ในช่วงที่โคโรนาไวรัสกำลังระบาด โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูล ประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการให้กำลังใจ ล้อเลียน ตลอดจนเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนทางความคิด เกิดเป็นอาร์ตเวิร์กที่น่าสนใจ และชวนให้ได้ขบคิด 

ซึ่งสามารถสะท้อนได้ทั้งการทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงยังสามารถสะท้อนตัวตน และความคิดของผู้คนผ่านงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ที่ถูกแชร์ไปในโซเชียลมีเดียอีกด้วย 

武汉加油 (Wuhan Jiayou) : Stay Strong Wuhan

คำว่าอู่ฮั่นสู้ๆ ดูเหมือนจะเป็นคำพูดให้กำลังใจสั้นๆ ที่ได้ใจความที่สุดแล้วในสภาวะเช่นนี้ ซึ่งมีข้อความให้กำลังใจชาวอู่ฮั่นในภาษาที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่อังกฤษ ไทย ไปจนถึงกัมพูชา 

นอกจากนี้ยังมีภาพการ์ตูนที่ถูกวาดภายใต้แฮ็ชแท็กอาหารท้องถิ่นส่งกำลังใจให้บะหมี่แห้งร้อนของอู่ฮั่น’ (全国美食为武汉加油) ซึ่งบะหมี่แห้งร้อนนั้นเป็นอาหารประจำท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของเมืองอู่ฮั่น ที่ถูกหยิบยกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในครั้งนี้ โดยภาพที่น่าสนใจก็คือ ภาพตัวการ์ตูนอาหารชื่อดังประจำมณฑลต่างๆ ที่มายืนให้กำลังใจชาวอู่ฮั่น โดยกล่าวว่าบะหมี่แห้งร้อนสู้ๆ เธอจะหายดีแน่นอน!” ซึ่งแต่ละตัวนั้นเป็นอาหารประจำท้องถิ่นของที่นั้นๆ อาทิ หม้อไฟของเสฉวน เสี่ยวหลงเปาของเซี่ยงไฮ้ ติ่มซำจากกวางตุ้ง ปูนึ่งกับลูกชิ้นหัวสิงห์จากเจียงซู เจียนปิ่งจากซานตง เต้าหู้เหม็นฉางชาของขึ้นชื่อจากหูหนาน พระโดดกำแพงจากฝูเจี้ยน แฮมเบอร์เกอร์หมูสับส่านซี เป็นต้น พร้อมชูป้ายข้อความบะหมี่แห้งร้อนสู้ๆโดยไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัย โดยจนถึงปัจจุบันมีผู้เข้าชมมากกว่า 270 ล้านครั้งเลยทีเดียว

ภาพดังกล่าววาดโดยเฉินเสี่ยวเถา (陈小桃) วัย 25 ปี จากนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน เธอกล่าวว่าอาหารพื้นเมืองแต่ละเมนูเป็นตัวแทนรสชาติที่คุ้นเคย สะท้อนตัวตนของคนท้องถิ่น ทำให้หวนนึกถึงบ้านเกิดได้ดีทั้งนี้ยังอยากใช้อาหารพื้นเมืองเมนูต่างๆ มาช่วยเติมความรักและความอบอุ่นให้อู่ฮั่นและคนที่ทำงานอยู่แนวหน้า จึงเป็นที่มาของผลงานชิ้นนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และถูกนำเสนอบนช่อง CCTV ซึ่งถือเป็นช่องฟรีทีวีประจำชาติอีกด้วย มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รายอื่น ก็ส่งต่อภาพดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างกำลังใจด้วย 

นอกจากภาพอาหารประจำถิ่นที่ร่วมส่งกำลังให้แล้ว ยังมีภาพของนักเขียนการ์ตูนชื่อ ‘ห้วนฉยงอู่เอ้อ’ (浣熊无二) ที่นำสถานที่ที่มีชื่อเสียงของประเทศมาวาด เพื่อร่วมส่งกำลังใจให้ชาวอู่ฮั่นอีกด้วย ทั้งภาพหอนกกระเรียนเหลือง (Yellow Crane Tower) สถานที่ชื่อดังประจำอู่ฮั่นกำลังขึ้นสังเวียนสู้กับไวรัสโคโรนา โดยมีเพื่อนๆ ส่งเสียงเชียร์ อย่างสถานที่ในทะเลสาบซีหู สามบึงส่องจันทร์ (三潭印月, Three Pools Mirroring the Moon) จากหางโจว , หอคอยเยว่หยาง (Yueyang Tower) ซึ่งเป็นหอคอยที่มีชื่อเสียงหนึ่งในสามของฝั่งใต้แม่น้ำแยงซี ตั้งอยู่ในมณฑลหูหนาน และที่เห็นได้ชัดคือกำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นสถานที่ชื่อดังติดอันดับโลก กล่าวได้ว่าทุกคนในประเทศร่วมส่งกำลังใจให้ชาวอู่ฮั่นต่อสู้กับไวรัสโคโรนา อีกทั้งยังเป็นการแนะนำสถานที่และอาหารประจำท้องถิ่นไปในคราวเดียวกัน

