โรคระบาดอยู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน หากพิจารณาหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่เป็นที่จดจำของคนทั่วโลกคือการระบาดของไข้หวัดสเปน (Spanish Influenza) ซึ่งคร่าชีวิตประชากรกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เราคงได้ยินข่าวโรคระบาดชนิดใหม่อยู่เนืองๆ ตั้งแต่ซาร์ส (SARS) เมอร์ส (MERS) ไข้หวัดหมู (Swine Flu) อีโบลา (Ebola) ซิกา (Zika) รวมถึงสารพัดโรคกำเนิดใหม่ที่ยาปฏิชีวนะเอาไม่อยู่

โจทย์หนึ่งที่หลายคนสงสัยเมื่อได้ยินเรื่องโรคระบาดคือ โรคระบาดเหล่านั้นส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าแม้แต่เด็กมัธยมก็ยังตอบได้ว่าโรคระบาดย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจแน่ๆ แต่ความเสียหายดังกล่าวกว้างและลึกแค่ไหน?

ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่จะพิจารณาจากมูลค่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เมื่อประชาชนตื่นกลัวกับโรคระบาดและเลือกที่จะอยู่บ้านแทนที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยตามปกติย่อมทำให้เศรษฐกิจซบเซา เมื่อธุรกิจขาดรายได้ ก็จะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าล้นคลัง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง สร้างวงจรอุบาทว์ของ ‘เศรษฐกิจขาลง’ 

นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาผลกระทบจากโรคกำเนิดใหม่อย่างอีโบลาต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก โดยพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 – 2557 การเติบโตของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ของประเทศไลบีเรียลดลงจาก 8.7% เหลือเพียง 0.7% ประเทศเซียร์ราลีโอนลดลงจาก 5.3% เหลือเพียง 0.8% ส่วนประเทศกินีที่คาดว่าจะเติบโต 4% ก็ลดลงเหลือ 0.1% นอกจากนี้ ยังพบว่าตัวเลขภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและเม็ดเงินจากต่างชาติก็ร่วงลงเหวเช่นกัน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาด

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โคโรนาไวรัสระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมืองซึ่งมีประชากรกว่า 11 ล้านคนและเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตสินค้ากลับต้องมาเป็นอัมพาต ในฐานะเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ภาพเมืองที่เคยคึกคักกลับว่างเปล่าได้ความหวาดกลัวระบาดไปทั่วโลก สะท้อนได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ต่างพากันร่วงทรุดและยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นกลับคืนมาได้ในเร็ววันนี้

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่เจ็บหนักมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมและร้านอาหาร แบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ และเคเอฟซี ต่างประกาศปิดร้านค้าหลายพันสาขาทั่วประเทศจีน ไม่เฉพาะแต่เมืองอู่ฮั่น หลายสายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบิน แม้แต่บริษัทอย่างแอปเปิล ซึ่งดูไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักก็ประกาศปรับลดตัวเลขผลประกอบการที่คาดหวังโดยให้เหตุผลว่าเผชิญกับความขัดข้องในสายการผลิต เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์อย่าง เจเนรัลมอเตอร์ ฮอนดา และโตโยตา ที่ต้องปิดโรงงานในอู่ฮั่นไปอย่างไม่มีกำหนด

นอกจากนี้ โรคระบาดยังสร้าง ‘ต้นทุน’ ต่ออุตสาหกรรมสุขภาพไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน การระบาดขนาดใหญ่ยอมทำให้ระบบที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ต้องการพบแพทย์เช่นกันอาจไม่สามารถเดินทางมาใช้บริการได้ซึ่งจะยิ่งวิกฤตด้านสุขภาพเลวร้ายลงไปอีก

สิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามคือโรคระบาดไม่ได้สร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม บางอุตสาหกรรมอาจได้รับประโยชน์จากโรคระบาดด้วยซ้ำ เช่น อุตสาหกรรมยาที่อาจร่ำรวยมหาศาลหากผลิตวัคซีนได้ หรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันตนจากโรคระบาดอย่างหน้ากากอนามัยที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น บริษัทประกันสุขภาพที่ต้องรับภาระทางการเงินมูลค่ามหาศาล เช่นเดียวกับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางซึ่งสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างจำกัดและไม่มีเงินเก็บก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาด

ราคาหุ้น Alpha Pro Tech, Ltd บริษัทสัญชาติแคนาดาผู้ผลิตหน้ากากอนามัยจำหน่ายทั่วโลก ทะยานเกือบ 2 เท่าตัวภายหลังการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศจีน ภาพจาก Google Finance

อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาผลของการระบาดของไข้หวัดสเปนได้ข้อสรุปว่า โรคระบาดอาจส่งผลทางบวกต่อรายได้ต่อหัวของประชากรของสหรัฐอเมริกา และไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญของประชากรในอินเดีย นั่นหมายความว่าระบบเศรษฐกิจอาจมีความทนทานและความยืดหยุ่นกว่าที่เราคาดคิด ส่วนผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือเด็กและคนชราทำให้อัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency Ratio) ต่อคนวัยทำงานลดลง

แต่การศึกษาดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึง ‘มูลค่าชีวิตของมนุษย์’ ซึ่งเป็นคำถามที่ละเอียดอ่อนว่าเราควรตีมูลค่าชีวิตคนคนหนึ่งหรือไม่ โดยหลายมิติก็ยากที่จะวัดออกมาเป็นมูลค่า จึงขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมให้คุณค่ากับชีวิตคนหนึ่งคนแค่ไหน

