต้านไวรัสและวัคซีนที่จำเป็นตามแนวจริยธรรมทางการแพทย์และระบาดวิทยา หรือนานาประเทศกำหนดมาตรการรับมือกับโรคระบาดที่เป็นปัญหาระดับโลกไปในแนวทางเดียวกัน
แล้วจะอธิบายวิกฤตโควิด-19 ด้วยกรอบอะไร?
ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นภัยคุกคามของมนุษยชาติ (เพราะก็กลัวเหมือนกัน) แต่การย้ำอยู่แต่เรื่องการสู้รบกับศัตรูที่มองไม่เห็น ข่มขู่และต่อว่าด่าทอคนที่ ‘ไม่ยอมอยู่บ้าน’ หรือชี้ว่าในช่วงสงครามเช่นนี้ เราต้องสามัคคีกัน อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นการกำหนดวาระข่าวสารและสร้างกรอบการอธิบายสถานการณ์ที่เบี่ยงความสนใจของสาธารณะไปจากปัญหาในมิติอื่นๆ ของวิกฤตนี้ที่สำคัญไม่แพ้กัน และซุกซ่อนมันไว้ในที่แจ้ง อย่างการจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจและกลไกตลาด ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจกระทบกับประชาชนทั่วไปโดยตรง ทำให้กลุ่มคนเปราะบางต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หรือมีผลต่ออนาคตของสังคมในระยะยาว
ด้วยกรอบแบบสงครามและความมั่นคง การสื่อสารในเวทีสาธารณะและการรายงานข่าวจึงมักโจมตีปัจเจกที่เป็นผู้ติดเชื้อ รวมถึงไม่เห็นใจกลุ่มเสี่ยงนัก โดยเฉพาะคนที่ถูก (สังคม) ตัดสินว่าฝ่าฝืนกฎ เพราะมองเห็นว่าเขาเป็นศัตรู (เช่นเดียวกับโควิด-19) เนื่องจากไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมอยู่กับที่ ไม่ยอมกักตัว จนสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
จึงไม่แปลกที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เตของฟิลิปปินส์ ถึงกับประกาศว่าถ้าใครท้าทายมาตรการล็อกดาวน์เมือง ก็ให้เจ้าหน้าที่ยิงให้ดับได้เลย (และมีรายงานข่าวว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมไปแล้วด้วย)
ย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนไม่ได้แก้ตัวให้กับคนที่ออกมาสังสรรค์หรือก่อความปั่นป่วน แต่ต้องการบอกว่า แทนที่จะมุ่งไปที่การคาดโทษอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือชี้ว่าไม่มีทางอื่นแล้วที่จะจัดการกับโรคนี้ได้ สังคมน่าจะย้อนดูว่าการสื่อสารสู่สาธารณะเรื่องโควิด-19 เป็นข้อเท็จจริงและชัดเจนหรือไม่ ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและคลางแคลงใจถูกนำมาอภิปรายให้กระจ่างบ้างหรือยัง และจะทำให้สมาชิกในทุกภาคส่วนของสังคมเข้าถึงและเข้าใจปัญหานี้กันถ้วนหน้าได้อย่างไร หรือเป็นการสื่อสารที่เน้นแต่การสั่งหรืออธิบายด้วยวิธีคิดแบบคนที่มีครบทุกอย่างแล้ว แต่ไม่ได้ดูเงื่อนไขและข้อจำกัดของคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากินหรือวิถีชีวิต
การเปรียบเทียบว่าวิกฤตนี้เป็น ‘การทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น’ มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าจะป้องกันตนเองและลดความรุนแรงของสถานการณ์ได้อย่างไร การจัดการกับสิ่งที่เราไม่เห็นหรือไม่รู้จะยิ่งทำให้เกิดความหวาดวิตก ระแวง และตื่นตระหนก
เราน่าจะตั้งคำถามด้วยว่า ‘สงคราม’ เป็นเพียงเงื่อนไขเดียวที่จะสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติเพื่อให้จัดการกับวิกฤตได้ชะงัดจริงหรือ นักวิชาการบางท่านเสนอว่า แทนที่จะใช้ถ้อยคำหรือวิธีคิดแบบการทำศึกสงครามเข้าฟาดฟันกับไวรัสร้าย การชูวิธีคิดเรื่องมนุษยธรรม การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) ความเห็นใจ (compassion) และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยต่างๆ ก็เป็นแนวทางในการสร้างความสมานฉันท์ทั้งในประเทศและนานาชาติเพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงกับเพื่อนมนุษย์