Popular Culture in Your Area : จนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่ซากุระผลิบาน

ไม่เพียงแค่การนำเอาสถานที่ และอาหารประจำท้องถิ่นมาร่วมส่งกำลังใจเท่านั้น แต่ยังจะเห็นการนำเอาวัฒนธรรมป๊อปอื่นๆ มาดัดแปลงในสื่อทั้งเพื่อให้กำลังใจ ไปจนถึงล้อเลียนเพื่อความตลกขบขัน ซึ่งได้รับความนิยมในโซเชียลมีเดียของจีน ไม่แพ้ภาพอาหารที่ร่วมมาให้กำลังชาวอู่ฮั่น  ไม่ว่าจะเป็นภาพสามภูผาแห่งอู่ฮั่น ออกแบบโดย เตอกวงเซอร์ (搞事的光sir) ซึ่งภาพดังกล่าวมาจากโรงพยาบาลพิเศษที่ก่อสร้างเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส โดยทั้งสองโรงพยาบาลชื่อว่า 火神山 (ภูผาเทพอัคคี) กับ 雷神山 (ภูเขาเทพอสนีบาต

ซึ่งกรกิจ ดิษฐาน นักเขียนและนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ได้บอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์บนเฟซบุ๊กว่า ชื่อของโรงพยาบาลทั้งสองนำมาจากตำราซานไห่จิง ว่าด้วยตำนานเทพนิยายจีนโบราณ เทพทั้งสองอย่าง เทพอัคคีและเทพอสนีบาต เป็นเทพแห่งความยุติธรรม ปราบปรามความชั่ว โรคระบาดเป็นฝีมือของฝ่ายอธรรม จึงนำชื่อเทพทั้งสองมามาตั้งเป็นชื่อโรงพยาบาลเพื่อความเป็นสิริมงคล

นอกจากเทพตามปกรณัมซานไห่จิงและเทพนิยายโบราณแล้ว ยังการกล่าวถึงนายแพทย์จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ค้นพบโรคซาร์สในจีนเมื่อปี 2003 และเป็นหัวหน้าทีมทำงานด้านโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในตอนนี้อีกด้วย โดยคำว่าหนานซาน (南山) แปลว่า ภูเขาทางทิศใต้ ซึ่งเข้ากันพอดิบพอดีกับสองภูเขาก่อนหน้า และเมื่อสามภูเขารวมกันจึงผสานกันเป็นหลักแห่งจักรวาลตามคติจีน คือ ฟ้า (แทนด้วยอสนีบาต) ดิน (แทนด้วยไฟ) และมนุษย์ (แทนด้วยหมอจงหนานซาน) นายแพทย์จง หนานซาน จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกนำรูปมาใช้วาดประกอบกับอีกสองภูเขาเพื่อสื่อถึงความเชื่อตามคติจีน ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้รับการยืนยันว่าพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งชื่อโรงพยาบาลตามความเชื่อนี้หรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ชาวเน็ตจีนร่วมกันวิเคราะห์ และลงความเห็นว่าน่าจะเป็นความจริง

นอกจากภาพตามคติความเชื่อแบบจีนแล้ว ยังมีภาพจนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่ซากุระผลิบาน(待到樱花烂漫时) วาดโดย AIFIอ้ายเฟยไฉฮวาโหย่วเซี่ยน  (AIFI矮肥才华有限) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากอนิเมะญี่ปุ่นเรื่องยามซากุระร่วงโรย ของมาโกโตะ ชิงไค ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่าชาวจีนต้องร่วมต่อสู้กับสภาวะที่โหดร้ายเช่นนี้ดั่งซากุระ ที่เมื่อบานแล้วจะบานเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และร่วงโรยไปพร้อมกัน เสมือนชาวจีนที่พร้อมจะสู้ตายไปด้วยกัน แม้จะมีชีวิตอันแสนสั้น แต่จะเจิดจ้าและงดงาม 