สองมาตรการที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก

โจทย์ของรัฐบาลในภาวะเสี่ยงต่อการระบาดของโรคกำเนิดใหม่คือการชั่งน้ำหนักระหว่างสองทางเลือกเพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสม เพราะหากเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และหนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในขณะเดียวกัน หากเน้นความปลอดภัยด้านสุขภาพเป็นอันดับหนึ่งก็อาจถึงขั้นที่จะทำให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาต 

ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเจ็บหนัก เพราะการระบาดของโคโรนาไวรัสทำให้ภาคการท่องเที่ยวสะดุดเนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดจำนวนลงอย่างมาก และตัวเลขจำนวนผู้ป่วยในไทยที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกย่อมทำให้ความน่าเที่ยวของไทยลดลงไปไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐไทยจะสรรหามาตรการแปร่งๆ อย่างแจกประกันโรคไวรัสโคโรนาให้นักท่องเที่ยวฟรีๆ โดยมีทุนประกันหากเสียชีวิตสามล้านบาท หรือมาตรการชิมช้อปใช้อินเตอร์ที่ตอนแรกออกแบบมาสู้ค่าเงินบาทแข็งก่อนที่จะกลายพันธุ์เป็นการรับมือผลกระทบโคโรนาไวรัสอีกแรง

ผู้เขียนมองว่านโยบายดังกล่าวอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวบางกลุ่มได้ (โดยเฉพาะกลุ่มที่รักความเสี่ยง) แต่ในทางกลับกัน นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในลักษณะนี้ย่อมเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพต่อคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในฝั่งป้องกันการระบาด กระทรวงสาธารณสุขชูธงนำโดยมีหัวเรือใหญ่เป็นรัฐมนตรี มาตรการป้องกันก็คล้ายคลึงกับคราวที่ซาร์สระบาดตั้งแต่การตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงประสานงานโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อตั้งจุดคัดกรองผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการใกล้เคียงกับไวรัสที่ระบาด จากตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่ค่อนข้างนิ่งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ก็พอจะแสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีฝีมือสมคำร่ำลือ ‘อันดับ 6’ ของประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคระบาด

ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคระบาดดีที่สุดในโลกโดยอิงจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพ (Global Health Security Index)

แต่ปัญหาของฝั่งนโยบายด้านสุขภาพกลับกลายเป็นปัญหาด้านการสื่อสาร ในฝั่งของประชาชนซึ่งตื่นตระหนกเป็นทุนเดิม ต้องมาเจอกับบทสวด ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ หรือการแนะนำให้ไปหาซื้อหน้ากากอนามัยใส่เองโดยไม่ต้องรอรัฐบาลแจก และย้ำว่าหน้ากากอนามัยไม่ขาดตลาด (แต่ผมก็เจอกับตัวเองว่าหาซื้อไม่ได้) หรือหัวเรือใหญ่ที่ใส่อารมณ์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งหมดทั้งมวลนี้กลับชวนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและคิดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ทั้งๆ ที่ตัวเลขในภาพรวมยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังควบคุมสถานการณ์ได้

ส่วนอีกปัญหาด้านการสื่อสารคือภายในรัฐบาลเองที่ดูไม่เป็นเอกภาพสักเท่าไร สังเกตได้จากนโยบายป้องกันและคัดกรองการแพร่ระบาดที่พยายามลดความเสี่ยง แต่ในทางกลับกันก็ดันมีนโยบายเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเพิ่มความเสี่ยง ทั้งที่องค์การอนามัยโลกยกระดับการระบาดเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่ก็ระบุว่าประเทศไม่ควรยุติหรือจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนและการค้าขายเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังจูงใจให้ผู้เดินทางไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงและอาจนำไปสู่การแพร่กระจายของโรคโดยยากที่จะป้องกัน

อย่างไรก็ดี หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย เลือกใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดโดยจำกัดผู้โดยสารขาเข้าจากประเทศจีน ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จำกัดเฉพาะผู้โดยสารจากมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นใจกลางของการระบาด แม้แต่เพื่อนบ้านอย่างฮ่องกงเองก็เลือกจำกัดช่องทางชายแดนเพื่อคัดกรองอย่างเข้มงวด

ประเทศที่มีมาตรการจำกัดผู้โดยสารขาเข้าจากประเทศจีน (พื้นที่สีม่วง) ภาพจาก qz.com

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหากไทยจะดำเนินตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอย่างเคร่งครัดโดยเลือกจะไม่จำกัดผู้โดยสารขาเข้าจากประเทศจีน แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักว่าช่วงเวลาที่มีการระบาดระดับวิกฤตนี้ควรหรือไม่ที่จะใช้มาตรการเชิญชวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะชาติที่กำลังเผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงเข้ามาเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทย หรือควรพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยคนภายในประเทศ หรือบรรเทาภาระทางการเงินของบริษัทซึ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤตดังกล่าว

  หัวใจสำคัญคือการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ป้องกันการระบาดก็ทำไป แต่ภาคส่วนอื่นๆ เลือกดำเนินนโยบายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่พิจารณาถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพราะสิ่งที่ผู้เขียนไม่อยากเห็นคือการ ‘ตระหนักรู้’ ถึงอันตรายจากโคโรนาไวรัสแบบทันควัน และภาครัฐที่เปลี่ยนท่าทีเป็นกีดกันประชากรเสี่ยงอย่างแข็งขันหลังจากมีคนไทยเสียชีวิต 

เอกสารประกอบการเขียน

Epidemics and Economics

Pricing infectious disease

Epidemics and Economics (FINANCE & DEVELOPMENT)

The human costs of epidemics are going down but the economic costs are going up. Here’s why

Tags: , ,