การใช้กรอบแบบสงครามแทบไม่มีในการรายงานการระบาดของโรคซาร์สของสื่ออังกฤษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงบทบาทหลักในการส่งเสริมรัฐบาลต่างๆ ให้ร่วมมือและประสานงานกันจัดการกับโรคเนื่องจากเป็นภัยคุกคามที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ขณะที่กรอบที่โดดเด่นคือ ‘ซาร์สนักฆ่า’ (SARS Killer) เน้นการอธิบายธรรมชาติของโรค ผลกระทบต่อคนและภูมิภาค และการตอบสนองของรัฐ (ควบคุมได้–ควบคุมไม่ได้) แม้กรอบแบบนี้จะไม่ใช่การอธิบายที่ดีนักเพราะยังขายความน่ากลัวของโรค แต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจปัญหาโรคระบาดได้ชัดเจนกว่ากรอบแบบสงคราม
ดังนั้น แทนที่จะทำให้สังคมอยู่ในความกลัวต่อการทำสงครามกับสิ่งที่มองไม่เห็น กรอบการสื่อสารควรปรับไปเป็นการมุ่งอธิบายปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อให้ปรากฏเด่นชัด เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าเราจะรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรม เป็นธรรม และเท่าเทียม ทั้งในระดับปัจเจกและระดับนโยบาย โดยให้พื้นที่กับตัวอย่างการจัดการที่ได้ผลและทำให้ประชาชนปลอดภัย มากกว่าการประณามคนละเมิดกฎเป็นหลัก
สิ่งที่สังคมต้องการเพื่อให้ฝ่าวิกฤตสุขภาพไปได้ไม่ใช่การสร้างความกลัว ความโกรธ และความหวั่นเกรงต่ออำนาจ การเชิดชูฮีโร่อย่างผิวเผิน การปลอบใจและให้สัญญาเพียงลมปาก หรือการตีตราว่าใครเป็นคนผิดและคนพาล แต่เป็นการทำความเข้าใจกับภัยคุกคามด้วยข้อมูลที่เปิดเผย ถูกต้อง และรอบด้าน ความเชื่อมั่นในสถาบันที่จะให้ความปลอดภัยในภาวะวิกฤตได้ รวมถึงมาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ สอดประสานกัน โปร่งใส และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คนในสังคมจึงต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับโรค การป้องกัน ช่วยเหลือ และเยียวยาที่ชัดเจน ทรัพยากรและระบบต่างๆ เพื่อใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมถึงสภาพจิตใจที่สงบและมีสติ เพื่อให้ฝ่าวิกฤตร่วมกันไปได้
หรือถ้ายังจะใช้กรอบแบบสงครามเพื่อสื่อสารวิกฤตนี้ต่อไป และเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นนักรบที่ต้องต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นจริงๆ รัฐที่อยากชนะสงครามก็ต้องจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้ทุกคนสู้ได้อย่างปลอดภัยและทันการณ์ ไม่ใช่ปฏิเสธข้อเท็จจริง ปิดข่าว และปล่อยให้นักรบพลีชีพ ด้วยการมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และยุทโธปกรณ์สำหรับป้องกันตนเองและจัดการกับไวรัสร้ายได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในสถานการณ์เฉพาะหน้าและระยะยาว แทนที่จะนำงบประมาณไปใช้กับกิจกรรมและอาวุธที่หาประโยชน์ไม่ได้ในสมรภูมิโควิด-19
อ้างอิง
– Basnyat, I. & Lee, S.T. (2014) Framing of Influenza A (H1N1) pandemic in a Singaporean newspaper. Health Promotion International, 30:4, 942-953, https://doi.org/10.1093/heapro/dau028
– Wallis, P. & Nerlich, B. (2005) Disease metaphors in new epidemics: the UK media framing of the 2003 SARS epidemic. Social Science & Medicine, 60: 11, 2629-2639, https://doi.org/10.1016/j.socscimed.2004.11.031
– Pieri, E. (2018) Media Framing and the Threat of Global Pandemics: The Ebola Crisis in UK Media and Policy Response. Sociological Research Online, 24:1, 73–92, https://doi.org/10.1177%2F1360780418811966
– Kamradt-Scott, A. & McInnes, C. (2012) The securitisation of pandemic influenza: Framing, security and public policy. Global Public Health, 7:sup2, S95-S110, https://doi.org/10.1080/17441692.2012.725752
– Pfattheicher, S., Nockur, L., Böhm, R., Sassenrath, C., & Petersen, M. (March 23, 2020) The emotional path to action: Empathy promotes physical distancing during the COVID-19 pandemic. PsyArXiv, https://doi.org/10.31234/osf.io/y2cg5
Tags: สื่อสารมวลชน, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, การรายงานข่าว