ซึ่งภาพดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสภาวรรณกรรมและศิลปะกวางโจว เพื่อส่งกำลังใจให้ชาวอู่ฮั่นด้วย และภาพที่ชวนตลกขบขันของชาวเน็ตยังมีอีกหนึ่งภาพที่น่าสนใจคือ การนำภาพยนตร์เกาหลีชื่อดังเรื่อง Train to Busan (2016) มาตัดต่อเป็น ‘Train to Wuhan’ จากที่ต้องหนีซอมบี้ ก็กลายเป็นหนีโคโรนาไวรัสแทน และภาพของการ์ตูนเรื่องการผจญภัยของตินติน (The Adventures of Tintin) ที่ว่าด้วยเรื่องของตินติน นักข่าวหนุ่มผู้มีนิสัยรักการผจญภัยไปยังที่ต่างๆ ก็ถูกนำมาล้อเลียนว่าคราวนี้ตินตินกำลังมาผจญภัยที่อู่ฮั่นด้วย

STAY HOME STAY SAFE

ไม่เพียงแค่การใช้ภาพในการให้กำลังใจเท่านั้น แต่ยังมีการบอกเล่าข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ด้วยการใช้รูปแบบโปสเตอร์ แบนเนอร์ หรือภาพเดี่ยวๆ อีกด้วย เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน เผยแพร่ทั้งบนโซเชียลมีเดีย และในที่สาธารณะ มีตั้งแต่การเลือกใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกวัตถุประสงค์ การสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ที่ติดเชื้อ วิธีป้องกันการติดเชื้อ โดยให้ข้อมูลตั้งแต่ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน เพราะเชื้อไวรัสนี้ติดต่อผ่านทางลมหายใจ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย หมั่นล้างมือหรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด รวมไปถึงงดรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก โดยกล่าวว่าหากมีอาการไข้ ไอ รู้สึกอ่อนเพลียให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งไม่เพียงมีข้อมูลภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาไทยเท่านั้น ยังมีภาษาสเปน ภาษาอาหรับ รวมไปถึงภาษามลยาฬัม ซึ่งเป็นภาษาราชการของรัฐเกราลาทางภาคใต้ของอินเดีย 

ภาพที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือภาพที่อธิบายการเลือกใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกวัตถุประสงค์ โดยกล่าวตั้งแต่ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่มีข้อมูลอธิบายมาว่าใช้ในทางแพทย์ ใช้ดูดซับสารคัดหลั่งของผู้ใส่ได้ หายใจสะดวก ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หรือหน้ากาก N95 ที่สามารถกันฝุ่นขนาดเล็ก 0.3 ไมครอนได้มากถึง 95% หายใจลำบาก เพราะถ้าหายใจสะดวกแล้วแปลว่าใส่ผิด นอกจากนี้ยังใส่อารมณ์ขันเข้ามาในภาพด้วยการกล่าวถึง Pitta Mask หน้ากาอนามัยป้องกันฝุ่น แต่เปล่าประโยชน์สำหรับป้องกันไวรัสจากอู่ฮั่น เมื่อใส่แล้วอาจจะดูดี แต่ไม่ได้ดูฉลาด และที่สร้างเสียงหัวเราะได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น แผ่นมาสก์หน้า (Sheet Mask) ที่ช่วยให้หน้าเด้ง ผิวใส อาจจะมีประโยชน์สามารถทำให้ดาราหนุ่มเกาหลีหลงรักได้ แต่ไม่มีประโยชน์ในการกันฝุ่น อีกทั้งยังลงท้ายด้วยว่าอย่าใส่ออกมาข้างนอกเด็ดขาด ขอร้อง’ 

อีกหนึ่งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่น่าสนใจคือ มีหลายคนแชร์วิธีที่จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุเชื่อ ด้วยการแนบข้อมูลลงบนภาพ พร้อมตัดภาพพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงไป ให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยภาพที่ชาวเน็ตจีนตัดมาใส่คือภาพของพระศากยมุนีพุทธเจ้า (释迦牟尼佛) และเจ้าแม่กวนอิม (觀世音) พร้อมข้อมูลผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ดูแลตัวเองให้ดี รวมไปถึงห้ามกินอาหารเปิบพิสดารอีก ซึ่งแม่กวนอิมเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ทรงโปรดสัตว์โลก แสดงถึงความเมตตากรุณา อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลว่าการใช้ภาพดังกล่าวทำให้ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน 

Virus Made in China 

นอกจากข้อความให้กำลังใจชาวอู่ฮั่นและชาวจีนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในโซเชียลมีเดียของจีนและที่อื่นๆ ก็คือ ข้อความล้อเลียนหรือภาพล้อเลียน เพื่อความสนุก ขบขัน (แม้บางคนจะไม่ได้ขำกับสิ่งนี้ก็ตาม) ตั้งแต่ภาพใส่หน้ากากอนามัยให้กับสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันโคโรนาไวรัส เช่น ขวดเบียร์ ขวดน้ำ และการแจกอั่งเปาที่มาในรูปแบบของหน้ากากอนามัย แทนการให้เงินสดอย่างที่เคยเป็น 

หรือแม้แต่มีม (meme) การตัดต่อภาพบุคคลใส่หน้ากากอนามัย เพื่อล้อเลียนว่าใครๆ ต่างก็กลัวเชื้อไวรัสกันทั้งนั้น ตั้งแต่การนำภาพโจ๊กเกอร์ ตัวร้ายจากจักรวาลภาพยนตร์ดีซี ที่เป็นศัครูกับแบตแมน มาตัดต่อใส่หมวกที่มีตัวอักษรจีนปรากฎอยู่ ทั้งยังพูดว่า “It’s simple. We, uh, eat the Batman”  จากประโยคเดิมที่โจ๊กเกอร์พูดว่า ‘kill batman’ ถูกแทนด้วยคำว่ากิน ซึ่งโคโรนาไวรัสนั้นระบาดมาพร้อมกับข่าวลือว่ามีสาเหตุจากการกินค้างคาว 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนก็ถูกล้อเลียนด้วยมีมมาอย่างยาวนาน ซึ่งช่วงนี้จะยิ่งพบมากกว่าปกติ ตั้งแต่เรียกสี จิ้นผิง ว่า ‘Winnie the Flu’ ( ก่อนหน้านี้มีการตัดต่อภาพสีจิ้นผิงเป็นหมีพูห์ ) ล้อกับคำว่า Winnie the Pooh อีกทั้งยังกล่าวถึงภัยพิบัติและเหตุการณ์รุนแรงที่ชาวจีนเคยเจอ โรคซาร์สทำให้มีคนตายในจีน 349 คน ไข้หวัดนกมีคนตาย 651 คน ไวรัสโคโรนา 170 คน แต่ก็ยังไม่วายล้อเลียนว่า เหตุการณ์ทั้งหมดแม้จะมีคนตายหลักร้อย แต่ก็ยังไม่อาจเทียบเท่ากับภัยคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะจากนโยบายของเหมา เจ๋อตุง ที่ต้องการทำให้จีนทันสมัยขึ้นแต่กลับล้มเหลว และคาดว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 30-60 ล้านคน จากการถูกทรมานและความอดอยาก ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตยังเป็นแค่การคาดคะเนเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลบางส่วนยังถูกปกปิดไว้

อีกสิ่งที่พบในภาพมีมก็คือ การแยกหน้าตาคนเอเชียไม่ออก ซึ่งหากเห็นคนเอเชียก็มักจะเหมารวมไปหมดว่าเป็นคนจีน โดยภาพที่พบคือการนำรูปจากภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious ซึ่งเป็นฉากที่ฮาน หลิว (รับบทโดย ซองคัง ชาวเกาหลี) ในภาพยนตร์ฮานเป็นชาวญี่ปุ่น เดินเข้าในห้องเพื่อคุยกับ โดมินิค โทเรตโต (รับบทโดยวิน ดีเซล) ทว่าในภาพมีมนั้น ปรากฏว่าโดมินิคกำลังใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นอาการการหวาดกลัวคนเอเชีย โดยเฉพาะคนตาชั้นเดียว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบมากในคนเอเชีย โดยไม่สามารถแยกออกได้ว่าคนๆ นั้นเป็นเชื้อชาติอะไร นอกจากนี้ยังมีการนำเอาสเตอริโอไทป์ของจีนมาล้อเลียนอย่างขบขันว่าโคโรนาไวรัสไม่นานก็จะตายแล้ว เพราะมันผลิตในจีนซึ่งเป็นการล้อสิ่งของใดๆ ก็ตามที่ผลิตในจีน (Made in China) มักจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้ไม่นานก็พัง ไม่เว้นแม้แต่ไวรัสก็ตาม

Yellow Peril from 1895 to 2020

โคโรนาไวรัสระบาดไม่เพียงแพร่กระจายเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ (Discrimintae) การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ภาวะความเกลียดชัง ความกลัวของผู้ที่มีชาติพันธุ์ที่ไม่รู้จักหรือแตกต่างจากตนเอง (Xenophobia) ว่ากันง่ายๆ คือกลัวคนต่างชาติโดยกรณีนี้เกิดขึ้นมากที่สุดกับคนเอเชีย เพราะมีใบหน้าคล้ายคลึงกันในสายตาคนตะวันตก ซึ่งในตอนนี้กำลังแพร่ระบาดไปพร้อมๆ กับโคโรนาไวรัสหนำซ้ำอาจจะทวีความรุนแรงยิ่งกว่าโคโรนาไวรัสเสียอีก 

คำว่าภัยคุกคามเริ่มนำมาใช้เรียกคนผิวเหลืองครั้งแรกในสมัยกษัตริย์เยอรมันชื่อ ไกเซอร์ วิลเฮลม ที่ 2 (Kaiser Wilhelm II) ในปีค.. 1895 ที่อธิบายถึงภัยคุกคามของคนเอเชียที่นําพระพุทธรูปมาแขวนไว้บนเรือทุกลําที่แล่นเข้าไปสู่เยอรมัน จนเรียกกันโดยทั่วว่าภัยเหลือง’ (Yellow Peril) ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้เรียกกันอย่างกว้างขวาง ในนัยยะทางลบและอคติของคนผิวขาวที่มีต่อชาวเอเชีย โดยเฉพาะเมื่อคนเอเชียอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง ในช่วงสงคราม และการต่อต้านแรงงานชาวจีน ที่เดินทางเข้าไปทำงานสร้างทางรถไฟ ทำเหมืองแร่ และงานที่เสี่ยงอันตรายอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา

คำว่าภัยเหลืองปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายครั้ง นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แม้ว่าปัจจุบันจะมีการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และมองมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ในภาวะการระบาดของโคโรนาไวรัสนี้ การเหยียดเชื้อชาติกลับแข็งแกร่งมากขึ้น เช่น พาดหัวของสื่อในท้องถิ่นของฝรั่งเศสที่เรียกชาวจีนว่า ‘alerte jaune (รหัสเหลือง)’ พร้อมภาพหญิงชาวจีนสวมหน้ากากป้องกัน และคำว่า ‘Le péril jaune (ภัยเหลือง)’ แม้จะมีการออกมาขอโทษในภายหลัง และกล่าวว่าเป็นข้อผิดพลาดของทางหนังสือพิมพ์ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่แสดงออกในทางลบ 

ไม่เพียงหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศสเท่านั้น ยังพบว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ Jyllands-Posten ของเดนมาร์กมีการตีพิมพ์ภาพธงสีแดงประดับดาวรูปโคโรนาไวรัส เหมือนเป็นการเหน็บแนมธงชาติจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าเดนมาร์กมีเสรีภาพในการพูดและที่เยอรมนี นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับล่าสุด ‘Spiegel’ ตีพิมพ์ปกที่ชื่อว่า ‘Made in China’ โดยมีคำบรรยายข้างล่างว่าเมื่อโลกาภิวัตน์กำลังทำให้เราตกอยู่ในอันตรายทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง

Je ne suis pas un Virus : I’m not a virus

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสจากเมืองอู่ฮั่น มีการเลือกปฏิบัติต่อคนจีน รวมไปถึงคนเอเชียอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ทั้งชาวจีนในสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี ต่างก็ถูกละเมิดในลักษณะเหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะในที่สาธารณะ การแบ่งแยกเชื้อชาติเกิดขึ้นแทบทุกมุมโลก อย่างในอังกฤษ ผู้ปกครองบอกเด็กๆ ว่า ให้อยู่ห่างจากชาวต่างชาติดังที่แซม ฟาน นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และผู้สื่อข่าวอิสระ กล่าวกับบีบีซีว่า โคโรนาไวรัสถูกมองว่าเป็นไวรัสคนจีนซึ่งทำให้เกิดความกลัวเช่นนี้ขึ้นต่อชาวเอเชียตะวันออกและชาวจีน นอกจากที่อังกฤษแล้ว แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวชาวจีน ยังถูกถ่มน้ำสายใส่ที่เวนิสอีกด้วย 

ไม่เว้นแม้กระทั่งในแถบเอเชียด้วยกันเอง เมื่อร้านอาหารในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเวียดนาม ปฏิเสธที่จะรับลูกค้าชาวจีน และที่อินโดนีเซีย แขกชาวจีนเล่าว่า ทางโรงแรมเรียกตัวเขาให้ออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น ในขณะที่เจายังอยู่ในโรงแรม 

เมื่อมีการเหยียดเชื้อชาติ ก็ต้องมีคนอีกหนึ่งกลุ่มที่รณรงค์และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ไม่นานมากนี้นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เรียกร้องให้นานาชาติหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติในลักษณะของการเหยียดเชื้อชาติ ในขณะที่คนฝรั่งเศสในโลกทวิตเตอร์มีการแชร์ประสบการณ์การเจอคนจีนในด้านลบ หรือบางคนก็แสดงความประสงค์ว่าไม่อยากอยู่ใกล้คนเอเชียหรือคนจีน จนชาวจีนในฝรั่งเศสสร้างแฮ็ชแท็ก #JeNeSuisPasUnVirus ที่แปลว่าฉันไม่ใช่ไวรัส เพื่อตอบโต้และณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนหันมาร่วมรณรงค์มากขึ้น มีการวาดภาพการ์ตูนออกมาเพื่อบอกเล่าแก่คนในโลกโซเชียลฯ รวมถึงการแต่งหน้าและเพ้นท์ใบหน้าตัวเองว่า พวกเขาไม่ใช่ไวรัส ซึ่งไม่ได้มีแค่ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาอื่นๆ ด้วย 

中泰一家亲 : China and Thailand are family

ในประเทศไทยเอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการทำคลิปให้กำลังใจคนจีน สู้กับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยในคลิประบุว่าพวกเราการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขอเป็นตัวแทนประชาชนไทย ให้กำลังใจแก่พี่น้องชาวจีนทุกคนผ่านพ้นวิกฤติไวรัสไปพร้อมกันและผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศได้ออกจดหมายที่ชี้ให้เห็นว่าคนจีน และคนไทยควรทำงานร่วมกัน อุทิศความรัก ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในประเทศจีน และอธิษฐานว่าจีนจะรอดพ้นจากวิกฤตนี้โดยเร็วที่สุด แม้ว่าต่อมาจะมีการล้อเลียนว่าประเทศจีนบล็อกการเข้าถึงช่องยูทูบก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีป้ายข้อความให้กำลังใจตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สนามบินว่าประเทศจีนสู้ๆ อู่ฮั่นสู้ๆ (中国加油,武汉加油)” รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และตามริมถนน ซึ่งป้ายที่ขึ้นโชว์เพื่อส่งกำลังใจให้ชาวจีนนี้ มีการกล่าวถึงบนโซเชียลมีเดียของจีนมากมาย อีกทั้งยังมีคนโพสต์บทความขอบคุณที่หน่วยงานและบริษัทเอกชนในไทย รวบรวมถุงมือทางการแพทย์ทั้งหมด 100,000 ชุด ส่งไปยังจุดแจกจ่ายที่สภากาชาดอู่ฮั่นอีกด้วย 

อ้างอิง :

https://www.zhihu.com/question/367300128

https://mp.weixin.qq.com/s/ahS5JXRhROlPEtcOhriwXA

https://www.sanook.com/news/8024150/

https://www.takefoto.cn/viewnews-2032716.html

http://www.bjnews.com.cn/feature/2020/02/02/683031.html

https://www.weibo.com/u/2962184681

http://www3.ru.ac.th/korea/korean_wave_th/kwave18.pdf

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864618

https://new.qq.com/rain/a/20200203A0NVZD

https://udn.com/news/story/120944/4322468

https://www.wiltonbulletin.com/espanol/news/article/El-temor-a-un-nuevo-virus-provoca-sentimientos-15023791.php

https://www.ksat.com/news/world/2020/02/02/fears-of-new-virus-trigger-anti-china-sentiment-worldwide/

https://www.ctvnews.ca/world/fears-of-new-virus-trigger-anti-china-sentiment-worldwide-1.4793987

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864618

https://www.bbc.com/thai/international-51358312https://www.bbc.com/thai/international-51358312

https://www.facebook.com/kornkitd/posts/10156788786986954

https://www.xxsb.com/content/2020-02/02/content_83782.html

Tags: , , , , , , , ,